เร่งเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า สร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: รัฐบาลต้องเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ

 

เมธา มาสขาว

ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

13 ก.พ.52

ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา

 

ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอว่าควรมีการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมรดกนั้น นับเป็นนโยบายที่ดีหากรัฐบาลจริงใจที่จะปฏิรูประบบภาษีในประเทศไทยจริง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เพราะปัญหาระบบภาษีในประเทศไทยมีปัญหาความไม่เป็นธรรมยืดเยื้อยาวนานจนเป็นผลให้เกิดการคอร์รัปชั่น และความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมหาศาล จนมีรายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการการจายรายได้ หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก รองจากเม็กซิโก โคลัมเบีย อาเจนตินาและประเทศแถบละตินอเมริกา ขณะที่ชนชั้นนำในสังคมไทยผูกขาดความร่ำรวย กระทั่งว่าโภคทรัพย์ต่างๆ ในสังคมไทยที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นเอง เช่นที่ดิน อากาศ ความถี่และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ มากมาย

 

ผมเคยไปเดินทางไปเม็กซิโกและพบว่า พื้นฐานของความยากจนในประเทศติดอันดับต้นๆ ของโลกอย่างเม็กซิโกก็เป็นผลมาจากการผูกขาดทางอำนาจและเศรษฐกิจแบบผูกขาดของชนชั้นนำ และมหาเศรษฐีในประเทศแร้นแค้นนี้กลับขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับสองของโลกรองจากบิล เกตส์ คือ วอร์เรน บัพเฟตต์ ผู้ผูกขาดโครงสร้างเศรษฐกิจมูลฐานในเม็กซิโก กระทั่งความถี่ อินเตอร์เนต โทรศัพท์ โทรคมนาคม การเดินทาง และสายการบิน

 

ในประเทศไทยห็ใช่จะต่างกัน นอกชนชั้นนำทางสังคมไม่กี่ตระกูลแล้ว นักการเมืองใหญ่จากหลายพรรคก็ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล รวมถึงในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องแสดงความจริงใจในการสนับสนุนการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก รวมทั้งภาษีที่ดิน เพื่อให้เกิดการกระจายและปฏิรูปที่ดินด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการรับข้อเสนอของ "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)" ที่มาชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการแต่งตั้งคณะกรรมระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยมีนายกเป็นประธานให้เสร็จในสิ้นเดือนนี้ เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินหรือที่ดิน ในประเทศไทยล้วนถูกผูกขาดโดยนักการเมืองและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ด้วยการสบคบการออกกฎหมาย การใช้อำนาจมิชอบ การคอร์รัปชั่น การออกนโยบายเอื้อพวกพ้อง จนหยั่งรากฝังลึกเป็นระบอบอุปถัมป์นิยมในสังคมไทย จนโครงสร้างทางสังคมพิกลพิการและโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่มีความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีคนร่ำรวยจริงๆ แค่ 5% คนมีฐานะปานกลาง 15% ขณะที่อีก 80% เป็นคนยากจนที่ถูกเลือกปฏิบัติทางนโยบายมาโดยตลอดในการกระจายความมั่งคั่งและโภคทรัพย์ทางสังคม ไม่ว่าจากรัฐบาลใดในอดีต

 

ในงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในปี 2544 บอกว่า คนยากจนดักดานในประเทศไทยมีรายได้ 900 บาท/เดือน/คน มีอยู่ถึง 18% รายได้ 1,000 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 21.8% รายได้ 2,000 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 51.9% หรือครึ่งประเทศ ขณะที่รายได้เฉลี่ยคือ 3,407 บาท/เดือน/คน มีถึง 71.3% หรือค่อนแผ่นดิน (42 ล้านคน) ที่อยู่ใต้เส้นเฉลี่ยนี้ และชี้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาความยากจน เพราะระบบทุนนิยมไทยพิกลพิการ ผู้ใช้อำนาจรัฐปราศจากคุณธรรม ข้าราชการระดับสูงที่เห็นว่าการทุจริตคอรัปชั่น ระบบการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพปราศจากประสิทธิผล เป็นเหตุให้การแก้ปัญหาความยากจนล้มเหลว เป็นต้น (ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2544 หน้า 3) และจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย ถ้าเราไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ

 

…..

 

การเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกนั้น เนื่องเพราะเกี่ยวกับการผลิตที่อยู่บนดินด้วย มรดกจึงรวมที่ดินอยู่ด้วย นอกจากตึก แก้ว แหวน เงิน ทอง ทรัพย์สินต่างๆ ต้องทำความเข้าว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนถูกแย่งชิงไปด้วยระบบศักดินาและระบบเผด็จการมาอย่างยาวนาน ระบบศักดินาแย่งชิงด้วยการสร้าง concept ว่า ที่ดินของประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ ฮ่องเต้ ใครจะใช้ที่ดินต้องได้รับพระราชทาน ต่อมาให้เพิ่มซื้อ-ขายได้ ซึ่งเป็นความคิดในระบบศักดินา มาจนถึงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ในความจริง ที่ดินเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ใช่ของใครแต่เป็นของมนุษย์ ซึ่งพระเจ้าหรือธรรมชาติสร้างมา ไม่มีใครสร้างได้ ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงไม่ควรมีการครอบครองซื้อขายหรือการผูกขาดการยึดครอง รัฐควรกระจายให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ซึ่งเราต้องเปลี่ยนความคิดว่าเรามีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินสาธารณะหรือที่ดินแต่ไม่มีใครเป็นสิทธิเจ้าของที่ดิน ถ้าล้มล้างความคิดนี้ไม่ได้ การกระจายและการปฏิรูประบบภาษีที่ดินจะเกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกันที่เราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของอากาศ อวกาศ ดวงจันทร์ ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะไปปักธง มีสิทธิ์ใช้ดวงจันทร์ได้เท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ มีสิทธิ์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแต่ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ หมายถึงคลื่นโทรคมนาคมด้วย

 

ประเทศไทยปัจจุบันมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ เป็นป่าสัก 25% ก็เหลือ 240 ล้านไร่ หากเฉลี่ยก็คนละ 4 ไร่ เท่านั้นแต่ปรากฎว่า คนไม่กี่ตระกูลมีสิทธ์ที่ดินนับล้านไร่ แต่คนสลัมไม่มีที่สร้างบ้าน แค่เฉลี่ยที่คนละ 4 ไร่ กลับถูกแย่งชิงโดยกฎหมายและผู้มีอำนาจ เรื่องนี้จึงเชื่อมโยงกับการต้องทำให้ที่ดินออกจากกลไกลการตลาดเพราะเป็นการผิดพลาดของระบบทุนนิยมเสรีที่เอาที่ดินไปอยู่กลไกลการตลาด คือซื้อ-ขายได้ ทั้งที่ของที่ซื้อขายได้ควรเป็นของที่เราประดิษฐ์ขึ้นด้วนสติปัญญามนุษย์เท่านั้น แต่สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นไม่ควรซื้อ-ขายได้ ซึ่งทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ ในปัจจุบัน

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้นักการเมืองและชนชั้นนำทางสังคม เสียสละที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการผูกขาดทางสังคมมาอย่างยาวนาน หากทำทำบัญชีที่ดินก็จะพบว่ามีไม่กี่ตระกูลที่มีที่ดินเยอะมากมาย และหลายพื้นที่มีจนลืมและกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ดังกรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายที่ดินบุกยึดนำมาใช้ประโยชน์ที่จังหวัดลำพูน ในยุคของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน อาจจะคนละไม่เกิน 50 ไร่ เหมือนยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มีการยกเลิกไป

 

…..

 

ประเทศไทยเดินตามนโยบายทุนนิยมเสรีมาโดยตลอด ดังที่เคยขึ้นต่อธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมันเป็นเศรษฐศาสตร์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเสรีภาพ การสร้างมูลค่ากำไรโดยไม่สนใจการกดขี่ขูดรีดแรงงานและความไม่เป็นธรรมทางสังคม เศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจึงเน้นการลดภาษี ลดความการรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องจ่ายมูลค่าเพิ่มต่างๆ ออกไปจากการกอบโกยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะต้องทบทวนมากขึ้น ดังที่ประเทศในแถบยุโรปพัฒนาเรื่องเหล่านี้ไปไกลกว่าเรามากแล้ว หากรัฐบาลไม่ทบทวนทิศทางเศรษฐกิจกระแสหลักก็จะไปไม่พ้นหลักแห่งโคลนตรมและปัญหาดังที่เราพบเจอสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้แน่นอน

 

คนเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างนายกรัฐมนตรี ย่อมเข้าใจแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมเสรีว่า หากเปรียบเป็นเรือทุนนิยม แนวคิดหลักมันเสนอทางรอดและกำไรของคนบนเรือเท่านั้น พูดถึงการดำรงอยู่และการอยู่รอดของคนบนเรือเท่านั้น ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางสังคม แต่ไม่ได้พูดถึงคนในใต้ท้องเรือ ซึ่งเป็นกรรมกร ผู้ใช้แรงงานผู้ซึ่งคอยเติมเชื้อฟืนให้เรือทุนนิยมลอยล่องต่อไปได้ในนาวาที่ไม่มีหลักประกัน

 

รัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปตย์ จะต้องสร้างความต่างจากยุครัฐบาลนายทุนผูกขาด จะต้องก้าวผ่านจากพรรคอนุรักษ์นิยมในอดีต ซึ่งเคยเป็นพรรคที่เสนอสังคมนิยมอ่อนๆ ในช่วงปี 2517 แต่ในปัจจุบัน การสร้างความต่างจากประชานิยมจอมปลอมก็คือ ต้องผลักดันสังคมและการเมืองไปจากความขัดแย้ง ด้วยนโยบายสังคม-ประชาธิปไตย (Social-Democracy) แก่ๆ เพราะถ้าไม่ไปไกลแบบสังคม-ประชาธิปไตยแบบยุโรปและแสกนดิเนเวียแล้ว ก็จะวนเวียนอยู่กับประชานิยมจอมปลอมที่ย่ำวนอยู่กับวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม-การเมือง โดยไม่มีทางออก เพราะกระทั่งวันนี้ สหรัฐอเมริกาก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ "โอบาม่า"

 

…..

 

ซึ่งนโยบายที่สำคัญคือ เก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ซึ่งมากกว่า 53 ประเทศทั่วโลกใช้กฎหมายนี้ในการลดทอนความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็มีการเก็บ ซึ่งในช่วง 7-8 ปีก่อนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาต้องการจะเลิกเก็บภาษีนี้ โดยใช้วิธีค่อยๆลดอัตราลงจนเลิกในที่สุดในปี ค..2011 แต่ผู้มีฐานะในอเมริกาหลายคนกลับไม่เห็นด้วยในการยกเลิก แม้กระทั่ง "จอร์จ โซรอส" เพราะพวกเขาเห็นว่าพวกเขามีทรัพย์สินสามารถเสียภาษีมรดกได้ และรายได้ส่วนใหญ่ที่พวกเขาหามาได้นั้นมาจากประชาชน 200 กว่าล้านคน ถ้าประเทศไทยก็ได้จากประชากร 60 กว่าล้านคน เมื่อมีมรดกมากก็ควรเสียภาษีให้กับแผ่นดิน แม้โดยธรรมดาผู้ลงทุนต้องเสียภาษีให้รัฐซึ่งคุ้มครองในนามนิติบุคคลอยู่แล้วในรูปบริษัทและภาษีรายได้ แต่ก็ไม่ได้รวมถึงค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหรือทางสังคมอื่นๆ ซึ่งธุรกิจสร้างรายได้ขึ้นมาจากสังคม และความร่ำรวยไม่ได้รวยมาจากสูญญากาศ การลงทุนเป็นนิติบุคคลกระทั่งการรับสัมปทานก็ล้วนมาจากการเป็นหุ้นส่วนและการรับรองฐานะจากรัฐ ให้ธุรกิจนั้นสามารถสร้างกำไร ดำรงอยู่และปลอดภัย ดังนั้นควรคืนกำไรให้สังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งการเก็บภาษีมรดกก็คือการเก็บผลิตผลส่วนเกินที่ปลายทางเพื่อคืนให้แก่รัฐนั้นเอง และจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนด้วยเพราะลูกหลานไม่เอาแต่รอเพียงมรดกอีกต่อไป แต่ขณะนี้รัฐก็เก็บภาษีทางตรงแค่ 30% เป็นภาษีทางอ้อมที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระในรูปของสินค้าอุปโภคบริโภคถึง 70% ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางภาษีนี้ โดยเฉพาะการร่ำรวยจากการสัมปทานกิจการของรัฐ จนเกิดการผูกขาดด้วยเช่นกัน

 

ประเทศไทยเคยเก็บภาษีนี้เมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ยกเลิกไปเมื่อใช้ไม่ถึง 10 ปี เพราะแรงต้านทานจากเจ้าที่ดินต่างๆ ภาษีมรดกนั้น แม้จะเก็บได้น้อยแต่มันไม่ได้เน้นรายได้ แต่เป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรมทางสังคม

 

 


ภาษีมรดก

ภาษีมรดกเป็นภาษีเก่าแก่ประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดเก็บมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยจัดเก็บมรดกจากกองทรัพย์มรดกของตาย และถึงแม้จะนำเงินรายได้มาสู่รัฐเป็นจำนวนน้อยก็ตามแต่ก็เป็นที่นิยมจัดเก็บโดยทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเป็นภาษีที่ยุติธรรมเนื่องจากจัดเก็บเป็นไปตามหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay)และไม่กระทบกระเทือนประชาชนส่วนใหญ่เพราะเก็บจากกองมรดกหรือการรับมรดกเมื่อมีการตายเกิดขึ้น

           

ภาษีมรดกโดยทั่วไปในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Death Taxes เป็นภาษีส่วนบุคคลที่เก็บจากทรัพย์สิน (Personal tax on property) หรือเป็นการเก็บจากบุคคลที่ได้รับมรดกหรือทายาทโดยคิดคำนวณจากกองทรัพย์มรดกทั้งหมดหรือส่วนแบ่งทั้งหมดของกองมรดกที่ตกทอดจากผู้ตายไปยังผู้รับมรดก หรือทายาท

 

ภาษีมรดกที่จัดเก็บอยู่ในประเทศต่างๆ จำแนกได้เป็น

1.ภาษีมรดก (Estate Tax) หมายถึง ภาษีที่เก็บจากกองมรดกของผู้ตาย โดยเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายจะถูกเรียกเก็บภาษีก่อน ที่เหลือจากการเก็บภาษีจึงจะตกเป็นของทายาทผู้ตาย ภาษีจะเก็บมูลค่าทั้งหมดของผู้ตาย โดยไม่คำนึงถึงจำนวนทายาทผู้รับมรดกและความสัมพันธ์ระหว่างทายาท ผู้รับมรดกกับผู้ตาย ถ้าผู้ตายไม่มีมรดกก็ไม่ต้องเสียภาษี         

 

2.ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) หมายถึง ภาษีที่เก็บจากทายาทของผู้รับแต่ละคน โดยทายาทผู้รับต้องเสียภาษีตามจำนวนหรือมูลค่าของทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ ทั้งนี้อัตราภาษีขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างทายาทผู้รับมรดกกับผู้ตาย ทายาทที่เป็นญาติสนิทของผู้ตายจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าทายาทที่เป็นญาติห่างออกไป และเป็นภาษีเท่ากันในอัตราก้าวหน้าตามจำนวนมูลค่าทรัพย์มรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับโดยมิได้ขึ้นอยู่กับขนาด หรือมูลค่าของกองมรดกแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ดี ภาษีมรดกนี้มักจะเก็บควบคู่กับภาษีการให้ (Gift Tax) โดยระบบภาษีทั้ง 2 นี้มักเป็นของคู่กัน การออกกฎหมายภาษีมรดกแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ออกกฎหมายภาษีการให้ประกอบด้วย หรือการออกกฎหมายภาษีการให้แต่อย่างเดียว โดยไม่ออกกฎหมายภาษีมรดกด้วย ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ภาษีที่ออกบังคับเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นจะไม่สามารถบังคับใช้อย่างมีผลได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้เสียภาษีย่อมจะหลีกเลี่ยงภาษรีมรดกได้ โดยการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทก่อนที่ตยนจะเสียชีวิตในทำนองเดียวกันหากมีภาษีการให้เพียงอย่างเดียวผู้เสียภาษีก็อาจหลีกเลี่ยงได้โดยรอไว้จนเสียชีวิตจึงมอบให้(เป็นภาษีมรดก)

 

ภาษีการให้นั้นนอกจากจะมีวัตถุประสงค์สำคัญในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ด้วย การป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้โดยการจัดเก็บภาษีการให้จะเป็นการป้องกันการโอนทรัพย์สินไปให้กับบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือบุคคลที่เป็นเครือญาติกันเพื่อกระจายรายได้จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราสูง

 

ภาษีการให้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ภาษีการให้ที่เก็บจากผู้ให้ (Donor's Tax) กับภาษีการให้ที่เก็บจากผู้รับ (Doneer's Tax )ภาษีการให้ที่เก็บจากผู้ให้มักใช้ควบคู่กับภาษีการให้ที่เก็บจากผู้รับ (Donee's Tax) ภาษีการให้ที่เก็บจากผู้ให้มักใช้ควบคู่กับภาษีกองมรดก ส่วนภาษีการให้ที่เก็บจากผู้รับมักใช้ควบคู่กับภาษีการรับมรดก

 

หลักการในการจัดเก็บภาษีกองมรดก (Estate Tax)

หลักการทั่วๆ ไปที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีกองมรดกที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้ในการปฎิบัติจัดเก็บ พอสรุปหลักเกณฑ์ได้ดังนี้

 

1.ผู้เสียภาษี (Tax payers)

ตามหลักการผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้ตายหรือผู้ที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งผู้มีหน้าที่ยื่นแบบฯและชำระภาษีคือ ผู้จัดการกองมรดก ทายาท ผู้ครอบครองมรดกให้มีหน้าที่ยื่นแบบฯและเสียภาษีในนามของผู้ตาย ประเภทของผู้เสียภาษีหรือผู้ตาย อาจจำแนกได้โดยอาศัยหลักดังนี้

 

(1)   หลักภูมิลำเนา

(2)   หลักสัญชาติหรือหลักความเป็นพลเมือง

(3)   หลักถิ่นที่อยู่

 

2.ฐานภาษี

ฐานของภาษีกองมรดกเดิม คือ กองมรดกรวม (Gross Estate) ของผู้ตาย สำหรับประเทศที่ใช้หลักภูมิลำเนา กองมรดกรวมแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีคือ

 

(1) สำหรับผู้ตายที่มีภูมิลำเนาอยู่ภายในประเทศ กองมรดกรวม หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายในประเทศ สังหาริมทรัพย์ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อยู่ในและนอกประเทศ ทรัพย์สินของผู้ตายที่โอนให้ผู้อื่นก่อนตายภายใน 3 ปี เงินประกันชีวิต ทรัพย์สินของผู้ตายที่ยกให้บุคคลอื่นเมื่อคาดว่าตนจะตาย สิทธิเรียกร้องที่เป็นมูลหนี้หรือประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับและทรัพย์สินของผู้ตายที่ยกให้ผู้อื่นก่อนตาย

 

(2) สำหรับผู้ตายที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ภายในประเทศ กองมรดกรวม หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องจากบุคคลหรือนิติบุคลที่มีภูมิลำเนาหรือสาขาในประเทศ สัญญาทรัพย์สินที่ทำการจ่ายโอนในประเทศ ไม่มีการจัดเก็บอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศไม่ว่าผู้ตายจะมีภูมิลำเนาอยู่ในหรือนอกประเทศ

 

3.ข้อยกเว้น

กฎหมายมักกำหนดให้มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพย์สินบางประเภท ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นกองมรดก ได้แก่

 

(1) ทรัพย์สินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน

(2) มูลค่าต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินผู้ตาย

(3) ทรัพย์สินที่ผู้ตายครอบครองในฐานะผู้พิทักษ์

(4) เงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจ่ายให้ทารกในจำนวนที่เหมาะสมและสมควร

(5) มูลค่าของศิลปวัตถุ ซึ่งมอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์สถานของส่วนราชการ

(6) หนังสือหรือต้นฉบับหรือผลงานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมอบให้สถาบันทางการศึกษาเพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์

 

4.อัตราภาษี

เมื่อนำกองมรดกรวมหักหนี้และภาระผูกพัน ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ก็จะคำนวณภาษีมรดกที่จะต้องเสียตามอัตราที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนมากประเทศต่างๆจะกำหนดอัตราภเษีกองมรดกเป็นแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)

 

หลักการจัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)

1.ผู้เสียภาษี

ได้แก่ ทายาทหรือผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่มีมรดกอยู่ในประเทศ

 

2.ฐานภาษี

ได้แก่ ราคาภาษีของทรัพย์สินมรดก รวมทั้งทรัพย์สินที่ได้รับภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนเจ้าของมรดกตาย โดยนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้แก่หนี้สิน ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ และค่าลดหย่อนตามกำหนด

 

3.ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่

(1) ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับศาสนา กุศลสาธารณะ

(2) เงินที่ได้รับจากการประกันชีวิต

(3) เงินบำเหน็จบำนาญ

(4) ศิลปวัตถุที่มอบให้รัฐ

(5) เงินบริจาคให้ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา

 

4.อัตราภาษี

เป็นอัตราก้าวหน้า ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับผู้ตาย โดยผู้รับมรดกที่เป็นญาติสนิทกับผู้ตายมักถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าผู้รับมรดกที่เป็นญษติห่างออกไป

 

ผลดีของการจัดเก็บภาษีมรดก

(1) ช่วยให้ประชาชนในสังคมมีโอกาสทางเศรษฐกิจเสมอภาคและลดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

(2) เป็นภาษีทางตรง ผู้เสียภาษีจะผลักภาษีไม่ได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน

(3) ทำให้เกิดการกระจายความมั่งคั่ง โดยกระจายทรัพย์สินให้แก่ญาติพี่น้องหรือสาธารณะกุศล ซึ่งเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนร่ำรวยกับผู้มีรายได้น้อย

(4) เป็นเหตุจูงใจให้เจ้าของมรดกทำงานหรือขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมเงินไว้ให้ทายาทเสียภาษีมรดก

(5) เป็นเหตุจูงใจให้ผู้รับมรดกมีความรู้สึกว่าต้องพึ่งตนเองในการทำงานหรือลงทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่มุ่งมรดกอย่างเดียว เนื่องจากต้องเสียภาษีมรดก

           

 

ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ จัดเก็บภาษีมรดกในรูปแบบต่างๆ กันจำนวนมากกว่า 53 ประเทศ ทั่วโลก จำแนกเป็น

- ทวีปเอเชีย 7 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และ นิวซีแลนด์

- ทวีปแอฟริกา 7 ประเทศ ประกอบด้วย แคเมอรูน คองโก โมร็อกโก โมซัมบิก เซเนกัล แอฟระกาใต้ และ แทนซาเนีย

- ทวีปยุโรป 28 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่ม EU ทั้งหมด ยุโรปตะวันออกซี่งอยู่ในสนธิสัญญาวอร์ซอเดิม โดยสรุปแล้วเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรปมีการจักเก็บภาษีมรดก

- ทวีปอเมริกา 11 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย โดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก โปโตริโก และ เวเนซุเอลา

 

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศข้างต้น จำแนกเป็น

(1) การจัดเก็บในรูปภาษีกองมรดก (Estate Tax) และภาษีการให้ที่เก็บจากผู้ให้ (Donor"s Tax) จำนวน 13 ประเทศ

(2) การจัดเก็บในรูปภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) และภาษีการให้ที่เก็บจากผู้รับ (Doneer"s Tax) จำนวน 36 ประเทศ

 

(3) การจัดเก็บภาษีมรดกในรูปแบบเดียว เช่น

-       ภาษีการให้ (Gift Tax) 2 ประเทศ

-       ภาษีกองมรดก (Estate Tax) 2 ประเทศ

 

ตัวอย่างการจัดเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศ มีดังนี้

 

1. สหรัฐอเมริกา

 

ระบบการเก็บภาษีมรดกในประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจำแนกออกเป็น 3 ระดับ คือ

 

(1)   ระดับรัฐบาลกลาง จัดเก็บภาษีกองมรดก โดยเก็บจากทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เป็นของกองมรดก

(2)   ระดับรัฐบาลมลรัฐ จัดเก็บภาษีกองมรดก เก็บคล้ายคลึงกันทุกรัฐ ส่วนมากเก็บจากทรัพย์สินของผู้ตาย

(3)   ระดับท้องถิ่น จัดเก็บภาษีการรับมรดก เก็บแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละรัฐ

 

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบฯ และชำระภาษี คือ ผู้รับมรดกหรือผู้ได้รับทรัพย์จากพินัยกรรม โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับการยื่นแบบฯเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้มีการหักค่าลดหย่อนได้ เช่น คนโสด ส่วนอัตราภาษีคิดตามราคาทรัพย์สินอย่างต่ำร้อยละ 3 ถึงสูงสุดร้อยละ 77

 

2. อังกฤษ

 

จัดเก็บภาษีกองมรดก จากทรัพย์ที่ตกทอดมาเนื่องจากเจ้าของทรัพย์ถึงแก่ความตาย วิธีการเก็บเรียกเก็บแบบอัตราภาษีก้าวหน้าตามมูลค่าของทรัพย์สินนั้น มีตั้งแต่ร้อยละ 1 - 80 มรดกที่ต้องเสียภาษี คือ

 

(1)   ทรัพย์สินทั้งหมดภายในประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ และไม่คำนึงว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับ

(2)   ทรัพย์สินที่อยู่นอกประเทศอังกฤษ และทรัพย์สินนั้นตกทอดมายังผู้รังซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษ

 

การตีราคามูลค่าของทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีให้ถือเอาวันขายในวันที่เจ้าของเดิมถึงแก่ความตายเป็นเกณฑ์ ในทางปฏิบัติ ให้ถือราคาของทรัพย์สินที่ขายในครั้งหลังสุด เป็นราคาที่ถูกต้อง

 

การหักค่าใช้จ่าย

(1)   ค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพ

(2)   หนี้สิน

(3)   ถ้าทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศก็ให้หักค่าจัดการร้อยละ 5

(4)   เครดิตภาษีต่างประเทศ

 

การยกเว้นและการลดหย่อน

(1)   ทรัพย์สินที่เป็นมรดกมีมูลค่าไม่ถึงตามจำนวนที่กำหนดไว้

(2)   ที่ดินและโรงเรือนซึ่งใช้ในทางอุตสาหกรรม พืช เครื่องจักร เครื่องมือ และทรัพย์สินในทางเกษตรกรรม ให้หักลดหย่อนได้ร้อยละ 45

(3)   ทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจการค้าและที่ดินซึ่งเสียภาษีมรดกติดๆ กัน 2 ครั้งเพราะเจ้าของมรดกถึงแก่กรรมถึง 2 ราย ติดๆกันในระยะเวลา 5 ปี ได้รับการลดหย่อนพิเศษ

(4)   มรดกที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทางศิลปะของชาติได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเก็บไว้ในประเทศอังกฤษและอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง

(5)   หลักทรัพย์ของประเทศอังกฤษบางประเภท ซึ่งผู้ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในอังกฤษเป็นเจ้าของ ก็ได้รับการยกเว้น

 

3. ญี่ปุ่น

 

เริ่มจัดเก็บภาษีมรดกปี 2485 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) โดยมีโครงสร้างการจัดเก็บดังนี้

 

(1)   ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่ได้รับมรดกซึ่งอาศัยในญี่ปุ่นหรืออยู่ในต่างประเทศ แต่ได้รับมรดกซึ่งอยู่ในญี่ปุ่น

(2)   ฐานภาษี ได้แก่ ราคาตลาดของทรัพย์สินมรดก รวมทั้งทรัพย์สินที่ได้รับภายใน 3 ปี ก่อนเจ้ามรดกตาย โดยนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้แก่ หนี้สิน ค้าใช้จ่ายในการจัดงานศพ และค่าลดหย่อนตามกำหนด

(3)   ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมรดก มีดังนี้

-       ทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับศาสนา การกุศล วิทยาศาสตร์ หรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

-       เงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนพิการ

-       เงินที่ได้รับจากการประกันชีวิต

-       เงินบำเหน็จบำนาญ

(4)   อัตราภาษี เป็นอัตราก้าวหน้าตามมูลค่ามรดกที่ได้รับอัตราตั้งแต่ 10% ถึง 70%

(5)   การยื่นแบบฯ และการชำระภาษี ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมรดกยื่นแบบแสดงรายการภายใน 6 เดือน นับแต่วันได้รับมรดก ส่วนการชำระภาษีให้ชำระในวันที่ยื่นแบบ

 

4. ฝรั่งเศส

 

จัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)

 

(1)   ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้รับมรดกซึ่งได้รับมรดกจากผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสหรือไม่มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสแต่มีมรดกในฝรั่งเศส

(2)   ฐานภาษี ได้แก่ มรดกสุทธิโดยนำทรัพย์สินมรดกหักด้วยหนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายรวมทั้งลดหย่อนสำหรับคู่สมรส บุตร บุพการี ผู้อื่น

(3)   ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่

- เงินค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันชีวิต

- ทรัพย์สินท้องถิ่นที่ให้เช่าระยะยาวและส่วนแบ่งที่ดินเพื่อการเกษตร

- ศิลปวัตถุ ที่มอบให้กับรัฐบาล

- เงินบำนาญ

- เงินบริจาคให้ราชการ องค์การปกครองท้องถิ่น สถาบันการศึกษา

(4) อัตราภาษี ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับผู้ตาย ดังนี้

- ถ้าเป็นคู่สมรส บุพการี บุตร จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 5 - 40%

- ถ้าเป็นพี่น้อง เสียภาษีในอัตรา 35% และอัตรา 45% ตามขั้นของมูลค่าทรัพย์มรดก

- ผู้รับเป็นญาติสนิท จะเสียภาษีในอัตรา 55%

- ผู้รับเป็นผู้อื่น เสียภาษีในอัตรา 60%

 

5. ประเทศสิงคโปร์

 

จัดเก็บภาษีการรับมรดก(Inheritance Tax)

(1)   ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้รับมรดกที่อาศัยในสิงคโปร์ หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่รับมรดกที่อยู่สิงคโปร์

(2)   ฐานภาษี ได้แก่ ราคาตลาดของทรัพย์สินไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศกรณีผู้ตายอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ ถ้าอยู่ต่างประเทศจะเป็นเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในสิงคโปร์

(3)   อัตราภาษี อัตราร้อยละ 5 สำหรับทรัพย์สินที่เป็นฐานภาษีที่ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ถ้าเกินกว่านี้จะเป็นอัตราร้อยละ 10

(4)   ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีดังนี้

- มูลค่าของที่อยู่อาศัยส่วนที่มีเกินกำหนด (3 ล้านเหรียญสิงคโปร์)

- มูลค่าของทรัพย์สินไม่เกินกำหนด (5 แสนเหรียญสิงคโปร์)

- เงินบำนาญ

 

อัตราก้าวหน้าคืออะไร?

ยกตัวอย่างว่า เช่น มีมรดก ต่ำกว่า 10 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี

10 ล้าน - 100 ล้าน เสียภาษี 5%

100 ล้าน - 500 ล้าน เสียภาษี 10%

500 ล้าน - 1,000 ล้าน เสียภาษี 20%

1,000 ล้าน - 5,000 ล้าน เสียภาษี 30%

5,000 ล้าน - 10,000 ล้าน เสียภาษี 40%

10,000 ล้าน - 20,000 ล้าน เสียภาษี 50%

20,000 ล้านขึ้นไป เสียภาษี 60% ขึ้นไปเป็นต้น

 

ทั้งนี้ การเก็บภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้าแบบนี้ แน่นอน คนจนไม่เดือดร้อนเพราะหากไม่มีความสามารถจ่ายก็จะไม่เก็บ และความจริงคนรวยก็ไม่เดือดร้อนเพราะแค่ได้รับมรดกน้อยลงเท่านั้นเอง

 

อย่าลืมว่า การเก็บภาษีทรัพย์สินจะเป็นการเก็บในทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นทรัพย์สินที่หามาได้ ที่ได้ และจะเก็บจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะเก็บในขณะที่มีชีวิต ข้อแตกต่างที่สำคัญของภาษีมรดก คือ เป็นภาษีที่มีการเก็บหลังจากมีการตายเกิดขึ้น จะเก็บจากกองมรดกก่อนที่จะแบ่ง หรือจะเก็บหลังจากที่แบ่งกองมรดกไปแล้ว แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ความสำคัญของภาษีมรดก คือ มาจากเงื่อนไขของการตายเป็นสำคัญ แต่ภาษีทรัพย์สินนั้นเก็บระหว่างมีชีวิต

 

ต้องยอมรับว่าแนวความคิดของการเก็บภาษีมรดกมีมานานแล้ว ประเทศไทยเคยมีความคิดนี้เป็นแนวความคิดในเรื่องการเก็บภาษีมรดกอยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ หรือที่เรียกกันว่าเค้าโครงในสมุดปกเหลือง แต่ความจริงแล้วการเก็บภาษีมรดกประเทศไทยมีการเก็บมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อคนเราตาย จะแบ่งมรดกออกเป็นหลายภาคด้วยกัน ภาคหนึ่งถือว่าเป็นภาคของหลวง ให้เหตุผลที่มีความก้าวหน้ามาก คือ มรดกในส่วนนั้นตกทอดเป็นทายาทมีจำนวนเกินพอแล้ว ซึ่งภาษีมรดกจะเก็บในจุดหนึ่งที่พอแล้ว และเกินความพอ แนวความคิดนี้ถูกใช้มาจนถึงสมัยปรีดี พนมยงค์ แต่ไม่สามารถที่จะออกกฎหมายภาษีมรดกได้ โดยมาออกเป็นภาษีมรดกในสมัยรัฐบาลพหลพลพยุหเสนา

 

โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ เรียกชื่อเต็มว่า "อากรมรดกและการรับมรดก พ..2476" เป็นการเก็บภาษีมรดกทั้งจากกองมรดก เมื่อตายแล้วกองมรดกจะเป็นผู้รับภาระในการเสียภาษีมรดก และระบบหลังจากการแบ่งให้ทายาทแล้ว ภาระเช่นนี้จะไม่ทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยเดือดร้อนแต่ประการใด เพราะภาษีมรดกเป็นระบบการเก็บภาษีโดยทางตรง ต่างจากเก็บภาษีโดยทางอ้อม ซึ่งทุกคนต้องเสียไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงและจะหนีภาระในการเสียภาษีทางอ้อมได้เลย แต่ภาษีมรดกนั้นคนจนจะไม่รับภาระ เพราะภาษีมรดกเป็นภาษีที่มีจุดประสงค์ในการลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้าในสังคม ภาษีมรดกจะเก็บจากกองมรดกที่มีมากจนเหลือล้นเกินขนาด เช่น ปี พ..2476 มรดกต้องเกิน 10,000 บาท ขึ้นไป เช่น 10,000 - 50,000 บาท เก็บ 1% เกิน 50,000 บาทขึ้นไป ถึง 100,000 บาทเก็บ 4 % เป็นต้น อัตราจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเรียกว่าระบบ ภาษีอัตราก้าวหน้า

 

สุดท้ายนี้ ขอยกอ้างจากอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต อดีตสมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์เองและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าเราต้องสร้างจิตสำนึกในการเสียภาษี ซึ่งมีต้นแบบที่ชัดเจนคือ สำเนาร่างหัตถเลขา ที่ 3/49 ขององค์สยามมินทร์ วันที่ 15 เมษายน ร.. 131 องค์สยามมินทร์มีสำเนาถึงเจ้าพระยายมราช มีดังนี้

 

"ด้วยแต่ก่อนมาการเก็บภาษีที่ดินและโรงร้าง กรมพระคลังข้างที่ ยังไม่ได้เสียภาษีให้กับเจ้าพระยาสรรพากรเลย บัดนี้ ฉันมาตรองดูทรัพย์สมบัติที่เป็นส่วนตัวก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นเหตุอะไรที่ฉันต้องเอาเปรียบคนทั่วไป ซึ่งมันไม่สมควรเลย ของคนอื่นไปเก็บเอาจากเขา ของตัวเองกับเก็บเอาไว้ ใครที่มีทรัพย์สมบัติ เป็นที่ดินหรือโรงร้าง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษี เขาก็ต้องเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงาน ตามส่วนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่เขามีอยู่ ตัวฉันเองก็ถือเป็นคนธรรมดา ทรัพย์สมบัติก็มีอยู่มากถ้า Gov. ต้องเห็นแก่คนส่วนมาก ที่ได้จากสมบัติจากคนส่วนมาก ฉันมีความยินดีเต็มใจเฉลี่ยทรัพย์สมบัติให้กับชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่บัดนี้ให้เจ้าพระยายมราชเก็บภาษีอากรที่เป็นที่ดินและและโรงร้านของฉันได้ ที่ได้กระทำเก็บจากคนอื่นด้วยเช่นคนทั่วไป" ลงชื่อสยามมินทร์

 

ภายหลังที่เราได้ยกเลิกกฎหมายการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้ามาตั้งแต่ปี 2587 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น กระทั่งวันนี้ซึ่งสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล ที่ดินกระจุก ความจนกระจายจนกระทั่งมาถึงความขัดแย้งในเวลานี้ ซึ่งเป็นวิกฤติที่ทับซ้อนและสัมพันธ์กัน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง อันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่สั่งสมยาวนาน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สมควรเร่งให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า แล้วหรือยัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท