Skip to main content
sharethis

รัฐรุดแก้ปัญหาการศึกษาใต้ คณะทำงานเตรียมดึงรัฐมนตรีศึกษาถกปัญหาอุดมในชายแดนใต้  


มอ.ปัตตานีงัดสารพัดวิธีดึงเกรดนักศึกษา หามาตรฐานคะแนนใหม่รับเด็กเข้าเรียนต่อ ป้องกันถูกรีไทร์ ศิษย์เก่าผนึกกำลังพร้อมหนุนช่วย รองอธิการเผย พบรัฐมนตรี "สาทิตย์" ศิษย์เก่า ม.อ.ปัตตานี ช่วยดันต่อแผนเพิ่มอีกหลายคณะ เช่นพยาบาลฯ เภสัชฯ กระทรวงต่างประเทศให้ปีละ 27 ทุนนักศึกษาเรียนต่างประเทศ 1 ปีเสริมคุณภาพการศึกษา เตรียมใช้สูตร 3 + 1 เรียนที่ปัตตานี 3 ปี นอกพื้นที่ 1 ปี


 


นายพีรยศ ราฮิมมูลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า รัฐบาลรับทราบตลอดว่าขณะนี้คุณภาพการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตกต่ำลงมาก เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อรัฐบาลในกรรแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้ว ครอบคลุมการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานไปจนถึงมหาวิทยาลัย รวมทั้งการศึกษาด้านศาสนาด้วย


 


"ในส่วนผลสัมฤทธิ์ทางศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ตกต่ำลงนั้น ผมจะดึงนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงพื้นที่เพื่อหาทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง" นายพีรยศ กล่าว


 


นายพีรยศ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาการศึกษาต้องเริ่มที่ระดับโรงเรียน ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนระดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นช่วยปลายเหตุ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลกำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่


 


ก่อนหน้านี้นายพีรยศ ได้รับมอบหมายจากจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ รับหน้าที่แก้ปัญหา หลังพบข้อมูลนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับอุดมศึกษาถูกออกกลางคันแต่ละปีนับร้อยคน พร้อมประชุมร่วมกับเจ้าของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ประมาณ 150 แห่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ พร้อมขอร้องให้โรงเรียนปรับฐานข้อมูลนักเรียนให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากโรงเรียนบางแห่งมีชื่อนักเรียนอยู่ในบัญชี แต่นักเรียนได้ออกไปนานแล้ว และบางแห่งนักเรียนคนเดียวปรากฏชื่อในบัญชีของ 2-3 โรง


 


นายพีรยศ เปิดเผยว่า นักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกออกกลางคัน เพราะพื้นฐานคืออ่อนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่กล้ากลับบ้านเพราะอายเพื่อนและญาติพี่น้อง จึงมองโลกในแง่ร้าย ผลสุดท้ายถูกดึงเข้าสู่ขบวนการก่อการร้ายง่ายขึ้น และที่สำคัญผู้ปกครองเองเข้าใจผิดคิดว่ามหาวิทยาลัยกีดกันมุสลิม


 


รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า ตนยอมรับว่านักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ต่ำ ผลสุดท้ายปรับตัวเองไม่ได้เมื่ออยู่ในสังคมเปิด ต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ทาง มอ.ตระหนักปัญหานี้มาก จึงมีการเรียนการสอนปรับพื้นฐานและทำกิจกรรมร่วมก่อนเปิดเรียนจริง


 


ผศ.ดร.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานีเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสพบกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในงานเลี้ยงศิษย์เก่าวิชาเอกรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รหัส 23 - 24 ประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนายสาทิตย์ ที่กรุงเทพมหานคร และได้พูดคุยกันถึงแนวทางในการพัฒนา ม.อ.ปัตตานีในภาพรวมในหลายเรื่อง


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยต่อว่า โดยตนได้เสนอไปว่า ที่ผ่านมาวิทยาเขตปัตตานีมีแผนจะเปิดคณะเพิ่มอีกหลายคณะ โดยเฉพาะคณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีเคยมีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ต้องชะงักไปจึงอยากให้นายสาทิตย์ช่วยไปผลัดดันต่อไป รวมทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านอื่นๆด้วย


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า จากปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักศึกษา ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี ที่ตกต่ำลงนั้น มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยล่าสุดกลุ่มศิษย์เก่า ม.อ.ปัตตานี รหัสปี 23 - 24 กว่า 30 คน รุ่นเดียวกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันรูสะมิแล


ผศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า ศิษย์เก่ากลุ่มนี้พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการรับเข้าฝึกงาน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ มีทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูงด้วย พร้อมกันนี้ยังได้มอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยจำนวน 70,000 บาท ขณะที่นายสาทิตย์เอง แม้ไม่ได้เดินทางมาด้วย แต่ก็ได้ฝากเงินมาให้ด้วยจำนวนหนึ่ง


 


ผศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า นอกจากนี้ ศิษย์รุ่นนี้บางคนยังแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า จากการติดตามข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ในพื้นที่ดูน่ากลัวมาก แต่เมื่อได้กลับเยี่ยมสถานที่ที่เคยศึกษากลับพบว่าไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว แต่กลับรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย ประชาชนยังอยู่ดีมีสุข


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า สำหรับการแก้ปัญหาคุณภาพนักศึกษาที่ตกต่ำลงนั้น การที่ผลการศึกษาของนักศึกษาตกต่ำลงนั้นเริ่มมาตั้งแต่รุ่นปี 2547 คือมีจำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้เกรดต่ำกว่า 2.00 มาขึ้นเรื่อยๆ บางรุ่นมีจำนวนสูงถึง 70 %


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมสถิติผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักศึกษาชั้นปี 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 จนถึงปีการศึกษา 2551 ว่ามีแต่ละปีนักศึกษาชั้นปี 1 ที่มีเกรดไม่ถึง 2.00 จำนวนกี่คน และในจำนวนนี้สามารถเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้กี่คน ถูกรีไทร์(ออก) กี่คน จากนั้นจะไปดูพื้นฐานว่า นักศึกษาในกลุ่มนี้มีผลการเรียนและผลคะแนนข้อสอบกลาง หรือ โอเน็ต เป็นอย่างไร เพื่อจะได้กำหนดว่าในเปิดให้สอบเข้า ม.อ.ควรกำหนดมาตรฐานคะแนนอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ต้องการรับมาแล้วต้องถูกรีไทร์ออกไปอีก ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังวิเคราะห์อยู่ คาดว่าจะได้คำตอบเร็วๆนี้ เพราะนักศึกษากลุ่มนี้กำลังจะเรียนจบในปีนี้


 


"ที่ผ่านมาสิ่งที่เราทำกับนักศึกษาแต่ละรุ่นก็คือ หนึ่ง การติวในรายวิชาที่ยากๆ สอง การเพิ่มชั่วโมงเรียน สาม บางคณะใช้วิธีการพี่สอนน้อง คือให้รุ่นพี่ที่มีผลการเรียนดีมาช่วยสอนรุ่นน้องเพิ่มเติม" ผศ.ดร.สมปอง กล่าว


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า นอกจากนี้สำหรับนักศึกษารุ่นปี 48 - 49 ที่ผ่านมา ก่อนเปิดภาคเรียนในปีแรกได้นัดเข้ามาปรับพื้นฐานก่อน คือคุยกันว่าใครถนัดอะไร กลุ่มนักศึกษามุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้ามาสร้างความคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับนักศึกษาที่มาจากที่อื่นได้ ซึ่งวิธีการนี้แต่ละคณะเป็นผู้ดำเนินการเอง


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า ส่วนการดำเนินการนอกมหาวิทยาลัยนั้น ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่โดยเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมปีที่ 5  -6 ซึ่งมีหลายวิธี ประกอบด้วย การเปิดติวพิเศษช่วงภาคเรียนฤดูร้อนปีละประมาณ 200 - 300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัย


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนทางไกล เรียกว่าไซเบอร์ ยูนิเวอร์ซิตี โดยทำที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยให้ผู้สอนสอนอยู่ที่นั่นแล้วถ่ายถอดสดไปยังมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมๆ กันในรายวิชาเดียวกัน โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเดินทางไปที่ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยสถาบันที่เข้าร่วมโครงการนี้ประกอบด้วย ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เป็นต้น


 


อีกทั้งยังมีการพัฒนาครู บุคคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยเฉพาะครูโรงเรียนตาดีกา ปีละ 4 รุ่นๆ ละ 50 คน


 


นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้งบประมาณมา 20 ล้านบาทแก่ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ในโครงการพัฒนาชุมชนและการศึกษา เพื่อให้คณะต่างในมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งโครงการอบรมครูโรงเรียนตาดีกาก็ใช้เงินจากงบประมาณในส่วนนี้ด้วย


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยด้วยว่า ในปีการศึกษา 2551 กระทรวงต่างประเทศได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ให้ไปเรียนต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี จำนวน 27 ทุน โดยเริ่มจากนักศึกษาวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานีก่อน โดยไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาเอง และให้มีประสบการณ์การศึกษาในต่างแดนด้วย


 


"ส่วนในปีการศึกษาต่อไป กระทรวงต่างประเทศจะให้ทุนอีกเท่าเดิมแต่จะกระจายทุนดังกล่าวให้นักศึกษาคณะอื่นๆด้วย คงเหลือให้นักศึกษาวิทยาลัยอิสลามศึกษา 15 ทุน โดยทุนดังกล่าวนั้นกระทรวงต่างประเทศได้มอบให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วย แห่งละ 2 ทุน" ผศ.ดร.สมปอง กล่าว


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา โดยใช้สูตร 3 + 1 หมายความว่า ในหลักสูตร 4 ปี จะให้นักศึกษาเรียนที่วิทยาเขตปัตตานี 3 ปี และเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ นอกพื้นที่อีก 1 ปี โดยจะเริ่มในบางสาขาก่อน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาในอีกทางหนึ่งด้วย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่วนหนึ่ง ทางคณะส่วนหนึ่งและนักศึกษาออกค่าใช้จ่ายเองด้วยส่วนหนึ่ง


 


ผศ.ดร.สมปอง เปิดเผยว่า แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นจากปฏิญญาหาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศที่หาดใหญ่ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างสถาบันร่วมกัน และดึงนักศึกษาจากส่วนกลางลงมาทำกิจกรรมกับนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี โดยได้ดำเนินการไปแล้วกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net