Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวอิศรา


วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2009 02:19 น.


 



 



 


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็น "ความเคยชิน" ของสังคมไทยในหลายๆ ส่วนไปเสียแล้ว...ปริมาณข่าวสารจากดินแดนด้ามขวานที่ลดน้อยลงอย่างน่าใจหายในสื่อกระแสหลัก ทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ คือดัชนีบ่งชี้อันสำคัญ


 


แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความต้องการ "ข่าวสาร" จากผู้คนในอีกหลายๆ ภาคส่วนของสังคมจะลดน้อยถอยลงไปด้วย


 


นักสังเกตการณ์ไฟใต้หลายคนยืนยันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ ณ วันนี้ ไม่ได้ดีขึ้นจริงดังที่หน่วยงานความมั่นคงพยายามชี้นำ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหลายปัญหาที่ "รัฐ" ดูจะยังละเลย...


 


และการแตกหน่อของ "สื่อทางเลือก" ในบริบทของปัญหาชายแดนใต้นอกเหนือจาก "ศูนย์ข่าวอิศรา" ก็เป็นดัชนีชี้วัดอันสำคัญของสมมติฐานนี้เช่นกัน


 


"ศูนย์ข่าวอามาน" ที่ปลายด้ามขวาน คือ "หน่อใหม่" ที่ว่านั้น...


 


ตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการศูนย์ข่าวอามาน เล่าถึงการก่อเกิดของศูนย์ข่าวแห่งใหม่ว่า ศูนย์ข่าวอามาน หรือ Aman News Center เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่ทำงานด้านสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ (We Peace) กลุ่มบูหงารายา ของนักศึกษา Peace Media และกลุ่มสื่อทางเลือก "ซูวารอปัตตานี" ซึ่งบางกลุ่มเคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากอินเตอร์นิวส์ (สถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อสารมวลชน) มาก่อน รวมทั้งจากมูลนิธิเอเชีย 


 


ประสบการณ์ที่ได้รับจากสถาบันพัฒนาสื่อระดับนานาชาติ มีทั้งการผลิตรายการวิทยุ การเสนอข่าวทางเว็บไซต์ และเคยผ่านการอบรมการเป็นนักข่าวพลเมืองจากโครงการของทีวีไทย (โทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทย) 


 


"ที่ผ่านมาสมาชิกของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีความเป็นเอกภาพ และที่สำคัญเนื้อหาข่าวหรือบทความที่ทำมายังถือว่าไม่รอบด้านพอ" ตูแวดานียา บอก


 


จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการประชุมร่วมกันเมื่อต้นเดือน ม.ค.2552 และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจำเป็นต้องมีชมรมขึ้นเป็นศูนย์กลาง ก็เลยตั้งชมรมที่มีชื่อว่า "ชมรมเพื่อนสื่อเพื่อสันติภาพชายแดนใต้" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ชมรมเพื่อนสื่อสันติภาพ" (Peace Media Friends Club : PMFC) 


 


"เป้าหมายหลักคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปของบทความหรือสกู๊ปข่าวในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ ต่อเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนมิติของวัฒนธรรม การศึกษา และด้านอื่นๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน และเป็นการช่วยรัฐในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในชาติ และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่" ตูแวดานียา อธิบาย 


 


นับหนึ่งของศูนย์ข่าวอามาน


จาก "ชมรมเพื่อนสื่อสันติภาพ" พัฒนาสู่ "ศูนย์ข่าวอามาน" ซึ่งปัจจุบันมีนักข่าวกว่าสิบชีวิตกระจายอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยกันเกาะกระแส ลงพื้นที่ และติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ แต่จะไม่เน้นข่าวรายวัน (ข่าวความรุนแรงรายวัน) โดยนำเสนอผลงานผ่านเว็บไซต์ www.voicepeace.org  มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามลายูกลาง 


 


"เป็นเรื่องดีตรงที่ว่าเราได้ผู้สื่อข่าวมืออาชีพที่เคยทำงานให้กับศูนย์ข่าวอิศรา คือ คุณณรรธราวุธ เมืองสุข มาเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ส่วนที่ปรึกษาก็มี คุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา) อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ จากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี และคุณนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ทุกคนมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยมีผมรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคอยดูงานให้กับน้องๆ" ตูแวดานียา ซึ่งเคยทำงานกับสำนักข่าวบีบีซี กล่าว


 


ในฐานะที่คลุกคลีกับข่าวภาคใต้มานาน ตูแวดานียา มองว่า "สถานะ" หรือ "ที่ยืน" ของศูนย์ข่าวอามาน ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับศูนย์ข่าวอิศรา หรือศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่ขับเคลื่อนงานข่าวชายแดนใต้อยู่ในปัจจุบัน 


 


"ถ้าถามว่าขณะนี้มีศูนย์ข่าวอิศราอยู่แล้ว มีศูนย์เฝ้าระวังฯอยู่แล้ว ยังไม่พอในการตอบสนองความต้องการด้านข่าวสารหรือ คำตอบคือไม่ได้อยู่ที่ว่าพอหรือไม่พอ แต่ผมมองว่าศูนย์ข่าวอิศราเกิดจากส่วนกลาง โดยมีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้ง ส่วนศูนย์เฝ้าระวังฯ เป็นการนำเสนองานวิจัย และนักข่าวก็ยังเป็นสื่อจากส่วนกลาง แต่ศูนย์ข่าวอามานเกิดจากคนในท้องถิ่นจริงๆ ที่ต้องการสื่อสารหรือบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้สังคมภายนอกได้รับรู้"


 


"ก่อนหน้านี้คนในพื้นที่ไม่มีศูนย์ข่าวเป็นของตัวเอง แต่วันนี้เขามีแล้ว เขาสามารถเขียนเล่าเรื่องที่เขาต้องการสื่อให้โลกได้รู้ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวอามาน ซึ่งถือเป็นสื่อทางเลือกอีกสื่อหนึ่ง อนาคตศูนย์ข่าวอามานมีเป้าหมายคือปั้นน้องๆ ที่สนใจอยากเป็นนักข่าว แต่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ ให้เป็นนักข่าวมืออาชีพ" ตูแวดานียา บอก


 


และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ในเครือข่ายของศูนย์ข่าวอามานมีกลุ่มนักศึกษา "บุหงารายา" รวมอยู่ด้วย 


 


 "ศูนย์ข่าวอามานต้องการเปิดเวทีให้นักศึกษาต่อสู้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและใช้สันติวิธีในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายบ้านเมือง เราไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีรัฐหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่เราต้องการนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้าน และตีแผ่ความจริง เพราะความจริงจะช่วยเราให้อยู่ได้ต่อไป" บรรณาธิการศูนย์ข่าวอามาน ย้ำจุดยืน


 


พลังท้องถิ่นช่วยสื่อสารความเข้าใจ


หนึ่งในนักวิชาการที่คลุกคลีกับสื่อในพื้นที่ และเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของทีมผลิตรายการ "ดีสลาตัน" รายการเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทีวีไทยที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ให้ทัศนะเกี่ยวกับการมี "สื่อท้องถิ่น" เอาไว้อย่างน่าสนใจ


 


"การที่ท้องถิ่นได้แสดงออกไม่ว่าจะผ่านสื่อสาขาใดก็ตาม เท่ากับว่าคนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงเรื่องของการสื่อสาร ถ้าคนในพื้นที่ตื่นตัวในเรื่องของสื่อ แล้วสะท้อนออกมาเอง ถ้ารวมๆ กันหลายๆ สื่อมันก็เป็นพลังอีกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนเราพึ่งแต่สื่อกระแสหลัก ถึงแม้จะมีศูนย์ข่าวอิศราคอยให้น้ำหนักทั้งสองฝ่ายก็ตาม แต่อย่าลืมว่าศูนย์ข่าวอิศรา คนที่ทำอยู่เป็นปีกหนึ่งของบรรณาธิการในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนยอมรับว่ามันดูเป็นความท้องถิ่นมากพอสมควร แต่เมื่อบรรณาธิการที่เป็นคนในพื้นที่ถูกเปลี่ยนขึ้นมา ทำให้ทุกอย่างพลอยเปลี่ยนไปด้วย" 


 


ผศ.ชิดชนก ยกตัวอย่างประสบการณ์ในต่างประเทศว่า การจะทำให้วัฒนธรรมใหญ่โน้มเข้าหาวัฒนธรรมย่อยนั้น การสื่อสารในระดับท้องถิ่นสามารถช่วยได้เยอะ อย่างในประเทศอังกฤษก็มีสื่อระดับชาติ มีหนังสือพิมพ์ที่เป็นระดับชาติมากพอสมควร แต่ขณะเดียวกันก็มีสื่อท้องถิ่นมากด้วย บางมหาวิทยาลัยยังมีสื่อของตัวเองเลย หลายเมืองก็มีสื่อท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แต่ละพื้นที่เขามีของตัวเอง ทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านสื่อ ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจ


 


"การมีสื่อใหม่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าสื่อที่มีอยู่แล้วไม่ดี มันไม่ใช่แบบนั้น อย่ามองว่าเป็นการแข่งขัน บางทีมันอาจเกิดจากความถนัดเฉพาะด้าน และมีมุมมองที่เน้นกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ฉะนั้นศูนย์ข่าวอามานอาจจะพุ่งประเด็นในอีกมิติหนึ่งที่ฉีกแนวจากศูนย์ข่าวอิศราก็เป็นได้" ผศ.ชิดชนก ตอบคำถามเรื่องบทบาทที่อาจจะซ้ำซ้อนกันระหว่างศูนย์ข่าวอามานกับศูนย์ข่าวอิศรา


 


และทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของวงการสื่อในบริบทชายแดนใต้...กับก้าวย่างใหม่ของศูนย์ข่าวอามาน


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net