ประวิตร โรจนพฤกษ์: คำถามค้างคาใจกรณีใจ อึ๊งภากรณ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

 

การหนีลี้ภัยของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหลบข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ก่อให้เกิดคลื่นช็อกกระทบสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำถึงราคาค่างวดอันสูงยิ่งของผู้ที่กระทำการหมิ่นเหม่ต่อกฏหมายนี้ และต้นทุนสูงซึ่งสังคมไทยแบกรับในการมีกฏหมายนี้ - ซึ่งดูเหมือนว่าต้นทุนของสังคมในสายตานานาอารยะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ถือว่าการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจะมีราคาค่างวดสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีข่าวทำนองนี้ออกสู่สายตาชาวโลก

 

ล่าสุดหนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทมส์ของลอนดอนได้สัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และลงตีพิมพ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (F T Weekend, หน้า Life & Arts 3) ซึ่งผู้สัมภาษณ์ได้ถามเพียงไม่กี่ประเด็นแต่ปรากฏว่าหนึ่งในคำถาม ได้แก่ เรื่องกฏหมายหมิ่นฯ ส่วนในเมืองไทยนั้นกลุ่ม นปช. และเสื้อแดงก็รีบปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นและไม่สนับสนุนกับมุมมองของนายใจ ซึ่งตอนหลังได้มีโอกาสขึ้นเวทีัทักทายผู้ชุมนุมเสื้อสีนี้ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ได้โอกาสถล่มใจและโยงใจกลับไปหาทักษิณและกลุ่มเสื้อแดง

 

หลายคนคงทราบว่า ใจได้ทิ้งจดหมายแดงสยามที่เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทหารและสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง และเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมไทย หรือแม้กระทั่งความจำเป็นที่ประเทศไทยควรจะเป็นสาธารณรัฐ หากสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถปฏิรูปตนเองได้ จดหมายฉบับนี้รุนแรงมากจนกระทั่งสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองรวมถึงประชาไทมิกล้าลงตีพิมพ์ทั้งฉบับ และไม่ว่าผู้อ่านหรือใครจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงปฏิเสธมิได้ว่าผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนอื่นอาจได้รับผลกระทบทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่พวกเขาอาจมิได้รับการประกันตัวหรือต้องถูกรีบคุมขังเพราะกลัวจะหนีไปต่างประเทศอย่างใจ นักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองบางคนก็โกรธมากและวิพากษ์ใจอย่างรุนแรงว่าสิ่งที่ใจทำเป็นการละทิ้งกระบวนการล่าลายเซ็นเพื่อยกเลิกกฏหมายหมิ่นฯ ที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน บ้างก็ว่าใจกระทําเช่นนี้ได้เพราะว่าตัวใจนั้นถือสองสัญชาติทั้งไทยและอังกฤษ แถมยังมาจากครอบครัวที่มีอันจะกินและมีชื่อเสียง และก็มีอาจารย์บางคนที่กล่าวว่า อาจารย์ใจ "ใจไม่ถึง" หนีไปต่างประเทศแทนที่จะยืนสู้กับกฏหมายที่พวกตนเชื่อว่าไม่ชอบธรรมและขัดกับหลักประชาธิปไตยพื้นฐาน

 

ไม่ว่าผู้อ่านจะคิดอย่างไรกับอาจารย์ใจ อาจารย์ใจในมุมมองของผู้เขียนก็ยังคงเป็นเหยื่อของกฏหมายที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยและมีโทษรุนแรงจำคุกถึง 15 ปี กฏหมายนี้ขัดกับหลักพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และตราบใดที่ยังมีคนถูกจองจำภายใต้กฏหมายนี้ (ซึ่งตอนนี้มี 4 คน 2 คนที่ถูกตัดสิน 1, 2  และอีก 2 คนยังรอการตัดสินอยู่ในคุก 1, 2) ตราบใดที่ความแตกต่างทางอุดมการณ์เป็นอาชญากรรมและเป็นอาชญากรรมที่ถูกประณามโดยคนจำนวนมากในสังคม สังคมย่อมย่ำอยู่กับความเห็นแบบพืชเชิงเดี่ยว กล่าวคือคือความเห็นหรือสภาพที่บีบรัดให้มีความเห็นเพียงอย่างเดียวต่อสถาบันฯ ซึ่งก็คือ สรรเสริญเทิดทูนและประจบให้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะมากเกินพอเพียงหรือไม่นั้น ไม่ต้องพูดถึงเพราะภายใต้กฏหมายนี้การพูดพาดพิงถึงสถาบันฯ อย่างเท่าทันกระทำไม่ได้เพราะเป็นอาชญากรรมขัดต่อกฏหมายทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีคำถามค้างคา อยากเห็นการแลกเปลี่ยนความเห็นพวกนี้อย่างเปิดเผย แต่ก็ดูเหมือนว่าสื่อกระแสหลักและผู้มีอำนาจในสังคมกลับมองว่าการมีกฏหมายนี้เป็นสิ่งที่ดีมี "เหตุผล" ยิ่งสำหรับสังคมไทย (ยกตัวอย่าง คงไม่มีสื่อกระแสหลักที่ไหนเขียนตั้งคำถามว่าการเทิดทูนหรือแม้กระทั่งประจบเจ้ามีอยู่มากเกินไปหรือเพียงพอหรือไำม่ในสังคมไทย ถึงแม้หลายๆ ที่ได้ติดป้ายเ้ทิดทูนสรรเสริญในหลวงอย่างถาวรไปแล้ว มิได้มีเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมหรือสิงหาคม ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ผู้เขียนมีโอกาสผ่านโรงพยาบาลลาดพร้าวก็ปรากฎเห็นป้ายผ้าแขวนอยู่ข้างตึก มีความยาวประมาณ 3-4 ชั้นของตัวตึกเป็นอย่างน้่อย ป้ายนี้มีไว้่เพื่อฉลอง 80 พรรษาภูมิพลมหาราช ซึ่งเป็นงานฉลองของเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ส่วนด้านหน้าก็เป็นรูปในหลวงและเขียนว่า ฉลองครองราชย์ 60 ปีซึ่งก็ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี) หรือหากใครคิดจะทำการศึกษาเปรียบเทียบกับการเทิดทูนผู้นำเกาหลีเหนือก็คงเป็นสิ่งผิดกฏหมายจนต้องติดตารางหัวโตเป็นแน่แท้

 

พลเอกอภิชาต เพ็ญกิตติได้ให้สัมภาษณ์ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวันเมื่อศุกร์ที่แล้ว ว่าควรเพิ่มโทษกฏหมายหมิ่นฯ ให้หนักขึ้น หลังจากเกิดกรณีใจหนี ในขณะเดียวกัน นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ก็ได้เขียนในคอลัมน์เดินย้อนตะวัน (Giles on the run …, 12 ก.พ.52) โดยพูดเหมารวมว่า "พวกเราเต็มใจและยินดีที่จะอยู่กับ "พ่อ" ของเราอย่างนี้" (ส่วนจดหมายถึงบรรณาธิการ ก็มีแต่ข้อความเห็นด้วยกับบทความและต่อต้านใจ ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสังคมไทย) ซึ่งหากสถานการณ์เป็นจริงอย่างที่นายวริืษฐ์ว่า หรืออย่างที่วาทกรรมหลักที่กล่าวไว้ว่าทุกคนในประเทศไทยเทิดทูนและรักในหลวงเป็นจริงแล้ว ทำไมกระทรวงไอซีทีถึงได้ต้องออกมายอมรับว่า กำลังเล็งบล็อคเว็บไซต์ถึง 10,000 เว็บ และได้บล็อคไปแล้ว 2,300 เว็บ นอกจากนี้ทางกลุ่ม ส.ส.นำโดย ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาคได้ตั้งเว็บไซต์เกสตาโปขึ้น เพื่อให้ประชาชนสอดแนมกันและกันว่ามีใครละเมิดกฏหมายหมิ่นฯ หรือไำม่ สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นชัดแจ้งเกินกว่าการปฏิเสธใดๆ ว่า จริงๆ แล้วคนในสังคมไทยมิได้มีมุมมองเดียวเหมือนกันไปหมดต่อสถาบันกษัตริย์ หากมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นสถาบันฯ ที่โปร่งใสตรวจสอบได้และมีสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกว่าที่เป็นอยู่ ฯลฯ

 

อีก 50-60 ปีในอนาคตรัฐบาลและสังคมไทยในปัจจุบันจะถูกพิพากษามิเพียงจากสังคมโลกที่เป็นประชาํธิปไตย แต่จะถูกพิพากษาทั้งจากคนรุ่นหลังด้วย ทางเลือกนั้นค่อนข้างชัดเจน - ปราบปรามให้มากขึ้น กดทับและเซ็นเซอร์ความคิดต่างต่อไป และเสี่ยงต่อการตอบโต้ และกลายเป็นที่ขบขันในสายตาของประชาคมประชาธิปไตยโลก อาจารย์ใจ ณ วันนี้อยู่ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด และได้แต่งตั้งตนเองเป็นฝ่ายค้านนอกรัฐนอกสภาผู้มิสามารถกลับมาเหยียบย่ำแผ่นดินไทย แต่เขาก็ได้กระชากหน้ากากสังคมไทยให้ชาวโลกได้เห็นแล้วว่า ในเมืองไทยนั้นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดอันได้แก่ สิทธิในการแสดงความเห็น ไม่มีอยู่จริง และผู้ที่ใช้สิทธิจะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรของแผ่นดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท