รัฐสวัสดิการ: ความเสมอภาคในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

 

ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "รัฐสวัสดิการ" ในสังคมไทย เกิดขึ้นในยุคสมัยของ ปรีดี พนมยงค์ และยุคสมัยของป๋วย อึ้งภากรณ์ เพื่อต้องการให้รัฐทำหน้าที่สร้างหลักประกันพื้นฐานให้กับประชาชนทุกชนชั้น หรือเพื่อให้รัฐรับผิดชอบชีวิตพื้นฐานของประชาชน"จากครรถ์มารดาสู่เชิงตะกอน" อย่างไรก็ตาม "รัฐสวัสดิการ" ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยเนื่องจากถูกขัดขวางจากชนชั้นผู้มั่งคั่งในสังคมไทย

 

รัฐสวัสดิการก้าวหน้ากว่าประชานิยม

ถึง ปัจจุบันนี้แล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจน สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายประชานิยมที่นำโดยพรรคพลังประชาชน และปัจจุบันพรรคการเมืองแทบทุกพรรคนำเสนอนโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งที่ ผ่านมา ตลอดทั้งรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร คมช. ก็นำนโยบายประชานิยมมาปรับใช้ แม้จะเรียกชื่ออื่นก็ตาม

 

ในอีกด้านหนึ่ง ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า  คนจนจำนวนมากในสังคมไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐไทยในด้านชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานมาก่อนเลย  จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเมื่อมีนโยบายประชานิยมคนจนจึงไม่ต่อต้าน เหมือนคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ได้ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานเหมือนเช่นคนจน

 

นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเฉพาะประเด็น เฉพาะส่วน จำนวนไม่น้อย มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมด้วยความห่วงใยว่าเป็นนโยบายซื้อเสียงคนจน ก่อให้เกิดความเคยชินของคนจนแบบแบมือขอ ถูกอุปถัมป์ค้ำจุนโดยนักการเมือง หรือทำให้การเงินของประเทศไร้ระเบียบแบบแผนการเงินการคลัง  

 

แต่แท้ที่จริงแล้ว การที่คนจนชื่นชมนโยบายประชานิยมนั้น พวกเขากลับมองว่า เป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้พื้นฐานในฐานะมนุษย์ในสังคม  ที่คนไม่มีเงินเก็บมากมายอย่างพวกเขาเมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย มีโอกาสไปโรงพยาบาล ไปหาหมอได้ แม้ว่าเขาจะมีสตางค์เพียงแค่ 30 บาทก็ตาม

 

พวกเขาพร้อมจะหยิบยืมเงินกองทุนเงินล้านทั้งๆที่รู้ว่า นำไปลงทุนเพียงน้อยนิด พวกเขาต้องพบกับภาวะขาดทุนอยู่ร่ำไป หรือนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตด้านอื่นๆก็ตาม แต่ถ้าพวกเขากู้เงินนอกระบบ ดอกเบี้ยย่อมสูงกว่าหลายเท่านัก

 

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายประชานิยมของผู้ปรารถนาดีอย่างไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้น ย่อมทำให้คนจนไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยม นั้น หาได้เป็นทางออกในการสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมให้กับผู้คนในสังคม เพราะนโยบายนี้เป็นเพียงการแบ่งเค้กบางส่วนที่น้อยนิดซึ่งชนชั้นปกครองไทย หยิบยื่นให้กับคนจนเท่านั้นเอง 

 

สิ่งที่คนจนต้องการในการมีสิทธิพื้นฐานในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมในสังคมนั้นคือ การมีรัฐสวัสดิการต่างหาก

 

รัฐสวัสดิการ (Welfare state) เป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้ หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรคฟรี หลักประกันด้านการศึกษา ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีจนทำงานได้ ตามความสามารถในการเรียน หลักประกันด้านการว่างงาน รัฐต้องช่วยให้ทุกคนได้งานทำ ใครยังหางานไม่ได้รัฐต้องให้เงินเดือนขั้นต่ำไปพลางก่อน หลักประกันด้านชราภาพ รัฐให้หลักประกันด้านบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคน หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น

 

ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการจะใช้ระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า คือเก็บภาษีจากคนรวย ต่อรายได้สูงกว่าคนจนมาก เก็บจากชนชั้นกลางในระดับพอประมาณ และเก็บจากคนจนน้อยหรือไม่เก็บเลยถ้าจนมาก นอกจากนั้นอาจมีการเก็บเบี้ยประกันสังคมจาก คนที่มีงานทำตามอัตราเงินเดือน เงินที่เก็บได้ทั้งหมดรัฐก็จะนำมาใช้จ่ายสำหรับบริการทางสังคมทั้งหมดในระบบ รัฐสวัสดิการ ระบบนี้จึงเป็นการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" คนที่มีรายได้ดีต้องช่วยจ่ายค่าบริการทางสังคมส่วนหนึ่งแก่คนที่ยากจนกว่า

 

นอกจากนี้จะเน้นไปที่ภาษีทางตรง ในอัตราก้าวหน้า คือเก็บจากรายได้ มรดก ทรัพย์สินที่ดิน ฯลฯ มากกว่าภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอย่างหลังจะถูกบวกในราคาสินค้า รวมถึงสินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะคนรวยคนจนก็บริโภคสิ่งจำเป็นพอๆกัน ทำให้คนจนเสียภาษีทางอ้อมที่มากกว่าคนรวย

 

ไม่นานมานี้ อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง การปฏิรูปทางทางการคลังนั้นหมายรวมถึงการปฏิรูปทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย ทางด้านรายได้นั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถรองรับระบบสวัสดิการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทางด้านรายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายประเภทไม่จำเป็นมาใช้จ่ายด้านระบบสวัสดิการมากขึ้น

 

ในการปฏิรูประบบภาษีนั้น มีข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ใหม่ แต่แม้ผลักดันกันมานานก็ไม่ปรากฏเป็นจริง คือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รัฐบาลปัจจุบันได้เสนอว่าควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง จากข้อมูลการกระจายรายได้ พบว่าความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย (เปรียบเทียบ 20% ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับ 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด) อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของการครอบครองทรัพย์สิน มีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่านี้มากทีเดียว

 

ฐานการจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มักจะมาจากฐานทางด้านรายได้ การบริโภค และทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทย ฐานการจัดเก็บภาษีหลักมาจากฐานการบริโภค รองลงมาคือฐานทางด้านรายได้ สำหรับฐานทรัพย์สิน มีการจัดเก็บน้อยมากๆ จึงคงถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีฐานทางด้านทรัพย์สินขึ้นมาเสียที

 

เหตุผลในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สำหรับกรณีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลักของการได้รับประโยชน์จากภาครัฐ และหลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการจัดเก็บอยู่บนฐานของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีราคาที่สูงขึ้น ถ้ามีการพัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่นยิ่งมีระบบสาธารณูปโภคเข้าไปมากเท่าไร ราคาของสินทรัพย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงควรมีการจ่ายภาษีกลับคืนมาให้กับรัฐ และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังควรมีการแบ่งแยกประเภทของการใช้ที่ดินด้วย เช่นถ้าเป็นการใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราการจัดเก็บควรจะต่ำกว่า การใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชย์อื่นๆ และสำหรับที่ดินที่รกร้าง กล่าวคือเป็นการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งมีผลให้ปัจจัยการผลิตถูกนำไปครอบครองไว้เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ ควรจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนในการเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

 

ส่วนภาษีมรดก เป็นภาษีที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะความไม่สมบูรณ์ของตลาดและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสามารถสะสมทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์จนมากเกินไป การจัดเก็บภาษีมรดกถือเป็นการคืนกำไรหรือผลผลิตส่วนเกินให้กับสังคม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่การสร้างรายได้เหล่านี้มักจะมาควบคู่กับการการสร้างต้นทุนทางสังคม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งสิ้น

 

รัฐสวัสดิการต่างกับสวัสดิการชุมชน  

ท่ามกลางกระแสการขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ ได้สร้างความสับสนไม่เข้าใจในแวดวงของผู้สนใจไม่น้อย โดยเฉพาะว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้รัฐมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นหรือไม่? รัฐจะเข้ามีบทบาทหรือไม่? ต่างจากสวัสดิการชุมชนอย่างไร ? หรือเราจะปฏิเสธรัฐ?

 

ในสภาพความเป็นจริงทางสังคม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไทยดำรงอยู่จริง เพียงแต่รัฐรับใช้ใคร ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใคร  มิฉะนั้น เราคงไม่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐออกพรบ.ป่าชุมชน ให้รัฐมีนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนกัน แม้ว่ารัฐไทยทุกยุคทุกสมัยจะมิดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเราก็ตาม

 

แน่นอนว่า ข้อเรียกร้องของเรา เรา มิอาจปล่อยให้รัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว เราเรียกร้องให้ชุมชน ประชาสังคมมีส่วนร่วมด้วย เพียงแต่รัฐยังไม่รับใช้ประชาชนอย่างที่เราต้องการ เหมือนเช่นรัฐในประเทศเวเนซูเอล่า ที่มีนโยบายปฎิรูปที่ดินโดยชุมชนให้ชุมชนมีส่วนร่วม และรัฐสนับสนุน ที่สำคัญรัฐในประเทศเวเนซูเอล่าเป็นรัฐที่รับใช้ประชาชนคนส่วนใหญ่ผู้ใช้แรง งาน และรัฐสวัสดิการที่เราต้องการนั้นชุมชน ประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมจัดการคงมิใช่เพียงรัฐฝ่ายเดียว

 

อย่างไรก็ตาม เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวประมงพื้นบ้าน คนจนในเมือง คนชั้นกลางระดับต่ำ  คนตกงาน ล้วนไม่มีสวัสดิการพื้นฐาน เหมือนเช่นข้าราชการ และคนชั้นกลางในเมือง

 

และเราคงไม่ปฏิเสธการที่ชุมชนบางแห่งมีประสบการณ์การทำกลุ่มออมทรัพย์ การ ทำสวัสดิการชุมชนต่างๆ เพียงแต่เรายอมรับเป็นความจริงว่า มีคนยากจนในชุมชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมกลุ่มได้ เนื่องจากไม่มีเงิน หรือสวัสดิการที่รองรับยังคงไม่ทั่วถึง ไม่มีคุณภาพเพียงพอทุกภาคส่วนทั่วด้าน  เราจึงต้องให้รัฐมีมาตรการก้าวหน้าเพื่อนำงบภาษีนี้มาสร้างสวัสดิการพื้นฐาน จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ให้คนทุกคนในสังคม เหมือนเช่นเราเรียกร้องให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการดูแลป่าของชุมชน

 

รัฐสวัสดิการและสังคมประชาธิปไตย

ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจระบบอภิสิทธิ์ที่มีกองทัพอยู่เบื้องหลัง  หรืออำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ก็ ได้ประกาศนโยบายประชานิยม ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ได้วิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า เป็นนโยบายที่ทำให้คนยากคนจนเสพติดภายใต้ระบอบอุปถัมป์ แต่กระนั้นก็ตามเมื่อขึ้นเป็นรัฐบาลก็ประกาศนำนโยบายประชานิยมมาใช้ในที่สุด  ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรคงต้องตามกันต่อไป  ในอีกด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า  นโยบายประชานิยมกลายเป็น"สิทธิของคนจน" ซึ่งไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็มิอาจปฏิเสธได้

 

อย่างไรก็ตาม   สิทธิของคนจนตามนโยบายประชานิยมนั้น ยังไม่ถึงขั้นสร้างความเสมอภาคในสังคมไทยเท่ากับรัฐสวัสดิการโดยมาตรการภาษีที่ก้าวหน้า จึงต้องก้าวหน้ากว่านโยบายประชานิยมคือรัฐสวัสดิการ  

 

และประวัติศาสตร์ของ การก่อเกิด รัฐสวัสดิการในหลายๆประเทศนั้น หาได้เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองหยิบยื่นให้แต่อย่างใด แต่เกิดจากการต่อสู้ของชนชั้นคนจน  และ เช่นเดียวกันพรรคการเมืองไทยทุกพรรคและระบอบอำมาตยาธิปไตยไทย ล้วนไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะจะทำให้พวกเขาเหล่านั้น ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น

 

นอกจากนี้แล้ว การสร้างรัฐสวัสดิการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องลดงบประมาณของระบบอำมาตยาธิปไตยในหลายด้านที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณซื้ออาวุธ เป็นต้น เพื่อนำงบประมาณมาสร้างรัฐสวัสดิการ

 

ขณะเดียวกัน การ เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันรัฐสวัสดิการ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของ พลังประชาชนชนชั้นล่าง  เคลื่อนไหวได้อย่างไม่ถูกคุกคาม มีการเปิดประเด็นถกเถียงได้อย่างเสรี เสนอข้อมูลข่าวสารไหลได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น จึงต้องลดบทบาทระบบอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อ ขยายพื้นที่ประชาธิปไตย

 

เหมือนเช่นการเคลื่อนไหว ผลักดันให้มีกฎหมายประกันสังคม การลาคลอดของคนงาน 90 วัน พรบ.ป่าชุมชน ปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ ซึ่งบทเรียนที่ผ่านนั้นอำนาจแบบระบอบอำมาตยาธิปไตย เช่น วุฒิสมาชิกอดีตข้าราชการเก่าที่มาจากการแต่งตั้ง มักขัดขวางเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้อยู่เสมอ

 

กระนั้นก็ตาม แม้ว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีระบบการเลือกตั้งอาจจะไม่สนใจประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังมากนัก  แต่การเคลื่อนไหวผลักดันอย่างมีเสรีภาพย่อมเอื้อให้กับองค์กรประชาชนในการขยายพื้นที่และสร้างพลังมากกว่า

 

ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการนั้นก็เหมือนการเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ของชนชั้นล่างที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ประชาธิปไตย  สร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประวัติศาสตร์ในหลายประเทศทั่งโลกที่มีรัฐสวัสดิการก็ได้ประสบความสำเร็จ มาแล้วภายใต้การต่อสู้ขององค์กรประชาชนเพื่อได้มาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์อย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท