ประเทศไทย: การเติบโตขึ้นของรัฐแห่งความมั่นคงภายในและการเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชน


แถลงการณ์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552

แถลงการณ์ที่ ALRC-CWS-10-04-2009
สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
การประชุมสมัยที่ 10

 

ชื่อเดิม: ประเทศไทย: การเติบโตขึ้นของรัฐแห่งความมั่นคงภายในและการเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  

 

ถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre-ALRC) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสถานะได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติ

 

1. หลังจากที่มีการรัฐประหารโดยทหารในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2549 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย(Asian Legal Resource Centre-ALRC) ได้เตือนถึงการกลับมาของแรงต้านสิทธิมนุษยชนที่ทรงพลังอีกครั้ง โดยเฉพาะภายในกองทัพและเครือข่ายพันธมิตรของกองทัพในแวดวงการเมืองที่อนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง เหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อปีที่แล้วได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าแรงต้านเหล่านี้กำลังหยั่งรากมั่นคงอีกครั้งในทุกส่วนของรัฐบาลไทย และกำลังอยู่ในกระบวนการรื้อรัฐประชาธิปไตยเสรีที่กำลังตั้งไข่ ที่เริ่มก่อร่างมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 โดยนำเอารัฐที่มุ่งความมั่นคงภายในประเทศแบบที่เป็นในช่วงทศวรรษก่อนๆหน้านั้นเข้ามาแทนที่

 

2. ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเสื่อมถอยลงในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และผลประโยชน์สาธารณะ ในประเทศไทย มีให้เห็นดังต่อไปนี้:

 

ก. การโค่นล่มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยพลังต้านระบอบประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า: ในปี 2551 รัฐบาลที่รับอำนาจมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อช่วงสิ้นปี 2550 ต้องออกจากตำแหน่งถึงสองครั้งด้วยการทำรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีทหารอยู่เบื้องหลัง ซึ่งผ่านการทำประชามติที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่แสร้งสร้างขึ้นมา ทั้งสองรัฐบาลที่ถูกทำให้ต้องออกไปนั้นไม่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน ที่จริงแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลแรกถึงกับปฏิเสธว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเมื่อปี 2519 และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทว่า การทำให้รัฐบาลนี้และรัฐบาลต่อมาต้องออกไปด้วยบทบัญญัติอันแปลกประหลาดของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบรัฐสภาที่มีสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง เป็นสิ่งที่ช่างสอดคล้องกับการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นโดยตุลาการระดับสูงที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนที่ประกอบไปด้วยผู้ได้รับการแต่งตั้งทางการเมือง ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่มีใจยุติธรรม การโค่นล้มรัฐบาลทั้งสองนี้เป็นหลักฐานว่าการเมืองเรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยได้ถูกปัดตกไป และตุลาการระดับสูงได้ถูกทำให้เป็นเครื่องมือของพลังการเมืองอนุรักษ์นิยม และไม่ได้เป็นอิสระแต่อย่างใด

 

ข. ไม่มีการสืบสวนหรือดำเนินคดีการกระทำความผิดทางอาญาในสาธารณะขนานใหญ่: การโค่นล้มรัฐบาลที่สองนั้นเกิดขึ้นโดยการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีสำนักงานของนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยเป็นเวลานานถึงสามเดือน และในภายหลังก็มีการยึดสนามบินนานาชาติทั้งสองแห่งของกรุงเทพฯเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ การกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นที่ชัดเจนว่าถูกจัดตั้งโดยความร่วมมือกับกองทัพบางส่วน โดยมีปฏิบัติการที่คล้ายคลึงกับปฏิบัติการทางทหารบางอย่าง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการนั้นมีกองกำลังของตัวเองทำหน้าที่เสมือนตำรวจ สมาชิกของกองกำลังนั้นพกพาอาวุธและใช้อาวุธทั้งอย่างเปิดเผยและอย่างลับๆ ทั้งปืน ระเบิด มีด และอุปกรณ์ที่ไม่มีคมต่าง ๆ กองกำลังนั้นยังทำร้ายและกักกันคนอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก และยังเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นผู้รับผิดชอบการฆาตกรรมอย่างน้อยหนึ่งราย นอกจากนี้สมาชิกของพธม.ยังมีการกระทำผิดต่อทรัพย์สินทั้งของรัฐและเอกชนอีกด้วย แต่แม้กระนั้น ก็ไม่มีรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินคดีทางอาญากับกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกับผู้นำ และฝ่ายบริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้ดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อไปสู้เป้าหมายนี้เลย มีรายงานว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การสืบสวนทางอาญาและการดำเนินคดีนั้นเป็นเรื่องของตำรวจกับศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี เนื่องจากในฐานะที่เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ เขามีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ที่จะสั่งให้มีการสืบสวนพิเศษ อันที่จริงแล้วเนื่องจากระดับความรุนแรงและผลสืบเนื่องของเหตุการณ์เหล่านี้ นี่เป็นหน้าที่ของนายกฯ เสียด้วยซ้ำ แต่เขาก็ตั้งใจหลีกเลี่ยง เขายังสามารถสั่งให้มีการไต่สวนทางรัฐสภาหรือทางกระบวนการที่เป็นอิสระอื่น ๆ และยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการคดีพิเศษที่มีหน้าที่ดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เขาก็สามารถสั่งให้มีการสืบสวนทางอาญาเป็นกรณีพิเศษเมื่อไรก็ได้ผ่านทางดีเอสไอ ทว่า เนื่องจากเขาได้เข้าสู่อำนาจด้วยเหตุการณ์เหล่านี้ และเนื่องจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนการยึดสถานที่อย่างเปิดเผยและสนับสนุนเป็นนัยๆ ต่อการละเมิดทางอาญาที่มาพร้อมกับการยึดสถานที่ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริหารในชุดปัจจุบันจะหาทางจัดการกับปัญหาเรื่องการไร้ขื่อแปในประเทศไทยในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง

 

ค. การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตและการล่าแม่มดด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ: ในขณะที่ดีเอสไอไม่ได้ถูกเรียกมาให้สืบสวนหาผู้กระทำผิดในกรณีความรุนแรงและการทำลายข้าวของในระหว่างการยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ดีเอสไอกลับถูกสั่งให้ไปดำเนินคดีที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยให้ความสนใจมากกว่า นั่นคือเรื่องการแสดงความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับราชวงศ์ เมื่อเดือนมกราคม 2552 ดีเอสไอซึ่งที่จริงมีหน้าที่เพียงทำคดี "พิเศษ" เรื่องความมั่นคงแห่งชาติหรือเรื่องที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ ได้จับกุมชายคนหนึ่งที่เพียงแค่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในการแชททางอินเทอร์เน็ต ในเดือนเดียวกันนั้น ชายชาวออสเตรเลียคนหนึ่งถูกตัดสินว่ากระทำความผิดและถูกจับคุกเนื่องจากข้อความคลุมเครือเพียงไม่กี่บรรทัดในหนังสือที่เขาเขียนเมื่อหลายปีมาแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ นักวิชาการคนหนึ่งหนีไปต่างประเทศด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน โดยเขาได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องทีเดียวว่าเขาจะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในประเทศไทย กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงจำนวนข้อร้องเรียนถึงการหมิ่นพระบรมฯ ที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นผู้แจ้งความได้ เว็บไซต์ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานนี้บนเซิร์ฟเวอร์ของรัฐสภาเชิญชวนให้ประชาชน "Protect the King (ปกป้องพระมหากษัตริย์)" โดยการรายงานถึงใครก็ตามที่ตนคิดว่าได้กระทำการละเมิดโดยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ให้แก่หน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่บล็อกเว็บเพจที่ถูกมองว่าละเมิดสถาบันกษัตริย์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงภายในของรัฐ และเพียงในปี 2552 ปีเดียว ก็มีรายงานว่าเว็บเพจหลายพันเว็บถูกบล็อกไป

 

ง. การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน: บรรยากาศของความกลัวที่กำลังถูกส่งเสริมไปทั่วโลกของสื่อมวลชนและโลกอินเทอร์เน็ตผ่านทางการเซ็นเซอร์ การฟ้องหมิ่นพระบรมฯ และการฟ้องหมิ่นประมาททางอาญา ก็ก่อตัวขึ้นในโลกสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกันผ่านทางการถูกบังคับให้สูญหายที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ และการคุกคามทางกายและทางวาจาต่อนักปกป้องสิทธิในประเทศ การคุกคามเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งคราว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐแห่งความมั่นคงภายในอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้ออกรายงานที่อ้างว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ได้ใช้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นฉากบังหน้าเพื่อสร้างความไม่ไว้วางใจและความเกลียดชังในกลุ่มคนท้องถิ่น สองวันหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้บุกค้นสำนักงานของคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นที่ได้เคยทำเสนอข้อมูลและข้อค้นพบต่อสภาสิทธิมนุษยชนมาแล้ว และได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงตรวจสอบบันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์และเอกสาร และสอบสวนอาสาสมัครที่อยู่ในสำนักงาน การคุกคามอย่างไร้ยางอายนี้เป็นเรื่องเล็กหากเทียบกับการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อีกมากมายในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จากการที่ กอ.รมน.ได้เชื้อเชิญให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน และในบริบทของภาคใต้ของประเทศไทยที่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ต้องมีความรับผิดมาหลายปี นี่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องให้ความใส่ใจกันอย่างจริงจัง

 

จ. การผลักดันกลับ การฆาตกรรม และการปลอดพ้นผิดในทะเลหลวง: ระดับความมุ่งมั่นของรัฐแห่งความมั่นคงภายในในการที่จะดูแลให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของตนต้องรับผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดือนมกราคม 2552 เมื่อกองทัพเรือไทยได้บังคับให้คนนับร้อยๆ ที่นั่งเรือ ข้ามอ่าว เบงกอลผ่านเข้ามาหรือเข้าใกล้น่านน้ำไทยกลับไปในทะเล มีรายงานว่าพวกเขาทำลายเครื่องยนต์เรือ โยนอาหารบนเรือทิ้ง และในบางกรณีก็จับคนทิ้งลงน้ำทั้งที่แขนขาถูกมัดอยู่ คนที่ถูกนำมาขึ้นฝั่งประเทศไทยก็ถูกทำร้ายต่อหน้าต่อตานักท่องเที่ยว และโดยการเกี่ยวข้องของกอ.รมน.เช่นเคย การปฏิเสธและการบิดเบือนคำพูดของเจ้าหน้าที่ทหารและผู้นำนักการเมือง รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีเอง นั้นเป็นทั้งเรื่องที่ไม่สมจริงและจ้วงจาบเมื่อเทียบกับเรื่องราวที่ผู้รอดชีวิตได้เล่าแก่เจ้าหน้าที่และนักข่าวในอินเดียและในอินโดนีเซียเหมือนๆกัน ทว่า นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยปฏิเสธเช่นนี้มาหลายปี และได้บังคับผู้คนที่หนีจากภัยสงครามและความยากจนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพม่า กลับไปประเทศของตนมาหลายปีแล้ว

3. กรณีที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่กรณีจากปีที่แล้วที่เกี่ยวกับการเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเคารพหลักนิติรัฐในประเทศหลังจากการก้าวสู้อำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ที่เห็นได้ชัดคือโดยเฉพาะหลังจากการทำรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 ภายใต้เรื่องราวเหล่านี้ ยังมีกรณีการละเมิดอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนในประเทศที่ ALRC ได้เคยนำเสนอข้อมูลแก่สภาสิทธิมนุษยชนมาก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งถึงการทรมานในระหว่างการกักขัง การวิสามัญฆาตกรรม และการบังคับให้บุคคลสูญหาย

4. เนื่องจากประเทศไทยทุกวันนี้ปวกเปียกอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้ก้าวสู่อำนาจด้วยกระบวนการเลือกตั้ง แต่ด้วยกลไกของการปลุกฟื้นรัฐแห่งความมั่นคงภายในอีกครั้ง อันเป็นรัฐที่ไม่มีการเคารพคุณค่าใดๆ ที่สภาฯปกป้องอยู่ ALRC ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักในด้านการพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

5.
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญตกอยู่ที่ชุมชนระหว่างประเทศ ที่จะต้องออกมาส่งเสียงอย่างแข็งกร้าวและอย่างตรงไปตรงมาเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อที่รัฐบาลจะได้ตระหนักถึงการรับรู้ในเชิงลบของโลกภายนอกเกี่ยวกับเรื่องราวในประเทศตนเอง และเพื่อที่รัฐบาลจะได้รับการส่งเสริมให้ย้อนคืนภาวะถดถอยนี้โดยเร็วที่สุด ALRC จึงขอเรียกร้องให้สภาฯ บอกกล่าวแก่ประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่ได้ถูกมองว่ามีสถานะทางสิทธิมนุษยชนที่ดีอีกต่อไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ความเข้าใจเช่นนี้ในชุมชนระหว่างประเทศจะถูกแสดงออกอย่างชัดเจน มิเช่นนั้นรัฐบาลก็จะยังคงเดินทางไปต่างประเทศหรือดำเนินโครงการต่างๆเพียงเพื่อสร้างภาพของประเทศมากกว่าที่จะจัดการกับอุปสรรค์สำคัญของสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐที่ตนดูแลอยู่

6. ALRC จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่ต่อไปนี้ให้ความเห็นพิเศษถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่กำลังถดถอยภายในรัฐแห่งความมั่นคงภายในในประเทศไทย และขอกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานเหล่านี้พยายามไปเยือนประเทศไทย และหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างเที่ยงตรงได้ด้วยตนเองในอนาคตอันเร็ว: 

ก. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการฆาตกรรมที่อยู่เหนือกฎหมายและการฆ่าโดยพลการ (The Special Rappporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions) ผู้ซึ่งได้ยื่นคำร้องขอมาเยือนประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 และเป็นผู้ที่สภาฯ ควรจะช่วยถามรัฐบาลไทยให้ว่าเหตุใดการขอเยือนประเทศจึงไม่ได้รับการตอบรับ ข้ออ้างที่ว่าประเทศสามารถรับรองการเยือนของผู้เชี่ยวชาญพิเศษได้เพียงปีละคนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมรับ

ข. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ค. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

ง. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของคนข้ามชาติ

จ. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ฉ. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก

ช. คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ซ. คณะทำงานว่าด้วยการกักขังโดยพลการ

7. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและถกเถียงอย่างจริงจังถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ และ ALRC ขอสนับสนุนให้ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวให้ความสำคัญกับประเทศไทยไว้เป็นลำดับต้นๆในการทำงานของท่านในปีนี้ ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างของรัฐบาลและสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตอนนี้ประเทศนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างของทุกอย่างที่ผิดพลาดไปเสียแล้ว โชคไม่ดีที่นัยยะของความเสื่อมถอยเช่นนี้ไม่ได้อยู่กับประเทศไทยประเทศเดียว แต่กับทั้งภูมิภาค เนื่องจากหากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ความหวังในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและกัมพูชาก็จะยิ่งดับลง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษอย่างยิ่ง

 

..................................

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย หรือ ALRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่เป็นอิสระ ที่มีสถานะที่ได้รับการรับรองโดยสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ALRC เป็นองค์กรร่วมของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง โดยทำงานเพื่อแสวงหาหนทางในการเสริมสร้างและส่งเสริมปฏิบัติการในประเด็นทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติทั่วเอเชีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท