Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : รายงาน



 




 



 


 


 



 



 


 


 


ศึกษา เรียนรู้ พัฒนา จากคนสานก๋วย


กลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน "ก๋วยเงินล้าน"


น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง กับแนวคิดของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบจากคนสานก๋วยในแต่ละครอบครัว จนเกิดการรวมกลุ่มสานก๋วย กระทั่งกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน ที่ว่ากันว่า สร้างรายได้และมีเงินหมุนเวียนในกลุ่ม รวมแล้วปีหนึ่งประมาณ  1 ล้านบาท และในรอบ 1 ปีมีกำไรถึง 2 แสนกว่าบาทโดยเฉลี่ย


 


ที่เป็นเช่นนั้นได้ คงเป็นเพราะชาวบ้านกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นกันว่า ก๋วย คือวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณค่าสามารถสร้างรายได้ และสร้างความสุข ความอบอุ่นแก่ครอบครัว และสามารถพึ่งตนเองได้แบบอย่างยั่งยืน


 


"การรวมกลุ่มคนสานก๋วย เริ่มจากบ้านจอมคีรี ม. 3 ซึ่งเริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนขึ้นมาเมื่อปี 2543 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.แม่นะ เป็นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 1 แสนบาท พร้อมกับเงินสมทบ 30 % จากกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน อีกจำนวน 30,000 บาท" แม่อรุณ แสนแอน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน บ้านจอมคีรี บอกเล่าให้ฟังถึงการริเริ่มก่อตั้งกลุ่มครั้งแรก


 


เป็นการผ่านการคิดร่วมกัน  ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลของหมู่บ้าน โดยใช้รูปแบบของคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนขึ้นมา


 


"ตอนแรก มีสมาชิกทั้งหมด 130 คน ทางผู้นำหมู่บ้านได้จัดมีการประชุมประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน ถึงการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อตั้งกรรมการบริหารกลุ่ม และตั้งกฎกติกาของกลุ่ม คือ สมาชิกที่ขอยืมเงินจากกลุ่มทุกคน จะต้องคืนเป็นก๋วย สมมติว่าสมาชิกยืมเงิน 1 สัญญา ต่อ 1,000  บาท จะต้องนำก๋วย มาส่งให้กลุ่มหนึ่งครั้งต่อเดือนๆ ละ 35 ใบต่อหนึ่งสัญญา ถ้าสมาชิกยืมเงินหนึ่งหมื่นบาท จะต้องส่งก๋วย 350 ใบต่อเดือน โดยทางกลุ่มประกันราคาไว้ที่ใบละ 3 บาท ไม่ว่าท้องตลาดจะขายซื้อในราคา 2 บาท แต่กลุ่มก็ให้สมาชิก 3 บาท โดยมีคณะกรรมการบริหาร 8 คน มีกำนันพรหมา เก่งกล้า อดีตกำนันตำบลแม่นะเป็นที่ปรึกษา รวมถึงกรรมการหมู่บ้านร่วมกัน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 290  คน" ตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนบ้านจอมคีรี อธิบายรายละเอียดให้ฟัง


 


"เมื่อจัดตั้งกลุ่มได้ 1-2 ปี เริ่มมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น มีการประกันราคาก๋วยให้กับสมาชิกกลุ่ม สมาชิกเราจะเอาก๋วย มารวมกันขาย สามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านจะถูกพ่อค้าจะกดราคาลง เหลือใบละ 2.50 - 2.80 บาท ดังนั้น หากเราตั้งราคาไว้ 3 บาท พ่อค้ามาซื้อต่ำกว่านั้นเราไม่ขาย ต้องมาซื้อกับกลุ่ม ในราคาที่สูงกว่า"


 


จากการสอบถามข้อมูลการผลิตและซื้อขายก๋วยในรอบปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา พบว่า สมาชิกของกลุ่มสามารถผลิตก๋วยได้ประมาณ 3 หมื่นใบต่อเดือน หรือประมาณ 3 แสนกว่าใบต่อปี


 


"ซึ่งเมื่อรวมกันขายแล้ว ในรอบปีหนึ่ง ทางกลุ่มสามารถขายก๋วยได้ประมาณ 1 ล้านบาทโดยเฉลี่ย และที่สำคัญ การรวมกลุ่มกันขายก๋วย สามารถสร้างกำไรให้กับกลุ่มเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2 แสนบาทต่อปี"


 


ข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังไม่นับส่วนต่างที่ชาวบ้านนำไปขายให้กับพ่อค้ารับซื้อนอกระบบ


           


พัฒนาจากกลุ่มก๋วย นำไปสู่การออมทรัพย์ กองทุนในรูปแบบอื่นๆ


"ทางกลุ่มมีกลไกในการทำงานอย่างไรบ้าง..." หลายคนเอ่ยถามด้วยความอยากรู้


"ทางกลุ่มจะเน้นกลไกลในการทำงาน โดยจะเน้นสร้างการเรียนรู้และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตามระบบครอบครัว การสร้างระบบกลุ่ม และคัดเลือกตัวแทนเพื่อต่อรองราคาจากพ่อค้าคนกลาง มีการจัดระบบการผลิต และดูแลวัตถุดิบในท้องถิ่นให้ยั่งยืน มีการสร้างระบบการบริหารจัดการ ค่าตอบแทนการทำงาน รวมไปถึงการจัดการระบบการออมแบบเครือญาติ เป็นต้น"


 


การรวมกลุ่มของกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนบ้านจอมคีรี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงเพื่อการแก้ไขปัญหาการกดราคาของพ่อค้าคนกลางอย่างเดียวเท่านั้น  แต่การรวมกลุ่มของชาวบ้านได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมาย


 


โดยดูได้จาก ทุกสิ้นปี สมาชิกจะได้เงินปันผลคืน โดยที่นำเงินผลกำไรจากการขายก๋วย ที่สมาชิกส่งมาให้กับกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมา ทางกลุ่มจะได้กำไรสุทธิประมาณ 1- 2 แสนบาทต่อปี โดยกลุ่มได้นำมาจัดสรรเป็นส่วนอย่างลงตัว


 






 


รูปแบบการจัดการของกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือนบ้านจอมคีรี


 


1.     ปันผลคืนสมาชิก 25 %


2.     ทุนศึกษาดูงาน  10  %


3.     สมทบกองทุน  10 %


4.     ทุนประกันความเสี่ยง 10 %


5.     ทุนสาธารณะประโยชน์  10 %


6.     ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก 10 %


7.     ค่าตอบแทนกรรมการ  20 %


8.     ค่าอุปกรณ์ เครื่องเขียน  5 %


 


 


"คนเข้ากลุ่มจะมีความสุข เมื่อถึงสิ้นปีมามีเงินปันผลให้กับลูกสมาชิก ปัจจุบันสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเริ่มแรก สมาชิก 130  คน  ปัจจุบันมีเพิ่ม 290 คนแล้ว เพราะจะผูกพันกับกลุ่มออมทรัพย์ คนที่มาเป็นสมาชิกก๋วย จะต้องออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์ก็จะไปช่วยหนุนกับกลุ่มก๋วย  เอาเงินออมทรัพย์ไปปล่อยกู้ หากเงินกลุ่มก๋วยไม่พอ โดยคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 50 สตางค์เท่านั้น"


           


ก๋วยกลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ความสุข ระหว่างคนในชุมชน


ผลที่ได้จากการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน นอกจากทำให้พ่อค้าที่เข้ามาซื้อก๋วยในหมู่บ้าน จะต้องซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าที่กลุ่มประกันราคาเอาไว้ ซึ่งนอกจากทำให้คนในชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ก๋วยยังกลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง ระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัว  โดยดูได้จากความสัมพันธ์ของชาวบ้านในขณะที่นั่งสานก๋วยกัน


 


หากเราเดินไปตามแต่ละหลังคาเรือน จะมองเห็นภาพของความสุขลอยวนไปมาในบ้านแต่ละหลัง ภาพพ่อเม้นพับปากก๋วย แม่นั่งสาน ส่วนลูกๆ จะช่วยกันก่อเป็นรูปก๋วยขึ้นมา ระหว่างทำงานกันนั้น ก็จะนั่งพูดคุย หัวเราะ หยอกล้อกันไปมา


 


"ได้ถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวมาสานก๋วย ตั้งแต่ป.4 สอนสานก้น และทำเป็นลูก สอนเม้ม พับปากก๋วย จนถึงปัจจุบัน เมื่อสอนลูกเก่งแล้ว กลับไปสอนแม่อีกครั้ง เลิกโรงเรียน กลับมาถึงบ้าน ก็กลับมาเม้ม พับปากก๋วยต่อ..." แม่อุ้ยลูน ลายคำ วัยอายุ 80 ปี บอกเล่าให้เห็นภาพในอดีต ว่าได้มีการถ่ายทอดการสานก๋วยจากแม่สู่ลูกมานานแล้ว


 


"การสอนจะเป็นลักษณะรุ่นต่อรุ่น ใครอยากได้เงิน ไปโรงเรียน ไปเที่ยว ก็มานั่งสานก๋วย เริ่มตั้งแต่พับปาก เม้มปาก จนกลายเป็นก๋วย ขนไปขายให้กับกลุ่ม โดยพ่อค้าจะแบ่งเวลานัดวันรับซื้อของแต่ละหมู่บ้าน แน่นอน งานสานก๋วยได้กลายเป็นงานประจำที่จะต้องได้แน่นอน" แม่อรุณ บอกกับเรา


 


"ถ้ามองถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มที่มารวมกลุ่มกัน ก็เห็นได้จากชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะพูดคุย หรือสร้างความสามัคคี มีการช่วยเหลือกันในการสานก๋วย การช่วยเหลือกันขนก๋วยมาส่งบริเวณสถานที่ประมูลก๋วย"


 


"ทุกวันนี้คนเฒ่าหัวเราะได้เพราะก๋วย มีสิบได้ขายสิบ มียี่สิบได้ขายยี่สิบ ก๋วยเป็นเงินออม ก๋วยเป็นสมาชิก ก๋วยเป็นเงินทุนการศึกษา คืออยากจะบอกว่า ความสุขอยู่อย่างไร อยู่ตรงไหน..." นั่นคือเสียงของความสุข ของคนเฒ่าคนแก่ที่นั่งสานก๋วย บอกให้เรารับรู้...


 


ที่เห็นเด่นชัด ก็คือ การรวมกลุ่มคนสานก๋วย ได้มองไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของการสงเคราะห์ดูแลผู้สูงวัย รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียนและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลังในสังคมต่อไปในอนาคต โดยจัดสรรเงินกำไรที่ได้จากการขายก๋วย มาจัดสรรเป็นทุนการศึกษา เป็นทุนทางสังคมในอนาคต


 


"ที่ผ่านมา เราได้จัดสรรทุนการศึกษาให้บุตรที่เป็นสมาชิกได้ 20 กว่าทุน ปีนี้คิดว่าจะไม่มีทุนสวัสดิการ แต่จะเปลี่ยนมาเป็นให้ทุนสมาชิกที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ รวมไปถึงมีสมาชิกบนดอยที่สามารถเชื่อมเครือข่ายช่วยเหลือกัน" 


 


"ในอนาคต คิดว่าจะเชื่อมช่วยเหลือกันทั้งชาวบ้านและสมาชิก พัฒนาสมาชิกให้เพิ่มขึ้น หากใครเข้ามาเป็นสมาชิกอุตสาหกรรม จะต้องฝากเงินกับกลุ่ม เมื่อมาฝากเงินตรงนี้ สามารถมีเงินที่มาเป็นหลักประกันไว้ เป็นกองทุนแต่ละปี"


 


ปัจจุบัน ในหมู่บ้านจอมคีรี มีคนยึดอาชีพสานก๋วยทั้งหมด 315 หลังคา และได้เข้าร่วมกลุ่มทั้งหมด 298 คน และคาดว่าจะเริ่มมีชาวบ้านทยอยมาเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มกันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งชาวบ้านที่สานก๋วย แต่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งทางกลุ่มไม่ได้ปิดกั้น ก็ยังสามารถนำก๋วยมาฝากขายผ่านกลุ่ม ในราคาที่ทางกลุ่มกำหนดราคาเอาไว้ได้อีกด้วย


           


กลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน


ขยายแนวคิด ขยายกลุ่มจักสานไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง


หลังจากที่ กลุ่มสานก๋วยบ้านจอมคีรี ในนาม"กลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน" ได้ประสบความสำเร็จในเรื่องการรวมกลุ่ม การบริหารจัดการและการออมทรัพย์แล้ว ยังไม่หยุดกิจกรรมเพียงเท่านี้ แต่ยังขยายกลุ่มไปสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ได้แก่ หมู่บ้านแม่นะ และบ้านป่าบง 


 


ยกตัวอย่างกรณี หมู่บ้านป่าบง หมู่ที่  1 หลังจากเมื่อปี พ.ศ.2546 ได้ไปดูงานกลุ่มก๋วยบ้านจอมคีรี แล้ว ก็กลับมาประชุมหารือพร้อมกับตั้งกลุ่มกันขึ้นมาว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร โดยเริ่มต้นจากงบประมาณ 40,000 บาท มาบริหารจัดการเหมือนๆ กัน ปัจจุบัน กลุ่มสานก๋วยบ้านป่าบง มีเงินทุนทั้งหมด 60,000 บาท           


 


"ในกลุ่มเมื่อขายก๋วยได้ ก็จะมีเงินออม มีเงินปันผล ใครเหลือจากใช้หนี้ มาฝากขาย มีการดำเนินการปันผลมาจากเปอร์เซ็นต์การขายก๋วย แบ่งเข้ากองกลางมาเป็นค่าบริหารจัดการ ใครมาทำงานก็แบ่งปันไป แบ่งไปตามสัดส่วน ปีหนึ่งๆ เงินออมทรัพย์มีการเบิกคืนได้ เงินออมทรัพย์ที่ได้ คืน อบต.แล้ว มีทุนค่าบริหารจัดการอยู่ในตัวสมาชิกพร้อมกับเงินออม มาออกมาให้กลุ่มเดียวกันกู้ ปีต่อไปเริ่มต้นกู้ใหม่ และแบ่งปันผลกำไรกัน"


 


ในขณะที่หมู่บ้านแม่นะ หมู่ 2 ก็เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยในตอนเริ่มแรกนั้น มีทุนจำนวน 42,000 บาท แต่ยังไม่ได้จัดการอย่างละเอียด แต่เป็นลักษณะของการรวมกลุ่มเล็กๆในหมู่บ้าน มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 กว่าคน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 70 กว่าคน ซึ่งที่ผ่านมา หลังจากขายก๋วย กำไรที่ได้ก็จะนำมาปันผลให้สมาชิกให้ทุกปี


 


"เมื่อมีเงินเข้ามาก็เก็บไว้ซื้ออุปกรณ์ของใช้ประโยชน์หน้าหมู่ ทั้งชุดแม่บ้าน,เต็นท์,อุปกรณ์เครื่องครัว"


 


ปัจจุบัน กลุ่มจักสานก๋วยในเขตตำบลแม่นะ ได้กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานจากหลายองค์กรหลายชุมชนที่สนใจและนำไปปฏิบัติ ขยายผลออกไปสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น


 


"ที่ผ่านมา ก็มีหลายหน่วยงานมาศึกษาดูงาน อย่างชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสันทราย เชียงใหม่ ก็เคยเข้ามาดูงาน และขอให้ไปเป็นวิทยากรสอนเรื่องก๋วย เมื่อกลับไป ก็สามารถเริ่มต้นที่จะลงมือรวมกลุ่มสานก๋วยกัน ทุกวันนี้ก็มีการโทรศัพท์ติดต่อมาสอบถามเรื่องอุปกรณ์ ความรู้อื่นๆเป็นระยะๆ" ตัวแทนกลุ่ม"กลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน"บ้านจอมคีรี บอกเล่าให้ฟัง


 


ตอนหน้า เราจะพาไปศึกษาเรียนรู้ ของคนทำก๋วย ซึ่งเริ่มตั้งคำถามกันเองแล้วว่า"ไม่มีก๋วยชีวิตจะอยู่ได้ไหม!?...ก๋วยเดินทางไปไหน...และหากพ่อค้าหยุดรับซื้อ ชาวบ้านจะอยู่ได้หรือไม่ อย่างไร!?..."


 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


ก๋วย...ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต รายได้ และลมหายใจของคนชุมชนแม่นะ (1)


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/15757


 


 






 


เครื่องจักสานภาคเหนือ


 


ภาคเหนือ หรือล้านนาไทย เป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น เป็นของตนเอง เป็นเหตุให้เครื่องจักสานในภาคเหนือมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น นอกจากนี้ ภาคเหนือหรือล้านนาไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ


 


สภาพการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จักสานที่สำคัญ นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีวัตถุดิบหลายชนิด ที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ เช่น กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งไม้ไผ่ซึ่งมีหลายชนิดที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี นอกจากสภาพภูมิประเทศและการประกอบอาชีพของภาคเหนือที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทำเครื่องจักสานแล้ว ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณี และศาสนาของภาคเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง


 


นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้าวเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึง ก๋วย ซ้าหวด ก่องข้าว กระติบข้าว แอบ ข้าว ขันโตก ฯลฯ เครื่องจักสานเหล่านี้หลายชนิดมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่น ได้แก่ ก่องข้าว แอบข้าว เปี้ยด เป็น


 


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22 เรื่องเครื่องจักสาน


                                                                                                                        


 


 


 


ที่มาข้อมูล-ข้อมูลประกอบ


สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.)


สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22 เรื่องเครื่องจักสาน


คำสัมภาษณ์ผู้นำและสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือนบ้านจอมคีรี ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net