Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 ก.พ.  มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีตัวแทนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และตัวแทนจากภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายหมอพื้นบ้าน มูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้สรุปเห็นควรให้มีการถอดประกาศฉบับดังกล่าว


 


นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการถอนประกาศที่ให้สมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากมีผลกระทบ โดยเฉพาะการสร้างความกังวลในการใช้และบริโภคสมุนไพรดังกล่าว ทั้งในรูปแบบอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้ว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำไปเพื่อเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า เช่น การส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้สมุนไพรในการควบคุมแมลงและศัตรูพืช การจัดตั้งกองทุนที่จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสารฆ่าแมลงเพื่อนำมาใช้ในการลดผลกระทบจากการใช้สารยาฆ่าแมลงรวมทั้งดูแลสุขภาพประชาชน


 



ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะสรุปความเห็นจากที่ประชุมนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการหาทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากในที่ประชุมมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับขั้นตอนการออกประกาศฉบับนี้เยอะมาก ที่มีการทำอย่างรวบรัด ไม่ถูกขั้นตอน และไม่มีการเปิดฟังความเห็นในวงกว้าง เชื่อว่าภายหลังจากนำเสนอข้อมูลแล้ว ทางรัฐมนตรีจะมีการหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกัน


 


ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรการทบทวนการออกประกาศฉบับนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้ง 2 ด้าน เพราะเกี่ยวข้องกับแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทย อีกทั้งยังกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการทำสารควบคุมแมลง และเมื่อกระบวนการออกประกาศ เห็นว่าควรมีการตรวจสอบตามหลักธรรมาภิบาล เพราะเป็นการประกาศบังคับใช้ทั้งที่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการเวียนหนังสือเพื่อลงมติ ที่เป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบตามหลักปกครอง ดังนั้นตนเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการออกประกาศทั้งหมด เพราะไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล และยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง


 


ขณะที่ นางทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายเกษตรกรรม จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบวิธีการกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศฉบับนี้ว่ามีความไม่ชอบพากลหรือไม่ เพราะสันนิษฐานว่าจะมีผลประโยชน์จากบริษัทผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาชี้แจงเหตุผลโดยระบุว่าเกิดผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ ควรจะมีหน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net