พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : การเปลี่ยนผ่านของขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

1 มีนาคม 2552

 

 

 

 

 

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าทั้งฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยและแกนนำฝ่ายประชาธิปไตยเอง คือการเปลี่ยนผ่านของขบวนการประชาธิปไตยอย่างถึงราก จากการเคลื่อนไหวมวลชนที่เป็นทัพหนุนของนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในสภา บัดนี้กำลังพัฒนาไปเป็น "ขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดง" ที่เป็นอิสระ ยกระดับจิตสำนึกและความเข้าใจในภารกิจเป้าหมายประวัติศาสตร์ของตนในขั้นปัจจุบันอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยเมื่อฝ่ายอำมาตยาธิปไตยประสบความสำเร็จในการกำจัดรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แทนที่ด้วยรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

 

 

1. บทเรียนรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ทำให้แนวรบช่วงชิงที่สำคัญที่สุดคือ รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคพลังประชาชนและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการล้อมตีของฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยซึ่งใช้กลไก "สี่ประสาน" ประกอบด้วยกลุ่มอำมาตย์ ตุลาการ กองทัพ และกลุ่มอันธพาลการเมืองบนถนน กระทั่งทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้สำเร็จ

 

สาเหตุความพ่ายแพ้ที่สำคัญที่สุดคือ ดุลกำลังของฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยที่ทั้งหยั่งรากลึกและแผ่กว้างมายาวนานมากนั้น เหนือกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมิอาจเทียบกันได้ ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการมี "สี่ประสาน" ที่มีจัดตั้ง วินัย และอาวุธที่ทรงพลัง ฝ่ายประชาธิปไตยมีแต่คะแนนเสียงเลือกตั้ง มวลชนที่กระจัดกระจาย และมือเปล่าเท่านั้น การที่ฝ่ายประชาธิปไตยฟันฝ่าอำนาจกฎอัยการศึกและการยุบพรรค กระทั่งชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ นับเป็นการสะดุดครั้งแรกของฝ่ายเผด็จการในรอบครึ่งศตวรรษมานี้

 

แต่จุดอ่อนประการสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ทั้งอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยและแกนนำพรรคพลังประชาชนยังคงเพ้อฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่จะประนีประนอม "หย่าศึก" กับฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ปฏิเสธที่จะรับรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรยุค 2490 และไม่เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของตนเองในช่วงสามปีมานี้ว่า ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยตลอดหลายสิบปีมานี้ รู้จักเดินแต่เพียงแนวทางเดียวคือ "ประนีประนอมหลอก ๆ" แต่ "เข่นฆ่าทำลายล้างจริง ๆ" โดยมีเป้าหมายคือ กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างถึงรากถึงโคนทุกครั้ง และในครั้งนี้ พวกเขาก็ยังคงเดินตามแนวทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

อดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยและแกนนำพรรคพลังประชาชนจึงได้กระทำผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีหลายครั้ง พวกเขาต่อสู้ผ่านกลไกของรัฐบาลอย่างโดดเดี่ยว ไร้เป้าหมาย โดยไม่สนใจการเคลื่อนไหวมวลชนประชาธิปไตยนอกสภา เพ้อฝันว่า ด้วยการวิงวอนร้องขอและต่อรองกัน ฝ่ายอำมาตยาธิไตยก็จะยอมรามือ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาดำเนินไป และยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

 

2. บทเรียนมวลชนคนเสื้อแดง

ในเมื่อแนวรบหลักคือรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐสภา เป้าหมายเฉพาะหน้าของฝ่ายประชาธิปไตยจึงเป็นการสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านการข่มขู่ของคณะนายทหารและการกดดันพวกอันธพาลบนถนนที่กระทำต่อรัฐบาล แต่น่าเสียดายว่า การเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภามิได้ก่อเกิดผลสะเทือนทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากการที่แกนนำพรรคพลังประชาชนประเมินอย่างผิด ๆ ว่า ลำพังแต่รัฐบาลและพรรคในสภาจะสามารถต้านทานฝ่ายเผด็จการได้แล้ว พวกเขายังไม่เห็นคุณค่าของพลังมวลชนในฐานะทัพหนุนอย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งกว่านั้น แกนนำมวลชนบางส่วนที่ผูกโยงกับรัฐบาลและพรรคในสภาก็ดำเนินแนวทาง "ลัทธิย่อหย่อน" ใช้พลังมวลชนอย่างจำกัดจำเขี่ย มุ่งเพียงเพื่อ "ปราม" ฝ่ายเผด็จการ ยุทธวิธีที่ใช้จึงเป็นเพียงการชุมนุมแสดงกำลังในที่ตั้ง เน้นสร้างปริมาณให้มาก เต็มไปด้วยโวหารที่สร้างความหวังและขวัญกำลังใจแก่มวลชน แต่เนื้อในกลับส่งสัญญาณ "กดดันเพื่อต่อรอง" ท้ายสุด ก็ประเมินอย่างผิด ๆ ว่า แม้จะยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว แต่ด้วยจำนวนคะแนนเสียงข้างมากในสภา ประกอบกับ "พลังมวลชนนับแสน" ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยจะไม่กล้าขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และนักการเมืองกลุ่มขายตัวจะไม่กล้าทรยศต่อประชาธิปไตย

 

ผลก็คือ การเคลื่อนไหวมวลชนแม้จะฮึกเหิม เปี่ยมไปด้วยจิตใจต่อสู้ แต่กลับไร้พลัง ไร้ทิศทาง ปราศจากการรุกทางยุทธวิธี ไม่มีผลสะเทือนที่เป็นคุณต่อรัฐบาลและสภา ไม่เป็นแรงกดดันต่อฝ่ายเผด็จการแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของแกนนำบางส่วน ขาดความเคารพต่อมวลชน หลายครั้งให้ข่าวสารข้อมูล สร้างความหวังและกำลังใจอย่างเลื่อนลอย กระทั่งก่อให้เกิดการเข้าใจไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง การชุมนุมแสดงกำลังครั้งใหญ่เมื่อ 13 ธันวาคม 2551 เป็นความผิดพลาดของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยและของแกนนำมวลชน เป็นการ "ใช้พลังมวลชนเป็นเครื่องต่อรอง"  มวลชนหลายหมื่นคนอยู่เต็มพื้นที่ ฮึกเหิมและรอฟังอยู่ด้วยความหวัง แต่ "เขา" กลับเงยหน้าไปพูดกับท้องฟ้าและดวงดาว "อ้อนวอนขอความเมตตา" อยู่เหมือนเดิม หลังจากนั้นไม่กี่วัน ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็ตั้งรัฐบาลของเขาได้สำเร็จ ที่มั่นสำคัญสุดท้ายของฝ่ายประชาธิปไตยคือ เสียงข้างมากในสภาจึงล่มสลาย

 

 

3. มวลชนประชาธิปไตยเสื้อแดง จากทัพหนุนไปสู่ "กำลังหลัก"

การที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ใช้กลไก "สี่ประสาน" โค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง ให้กลุ่มอันธพาลทำร้ายฆ่าฟันผู้คนกลางเมือง ยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินตามอำเภอใจ ปิดท้ายด้วยตุลาการรัฐประหาร ใช้กลไกอยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผย ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดการตื่นตัว มองทะลุภาพลวงตาและการหลอกลวงเข้าไปถึงธาตุแท้เนื้อในของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยม มือถือสากปากถือศีล ก่อเป็นความโกรธเกลียดต่อเผด็จการอำมาตยาธิปไตยอยู่ทั่วไป ประชาชนจำนวนมากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่ให้อำนาจพวกเขากำหนดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการอยู่ดีกินดีของพวกเขาเอง ที่สำคัญ พวกเขาจำนวนมากตระหนักรู้ชัดแล้วว่า "อุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยอยู่ที่ไหน"

 

ปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้าคือ การแผ่ขยายของการรวมตัวจัดตั้งมวลชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศในระดับรากหญ้าของสังคม ก่อรูป พัฒนา และเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นไปเอง ความพ่ายแพ้ในแนวรบรัฐบาลและรัฐสภา ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยถูกแยกสลาย ประชาชนตระหนักว่า ไม่อาจหวังพึ่งพรรคการเมืองและนักการเมืองในสภาให้เป็นด่านหน้าของการต่อสู้ได้อีกต่อไป หากแต่เป็นพวกเขาเองที่ต้องรวมตัวจัดตั้ง และประสานร่วมมือกันเป็นขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงอันกว้างขวาง เพื่อช่วงชิงอำนาจอธิปไตยมาเป็นของปวงชน

 

ประการแรก ขบวนการเสื้อแดงมีลักษณะมวลชน ก่อเกิดและเติบโตอย่างเป็นไปเอง ริเริ่มสร้างสรรค์ แสวงหาหนทาง ศึกษาหาคำตอบด้วยตนเอง มีผู้นำตามธรรมชาติ มีรูปแบบจัดตั้ง เคลื่อนไหวและประสานกันเข้าตามลักษณะพิเศษทางที่ตั้งภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา ในแต่ละท้องถิ่นพื้นที่อย่างเป็นธรรมชาติ

 

ประการที่สอง ขบวนการมวลชนเสื้อแดงมีลักษณะกระจัดกระจาย เป็นหน่วยประชาธิปไตยท้องถิ่นตามหมู่บ้าน ตลาด หัวถนน ตรอก ซอกซอย กลุ่มอาชีพ ศาสนา และวัฒนธรรม แผ่ขยายและซึมลึกอยู่ในชุมชนต่าง ๆ จากมวลชนชั้นล่างไปสู่ประชาชนชั้นกลาง จากผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจ จนถึงข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหารระดับล่าง แต่ยังขาดการจัดตั้งในระดับสูงและการประสานร่วมมือระหว่างท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ พัฒนาการต่อไปคือ ประสานงานเป็นระดับจังหวัด ภาค และระดับประเทศ ยิ่งพวกอำมาตยาธิปไตยให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้งเพียงใด ยิ่งแกนนำอันธพาลการเมืองมีตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลนานเท่าใด ยิ่งรัฐบาลปล่อยปละไม่ดำเนินคดีร้ายแรงกับพวกอันธพาลการเมืองนานเท่าใด ยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจยืดเยื้อรุนแรงมากเท่าใด มวลชนเสื้อแดงก็ยิ่งแผ่ขยายเครือข่ายรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

 

ประการที่สาม ขบวนการมวลชนเสื้อแดงเป็นอิสระจากนักการเมืองและพรรคการเมืองในสภา พวกเขากำลังพัฒนาตนเองขึ้นเป็นกำลังหลักในการต่อสู้กับเผด็จการอำมาตยาธิปไตยในระยะยาว แนวรบนอกสภาเป็นด้านหลัก คือการต่อสู้ช่วงชิง "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ด้วยรูปแบบวิธีการหลากหลายตามสภาพและสถานการณ์ ส่วนแนวรบในสภาเป็นการ "ต่อกรกับรัฐบาลและพรรคการเมืองในสภาที่เป็นเครื่องมือเผด็จการ" โดยสองแนวเคลื่อนไหวต่างหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน

 

ประการที่สี่ มวลชนประชาธิปไตยเสื้อแดงได้พัฒนาจิตสำนึกและความรับรู้ถึงขั้นที่เป็นเอกเทศและเป็นอิสระจากนักการเมือง ธงนำของประชาธิปไตยในวันนี้ไม่ใช่นักการเมืองคนหนึ่งคนใด หรือพรรคในสภาใด ธงนำของมวลชนคนเสื้อแดงคือ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" พวกเขาเข้าใจแล้วว่า ตัวบุคคลนักการเมืองจะเป็นคุณต่อพวกเขา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นได้นั้น ต้องเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากปราศประชาธิปไตย ตัวบุคคลนักการเมืองถึงจะเก่งกาจวิเศษเพียงใด ก็มิอาจสร้างคุณประโยชน์ต่อประชาชนได้ อดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยในวันนี้เป็น "หนึ่งสัญลักษณ์" และเป็น "หนึ่งตัวอย่างที่มีชีวิต" ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะก่อเกิดนักการเมืองและนักบริหารที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้จริง และมีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่สามารถผลิตบุคคลลักษณะดังกล่าวคนแล้วคนเล่า คนใหม่แทนที่คนเก่าได้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

4. แกนนำต้องเคารพและก้าวไปกับมวลชน

ในช่วงกว่าสองปีมานี้ แกนนำกรุงเทพของมวลชนประชาธิปไตยได้ผ่านการต่อสู้ที่ยากลำบากและอันตราย ได้พิสูจน์ตนเองแล้วถึงความกล้าหาญ ทุ่มเทเสียสละ และห่วงใยในสวัสดิภาพของพี่น้องมวลชนอย่างแท้จริง แต่แกนนำบางส่วนก็ยังไม่เห็นและไม่เข้าใจนัยการเปลี่ยนผ่านของมวลชนเสื้อแดงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ต่อหน้า กลับติดอยู่กับท่าทีวิธีการแบบเดิม ๆ มองการเคลื่อนไหวมวลชนเป็น "กำลังหนุน" ของนักการเมืองและพรรคการเมืองในสภา ผลก็คือ "แกนนำล้าหลังมวลชน" เนื้อหา ทิศทาง และเป้าหมายการเคลื่อนไหวไม่หนุนเสริมการตื่นตัวขยายจัดตั้งระยะยาวของมวลชนในท้องถิ่นพื้นที่ ใช้ท่วงทำนองโวหาร เสนอคำขวัญและเป้าหมายเฉพาะหน้าที่สร้างความหวังอย่างเลื่อนลอยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง กลายเป็นความสับสน ไม่เข้าใจและขัดแย้งในหมู่มวลชน

 

ภารกิจเฉพาะหน้าของขบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่การแตกหักกับรัฐบาลในสภาทันทีเนื่องจากความอ่อนแอแยกสลายของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเอง แต่เป็นการเร่งขยายการจัดตั้งของมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ ให้เครือข่ายรากหญ้าประชาธิปไตยงอกงามแผ่กว้างและซึมลึก หนุนช่วยพวกเขาทางความคิดทฤษฎี ข่าวสารข้อมูล กลไกการจัดตั้งและการทำงาน ให้รู้จักทำงานขยายแนวร่วม ดึงมวลชนส่วนข้างมากในท้องถิ่นให้มาอยู่กับประชาธิปไตย พัฒนาการประสานร่วมมือระหว่างกลุ่มจากระดับหน่วยรากหญ้า ขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น เสริมด้วยการเคลื่อนไหวแสดงกำลังย่อย ๆ ตามสภาพในท้องถิ่น ฝึกฝนให้มวลชนรู้จัก "จัดตั้งสมาชิก ขยายแนวร่วม เคลื่อนไหวตามสภาพ" ให้ขบวนการประชาธิปไตยมวลชนขยายไปทั่วประเทศ เตรียมการเพื่อการช่วงชิงประชาธิปไตยให้ได้มาในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท