สภาฯ ได้ฤกษ์ดันกม.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ เข้าสภา 4 มี.ค.

สภาได้ฤกษ์ดันกม.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ เข้าสภา 4 มี.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่าที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... และให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และให้ตั้งกรรมาธิการ 45 คน โดยให้ยึดร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยครม.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 เป็นร่างหลัก และให้ยื่นร่างที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ไปประกบ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่เสนอโดยรัฐบาลนายสมชาย มีจำนวนทั้งสิ้น 30 หน้า 88 มาตรา เป็นกฎหมายสำคัญที่จะใช้ในการจัดตั้งคณะกรรมการกิจกากระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หมายมั่นว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสู่มวลชนทั้งสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ รวมถึงวิทยุชุมชน ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบรรดาเอ็นจีโอและปชป.ต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากหวั่นว่าจะถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงสื่อ เนื่องจากมาตรา 11 วรรคสอง ระบุว่า "เมื่อพ้นกำหนดการขยายระยะเวลาการเสนอชื่อผู้แทนองค์กรเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสช.แต่ยังมีผู้เสนอชื่อน้อยกว่าที่กำหนด ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถเสนอชื่อผู้แทนได้" เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ส่งบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ารับการสรรหา

 

 

ถกร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ส.ส.ยื่นอีก 2 ร่างประกบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในวาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  ทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญคล้ายคลึงกันคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรเดียว ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47

 

ส่วนโครงสร้างภายในองค์กร ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ตลอดจนการออกใบอนุญาตผู้ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อการดังกล่าวและการเพิกถอนใบอนุญาต การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และการจัดให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว้าร้อยละ 20 โดยการจัดทำแผนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

 

สำหรับส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ จำนวนคณะกรรมการ โดยร่างของครม. กำหนดให้มีคณะกรรมการ 10 คน การคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้วุฒิสภา คัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด หากได้ไม่ครบ ให้นายกฯนำบัญชีรายชื่อเสนอครม.พิจารณาให้ครบ

 

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยนายเจริญ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 12 คน การคัดเลือกคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้เลขาธิการกสทช.เสนอบัญชีรายชื่อพร้อมข้อเสนอแนะให้ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เพื่อนำเสนอครม. จากนั้นครม.คัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวเป็นประธาน รองประธาน และกรรมการ กสทช. ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และนำรายชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามลำดับ

 

ส่วนพ.ร.บ.ที่เสนอโดยนายอภิชาต นั้นกำหนดให้มีคณะกรรมการ 11 การคัดเลือก ให้ผู้เข้ารับการเสนอชื่อ คัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 2 เท่า ภายในสัดส่วนของกลุ่มที่เข้ารับการสรรหา จากนั้นให้วุฒิสภา คัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดนอกจากนี้การจัดแบ่งจำนวนกรรมการในโครงสร้างภายในของทั้ง 3 ร่าง ยังมีความต่างกัน โดยร่างครม.ในส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำหนดให้มีจำนวน 7 คน แบ่งเป็น ประธาน ซึ่ง กสทช. แต่งตั้งจากรองประธาน กสทช. 1 คน

 

 

เลขา คปส. แนะจับตาพิจารณากม.จัดสรรคลื่นเชื่อมีล็อบบี้

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ขอให้จับตาดูการพิจารณากฎหมายกฎหมายฉบับนี้ อย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายเนื้อหาจะเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นทิศทางของการปฏิรูปสื่อครบวงจรที่รอมานานกว่า 10 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์กรภาคประชาชนเรียกร้องให้คงสัดส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับภาคประชาชนเอาไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และการพิจารณากฎหมายนี้ทั้ง 3 วาระต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและโปร่งใส โดยได้เดินสายล็อบบี้วิปทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเพื่อขอเข้าไปมีที่นั่งในคณะกรรมาธิการในการแปรญัตติพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย

 

 

พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ  กฎหมายที่มีการนำเสนอร่างถึง 8 ฉบับ

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ กทช.เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสมมากที่สุด และขั้นตอนกรรมาธิการ ต้องใช้ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาทั้ง 4 ร่าง คือ 1.ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ 2.ร่างของ กทช. 3.ร่างจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย และ 4.ร่างของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา ยังไม่รวมร่างกฎหมายจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ในการพิจารณาจะใช้ทุกร่างมาพิจารณาร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบว่าจะใช้ร่างใดเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่างกฎหมายทั้ง 5 ร่างดังกล่าวแล้วยังมีการนำเสนอ ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับภาคประชาชน โดยเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาสังคม นักวิชาการแลพนักวิชาชีพ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์ให้มีการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย และยังอยู่ในระหว่างการหารือของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในชั้นกรรมาธิการ

 

เมื่อรวมแล้ว ปัจจุบันมีการเสนอร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แล้วถึง 8 ฉบับ โดยรวมถึงร่างที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทยและคณะ และร่างที่เสนอโดยนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์และคณะ ที่จะถูกนำไปประกบในการพิจารณาของสภาในวันที่ 4 มีนาคมนี้

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2543 กำหนดให้มีหน่วยงานกำกับดูแล 2 หน่วยงาน คือ กทช. ดูแลด้านโทรคม และ กสช.ดูแลด้านวิทยุโทรทัศน์ และทั้ง 2 หน่วยงานต้องดูแลด้านคลื่นความถี่ร่วมกัน แต่เมื่อ กสช. ยังไม่จัดตั้ง จึงทำให้ กทช.ไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ครบถ้วน โดยเฉพาะการประกาศใช้แผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความก่อนหน้านี้ให้ กทช. ดำเนินการส่วนกิจการโทรคมได้ แต่ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ถ้ามีกฎหมายใหม่ที่รวมเป็นองค์กรเดียว จะแก้ปัญหาการทำงานได้

 

ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ผ่านมาสมัยนายมั่น พัธโนทัย เป็น รมว.ไอซีที มีประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งและคัดค้านจากหลายส่วน โดยเฉพาะเนื้อหาของร่างฉบับดังกล่าว ตัดส่วนที่ระบุถึงการให้สัดส่วนคลื่นความถี่ภาคประชาชน 20% หายไป และที่มาของ กสช. มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีไอซีที เป็นผู้เสนอรายชื่อให้วุฒิสภาเลือก และไม่มีระบบการถอดถอน รวมถึงการตรวจสอบและประเมินผล

 

ส่วนร่างจาก กทช. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 47 และ มาตรา 305 (1) ต้องการแก้ไข 2 ประเด็น คือ จัดให้มีองค์กรเดียว และต้องจัดการเรื่องกองทุนพัฒนา กิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกองทุนพัฒนาโทรคมนาคม จึงไม่ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่แก้ไขจากฉบับเดิมได้ สาระสำคัญ คือ การสรรหาต้องเป็นการเปิดให้สมัครมาโดยความต้องการของผู้สมัครเอง จะไม่แต่งตั้ง หรือเลือกสรรมา เพราะจะทำให้เกิดเรื่องของ "บุญคุณ"

 

ทางด้านร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้ชื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในชื่อย่อว่า "กสช." โดยร่างฉบับนี้ เน้นให้ กสช. ถูกตรวจสอบ และถูกถอดถอนได้จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบภายในองค์กร ขณะเดียวกัน ในทุกรอบปีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสช. และบันทึกรายงานดังกล่าวเสนอต่อ กสช. คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา

 

 

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท