วังวนของทหารในการเมืองไทย: มองผ่านโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ [จบ]

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความเดิมตอนที่แล้ว: วังวนของทหารในการเมืองไทย: มองผ่านโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ [1]

มรุต วันทนากร นักศึกษาปริญญาเอก
บัณฑิตวิทยาลัยเอเชีย แปซิฟิกศึกษา
มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น

 

 

 

 

 

แม้ทหารจะมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยตรงโดยการเป็นรัฐบาลอย่างในยุคก่อนหน้าก็ตาม แต่ก็มิอาจปฏิเสธอิทธิพลของทหารต่อการเมืองมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐต่อกรณีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า เพราะผู้เขียนพบว่าในยุคต่อมาทหารยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดท่าทีและความเป็นไปของสนามบินแห่งใหม่ กล่าวคือ กองทัพในยุคสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ต้องการให้รัฐบาลที่เรามักเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ (คือ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง) เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทหารในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่มากนัก ทั้งที่นักการเมืองคนสำคัญๆ ในยุคนั้นต่างสนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างดี เช่น นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช (พรรคกิจสังคม)  พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร นาวาอากาศโททินกร พันกระวี และ นายชุมพล ศิลปอาชา (พรรคชาติไทย) เป็นต้น

 

นักการเมืองต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแสดงบทบาทอย่างชัดเจนในเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะทหารไม่ต้องการจะให้กลุ่มนักการเมืองซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในโครงการก่อสร้างสนามบิน อีกทั้งนักการเมืองเองก็กล่าวไม่ได้ว่ามีจิตใจที่บริสุทธิ์ในการผลักดันโครงการดังกล่าวมากนัก การแทรกแซงของทหารในกระบวนการทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น การแสดงท่าทีของ พล.อ.อ.พะเนียง  กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ [34]ในขณะนั้นว่า ทหารไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าโดยอ้างว่าที่บริเวณนั้นเป็นดินเลน ไม่เหมาะต่อการสร้างสนามบิน การสร้างสนามบินบริเวณนั้นเปรียบเสมือนการวาง "คอนกรีตบนเยลลี่" [35] หรือ การที่ทหารยอมย้ายบางส่วนของกองทัพอากาศออกไปจากสนามบินดอนเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายและปรับปรุงสนามบินดอนเมืองแทนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ หรือแม้กระทั่งการประกาศสนับสนุนนักการเมืองที่มีนโยบายต่อต้านการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่อย่างนายสมัคร สุนทรเวช ให้ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลเปรม  3 เป็นต้น  [36]

 

 

 

 

ภาพ พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ซ้าย) และ

นายสมัคร สุนทรเวช (ขวา) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ผู้คัดค้านการก่อสร้างสนามบินกรุงเทพแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า

จากการศึกษาของผู้เขียนพบว่า สาเหตุหลักที่ทหารในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ มีอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง ทหารไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือตักตวงผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งคิดว่าผลประโยชน์ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทหารควรจะได้ เพราะทหารเป็นผู้คุมการบินพลเรือนและพาณิชย์ของไทยมาตลอดในประวัติศาสตร์การบินของไทย

 

สอง ทหาร โดยเฉพาะกองทัพอากาศในยุคนั้นได้รับผลประโยชน์และเงินตอบแทนเป็นจำนวนมหาศาลจากสนามบินดอนเมือง กล่าวกันว่า "สนามบินดอนเมืองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพอากาศ" ก็ว่าได้ [37] ดังนั้นการสูญเสียการบินพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมืองไป แล้วไปสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กล่าวได้ว่า ความพยายามของนักการเมืองในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีระหว่าง พ.ศ. 2517 - 2533 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับแรงต่อต้านจากทหารผู้ซึ่งเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่ยังทรงอิทธิพลต่อกระบวนการในการตัดสินใจของรัฐไทยอยู่มาก

 

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 โครงสร้างอำนาจรัฐของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งเมื่อพลังของทหารและระบบราชการกลับเข้ามารวมกันอีกครั้งเมื่อ มีการทำรัฐประหารขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเงียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) การทำรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้อำนาจนิยมโดยทหาร กับ อำมาตยาธิปไตยโคจรมาพบกันอีกครั้งและร่วมมือกันผลักดันโครงการดังกล่าวผ่านรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีครั้งประวัติศาสตร์อนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า ซึ่งถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ที่อนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ (ครั้งที่ 1 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ครั้งที่ 2 ยุคปฏิวัติของจอมพลถนอม)

 

 

ภาพ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ซ้าย)

และ นายอานันท์ ปันยารชุน (ขวา)

รัฐบาลที่มีมติให้มีการก่อสร้างสนามบินกรุงเทพแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า

กล่าวได้ว่า การอนุมัติโครงการดังกล่าวในยุคสมัยของรสช.นั้น เป็นผลพวงมาจากความพยายามของระบบราชการที่ใช้ความพยายามร่วมกับนักการเมืองมากว่า 17 ปีแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านโดยกองทัพ แต่เมื่อทหารกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ก็ถือเป็นโอกาสอันดีของทหารที่จะเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งสมกับความต้องการของระบบราชการที่ใช้พยายามผลักดันโครงการดังกล่าวมานานผ่านรัฐบาลของนักการเมืองแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

 

มติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของกรุงเทพที่หนองงูเห่าในปี พ.ศ. 2534 [38] จึงเป็นผลผลิตของกระบวนการทางการเมืองที่ไม่มีสาระสำคัญอะไรแตกต่างไปกระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินเมื่อปี พ.ศ. 2503 - 2516 เลย นั่นก็คือ ทหารและระบบราชการที่ยังคงแสดงบทบาทและมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมืองไทยอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสื่อกลางคือผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่พยายามจะอธิบายว่าทหารและระบบราชการลดบทบาทลงไปมากแล้วก็ตาม

 

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ดูเหมือนบทบาทของทหารจะลดลงไปจากฉากหน้าของการเมืองไทย แต่สำหรับนโยบายการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้ว ผู้เขียนพบว่าทหารยังคงมีบทบาทอยู่มากในกระบวนการกำหนดนโยบายการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าอยู่มาก โดยทหารเข้าแทรกแซงหรือมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายดังกล่าวผ่านองค์กรที่ทำหน้ารับผิดชอบโครงการดังกล่าวนี้โดยตรง ซึ่งก็คือ "การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)"

 

หากพิจารณาจากผู้บริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว แล้วพบว่า ผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 7 ใน 12 คนมาจากกองทัพอากาศทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะเวลา 12 ปีแรก กองทัพอากาศส่งนายพลเข้าเป็นผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 6 คนติดต่อกัน ได้แก่ พลอากาศโท ไสว ช่วงสุวนิช พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ พลอากาศเอก ถาวร เกิดสินธุ์ พลอากาศเอก ชนินทร์ จันทรุเบกษา พลอากาศเอก นิพนธ์ สาครเย็น พลอากาศเอก เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์

 

ไม่เฉพาะแต่ผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศเท่านั้น คณะกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแต่ชุดก็ล้วนแล้วแต่มีคนของกองทัพอากาศเข้าไปนั่งอยู่ด้วยทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแล้ว บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ. ค. 2538 ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามบินสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 [39] ก็มีตัวแทนจากองทัพเข้ามานั่งอยู่เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร หรือ เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารในยุคสมัยที่แตกต่างกัน เช่น พล.อ.อ.ประชุม ฉายศิริ หรือ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฐฎ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร เป็นต้น

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทหารยังคงทรงอิทธิพลในการกำกับดูแลนโยบายในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ก็คือ การประลองกำลังกันระหว่าง "กองทัพอากาศ" กับ "นักการเมืองจากพรรคกิจสังคม" ในปี พ.ศ. 2538 ที่พรรคกิจสังคม โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมผู้กำกับดูแลการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พยายามจะผลักดันคนของตนเข้ามาเป็นผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแทนคนจากกองทัพอากาศและยังสั่งปลด พล.อ.อ.อมร แนวมาลี เสนาธิการทหารออกจากกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและชัดเจนมากที่สุดในยุคนั้นระหว่างกองทัพและนักการเมือง

 

 

พล.อ.อ.อมร แนวมาลี (ซ้าย) เสนาธิการทหารอากาศ และ

กรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 ที่ถูกปลดโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฐฎ์ (ขวา) อดีตประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

อดีตนายทหารอากาศซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเปิดเผยนามได้ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนถึงกรณีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2538 นี้ว่า "ผมถือว่าเป็นการแทรกแซงอย่างไม่มีความรับผิดชอบเพราะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการปลดบอร์ด แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อกรรมการคนดังกล่าวลาออก ตาย ทุจริต หรือบกพร่องในหน้าที่ หรือขาดประชุมติดต่อกัน 3 ครั้ง จึงสามารถปลดบุคคลดังกล่าวได้ เพื่อความเหมาะสมแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนของกองทัพอากาศ" [40] ในขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในขณะนั้นว่า "ยุคนี้ (ทอท.) ไม่ต้องพึ่งพาทหารแล้ว เพราะแบ่งพื้นที่และหน้าที่กันชัดเจนอยู่แล้ว" [41]

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวยุติลงด้วย ชัยชนะของกองทัพอากาศ ที่สามารถทัดทานการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ โดยสามารถผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกคำสั่งของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในการปลด พล.อ.อ.อมร แนวมาลี และแต่งตั้งให้พล.อ.อ.ชนินทร์ จันทรุเบกษา เป็นผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแทน

 

จะเห็นได้ว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2535 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2544 อิทธิพลของทหารต่อกระบวนการทางการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปจากการเข้ามามีบทบาทในการเมืองอย่างตรงไปตรงมาบนฉากหน้าการเมืองไทย กลายมาเป็นการแทรกแซงผ่านระบบราชการที่หลบซ้อนตัวอยู่เบื้องหลังและยังคงไว้ซึ่งอิทธิพลในการกำกับดูแลเป็นอย่างมาก จนฝ่ายการเมืองมิอาจเข้าไปแทรกแซงได้อย่างง่ายดายนัก

 

อย่างไรก็ดี บทบาทของทหารต่อกระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิดูจะลดน้อยลงไปอย่างถนัดตา เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลเลือกตั้งโดยพรรคไทยรักไทยกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแทนกองทัพ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และ พรรคไทยรักไทย เดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิไปอย่างรวดเร็วภายใต้ "ข่าวคาว" ความไม่ชอบมาพากลในการประมูลงานส่วนต่างๆ ของสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและวัตถุระเบิด งานระบบไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟและเครื่องปั่นไฟ งานทางวิ่งและทางขับ และการประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีภายในอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น

 

กองทัพจากที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้กำหนดนโยบายดังกล่าวไม่ว่าจะในทางตรง(อย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์จนถึงสมัยรสช.) หรือทางอ้อม (หลังพฤษภาทมิฬ - พ.ศ. 2544) กลายมาเป็นผู้ถูกกระทำและผู้ถูกแทรกแซง ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของโครงการถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของนักการเมืองร่วมมือและประสานประโยชน์กันโดยอาศัยกลไกของระบบราชการเป็นเครื่องมือ อีกทั้งยังจำกัดบทบาทของกองทัพในกระบวนการทางการเมืองและการกำหนดนโยบายที่มีมาอยู่อย่างต่อเนื่องอย่างนานหลายทศวรรษอย่างสิ้นเชิง นอกจากการถูกจำกัดบทบาทดังกล่าวแล้ว กองทัพยังถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในหลายประการดังเช่นกรณี การโยกย้ายนายทหารประจำปีที่ค่อยๆ สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพมาโดยตลอดในระหว่างที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยอยู่ในอำนาจ

 

อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า กองทัพจะหมดบทบาทในการกำกับดูแลการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ไปเสียทีเดียว หากแต่เป็นการประนีประนอมกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายการเมือง โดยฝ่ายกองทัพสามารถเข้ามามีบทบาทได้ภายใต้ความยินยอมของนักการเมือง ตัวอย่างเช่น การที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่เร่งรัดการก่อสร้างสนามบินสุวรรรภูมิให้เปิดใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

 

แต่ พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวได้ไม่นาน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยรักไทยกับพล.อ.ชัยนันท์ก็เกิดขึ้น เมื่อพล.อ.ชัยนันท์ เข้าไปพบความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมากมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท Thai Airport Ground Services (TAGS) ให้ได้รับสิทธิในการบริหารเขตปลอดอากรและเช่าพื้นที่ รับจ้างสร้างศูนย์โลจิสติกส์ รวมถึงพื้นที่อาคารจอดรถในสนามบินสุวรรณภูมิ 6 แสนตารางเมตร นาน 10 ปี ด้วยวิธีการพิเศษแบบโดยไม่มีการแข่งขัน [42]

การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีความคืบหน้ามากขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทยได้กำหนดวันเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการไว้ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตามยังไม่ทันที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณจะได้เป็นผู้เปิดใช้สนามบินดังกล่าว กองทัพก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญญรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก่อนกำหนดการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการเพียง 9 วัน ถือเป็นการสิ้นสุดยุคที่ทหารถูกจำกัดบทบาทและอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลา 6 ปี

 

การกลับเข้ามาของทหารในครั้งนี้ ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายสุวรรณภูมิโดยตรงอีกครั้งและเป็นครั้งที่มีบทบาทมากที่สุดยุคหนึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา กล่าวคือ มีการแต่งตั้งนายทหารจำนวนมากเข้าไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสุวรรณภูมิหลายตำแหน่ง เช่น พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศและรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คนที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ดูแลการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังมี พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.สพรั่ง กลัยาณมิตร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานแห่งไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นต้น

 

จากการสัมภาษณ์ข้าราชการระดับสูงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ พบว่า สาเหตุของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ทหารต้องการกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในกระบวนการทางการเมืองต่อโครงการดังกล่าวซึ่งทหารเคยมีบทบาทและอิทธิพลมาก่อนเป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์และยืนยันภายหลังต่อมา จากหลายกรณีที่ คปค. พยายามเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายในโครงการ คปค.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งพบว่า คตส. ได้หยิบยกคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการสนามบินสุวรรณภูมิอย่างน้อย 2 คดีขึ้นมาพิจารณา คือ คดีกรณีจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ และคดีกรณีจัดจ้างวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  [43] นอกจากนี้ รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคปค.) ยังได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายกรณีในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น กรณีทางวิ่งและทางขับของสนามบินเกิดรอยแตกร้าวทั้งที่เพิ่งเปิดใช้สนามบินได้ไม่กี่เดือน หรือ กรณีตรวจสอบพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย เป็นต้น

 

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า "ทหาร" เป็นผู้มีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดนโยบายในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคริเริ่มโครงการ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ผู้ดำริแนวคิดในการก่อสร้างทั้งที่ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสนามบินแห่งใหม่เป็นเรื่องของอนาคตในระยะยาว รัฐบาลทหารสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเวนคืนและซื้อที่ดินเกือบ 20,000 ไร่ และเป็นผู้เร่งรัดผลักดันให้บริษัทนอร์ทรอปแห่งสหรัฐอเมริกาเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างสนามบินซึ่งจะผูกขาดกิจการพาณิชย์ภายในสนามบินเป็นเวลา 20 ปี บทบาทของกองทัพในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้คัดค้านสำคัญมิให้รัฐบาลของนักการเมืองดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ได้ในยุคที่ทหารมิได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง รัฐบาลในยุครสช.เป็นผู้อนุมัติโครงการโดยลงมติคณะรัฐมนตรีประวัติศาสตร์ให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่าที่ล่าช้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ความพยายามของกองทัพในการประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองในการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิในยุคที่ไทยรักไทยเรืองอำนาจ หรือ แม้กระทั่งการเปิดใช้สนามบินในยุคที่ทหารเข้ามามีอิทธิพลโดยตรงต่อโครงสร้างอำนาจการเมืองของไทย

 

การทำรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 การเปิดใช้สนามบิน และการรื้อฟื้นเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างสนามบินเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า "ทหาร" ยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่มีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองไทยมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัยในรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การศึกษากระบวนการทางการเมืองและกระบวนการกำหนดนโยบายของไทย ผ่านการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 50 ปี สามารถทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยได้ว่า กระบวนการทางการเมืองไทยยังมิได้เปิดกว้างต่อภาคส่วนและตัวแสดงอื่นๆ เท่าใดนัก ตัวแสดงหลักทางการเมืองไทยยังคงคล้ายกับตัวแสดงทางการเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน คือ ทหาร และ ระบบราชการ ผ่านการสมประโยชน์กันของทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่ภาคส่วนและตัวแสดงอื่นๆ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน สื่อสารมวลชน อาจเข้ามามีบทบาทได้บ้างในบางช่วงบางระยะเวลาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอดทนของทหารในกระบวนการทางการเมืองของไทย

 

ผู้เขียนมองว่า การเมืองในรูปแบบต่างๆ ที่นักวิชาการทั้งหลายที่ผู้เขียนหยิบยกมาให้เห็นข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็น การเมืองแบบพหุรัฐสังคม การเมืองของนักธุรกิจการเมือง การเมืองของนักเลือกตั้ง การเมืองของกลุ่มทุนเบ็ดเสร็จ การเมืองภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เรียกกันว่า ตุลาการภิวัฒน์ หรือ ประชาภิวัฒน์นั้น อาจมีหรือเกิดขึ้นได้ แต่เป็นเพียงแค่ "ปรากฎการณ์ชั่วคราว" ในระบบการเมืองไทยเท่านั้น ในขณะที่ "การเมืองโดยทหาร" และ "การเมืองของระบบราชการ" กลับกลายเป็นสิ่งที่ "ฝั่งแน่น" ในระบบการเมืองไทยที่เรามิอาจปฏิเสธได้ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

[34] พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2520 - 2524

[35] หนังสือพิมพ์มติชน, วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2521

[36] เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในขณะนั้นว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอย่างเต็มที่ทั้งในการเลือกตั้งและการเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.เปรมในปี พ.ศ. 2529 เนื่องจากนายสมัครเคยมีบทบาทสำคัญในการปกป้องกองทัพในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำถึงขีดสุด ดู รายละเอียดเพิ่มเติมความสัมพันธ์ระหว่างนายสมัคร กับ กองทัพได้ในรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2626

[37] สัมภาษณ์ พจนา สิมะเสถียร, ที่บ้านพัก ถนนสาทร, วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551, เวลา 10.00 - 14.40 น. โดยประมาณ

พจนา สิมะเสถียร เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และ รองผู้จัดการบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) (เป็นบริษัทลูกของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้ประสบความสำเร็จ), นายพจนา ถือเป็นบุคคลสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ในยุคเริ่มต้น ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า "สนามบินดอนเมืองก็คืออู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพอากาศ" มานานแล้ว (อ่านต่อหน้าถัดไป)

ประกอบกับการสัมภาษณ์ พล.อ.ท.สุรยุทธ์ นิวาศะบุตร, บ้านพักหมู่บ้านทหารอากาศ ดอนเมือง, วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พล.อ.ท.สุรยุทธ์ นิวาศะบุตร เป็นอดีตเจ้ากรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2519 - 2520 กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารกิจการในสนามบินดอนเมืองก่อนมีการจัดตั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522 พล.อ.ท.สุรยุทธ์ ยอมรับกับผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า รายของกองทัพอากาศที่ได้จากสนามบินดอนเมืองในแต่ละปีมีค่อนข้างมากและสามารถทำกำไรในการบริหารสนามบินดอนเมืองได้ทุกปี

[38] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน หนังสือเลขที่ นร.0202/7565, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่องโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่สอง, วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2534, ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2534

[39] ดูรายละเอีดเพิ่มเติมใน หนังสือเลขที่ นร.0206/5083, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่อง แผนการเงินและองค์กรโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2, วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2538, ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

[40] สัมภาษณ์, ที่บ้านพัก ถนนพหลโยธิน, วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 9.00 - 12.30 น. โดยประมาณ

[41] หนังสือพิมพ์มติชน, วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538

[42] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2548

[43] ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (บรรณาธิการ), ตุลาการภิวัตน์ ปฏิวัติการเมืองไทย, (กรุเทพฯ : มติชน), 2551.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท