Skip to main content
sharethis


 


ศาลพิพากษา "คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ" ประกาศ "มาบตาพุด" เขตควบคุมมลพิษ


วันนี้ (3 มี.ค.52) เวลา 11.00 น. ที่ศาลปกครองระยอง นางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง ตุลาการเจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่192/2550 ระหว่างนายเจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535


 


ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เมื่อพิจารณากฎหมายมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ต้องพิจารณาก่อนว่าในพื้นที่นั้นมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่


 


 


มาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535


"ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาด เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการ ควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้"


 


 


ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีได้ประชุมพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่มาบตาพุดหลายครั้งเกี่ยวกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา โดยมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2548 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ โดยกระทรวงทรัพย์ฯ พิจารณารายงานของกรมควบคุมมลพิษแล้วในการประชุมครั้งที่ 11/2548 ได้มีมติลงความเห็นว่าในพื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษในมายตาพุดมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ได้


 


ตามรายงานเอกสารของกรมควบคุมมลพิษที่แนบท้ายการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในครั้งดังกล่าว พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศพบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกิน ระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศจำนวน 19 ชนิด โดยการประเมินศักยภาพ การรองรับมลพิษทางอากาศในพื้นที่มาบตาพุด สรุปว่า หากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งในพื้นที่มาบตาพุดระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูง สุดตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางค่าสูงกว่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศในบรรยากาศ


 


นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลจากโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยของ จังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2540 - 2544 รายงานว่า สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองสูงกว่าอำเภออื่นๆ เป็น 3 เท่า และ 5 เท่า


 


อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้มีการมอบหมายให้เทศบาลเมืองมาบตาพุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมควบคุมมลพิษร่วมกันดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ โดยให้ กรมควบคุมมลพิษประสานการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว


 


แม้ว่ากระทรวงทรัพย์ฯ จะได้ร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ... (พ.ศ.2549) เพื่อกำหนดให้ท้องที่เขต ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษแต่ก็ไม่ได้มีการประกาศ เพียงแต่มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดกับปริมาณสารอินทรีย์ระเหยที่ปล่อยจากโรงงานอุสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม กำหนดค่าความปลอดภัย และเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ


 


ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้ กนอ.จัดตั้งงบประมาณร่วมกันระดมทุนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่งบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนั้นเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเป็นผู้ออกเงินมากกว่า กนอ. และรายได้ของ กอน.ก็มาจากผู้ประกอบการในพื้นที่ เมื่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ออกเงินให้โครงการไม่เห็นด้วยในการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเนื่องจากเกรงจะเสียภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ยอมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ


 


ในส่วนคุณภาพน้ำ คลองสาธารณะปี พ.ศ. 2550 พบว่าส่วนใหญ่มีการรับน้ำทิ้งจากชุมชน ในคลองที่รับน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม พบค่าปริมาณของแข็งละลายน้ำรวม มีค่าสูง แสดงว่าได้รับผลกระทบจากกิจกรรมในพื้นที่ ส่วนปี พ.ศ. 2551 น้ำคลองสาธารณะในพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับเสื่อมโทรม น้ำมีสีดำคล้ำ กลิ่นเหม็น พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และกลุ่มฟีคลอโคลิฟอร์มค่อนข้างสูง น้ำทิ้งจากแหล่งชุมชนพบการปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ปรอท ทองแดง โครเมียม และสารหนู สูงเกินมาตรฐาน บางแห่งระดับคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินเสื่อมโทรมมาก (ใช้ประโยชน์ด้านการคมนาคม) บางแห่งเสื่อมโทรม (ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม) คุณภาพน้ำในคลองต่างๆ มีแนวโน้นที่เสื่อมโทรมลง


 


คุณภาพน้ำทะเลในบางครั้งพบค่าปรอท ไฮโดรคาร์บอน เหล็ก ทองแดง เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพน้ำบาดาลและบ่อน้ำใต้ดินระดับตื้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐาน คือมีสังกะสี แมงกานีส สารหนู และพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐาน


 


นอกจากนี้ ยังมีเอกสารทางวิชาการอีกหลายรายการซึ่งล้วนแต่ระบุว่าปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุดกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แม้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้น 2 คณะ มาทำหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองระยองตั้งแต่ปี 2550แต่เห็นได้ว่าปัญหามลพิษก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกับเพิ่มขึ้น


 


จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้ โดยไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจโดยอ้างเหตุผลว่าขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษเพราะเป็นเรื่องรีบด้วนทีต้องดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษโดยเร็วที่สุด


 


ประเด็น ที่ 2 คำขอของผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด และเทศบาลมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อ สุขภาพอนามัยหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็น "เขตควบคุมมลพิษ"


 


พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กอมลพิษสูง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงผลิตเหล็กและเหล็กกล้า โรงงานเคมีและปุ๋ยเคมี โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหาย โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งตั้งยู่ในท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีตำบลที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่รวม 5 ตำบล ได้แก่ ใน ต.มาบตาพุด และ ต.ห้วยโป่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล และอีก 3 ตำบล ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดครอบคลุมพื้นที่เป็นบางส่วน ได้แก่ ต.เนินพระ ต.มาบข่า และต.ทับมา


 


ข้อเท็จจริงจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาหลายปีตลอดมา สรุปได้ว่าประชาชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดได้รับผลกระทบจากมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด ดังนั้น สมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นท้องที่เขตเทศบาลเมืองเป็นเขตควบคุมมลพิษ ส่วนพื้นที่ข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษด้วยนั้น นอกจากนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งข้างต้น ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียตั้งอยู่ใน ต.บ้านฉาง พบว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งที่สถานีหาดพยูนมีแบคทีเรียและเหล็กมีค่าเกินมาตรฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย


 


ทั้งนี้ ผ่านมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด ไม่เคยประกาศให้ส่วนหนึ่งส่วนใดเพียงบางส่วนของอำเภอหรือตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงสมควรให้ส่วนที่เหลือของตำบลที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดเป็นเขตควบ คุมมลพิษด้วย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา


 


 


ชาวบ้านน้ำตาซึม ปลาบปลื้มใจหลังศาลมีคำตัดสิน


ภายหลังการพิพากษา ประชาชนร่วมร้อยคนที่มาร่วมฟังการพิพากษาคดีต่างแสดงความดีใจ หลายคนถึงกับน้ำตาคลอด้วยความยินดี และมีการแจกดอกไม้มอบคำขอบคุณให้กับเจ้าหน้าที่ศาลปกครองระยอง


 


นายยรรยง สวัสดิ์ถาวร อายุ 77 ปี ชาวบ้าน ต.มาบตาพุด หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีคิดว่าจะสู้เค้าไม่ได้ แต่ศาลพิจารณาคดีในรูปแบบนี้ดีใจมากที่ศาลให้ความคุมครอง และมันจะทำให้บรรยากาศดีๆ นี้ดีขึ้นอีกถ้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยอมทำตามที่ศาลตัดสิน


 


"ส่วนตัวผมเองมันไม่เท่าไหร่ แต่เราอยากปกป้องบ้านไว้ให้ลูกหลานตัวเล็กๆ ของเรา ปกป้องคนรุ่นหลัง และจะสู้จนสุดความสามารถ" นายยรรยงกล่าว


 


ส่วนนางอารมณ์ สดมณี ชาวบ้าน ต.มาบข่า กล่าวบอกเล่าความรู้สึกว่า ดีใจกับคำพิพากษาของศาล และมันทำให้รู้ว่าสิงที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง แต่ความคาดหวังจริงๆ คือต้องการหยุดอุตสาหกรรมใหม่ไม่ให้มีการขยายโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่ และให้มีการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่ให้ดีขึ้น


 


การที่โรงงานอุตสาหกรรมโฆษณาว่า โรงงานอยู่กับชุมชนได้เป็นสิ่งหลอกลวง เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาความเดือดร้อน ได้ทำหนังสือยื่นไปให้ แต่ก็ไม่เคยนำมาทำเป็นข้อปฏิบัติ แต่กลับปัดความรับผิดชอบกันไปมา


 


ด้านนายเจริญ เดชคุ้ม ผู้ฟ้องคดี กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังศาลพิพากษาที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมืองระยองว่า ปัญหาของมาบตาพุดนั้นมีการต่อสู้คัดค้านกันมานานนับ 10 ปี แต่ปัจจุบันไม่ได้คัดค้าน แต่จะมาบอกว่าชาวบ้านประสบปัญหามาโดยตลอด และเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาเพราะรัฐไม่เคยรู้ซึ่งถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่ออนาคต ปัจจุบันจึงมีการทำลายทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์


 


นายรัชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนามาตาพุด เปิดเผยความรู้สึกในเวทีเดียวกันว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง หลังมีการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน และได้ฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้ช่วยแจ้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าอย่าอุทธรณ์คดีนี้เลย เพราะการอุทธรณ์ทำให้คดียืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานหลายปี โรงงานอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นอีก และยังจะมีการประกาศพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นอีก พร้อมขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการอยู่ร่วมกัน เพื่อพี่น้องประชาชนชาวระยอง


 


ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดี กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และเป็นคดีตัวอย่างที่ประชาชนมาบตาพุดได้รับผลกระทบ จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบันนี้มาบตาพุดมีความรุนแรงเรื่องมลพิษ และขอขอบคุณนักวิชาการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยที่นำข้อมูลมาร่วมยืนยันว่า มาบตาพุดมีปัญหารุนแรงเรื่องมลพิษ ส่วนผลคดีผู้ถูกฟ้องสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน การประกาศเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องร่วมผลักดันกันต่อไป


 


 


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: นัดแรกคดี "ชาวมาบตาพุด" ฟ้อง "คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ" ตุลาการแถลงให้ประกาศเป็น "เขตควบคุมมลพิษ"


 


ภาพจาก: โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (http://www.enlawthai.org/node/18503)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net