Skip to main content
sharethis


 



 


 


 


ศาลจังหวัดสงขลานัดกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเหตุการณ์ 20 ธันวาคม 45 บริเวณหน้าโรงแรมเจบี เมื่อคราวจัดประชุมคณะรัฐมนตีสัญจรไม่เป็นทางการสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ (ครั้งที่ 5) และการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย    โรงแรมเจบี หาดใหญ่ 


 


            โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เป็นโจทย์ยื่นฟ้องชาวบ้านและองค์กรนักศึกษา รวม  12 คน ในข้อหา    "ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน  ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย, พกพาอาวุธไปในเมือง  หมู่บ้าน  ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร      ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย  ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ , มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด  เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น , ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้" ซึ่งศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 12 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550  แต่ทางพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ยื่นอุทธรณ์คดี


 


            เวลา 09.00 น.ฝ่ายโจทก์และนายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะซึ่งตกเป็นจำเลยและพวกรวม 12 คนเดินทางมาศาลจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์และนางสาวส รัตนมณี พลกล้า ทนายความ จากสภาทนายความ โดยมีชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย คัดค้านประมาณ 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจ


 


            จนกระทั่งเวลา 09.30 น. นายอเนกชัย  อารยะญาณได้ออกนั่งบัลลังก์ห้อง 309 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9  ยกฟ้องนายสุไลมานและพวกรวม 12 คน


 


            คำพิพากษาระบุ   พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุรัฐบาลจัดทำโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ตำบลสะกอมและตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจรวมตัวกันชุมนุมคัดค้านโครงการดังกล่าวรัฐบาลจึงทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ต่อมารัฐบาลจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่กับคณะรัฐมนตรีไทย-มาเลเซียในวันที่ 21 ถึง 22 ธันวาคม 2545 เวลา 14 นาฬิกา มีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมาชุมนุมคัดค้านที่ลานกีฬาบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  ก่อนจะเดินทางไปตามถนนสายเอเชีย มุ่งหน้าไปยังโรงแรมเจบีเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาถึงนาหม่อม จังหวัดสงขลา  เจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งด่านสกัด เพื่อขอตรวจค้น มีการเจรจาต่อรองจนเจ้าพนักงานตำรวจยอมเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนต่อไปได้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูง เจ้าพนักงานตำรวจใช้แผงเหล็กกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน ผู้ชุมนุมจึงต้องหยุดขบวนให้ตัวแทนเจรจากับฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจ  ระหว่างเจรจาผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันพักผ่อนและทำพิธีละหมาด แต่เกิดเหตุชุลมุนปะทะกันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจกับผู้ชุมนุมจนทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินของทางราชการและของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ในวันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่2321-2329/2547 ของศาลชั้นต้นได้พร้องของกลางตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.16 ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2547 จำเลยทั้งสิบสองเข้ามอบตัวสู้คดีต่อพนังงานสอบสวนตามบันทึกรับมอบตัวและบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.105 ถึง จ.107 สำหรับข้อหาความผิดฐานทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวันหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับกับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบสองกระทำความผิดตามบทมาตราทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสิบสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า


 


            ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ"  วรรคสองบัญญัติว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก


 


            มาตรา 46 บัญญัติว่า "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน"


 


กฎหมายบัญญัติมาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ


และชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามบทบัญญัติ" จากบทบัญญัติดังกล่าวบุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการพลังงานขนาดใหญ่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น จำเลยทั้งสิบสองและผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการดังกล่าวย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและมีเสรีภาพในการชุมนุมคัดค้านโครงการอย่างสงบและปราศจากอาวุธได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  ซึ่งนายวัชระพันธ์ จันทรขจร พยานโจทก็เป็นกรรมการอำนวยการประสานงานและติดตามผลการปฏิบัติราชการ สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี มีหน้าที่แก้ไขปัญหามวลชนประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแก้ไขปัญหาในทุกพื้นที่ที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เบิกความว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ รัฐบาลทราบว่าจะมีผู้มาชุมนุมคัดค้านโครงการดังกล่าว ในวันที่ 19 ธันวาคม 2545 พยานจึงประสานกับนายบรรจง นะแส ตัวแทนผู้ชุมนุมได้ความว่า ในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เวลาบ่ายโมง ชาวบ้านเกินกว่าร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจะเดินทางมาชุมนุมที่บริเวณที่ว่างข้างโรงแรมเจ.บี. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน นายวัชระพันธ์รับจะนำข้อเสนอไปปรึกษาพลตำรวจตรีสัณฐาน  ชยนนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผู้รับผิดชอบดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ชุมนุม เส้นทางการเคลื่อนขบวนสถานที่ชุมนุม และวัตถุประสงค์ของการชุมนุม เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจในการุมนุมอย่างเปิดเผย


เมื่อถึงเวลานัดหมายผู้ชุมนุมมารวมตัวที่ลานกีฬาบ้านโคกสัก แล้วเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายเอเชียอย่างเรียบร้อย แม้ระหว่างทางจะมีเจ้าพนักงานตำรวจตั้งด่านสกัดกั้นหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรง แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรงปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด เนื่องจากนายวัชระพันธ์เป็นผู้ประสานเจรจาตลอดทาง กระทั่งผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณสะพานจุติบุญสูง มีแผงเหล็กและเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวสกัดกั้น ผู้ชุมนุมต้องหยุดขบวนและเจรจากับฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจอย่างสันติวิธี มิได้มีการฝ่าแนวกั้นในทันทีที่มาถึง แต่ระหว่างการฟังผลเจรจาเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายขึ้น ซึ่งโจทก์อ้างว่าเหตุชุลมุนดังกล่าวผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายก่อ เพื่อต้องการก่อความวุ่นวายในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยโจทก์มีพลตำรวจตรีสัณฐาน ชยนนท์ พลตำรวจตรีคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พันตำรวจเอกสุรชัย สืบสุข พันตำรวจโทเสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ พันตำรวจโททศพล เพชรพรอักษร จ่าสิบตำรวจดำรง ชื่นอารมณ์ ดาบตำรวจวิรัตน์ วีระวงศ์ เป็นประจักษ์พยาน แต่คำเบิกความของประจักษ์พยานดังกล่าวขัดแย้งมีข้อแตกต่างกันหลายประการ  เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุที่มีการสืบทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมอาวุธร้ายแรงมาก่อความวุ่นวายในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยพลตำรวจตรีสัณฐาน เบิกความว่า ในวันที่ 19 ธันวาคม 2545 เวลากลางคืน พยานได้รับแจ้งจากนายสะมะแอ เจ๊ะหมัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ว่านายสะมะแอได้ข้อมูลจากนายเขียวผู้ใหญ่บ้านว่า ผู้ชุมนุมได้จัดเตรียมอาวุธเป็นลูกตะกั่ว ไม้คันธง และระเบิดขวดมาชุมนุมด้วย พยานจึงนัดนายสะมะแอและนายเขียวมาพบในวันรุ่งขึ้นที่โรงแรม เจ.บี. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงอีกครั้ง ได้รับการยืนยันว่าผู้ชุมนุมจะนำอาวุธร้ายแรงมาเพื่อก่อความวุ่นวายจริง ในวันเดียวกันเวลา 10 นาฬิกา ในที่ประชุมเตรียมการรักษาความปลอดภัย และพิจารณาเรื่องสถานที่ชุมนุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน พลตำรวจตรีสัณฐาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ย่อมจะต้องรายงานเรื่องที่สืบทราบดังกล่าวต่อที่ประชุมทันที เพื่อป้องกันเหตุร้าย และรักษาความปลอดภัยให้คณะรัฐมนตรี แต่การประชุมดังกล่าวนายวัชระพันธ์ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถามค้านว่า ในที่ประชุมไม่มีการรายงานว่าผู้ชุมนุมจัดเตรียมอาวุธมาชุมนุม หรือผู้ชุมนุมต้องการขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด และนายสะมะแอยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถามค้านด้วยค้างด้วยว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลดังกล่าวมิได้ยืนยันว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมเตรียมมานั้นเป็นระเบิดขวดจริงหรือไม่ จึงแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่พลตำรวจตรีสัณฐานได้รับรายงานมายังไม่มีการกลั้นกรองว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใดทั้งในการตั้งด่านตรวจค้นที่อำเภอนาหม่อม พันตำรวจเอกทศพลเบิกความว่า ขณะพยานอยู่ที่ด่าน ขบวนรถของผู้ชุมนุมประมาณ 40 คัน มีรถกระบะนำขบวนและรถบรรทุกหกล้อแล่นมาจอดตามกันที่ริมถนนด้านซ้ายตามที่เจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุด ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในตัวผู้ชุมนุม ส่วนไม้คันธงที่อยู่บนรถยนต์กระบะก็ไม่ปร่ากฎว่ามีการเสี้ยมปลายแหลม หรือตอกตะปูไว้ ไม้คันธงดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นอาวุธ จึงไม่ได้บันทึกการยึดไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 แต่พลตำรวจตรีคำรณวิทย์ และพันตำรวจเอกสุรชัยเบิกความว่า มีรถยนต์กระบะของผู้ชุมนุมเพียงคันเดียวที่แล่นมาถึงด่านก่อน ระหว่างตรวจค้นรถยนต์กระบะจึงเห็นขบวนรถผู้ชุมนุมมีรถยนต์บรรทุกหกล้อนำอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร เมื่อมาถึงด่านขบวนรถก็มาจอดกลางถนนไม่ยอมจอดริมถนนตามที่แจ้งให้หยุด และผลการตรวจค้นรถยนต์กระบะพบไม้คันธง 10 อัน ไม้แต่ละอันเสี้ยมปลายแหลมและมีปลายตะปูขนาด 3 นิ้วโผล่ออกมา สภาพดังกล่าวอาจใช้เป็นอาวุธได้จึงยึดเป็นของกลาง ส่วนพันตำรวจโทเสกสันต์เบิกความทำนองว่า พยานสืบทราบว่าผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธจะมาก่อเหตุร้ายโดยใช้รถยนต์กระบะ 2คัน เป็นพาหนะเดินทางล่วงหน้ามาก่อนพยานจึงรีบไปแจ้งเหตุที่ด่านตรวจอำเภอนาหม่อม ระหว่างนั้นมีรถยนต์กระบะ 2 คัน แล่นมาตรงที่สืบทราบจริง จึงขอตรวจค้นพบหนังสติ๊ก และลูกตะกั่วในกระเป๋ากางเกงผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถยนต์กระบะทั้งสองคัน


 


จากการตรวจค้นตามที่พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความมานอกจากจะไม่พบอาวุธร้ายแรงตามที่พลตำรวจตรีสัณฐานสืบทราบแล้วลักษณะเป้าหมาย และผลการตรวจค้นก็ยังแตกต่างไม่ตรงกันอีกด้วย หลังจากที่ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนมาหยุดอยู่ที่บริเวณสะพานจุติบุญสูง พยานได้รับรายงานจากพันตำรวจโทเสกสันต์ซึ่งติดตามผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งมีประมาณ 500 คน ว่าผู้ชุมนุมกลุ่มหลังนี้ที่จะมาสมทบกับผู้ชุมนุมกลุ่มแรก เพื่อก่อกวนการประชุมคณะรัฐมนตรี และกำลังเดินทางมาใกล้จะถึงแล้ว พยานเห็นว่าหากมีผู้ชุมนุมมาสมทบเพิ่มอีกเกรงว่ากำลังเจ้าพนักงานตำรวจจะต้านผู้ชุมนุมไว้ไม่อยู่ พยานจึงสั่งให้พันตำรวจเอกสุรชัย และพันตำรวจเอกคำรณวิทย์ไปแจ้งแกนนำผู้ชุมนุมว่าให้เลิกการชุมนุมมิฉะนั้นจะดำเนินการตามหน้าที่ แต่จำเลยที่๑ ใช้เครื่องขยายเสียงปลุกเร้า และมีเสียงขานรับจากผู้ชุมนุม พยานจึงสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจปราบจราจลเข้าสลายการชุมนุมด้วยการตั้งแถวใช้โล่ผลักดันผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิง และใช้ไม้คันธงตีเจ้าพนักงานตำรวจจนเกิดเหตุชุลมุนขึ้น ซึ่งข้อมูลที่พันตำรวจตรีสัณฐานอ้างว่าจะมีผู้ชุมนุมมาสมทบนั้น พันตำรวจโทเสกสันต์เบิกความว่า หลังจากผู้ชุมนุมผ่านด่านตำรวจอำเภอนาหม่อมไปแล้ว พยานคิดว่าน่าจะไม่มีเหตุรุนแรงพยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาจึงไปรับประทานอาหารที่หลังโรงแรมเจ.บี. และเพิ่งมารู้เรื่องชุลมุนหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุมแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโทเสกสันต์ได้ติดตามผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งหรือได้รับรายงานต่อพลตำรวจตรีสัณฐานว่าจะมีผู้ชุมนุมมาสมทบแต่ประการใด


 


นอกจากนั้นยังได้ยังได้ความจากพันตำรวจเอกสุรชัยเบิกความว่า พลตำรวจตรีสัณฐานสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าสลายการชุมนุมหลังจากจำเลยที่ 2 ใช้มีดพันมือพยานหลังจากที่เข้าไปยึดเครื่องขยายเสียงจากนายอรรถพล พลตำรวจตรีคำรณวิทย์เบิกความว่า ขณะพยานควบคุมแถวเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อมิให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนต่อไป จำเลยที่ 2 ได้มายืนข้างพยานแล้วใช้เครื่องขยายเสียงพูดปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมผลักดันเจ้าพนักงานตำรวจ จนผู้ชุมนุมลุกฮือเข้าหาเจ้าพนักงานตำรวจ และขว้างปาขวดน้ำกับใช้ไม้คันธงตีเจ้าพนักงานตำรวจ จ่าสิบตำรวจดำรงเบิกความว่า เมื่อผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง พลตำรวจตรีสัณฐานที่สั่งให้ไปประชุมกันที่ข้างธนาคาร พันตำรวจเอกสุรชัยจึงสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวเดินหน้าผลักดันผู้ชุมนุมจนเกิดเหตุชุลมุนขึ้น และดาบตำรวจวิรัตน์เบิกความว่า เมื่อผู้ชุมนุมทำพิธีละหมาด และรับประทานอาหารเสร็จผู้ชุมนุมก็เข้าผลักดันพนักงานตำรวจทันที ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งเจ็ดปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยมิให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวาย แต่ประจักษ์พยานต่างเบิกความแตกต่างกันทุกเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นโดยตลอด จึงเป็นพิรุธไม่อาจรับฟังเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง และยังไม่สมเหตุสมผลเพราะก่อนเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้แจ้งข้อเสนอเกี่ยวกับจำนวนผู้ชุมนุม เส้นทางและสถานที่ชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของคนท้องถิ่นเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะมาก่อความวุ่นวายในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่แต่ประการใด ทั้งยังได้ความจากนายวัชระพันธ์ นายบรรจง และจำเลยที่ 1 อีกว่า ระหว่างที่ผู้ชุมนุมถูกสกัดกั้นอยู่ที่บริเวณสะพานจุติบุญสูง นายวัชระพันธ์ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลได้เข้าเข้ามาเจรจากับนายบรรจง และผู้ชุมนุมเกี่ยวกับสถานที่ชุมนุมแล้วขอเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อไปปรึกษานายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่โรงแรมเจ.บี. ก่อนไปนายวัชระพันธ์ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งรักษาความสงบในขณะนั้นแล้ว แต่ปรากฎว่าระหว่างที่ผู้ชุมนุมรอฟังผลการเจรจาอยู่นั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งแถวและผลักดันผู้ชุมนุมขณะนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนกำลังพักผ่อน บางส่วนกำลังรับประทานอาหาร และบางส่วนกำลังทำพิธีละหมาด ดังนี้ การชุมนุมของจำเลยทั้งสิบสองกับพวกจึงเป็นการชุมนุมที่สงบ มิได้มีเจตนาเพื่อขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือต้องการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่เจ้าพนักงานเข้าสลายการชุมนุม จึงเป็นเหตุให้เกิดชุลมุนวุ่นวายขึ้นมิใช่ผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายก่อประกอบกับอาวุธของกลางไม่ปรากฏว่าเป็นของจำเลยทั้งสิบสองหรือของผู้ชุมนุมคนใด การชุมนุมของจำเลยทั้งสิบสองและพวกจึงเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 44 มิใช่เป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสิบสองไม่เป็นการมั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 แล้ว ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 216 ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนที่จำเลยหรือผู้ชุมนุมบางคนใช้ไม้ตีหรือขว้างปาสิ่งของเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินของทางราชการหรือของผู้อื่นเสียหาย ก็สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจเข้าสลายการชุมนุมอันมีลักษณะเป็นการโต้ตอบการจำกัดหรือขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบดังที่วินิจฉัยมาขั้นต้น จำเลยทั้งสิบสองหรือผู้ชุมนุมหาได้มิเจตนาทำร้ายร่างกาย หรือต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ หรือทำให้ทรัพย์สินของทางราชการ หรือของผู้อื่นเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยทั้งสิบสองจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น


 


            นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี หนึ่งในผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีกล่าวว่า วันนี้เป็นการตอกย้ำสิ่งที่กลุ่มคัดค้านต่อสู้มาร่วมสิบปีว่าพวกเราทำเพื่อปกป้องวิถีชีวิตชุมชน ศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซส่งผลกระทบต่อเราอย่างมา ซึ่งศาลก็ชี้ชัดว่าเป็นสิทธิของเราที่จะปกป้อง ที่สำคัญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางบริษัทปตท.และบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซียทำผิดกฎหมายมาตลอดไม่ว่าจะโกงที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกชายทะเลการฮุบที่ดินวะกัฟ(ที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหลักศาสนาอิสลาม)แต่ตำรวจกลับไม่ดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเลือกปฏิบัติมาดำเนินคดียัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับผู้บริสุทธิ์  ทางกลุ่มคัดค้านถูกกระทำและกลั่นแกล้ง ซึ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุม 20 ธันวา 2545 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแสดงความรับผิดชอบ  โดยพล.ต.อสันต์ ศุรุตานนท์อดีตผบ,ตร.ต้องมาขึ้นศาลในฐานจำเลยแบบเดียวกับพวกตนเช่นกันในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จะได้รู้ว่าการเป็นจำเลยเป็นเช่นไร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net