Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


"ไม่รู้ว่าโง่ หรือแกล้งโง่กันแน่ ที่ทำแบบนี้"


 


ผมถูกตั้งคำถามเชิงต่อว่าลักษณะนี้ จากเพื่อน ๆ ในกองบรรณาธิการข่าว "ทีไอทีวี." เมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อครั้งที่แอบเดินทางไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกาะฮ่องกง โดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากบรรณาธิการข่าว


 


แม้ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนั้น จะไม่มีโอกาสได้ออกอากาศทางทีไอทีวี. เพราะคำสั่งห้ามจาก คมช.ทั้งจากโทรศัพท์สายตรง และหนังสือห้ามอย่างเด็ดขาด และการกระทำครั้งนั้นของผม ก็ยังคงเป็นเหมือนคำสาปที่มีมนต์ขลัง ส่งผลต่ออาชีพการทำงานของผมจวบจนปัจจุบัน


 


เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในวงการวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเฉพาะด้านโทรทัศน์ มีการใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ต่อสู้ ปลุกปั่น เพื่อจุดชนวนสงครามระหว่างประชาชนคนไทยด้วยกันเอง ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะคนทำสื่อโทรทัศน์เองที่ยอมจำนน เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง โดยมีผลประโยชน์ของตัวเองเป็นเดิมพันรวมอยู่ด้วย


 


ผมนั่งลงทบทวน คำถามเชิงตำหนินี้อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป คำอธิบายที่กลายเป็นคำตอบให้กับตัวเองคือ " ใช่ เพราะความโง่ของเราเองจริง ๆ"


 


ขอย้อนอธิบายถึงการตัดสินใจเดินทางไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ พรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2550 นั้น อยู่บนฐานความคิด (ของผมเอง) 3 ประการ คือ


 


1. ต้องการฟังความจริงจากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง หรือไม่ เพราะมีข่าวลือที่อ้างแหล่งข่าวจากหลายแหล่งหลายสำนัก ซึ่งส่วนใหญ่ลอกมาจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า อดีตนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นท่านนี้ ได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจะให้พรรคพลังประชาชนกำชัยในการเลือกตั้ง และเมื่อคว้าชัยชนะมาได้ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยท่านนี้ ก็ยังฟอร์มรัฐบาล จัดสรรโควต้ารัฐมนตรีแต่ละกระทรวงด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่ในต่างประเทศก็ตาม


 


ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ส่งผลต่อความเปลื่ยนแปลง และต่อทิศทางการเมืองของประเทศอย่างยิ่ง แต่แทบไม่มีสื่อมวลชนไทยแขนงใด กล้าที่จะนำเสนอข้อเท็จจจริงเหล่านี้จากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง


 


จึงเป็นที่มาของเหตุผลข้อที่ 2 คือรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจว่า ทำไมสื่อมวลชนไทยในเวลานั้น คอยแต่จะลอกข่าว หรือแปลข่าวความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ จากสื่อต่างประเทศทุกวัน ทั้งๆ ที่นักข่าวต่างประเทศเองไม่ได้รู้ลึกถึงข้อเท็จจริง ความรู้สึกของคนไทย และความเป็นไปของสังคมไทยในเวลานั้นเท่ากับนักข่าวไทย ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เหตุผลเพราะข้อจำกัดของการเดินทาง


 


และข้อที่ 3 เป็นความพยายามที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อความสมดุลย์ของข่าวตามหลักการแห่งวิชาชีพ เพราะการเมืองไทยในยุค คมช. คนไทยจะได้ยิน ได้ฟังแต่เฉพาะเสียงของ คมช.เป็นหลัก โดยเฉพาะความพยายามที่จะกำจัดกลุ่มอำนาจเก่า โดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีโอกาสได้ชี้แจง หรืออธิบายความ จนนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ณ วันนี้ เพราะ คมช. ไม่ได้ฉวยโอกาสของความเป็นรัฐบาลที่ปลอดจากผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงนั้น แผ้วถางทางเพื่อที่นำพาสังคมไทยเดินไปสู่ เส้นทางแห่งความสมานฉันท์ได้ ( ทั้งๆ ที่เป็นภารกิจหลัก และวัตถุประสงค์สำคัญของการทำรัฐประหาร )


 


ด้วยความคิดตามประสา "คนโง่" อีกนั่นแหละที่ว่า ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ โดยการยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง สุจริต เป็นธรรม ก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะสังคมไทยพร่ำสอนกันอยู่เสมอว่า ความซื่อสัตย์และความสุจริตในการประกอบวิชาชีพ จะเป็น "เกราะป้องกันภัย" ให้กับตัวเองได้ในทุกวิกฤต แต่สุดท้ายผมคาดการณ์ผิด เพราะผลลัพธ์กลับตรงข้าม


 


ขอตัดภาพไปยังเหตุการณ์ล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา


 


"ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด แสดงความรุนแรง อุกอาจ หวาดเสียว และลามกอนาจาร ซึ่งขัดต่อข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ รวมทั้งโทรทัศน์บางช่องก็เสนอภาพข่าวการฆาตกรรมอย่างโจ้งแจ้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก และอาจจะทำให้เด็กคิดว่าความรุนแรงจากการฆาตกรรมเป็นเรื่องปกติของสังคม"


 


ข้อความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ของสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ส่งถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์


 


ขณะที่กลุ่มอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ กำลังแถลงข่าวเรื่องนี้ในห้องประชุมคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 27 กุมพาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น มีนักข่าวอาชญากรรมจากหนังสือพิมพ์ที่ถูกระบุถึงร่วมทำข่าวนี้ด้วย โดยเขาได้สะท้อนความเป็นจริงของการทำข่าวอาชญากรรมให้กับกลุ่มอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ฯ ได้ฟังว่า


 


การทำข่าวในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง เป้าหมายจึงอยู่ที่การขายภาพและขายข่าว เมื่อข่าวคือ ธุรกิจ ก็จะต้องให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ ที่สำคัญ บุคคลสำคัญที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเลือกภาพใดและข่าวไหนนำไปลงพิมพ์ก็คือ บรรณาธิการ ดังนั้นหากสมาคมวิชาการ หรือสมาคมวิชาชีพ หรือองค์กรพิทักษ์ปกป้องอะไรก็ตาม แต่จะรณรงค์เรียกร้อง ก็ควรจะไปรณรงค์เรียกร้องกับบรรณาธิการเอง จะได้ผลมากกว่า"


 


เป็นคำอธิบายความจริงด้วยใจที่ใสซื่อ ในฐานะของผู้ปฎิบัติงานที่ไม่ได้แกล้งโง่หรือหลอกตัวเอง แต่สำหรับ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ที่นั่งฟังอยู่ อาจจะตำหนินักข่าวท่านนี้อยู่ในใจก็ได้ว่า เป็นนักข่าวที่ไร้สมอง ไร้อุดมการณ์ ไร้จรรยาบรรณของความเป็นนักข่าว


 


ผมเอง แม้จะเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือสมาคมวิชาชีพ หรือองค์กรใดก็ตามที่เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมีจรรยาบรรณ ไม่ลุ่มหลงติดยึดอยู่เฉพาะผลประโยชน์และอคติของตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดของคนที่ประกอบวิชาชีพด้านนี้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ มันยิ่งตอกย้ำให้คนที่พูด คนที่คิด และคนที่ปฎิบัติเยี่ยงนี้ กำลังหลอกตัวเอง และแกล้งโง่ มากขึ้นหรือไม่


 


สังคมไทยต้องยอมรับความจริงด้วยเหมือนกันว่า ผู้ปฎิบัติงานข่าว หรือนักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่ ยังคงทำงานอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัว ความหวาดวิตก และภายใต้เงื้อมมืออิทธิพลของทุน ฝ่ายการเมือง และผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งขององค์กรและของตัวเอง


 


เมื่อโลกแห่งอุดมคติที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์อันเจิดจ้าแจ่มจรัส ยังคงเป็นโลกในจินตนาการ ที่ไม่เฉพาะแต่องค์กรหรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ พยายามจะเอ่ยอ้าง แม้แต่ฝ่ายเมืองที่ประจักษ์ชัดที่สุดในการสร้างความหวาดกลัวและอิทธิพลให้เกิดขึ้นกับนักข่าว ก็พยายามแสดงเจตจำนงเพื่อการปฎิรูปสื่อ หวังจะทำให้โลกแห่งความเป็นจริง กับโลกแห่งอุดมคติมีความใกล้เคียงแนบชิดกันมากขึ้น แต่เพียงจุดเริ่มต้น ก็พอจะเห็นจุดหมายปลายทางว่าจะออกมาอย่างไร


 


คงเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ หรือการสร้างวาทกรรมอันสวยหรู เพราะผลลัพธ์สุดท้าย คนปฎิบัติงานสื่อ หรือนักข่าว ก็ยังคงอยู่ในโลกแห่งความจริง หรือยังคงเหยียบย่ำอยู่บนเส้นทางของความหวาดกลัว และจำต้องยอมจำนนอยู่ต่อไป


 


แล้วเมื่อไหร่ สังคมไทย ถึงจะไม่แกล้งโง่ และเลิกหลอกตัวเอง เสียที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net