Skip to main content
sharethis

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจุฬาฯ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวที "มหกรรมประชาชนอาเซียน" ระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. และเป็นเวทีคู่ขนานของภาคประชาสังคมและประชาชนในอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาของแต่ละัประเทศในภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมนับพันคน ทั้งจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนอกภูมิภาค โดยข้อเสนอจากการประชุม จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. ที่หัวหินด้วย  


เสวนากลุ่มย่อย "ความมั่นคงด้านพลังงานของประชาชน


และความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม"


วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ: วิสัยทัศน์ของอาเซียนเรื่องพลังงานในปี 2020 คืออะไร


โครงสร้างพลังงานของอาเซียน เวลาที่เราพูดกันนั้น เราจะพูดเรื่องเส้นทางการค้า เคยมีการค้าทางทะเล ตอนนี้ก็มีเรือบันทุกข้ามช่องแคบมะละกา มาที่ประเทศไทย สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการถ่ายน้ำมันของโลก ทั้งๆ ที่เป็นเกาะเล็กไม่มีน้ำมันแต่ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ ทำให้ทุกประเทศต้องคิดราคาน้ำมันตามตลาดที่สิงคโปร์


ทุกประเทศในอาเซียนมีบริษัทของตัวเอง มีบริษัทที่จัดการเกี่ยวกับน้ำมัน อย่างเช่นรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย แต่เดิมนั้นจะดูแลโดยทหาร พอผ่านสงครามเย็นก็มีการแปรรูปเป็นของเอกชน ขณะเดียวกันก็พบก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ มีการจัดสัมปทานให้กับบริษัทต่างชาติต่างๆ ในอาเซียนเราจะพบได้ว่ามีบ่อก๊าซที่เป็นบ่อสำรอง ประมาณหนึ่งในสามของทั่วโลก ซึ่งพอเพียงแล้วถ้าหากเราใช้อย่างจำเป็น แต่ว่าเราจะเกิดวิกฤตขึ้นแน่ๆ ถ้าเราใช้พลังงานในระดับที่เราใช้อยู่ ใช้ตามตลาดที่คุมโดยบริษัทขนาดใหญ่โดยที่ชุมชนไม่มีส่วนที่จะควบคุม


วิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องพลังงานในปี  2020 นั้นมีโครงการที่จะต่อท่อก๊าซไปทั่วทั้งภูมิภาคหมายความว่าจะต่อไปหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะไปที่จ่ายให้กับแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ โดยนำมาจากบ่อต่างๆ เช่น จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย มีแผนที่จะเชื่อมทุกประเทศ โครงข่ายไฟฟ้าที่จะเป็นในระดับภูมิภาค หมายความว่าไฟฟ้าไม่ว่าจะผลิตที่ไหนจะส่งเข้าโครงข่ายเดียวกันหมด ในอาเซียจะต่อไปถึงประเทศจีนทางเรือด้วย


เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวกับพลังงาน คำถามคือใครจัดการวางแผนเรื่องพวกนี้ ระดับชุมชนรู้เรื่องนี้หรือเปล่า แม้แต่ประชาชนในเมืองรู้เรื่องไหม เพราะว่าที่ผ่านมามันเป็นการรวมศูนย์จากข้างบนทั้งสิ้น ไม่มีการมีส่วนร่วม ใช้การตัดสินใจจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะว่าเขารู้ว่าอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้พลังงานมาก


เป็นการวางแผนของภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ได้กังวลกับสิ่งแวดล้อมหรือว่าสังคมสักนิด รูปแบบนี้ครอบงำโดยนิยามของความมั่นคงด้านพลังงานและการผลิตไม่ใช่เรื่องของทรัพยากรเป็นหลัก มันเป็นเรื่องของการเมืองด้วยเพราะว่าสัมพันธ์กับการเมืองในภูมิภาค มีการลงทุนเพิ่ม ขยายการผลิตไปเรื่อยๆ เร่งผลิตไปเรื่อยๆ เพราะฉ จึงฉะนั้นจึงไม่มีการอนุรัก และเมื่อสร้างออกมาแล้วก็ต้องขาย เพราะคนยิ่งต้องการมากก็ยิ่งได้เงินมาก จึงเป็นการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มอีก เข้าไปขูดเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปขาย


แบบแผนนี้ไม่ใช่เฉพาะในอาเซียนเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องด้วย บ่อก๊าซที่พบในอาเซียน ไม่ว่าอินโดนีเซีย มาเลเซียจะส่งไปขายที่จีนเพราะเป็นตลาดใหญ่ที่ต้องการพลังงานมาก จะเห็นว่าการเชื่อมโยงจะออกไปนอกภูมิภาคด้วย ญี่ปุ่นเกาหลีเป็นการเชื่อมโยงของภาคอุตโดยตรง เพราะว่าตอบสนองความต้องการของบรรษัทข้ามชาติ


ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนจำนวนมากในลุ่มน้ำโขงที่เกี่ยวกับจีนและลาว จากข้อมูลนั้นประชาชนในลาวต้องการไฟฟ้าประมาณ 3-400 เมกะวัตต์ แต่ว่ากลับมีแผนที่จะสร้างเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 5000 เมกะวัตต์ เพื่อที่จะขายให้กับไทยที่มีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมกัน กฟผ.พยายามที่จะเข้าไปควบคุมกิจการในลาว เพราะว่าเขากำลังจะเป็นตัวควบคุมการผลิตไฟฟ้าในระดับภูมิภาค


ในกัมพูชาที่มีระบบกระจายศูนย์การผลิต แต่ว่าก็มีแรงกดดันจากเอดีบีที่พยายามจะเชื่อมให้กลายเป็นเครือข่ายการผลิตไฟฟ้าที่รวมศูนย์ ซึ่งนั่นหมายความว่าอิสระในการจัดการเรื่องนี้ก็จะหมดไป เพราะว่าจะกลายเป็นการจัดการโดย กฟผ.ไปหมดสิ้น


ซึ่งในรูปแบบการจัดการแบบรวมศูนย์นั้นเป็นรูปแบบที่เอามาจากยุโรป แต่เมื่อวิเคราะห์เพื่อให้เห็นว่าการเชื่อมโครงข่ายเข้าด้วยกันมีราคาที่ต้องจ่ายมากเพราะว่าประเทศในภูมิภาคของเราต่างกับยุโรปมาก มีความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ความสัมพันธ์ของผู้ผลิตผู้ซื้อส่งออกหรือนำเข้า ซึ่งจะทำให้การควบคุมโครงข่ายลักษณะนี้ มาตรฐานทางความเชี่ยวชาญอาจจะไม่เท่ากัน


คิดว่าถ้าหากเราดำเนินการเรื่องพลังงานแบบรวมศูนย์ต่อไป แน่นอนว่าจะเกิดโครงการขนาดใหญ่อย่างนิวเคลียร์หรือว่าโรงไฟฟ้าอีกจำนวนมาก เพราะว่าในอาเซียนนั้นยังมีโครงการร่วมเรื่องการจัดการโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีการนำเสนอว่าถ่านหินสะอาดซึ่งเป็นเรื่องโกหกเพราะว่ามันไม่มีทางที่จะสะอาด มันเป็นการสร้างชื่อเพื่อการโฆษณาเท่านั้น


เราจะต้องเน้นไปที่เริ่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก เพราะถ้าหากเราไม่ทำอะไร อาเซียนก็จะกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกสร้างภาวะโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุด ฉะนั้นจะเห็นว่าเมื่อเขาพูดเรื่องความมั่นคง ในฐานะที่เป็นประชาชนเราจะต้องคอยถามว่ามันเป็นความมั่นคงของใคร และมีความจำเป็นเท่าไหร่ในการผลิตพลังงานออกมามากมายเกินใช้มากแค่ไหน เพราะในตอนนี้ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยลดต่ำลงตลอดเวลา ตอนนี้ลดลงมา 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีทีแล้ว แต่ว่าทางรัฐกลับจะสร้างแหล่งผลิตขนาดใหญ่อีกมากมาย ตอนนี้เรามีกำลังผลิตที่ไม่ได้ใช้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะความต้องการลดลงอย่างมาก


เราต้องปลดปล่อยอาเซียนจากความครอบงำของบริษัท และการตกเป็นทาสของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค เราต้องวิพากย์ธนาคารพัฒนาเอเซีย ที่กำลังจะสร้างโครงข่ายไฟฟ้าที่ว่านี้ เราต้องทำให้สังคมกลับมาคิดเรื่องต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมพลังงานทางเลือก มีความเป็นประชาคมในการจัดการ หรือวางแผน และสุดท้าย เราต้องหยุดการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน


ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันนอกเฉียงใต้


ลำดับแรกเวลาที่เราพูดเรื่องพลังงานในอาเซียนนั้นเราจะเห็นว่ารัฐบาลหลายๆ ประเทศกำลังผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ โดยที่จะบอกว่านี่คือคำตอบของภาวะโลกร้อน นี่คือคำตอบของการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ นี่คือปัญหาส่วนหนึ่ง คือเอาเรื่องความมั่นคงของพลังงานมาคู่กับภาวะโลกร้อน ซึ่งในเรื่องการถกเถียงของการเกิดขึ้นของพลังงานนิวเคลียร์นั้น เราไปดูฝ่ายที่สนับสนุนก็จะบอกว่า "เราต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพราะว่ามันเป็นพลังงานที่ไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน"  หรือว่า "ถ้าหากเวียดนามมีพลังงานนิวเคลียร์ได้แล้วทำไมไทยมีไม่ได้" คือหมายความว่าถ้าหากใครคิดจะทำอีกฝ่ายก็ต้องทำด้วย


ในพม่านั้น รัฐบาลรัสเซียกำลังสนับสนุนพม่าในแง่ของการจัดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แต่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งนี่คือความบ้าระห่ำในภูมิภาค มีการนำเสนอจากรัสเซีย ในส่วนที่เป็นหน่วยงานพลังงานว่าคิดในแง่ของการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ที่ลอยได้ในน้ำ ซึ่งไทยและอินโดนีเซียก็สนใจ มันเป็นโครงการณ์ที่บ้ามาก แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการมากขึ้น ในฟิลิปปินส์มีโรงงานหนึ่งแห่งแต่ว่ายังไม่เคยใช้ ซึ่งโรงงานแห่งนั้นสร้างในรัฐบาลมาร์กอส อาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนและเอ็นจีโอพยายามที่จะประท้วงอย่างหนัก ในอินโดนีเซียมีแผนการจะสร้างสามแห่งเมื่อสองปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ว่าประชาชนในเกาะชวาไม่เอาด้วย


ส่วนในประเทศไทยนั้น ทางกฟผ.บอกว่าสามารถที่จะตั้งได้ประมาณ 14 แห่ง คือช่วงชายฝั่งทะเลไทยในแถบจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ในเวียดนามมีโครงการที่จะสร้างหนึ่งแห่ง ในตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งปัญหาของความไม่มั่นคงของพลังงานนิวเคลียร์นมีเยอะมาก ในเรื่องของการสร้างที่ต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล การดูแล การซ่อมบำรุง และการจัดการกากของเสียที่จะเป็นปัญหาใหญ่  และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนั้นต้องใช้ยูเรเนียมที่มีขายอยู่สามประเทศในโลกเท่านั้น ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาในการจัดการไป ซึ่งการจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นเป็นการจัดการขนาดใหญ่ เมื่อเกิดอะไรขึ้น ไฟก็จะดับไปหมด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net