Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ


ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


 


 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


ผู้เขียนได้มีโอกาสดูรายการพันแสงรุ้ง พันแสงรุ้ง ตอน "ทวิภาษา ไทยกลาง-มลายูปาตานี 2" ช่องไทยพีเอส เมื่อ 8 ก.พ. 52 อ่านหนังสือ แนวคิดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาใต้ที่ถูกปฏิเสธของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง (ซึ่งพี่ดอนของผมหรือคุณวรรณชัย ไตรแก้วได้กรุณาส่งให้ผมอ่านถึงบ้านที่จะนะ สงขลา) กอปรกับตลอดปี 2551 ประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่า


 


หนึ่ง ภาษามลายูปาตานีมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรายการพันแสงรุ้งได้อธิบายว่า ประเทศไทยของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย มีภาษาของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งหมดกว่า 70 กลุ่ม แต่ทว่าในความเป็นจริงทุกวันนี้บางภาษกำลังเสื่อมสูญฟื้นฟูไม่ทันกาล... บางภาษามีคนพูดนับล้านคน เช่น ภาษาเขมร ลาว ไปจนกระทั่ง ภาษาที่เหลือคนพูดน้อยนิด เช่น ภาษาญัฮกุร, ชอง, มลาบรี ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ถ้าไม่รักษาไว้ก็จะหมดไปในเวลาไม่นาน เมื่อก่อนคนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยนึกว่าภาษาของตนจะถึงวันสิ้นสูญ


 


ความเป็นจริงทุกวันนี้บางภาษากำลังเสื่อมสูญฟื้นฟูไม่ทันกาล


 


ทว่าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ภาษามลายูปาตานีซึ่งเป็นภาษาแม่เพื่อสื่อสาร ซึ่งได้สะท้อน ระบบคิด วิธีการมองโลก ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตน ในรายการได้สะท้อนทัศนคติของคนในพื้นที่ ว่า ภาษามลายูปาตานีมีความงาม คุณค่า และสถานภาพของภาษานี้ได้รับการยอมรับและยกย่องในสถานศึกษาที่ทำการสอนศาสนา ไม่ว่าในสถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้ามาศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาในสถาบันของตน


 


ในขณะที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังภาคภูมิใจในภาษาของตน ความหลากหลายอันงดงามของวัฒนธรรมวิถีชีวิตและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยรายการเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันงดงามหลากหลายของไทยและสุวรรณภูมิ ที่ก่อกำเนิดและปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งอย่างแนบเนียนกลมกลืน บ้างก็อยู่ท้าทาย บ้างก็อยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมที่อาจส่งผลต่อการดำรงอยู่ สืบทอดต่อ ปรับเปลี่ยนหรือผันแปรเสื่อมถอยตามกาลเวลาและตัวแปรต่างๆ เล่าเรื่องในรูปแบบสารคดี ถ่ายทอดเรื่องราวจริงแท้จากพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากงานวิจัยวิชาการและการสำรวจข้อมูลจากชุมชนและการสนทนาในสตูดิโอโดยตัวแทนจากชุมชน หรือนักวิชาการ หรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อเน้นเนื้อหา ถอดความรู้หรือเชื่อมโยงจากชุมชนสู่ภาพรวมในประเด็นปัญหาหรือสรุปรวมเนื้อหาสำคัญที่ต้องการให้สาธารณชนได้ตระหนักรับรู้รวมทั้งลงมือดำเนินการเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


 


สอง "การสอนภาษาไทยควร ให้สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่"


 


อันเนื่องมาจากการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการสอนที่มีประสิทธิภาพ น้อย ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุผลส่วนหนึ่ง คือการสอนภาษาไทย ที่นี่ ใช้รูปแบบและหลักสูตร เหมือนกับสอนเด็กในภาคอื่น เด็กจึงซึมซับเรียนรู้ได้ช้ากว่า เมื่อใช้ภาษาไทยไม่คล่องการเรียนวิชาต่างๆ ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น


 


ยิ่งเรียนสูงๆ ขึ้นไปโอกาสที่จะเรียนได้ดีจนสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงก็ยิ่งยากด้วยมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย จนไม่สามารถเอาดีในระบบการศึกษาได้ เท่ากับผลักให้เด็ก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกนอกระบบการศึกษาของประเทศ


 


ถ้าจะให้เด็กเรียนวิชาต่างๆ ได้ดี ก็ต้องตั้งต้นปรับเปลี่ยนการสอนภาษาไทย ปรับเปลี่ยนการสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่เล็กๆ ต้องสอนสองภาษา อย่างที่เราสอนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษควบคู่กันไปกับเด็กในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัด


 


ในการเรียนการสอน 2 ภาษามาใช้กับเด็กที่พูดภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแรก ด้วยเพราะเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ของเด็กเหล่านั้น


 


การสอนวิชาต่างๆ ต้องมีเทคนิควิธีการต่างๆ เข้าไปช่วย เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาต่างๆได้ดีขึ้นรวมทั้งเมื่อเรียนสูงขึ้นต้องไปสอบแข่งขันเรียนต่อก็ต้องมีวิธีช่วยกันเป็นกรณีพิเศษมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ควรมีโครงการสอนภาษามลายูกลาง หรือมลายูสากล ซึ่งแตกต่างจากภาษามลายูท้องถิ่น ให้ได้มาตรฐานถึงขั้นติดต่อสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับเป็นล่ามได้


 


สำหรับภาษาไทย จะปรับปรุง หลักสูตร ตำราเรียน หนังสือ สื่อการเรียนการสอน วิธีสอน ครูผู้สอน การอบรมครูผู้สอน เพื่อทำให้การสอนภาษาไทยใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสอนที่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน โดยจะปรับเนื้อหาสาระ สื่อการสอน วิธีสอนให้สอดคล้องกัน


 


ดังนั้นการระดมนักวิชาการในท้องถิ่น ครูผู้มีประสบการณ์ นักอักษรศาสตร์จากส่วนกลาง ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทย มาช่วยกันสอนและทำหลักสูตรการสอนผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน


 


ถ้ามีความจำเป็นก็จะจ้างคนในพื้นที่ ที่มีคุณสมบัติพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ และมีความรู้ความเข้าใจภาษาไทยดี มาทำหน้าที่ครูช่วยสอนภาษาไทยอีกทางหนึ่ง


 


หากทำได้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของการสอนภาษาไทย ที่อุดมไปด้วยสาระและวิธีการสอนที่ดี ในขณะที่มหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฎในพื้นที่ควรเปิดสาขาวิชาการภาษาไทยสำหรับผู้เรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสามารถพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่


 


อีกด้านหนึ่งคือกลไกในการขับเคลื่อน ต้องเร่งสร้างสื่อการสอน สื่อทางไกล การจัดการสอนพิเศษแก่เด็กที่ต้องการการเรียนต่อ รวมทั้งเด็กที่เรียนอ่อน เนื่องจากโรงเรียนถูกปิดในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบเป็นเวลานาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net