Skip to main content
sharethis

25 กุมภาพันธ์ 2552


กองบรรณาธิการท้องถิ่นเสวนา


www.localtalk2004.com


 


 


 


เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานในระหว่างวันที่ 27 ก.พ. - 1 มี.ค.2552 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีวาระสำคัญในการลงนามของผู้นำ 10 ประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ - ร่วมกันก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวและเป็นหนึ่งให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558 โดยมีกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เป็นเสมือนรัฐธรรมนูญ ที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ผ่านการลงนามรับรองเป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2551 และมีผลบังคับใช้แล้วมารองรับแนวคิดของอาเซียนในกรอบ 3 เสาหลัก คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม


 


โดยเฉพาะแนวคิดด้านเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว ซึ่งในระดับรัฐบาลหวังว่ารูปแบบอาเซียนตลาดเดียวจะเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มศักยภาพในการต่อรองทางการค้ากับประชาคมโลกได้มากขึ้น แต่ในระดับประชาชนนั้น หลายภาคส่วนก็ยังเป็นห่วงอยู่ว่าแนวคิดตามรูปแบบนี้ จะส่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้กับใครกันแน่


 


นอกจากนี้ ย่างก้าวของประชาคมอาเซียนที่ผ่านมา เป็นเวทีการเจรจาของผู้นำระดับสูงเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน อีกทั้งกระบวนการทำงานของอาเซียนยังขาดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมในภูมิภาคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลการเจรจาที่เกิดขึ้น ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนัก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย และทิศทางของอาเซียนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเป้าหมายการประกอบสร้างอาเซียน ให้เป็นประชาคมที่ดำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง, ความกล้าหาญและก้าวหน้า, ความเจริญรุ่งเรือง และ ความบริสุทธิ์ ดังความหมายของตราสัญลักษณ์ของอาเซียน - รวงข้าว 10 ต้น วางตั้งตรงใจกลางวงล้อมพื้นสีแดง ขาว และน้ำเงิน


 


เพื่อนำไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของประชาคมอาเซียนดังกล่าวข้างต้นนั้น ความเห็นของเหล่าเยาวชนในภูมิภาคนี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำมาใคร่ครวญ พิจารณาเพื่อให้ประชาคมอาเซียน เป็นพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกๆ ภาคส่วน ได้ร่วมกำหนดชะตาความเป็นไปร่วมกัน ไม่ใช่เพียงให้ผู้นำเจรจากันเอง ตกลงกันเองโดยที่ประชาชนไม่รู้ไม่เห็น


 


Mrat Mrat ตัวแทนเยาวชนประเทศพม่า กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนไม่ค่อยเคยทราบเกี่ยวกับบทบาทการทำงานของอาเซียนมากนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้เข้ามาร่วมเตรียมความพร้อมในค่ายเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2551 เพราะที่ผ่านมา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนในประเทศพม่ามีจำกัด ประชาชนจำนวนมากไม่รู้เลยว่าอาเซียนคืออะไร จะมีผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร รัฐบาลพม่าเองก็ไม่เคยเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ นี่จึงเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวพม่าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ กระทั่งร่วมกำหนดทิศทางความเป็นไปของอาเซียน


 


ทั้งนี้ ตนเห็นว่าควรมีพื้นที่ให้เยาวชนเข้าไปมีบทบาทในเวทีการทำงานของอาเซียนด้วย โดยมีเวทีให้เยาวชนสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกับเยาวชนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกัน และร่วมวางแผนงานเสนอในเวทีอาเซียนด้วย


 


สิ่งที่อยากจะเห็นในภูมิภาคอาเซียน คือ ความสันติ สามัคคี มีการเชื่อมต่อปละร่วมมือระหว่างกันทุกด้าน โดยที่บทบาทของอาเซียนควรจะช่วยต่อ และต่อรองระหว่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพม่า ซึ่งมีทั้งวิกฤติทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากนโยบายตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียนว่าจะไม่มีการแทรกแซงกัน แต่ขณะเดียวกันประชาชนในประเทศของก็ต้องการให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาการเมืองภายในประเทศพม่าด้วย แต่บทบาทของอาเซียนจะต้องชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศสมาชิกได้อย่างไร


 


Mrat Mrat กล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างของคนที่จะเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือทำงานในประชาคมอาเซียนต้องมาจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ เป็นตัวแทนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และมาจากประชาชนในระดับท้องถิ่นหลายภาคส่วนด้วย เพราะหากมาจากฝ่ายรัฐบาลเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้เกิดช่องว่างกับประชาชนมากขึ้น เกิดความไม่เข้าใจกันและกัน แต่ถ้าหากทำงานร่วมกันทั้งสองส่วนจะสามารถพัฒนางานได้ดีกว่า เพื่อสามารถปรับปรุงการทำงานร่วมกันพัฒนาภูมิภาคของเราได้ดียิ่งขึ้น


 


"เมื่อเปรียบเทียบสถานะของรัฐบาลกับประชาชน ถือว่ารัฐบาลเป็นเพียงคนส่วนน้อยแต่ประชาชนเป็นสาธารณะระดับกว้าง ดังนั้น เพื่อที่จะพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเยาวชน ควรจะมีโอกาส มีส่วนร่วม มีสิทธิส่งเสริม พัฒนา และรับผิดชอบในอนาคตของพวกเรา ของประเทศและภูมิภาค" Mrat Mrat กล่าว


 


Hang ตัวแทนเยาวชนประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนต้องมีบทบาทในการส่งเสริมแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการใช้สารเคมี สนับสนุนให้ภาคเกษตรอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ส่งเสริมแต่ทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาภาคเกษตรกรรมของหลายๆ ประเทศได้รับการส่งเสริมให้ใช้สารเคมีในแปลงเกษตรอย่างเข้มข้น เกษตรกรเองก็หวังว่าจะมีรายได้มากขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่ใช้สารเคมีเร่ง แต่อีกด้านหนึ่งการใช้สารเคมีกลับมีผลกระทบสูงมาก ทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บทบาทของแต่ละรัฐบาลและในระดับประชาคมอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ให้ประชาชนหันมาเลือกทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้นน่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่า


 


Srey Samnang ตัวแทนเยาวชนประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน และการพัฒนาหลายด้านยังไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น หากจะพัฒนาประชาคมอาเซียนให้ประชาชนในทุกประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกันจริง ส่วนตัวเห็นว่า ในระดับประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะหากประเทศไม่มีประชาธิปไตยเพียงพอ ประชาชนก็คาดหวังการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง นโยบาย หรือร่วมตัดสินใจในโครงการต่างๆ ได้ยาก รวมทั้งยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีอาเซียนด้วย


 


"การปฏิรูปการเมืองให้เป็นการเมืองในระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นจุดสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในเวทีอาเซียนได้ เพราะก่อนอื่นประชาชนจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ รอบด้าน จะได้ติดตามการทำงานในส่วนต่างๆ ของรัฐบาล และเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ซึ่งตัวรัฐบาลและในระดับประเทศ และประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนก็ต้องส่งเสริมให้มีพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน" Srey Samnang กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net