ประเด็นท้าทายประชาชนอาเซียน: ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ-อาหาร-สิ่งแวดล้อม-พลังงาน-แรงงาน-ประชาธิปไตย

20 ก.พ.52  เวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเช้าของวันแรกมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ  "ประเด็นท้าทายสำคัญที่เผชิญโดยประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยในหลายประเด็น ได้แก่  วิกฤตอาหารและวิกฤตเศรษฐกิจ, วิกฤตพลังงานและวิกฤตสิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ, ประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และแรงงานและแรงงานอพยพ

 

ในหัวข้อ "วิกฤตอาหารและวิกฤตเศรษฐกิจ" วอลเดน เบลโล จาก Focus on the Global South (FOCUS)  กล่าวว่า เราจะเห็นว่าท่าเรือตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีนนั้นมีผู้คนมากมายที่ตกงาน ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อย่างเช่นในประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ มีมาตรการหลายอย่างที่แสดงออกมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และจากความสำเร็จในสองประเทศนี้ทำให้ส่วนต่างๆ เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ต้องเปลี่ยนให้มีการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก แทนที่จะผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจึงมีความสำคัญ เราจึงเห็นได้ว่ามีการใช้แรงงานของผู้หญิงราคาถูกจำนวนมาก

 

เขากล่าวว่า จากการเข้ามาลงทุนของประเทศญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากที่มีปัญหาในสหรัฐอเมริกาทำให้ประเทศในอาเซียนมีการเติบโตทางอุตสาหกรรมที่สูงมาก ญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่สำคัญคือการส่งออกไปยังประเทศของตนเอง มีอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ามาเป็นจำนวนมาก ต่อมาจีนกลายเป็นประเทศผลิตสินค้าของโลก มีบริษัทต่างๆ เข้าไปลงทุนอย่างมากมาย เป้าหมายหลักในการส่งออกของจีนก็คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแบบเศรษฐกิจพึ่งพิงเป็นหลัก

 

เบลโล กล่าวต่อว่า เพราะเหตุที่หลายสิบปีหลังจากการพัฒนาที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีการออมจำนวนมาก การบริโภคมีจำนวนน้อยลง ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่น เกาหลีและอาเซียนต้องการที่จะส่งออกไปยังยุโรป ไม่ได้ต้องการที่จะบริโภคภายในประเทศ และเท่าที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นเป็นไปในแบบแก๊งค์ คือ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาขึ้น ส่วนต่างๆ ที่พึ่งพาก็เกิดผลกระทบขึ้นตามด้วย สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาก็คือยุคของการส่งออกนั้นกำลังจะจบลง การเติบโตของญี่ปุ่นและจีนลดลง อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการส่งออกกำลังดิ่งลงเหว ค่าเงินลดลง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่เกิดภาวะนี้ขึ้น บางรัฐบาลพยายามกระตุ้นความต้องการภายในขึ้นมา มีการลงทุนด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าการกระจายรายได้ยังไม่ดีนัก ยังคงมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำอย่างมาก องค์กรแรงงานสากลบอกว่าจะมีคนกว่าร้อยล้านคนต้องตกงาน และอีกหลายสิบล้านได้รับผลกระทบ

 

เขากล่าวอีกว่า ในจีนเองมีแรงงานหลายสิบล้านคนต้องตกงาน และเกิดการอพยพกลับเข้าสู่ท้องถิ่นของแรงงาน มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลง หรือว่าการปฏิวัติทางสังคม ในช่วงเวลานี้เราไม่สามารถจะเดินไปในทิศทางเดิมได้ ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เราต้องช่วยกัน และสิ่งที่สำคัญต้องไม่ให้มีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพื่อสะสมทุนของชนชั้นนำด้วย

 

ในหัวข้อ "วิกฤตพลังงานและวิกฤตสิ่งแวดล้อม" เปรมฤดี ดาวเรือง จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ(TERRA) กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่ประชาคมอาเซียนกำลังเผชิญอยู่และเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่งในขณะนี้ นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤตอาหารตามที่ ดร.วอลเดน เบลโล กล่าวไปแล้วนั้น - "วิกฤตพลังงาน" เป็นประเด็นที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องมาจากความต้องการใช้พลังงานปิโตรเลียม-พลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก ส่งผลให้มีการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากในแม่น้ำสายหลักๆ สำคัญของภูมิภาค

 

ไม่เพียงเท่านั้นประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาโลกร้อน ก็เป็นผลมาจากสิ่งเหล่านี้ที่เราเผชิญอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น สบู่ดำ ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่ง ณ เวลานี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นแล้ว หรือการที่รัฐบาลพลังงานพยายามผลักดันการใช้พลังงานนิวเคลียร์กำลังเป็นข้อถกเถียงอย่างมาก

 

เปรมฤดีกล่าวว่า นับจากแนวนโยบายของรัฐบาลยุคทักษิณ ที่ใฝ่ฝันและพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับพลังงานไฟฟ้าแหล่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากเพื่อการส่งออกขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่คาดว่าอาจจะสามารถส่งไปขายให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ประเทศในอเมริกาใต้ หรือออสเตรเลียนั้น ส่งผลให้มีการขยับขยายโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งภายในประเทศ และไปลงทุนสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อนำผลผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นใช้ในประเทศ และส่งขายได้ด้วย

 

เธอกล่าวว่า ทั้งๆ ที่ในการประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศดำเนินการอย่างมีเลศนัย และเป็นตัวเลขที่ไม่ได้แสดงค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าที่แท้จริง หากแต่พยายามระบุความต้องการไฟฟ้าไว้ให้สูงมาโดยตลอด เพื่อผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน หรือขยายการลงทุนด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังสอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อให้บรรลุการเป็น "ตลาดเดียว (one market)" ของประชาคมอาเซียน ในมิติด้านพลังงานอีกด้วย

 

"เมื่อพูดถึงการทำอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวนั้น อาเซียนก็พยายามแสดงให้เห็นถึงการวางระบบ และโครงสร้างการผลิตพลังงาน กระแสไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากที่ทั้งสร้างขึ้นแล้ว และที่กำลังยื่นโครงการจะสร้างต่อเอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) อีกกว่า 50 แห่ง รวม 11 แห่งในแม่น้ำโขง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกัน (power grid) เป็นหนึ่งเดียวกัน มุ่งเน้นการส่งออก และด้วยความหวังว่าจะก้าวไปพร้อมกัน ในตลาดที่เท่าเทียมกัน บนความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศอาเซียน แต่ในการค้าขาย ก็ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ ซึ่งก็คือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจำนวนมากนั่นเอง" เปรมฤดีกล่าว

ท้ายที่สุด เปรมฤดีได้นำเสนอข้อเสนอแนะโดยสรุป ดังนี้ 1) ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องทบทวนกันใหม่ถึงการมาตรการ วิธีการใช้พลังงานของประเทศ โดยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง  2) อาเซียนต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และ 3) อาเซียนควรจะมีการสร้างพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ต่อปัญหาเหล่านี้ เพื่อเข้าใจความขัดแย้ง ปัญหาในแต่ละพื้นที่

 

ในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ" เชีย แวนเนธ จากศูนย์การพัฒนาสังคม (Centre for Social Development / Star Kampuchea People"s Participation and Democracy) กล่าวว่า กฎบัตรอาเซียนเป็นตัวเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อรับมือสถานการณ์โลก โดยมีข้อผูกมัดทางกฎหมายกับประเทศสมาชิก เพื่อความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวภายใต้อุดมการณ์อาเซียน

 

ส่วนมาตราที่ 14 ที่ระบุเกี่ยวกับกลไกลสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะสามารถบรรลุผลได้ต้องมีตัวแทนของประเทศสมาชิกมาร่วมกันร่างกรอบปฏิบัติงาน นอกจากนี้กลไกดังกล่าวยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันบางประเทศสนใจจะส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ไม่สนใจจะปกป้องจริงๆ จึงมีปัญหาเรื่องการปกป้องสันติภาพในภูมิภาค

 

            ส่วนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศในอาเซียน เชียกล่าวว่า ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก แต่ก็มีการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่ามีการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามการก่อการร้ายภายในประเทศโดยใช้กำลังทหาร

 

สำหรับประเทศไทย เชียกล่าวถึงการปฏิบัติของทหารไทยต่อกลุ่มโรฮิงยาที่ถูกผลัดดันออกนอกประเทศทางทะเล และเหตุการณ์ตากใบ ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวียดนามมีรายงานจากฮิวแมนไรท์วอทช์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิพระชาวขะแมร์กรอม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เคยเป็นของกัมพูชา และการที่ประชาชนบนที่สูงของเวียดนามซึ่งถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซียมีการปกครองเผด็จการมานาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ มองได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคง แต่การเลือกตั้งมีเพียงพรรคที่มีอิทธิพลทางการเมืองเพียงพรรคเดียว

 

เชียยังกล่าวถึงประเทศลาวที่กำลังพัฒนากำลังสู่ทิศทางความเป็นมิตรกับตลาด ส่วนประเทศกัมพูชาซึ่งผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับสงครามมายาวนาน กำลังมีปัญหาชายแดนกับประเทศเวียดนาม ภายในประเทศมีการสลายกลุ่มพระสงฆ์ การละเมิดสิทธิในที่ดิน โดยในพนมเปญมีการไล่รื้อที่ชาวบ้าน ขาดสาธารณูปโภคและปัญหาสุขภาพ ด้านประเทศพม่ามีความพยายามผลักดันประชาธิปไตย แต่สถานการณ์ภายในยังมีการจับกุมนางอองซาน ซู จี  และในปีที่ผ่านมามีการชุมนุมของพระสงฆ์และถูกสลายการชุมนุมโดยรัฐบาล

 

เชียกล่าวต่อมาว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำเสนอพลวัตต่างๆ ของประเทศในอาเซียนเกี่ยวกับกลไกลสิทธิมนุษยชน โดยประเทศฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียนได้ให้การสนับสนุนกลไกดังกล่าว ส่วนประเทศบรูไน สนใจในเรื่องผู้หญิงและเด็กซึ่งถือเป็นการริเริ่มที่ดี สำหรับประเทศลาวหนุนให้นิยามคุณค่าของเอเชีย อีกทั้งยังร่วมกับประเทศเวียดนามในการสนับสนุนส่งเสริมกลไกลสิทธิมนุษยชน ผลักดันการออกนิยามเรื่องมนุษยชน แต่ในประเทศกัมพูชาและประเทศพม่าไม่มีท่าทีในเรื่องนี้มากนัก

 

โดยสรุป ในฐานะประชาชนของอาเซียนขอปรบมือให้กับประเทศสมาชิกเดิมทั้ง 6 ประเทศที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกลสิทธิมนุษยชนรวมทั้งประเทศที่เข้ามาภายหลังที่ร่วมกันสนับสนุน โดยในส่วนกลไกสิทธิของอาเซียนควรให้คำเสนอต่อการทำงานของอาเซียนได้อย่างอิสระ และควรให้ความสำคัญกับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศพม่า ในส่วนองค์กรภาคประชาสังคม ควรมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลของตน พร้อมกับแบ่งปันข้อมูลต่อประชาชนในเรื่องกลไกลสิทธิมนุษยชน

 

ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน" ขิ่น โอมาร์ ผู้ประสานงาน Burma Partnership ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยในพม่า กล่าวว่า เวทีในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความพร้อมในการรับผิดชอบสังคม และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการพูดถึงอนาคตของตนเอง แต่รัฐบาลอาเซียนกลับสนใจแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในความหมายของตัวเอง แทนที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หลายประเทศใช้วิธีการเผด็จการ ผู้ปกครองในหลายประเทศมองประชาชนเป็นศัตรู หรือเป็นภัยคุกคาม และยุทธศาสตร์ที่แก้ไขภัยคุกคามนี้คือ การสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

 

"คำถามคือ ใครให้สิทธิแก่ผู้นำในการปกครองประชาชนด้วยการสร้างความหวาดกลัว แต่ความกลัวก็นำไปสู่การคิดถึงเสรีภาพของประชาชน ถ้าผู้ปกครองทำให้ประชาชนหวาดกลัว ประวัติศาสตร์ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความมุ่งหวังของประชาชนที่จะได้มาซึ่งเสรีภาพนั้นไม่มีอะไรทัดทานได้" โอมาร์ กล่าว

 

 โอมาร์ยังเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ในประเทศพม่าว่า อย่างที่รู้กันว่าพม่าถูกปกครองรัฐบาลทหารที่กดขี่ประชาชนเป็นเวลาหลายสิบปี ในปี 1988 มีการลุกฮือของประชาชน เมื่อไม่นานนี้มีพระออกมาเดินขบวนอย่างสันติ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังต้องการประชาธิปไตย เพราะถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังคงไม่ฟังเสียงประชาชนและใช้การปราบปรามรุนแรง ทำให้เกิดการย้ายถิ่นของประชาชนจำนวนมาก เกิดการแพร่กระจายของ HIV และขบวนการการค้ายาเสพติด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การทะลักเข้ามาของชาวโรฮิงยา

 

ขณะนี้รัฐบาลพม่าบอกว่ากำลังพัฒนาโรดแมปของประชาธิปไตย แต่อำนาจก็ยังอยู่ในกำมือของคนหยิบมือเดียว มีการคาดกันว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า แต่บอกได้เลยว่าการพัฒนาประชาธิปไตยรัฐบาลว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม เพราะไม่มีตัวแทนประชาชน และรัฐบาลเองก็ต้องการสร้างระบบที่ตัวเองจะยึดกุมอำนาจได้ต่อไป

 

ตอนนี้อาเซียนมาถึงทางเลือกหรือจังหวะสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะกฎบัตรของอาเซียนที่เกิดขึ้นไม่ได้นำเสนอจากภาคประชาสังคม เป็นแต่เพียงผลผลิตของชนชั้นนำเท่านั้น จึงไม่ต้องหวังว่าจะมีคุณค่าเรื่องประชาธิปไตย รวมไปถึงกลไกปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นความหวังได้  ถามว่าสำหรับพม่าแล้วจะเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนหรือไม่ คำตอบคือ แม้พม่าจะลงนามในกฎบัตรอาเซียนแล้ว แต่สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังเลวร้ายลงเรื่อยๆ จึงมีคำถามว่า กลไกนี้มีความจริงใจหรือไม่ นอกจากนี้อาเซียนก็มีหลักไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่น แต่การพูดถึงหลักการนี้ก็มี 2 มาตรฐาน เวลาพูดถึงเศรษฐกิจบอกว่าต้องมีส่วนร่วม มีเสรีภาพเหมือนกัน แต่เมื่อพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนกลับบอกว่าแทรกแซงไม่ได้

 

โดยสรุป เรามีกลไกของระดับภูมิภาคที่ยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว ที่เหลือคือต้องกดดันให้มีการนำคุณค่าต่างๆ นี้นำไปปฏิบัติจริง ขอให้พวกเรามีความภูมิใจในขบวนการของประชาสังคมในภูมิภาคนี้ และเราจะมุ่งมั่น เดินหน้าต่อไปในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แม้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไรก็ตาม อีกทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องเห็นภาคประสังคมเป็นสิ่งมีประโยชน์ ไม่ใช่การคุกคาม

 

ในหัวข้อ "แรงงานและแรงงานอพยพ"  คาร์ลา นาธาน จูน จาก Migrant Forum in Asia ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคด้านแรงงานข้ามชาติและสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ อินโดนีเซีย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการล้มละลายของสถาบันการเงิน ทำให้เกิดการเลิกจ้าง เศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นตก ค่าเงินรูปีตก อินโดนีเซียเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากมีส่วนลงทุนในตลาดหุ้นโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตเพียง 2%

 

คาร์ลา กล่าวว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกเลือกจ้างเป็นกลุ่มสุดท้าย แต่ถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

 

เธอกล่าวว่า จากเอกสารขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) รายงานผลกระทบของเศรษฐกิจต่อแรงงานข้ามชาติว่า ทำให้งานลดลง มีการตัดสวัสดิการสังคม แรงงานข้ามชาติซึ่งมีทักษะน้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีเงินส่งกลับบ้านน้อยลง จะมีการค้าผู้หญิงและเด็กมากขึ้น

 

เธอทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ท้าทายคือ หากเสรีนิยมใหม่และทุนนิยมล้มเหลว ชุมชนเอเชียจะเป็นอย่างไร จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน และความผูกพันในชุมชนแต่เดิมจะเป็นอย่างไร

 

หลังจากการบรรยายมีการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ จากองค์กรสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า รู้สึกละอายที่ประชาชนในภูมิภาคช่วยประชาชนพม่าได้น้อย ต่อจากนี้คงต้องผลักดันให้อาเซียนสนใจพม่าให้มากขึ้น เพราะอาเซียนก็ได้รับประโยชน์จากแรงงานพม่า 5 ล้านกว่าคนในภูมิภาค ถ้าเราไม่พูดเรื่องประชาธิปไตยในพม่า อาเซียนก็จะเป็นอะไรที่ล้าหลัง

 

ตัวแทนจากองค์กรพัฒนามิตรเพื่อหยุดยั้งการทำเหมืองแร่ กล่าวว่า เรื่องเหมืองแร่กำลังเป็นปัญหาในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการใช้ที่ดินของประชาชน เพราะถูกเอาเปรียบ และกีดกัน ในเอฟทีเออียู-อาเซียน มีการพูดว่าจะเปิดเสรีการทำเหมืองแร่ในอาเซียน เราถือว่านี่เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงในด้านที่ดินของประชาชนในอาเซียนด้วย

 

สวัสดิ์ ประมูลศิลป์ จากกลุ่มผู้พิการ อยากให้รัฐบาลอาเซียนเน้นเรื่องสิทธิของผู้พิการด้วยเพราะกฏบัตรอาเซียนก็ลงนามในหลายประเทศแล้ว แต่บางรัฐบาลยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาเกี่ยวกับคนพิการ อยากเรียกร้องให้สังคมผลักดันให้สิทธิผู้พิการเท่าเทียมกับสิทธิของคนอื่นๆ เวลามีการสัมมนาก็อยากให้ส่งเสริมผู้พิการในอาเซียนให้มีโอกาสเข้าร่วมด้วย

 

ตัวแทนจากฟอรั่ม เอเชีย / องค์การเสียงของประชาชนมาเลเซีย กล่าวถึงกรณีของโรฮิงยาว่าเวลาที่ภาคประชาสังคมต้องใช้เวลานี้กดดันให้รัฐบาลอาเซียนใส่ใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยต้องกดดันถึงขั้นให้รัฐบาลพม่าแก้ปัญหารากเหง้าของตัวเอง คือ ปัญหาวิกฤตประชาธิปไตย ประเด็นต่อมา อยากเน้นย้ำถึงกระบวนการในการร่างกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ถ้าประชาชนไม่รวมพลังล็อบบี้ รณรงค์ ให้มีกลไกสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ เกรงว่า เดือนกรกฎาคมนี้ ผู้นำอาเซียนจะไปลงนามแล้วทำให้กลไกนี้เหมือนเสือไม่มีฟัน หรือไร้น้ำยา

 

ปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมทั้งหมดน่าจะมีสื่อของประชาชนผู้ด้อยโอกาส ประชาชนในอาเซียนมาร่วมด้วย ไม่ใช่สื่อของทุนและรัฐ ทั้งนี้ อยากให้มีการเผยแพร่บรรยากาศและสารในวันนี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสร่วมได้รับรู้ มีการรวมพลังกัน เพื่อทำให้เสียงในการพูดคุยดังมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท