Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ออกแถลงการณ์ขอให้เคารพและหยุดคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกติกาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่อย่างเคร่งครัด ตามที่รับรองไว้ใน มาตรา 82 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญปี 2550


 


โดยแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.52 เวลาประมาณ 05:00 มีการบุกค้นสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดยพันโทประเวศ สุทธิประภา นำเจ้าหน้าที่สนธิกำลังตำรวจ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ประมาณ 20 นาย ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าตรวจค้นสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จ.ปัตตานี โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสาร และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน


 


ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการรายงานข่าวอ้างถึงแหล่งข่าวจากการประชุม กอ.รมน.ภาค 4 ในการประชุมสภาสันติสุขที่ว่ามีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน เพื่อยุยงให้ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐในรายงานยังกล่าวถึงกิจกรรมการที่นักสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัว ซึ่งการกล่าวอ้างที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการลดความน่าเชื่อถือในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่


 


แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เหตุการณ์ทีเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้แถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลัก การเมืองนำการทหาร แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจทำให้ภาคประชาสังคมมองว่ารัฐบาลพยายามคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยของนักสิทธิมนุษยชน แต่ยังมีความหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่นักสิทธิมนุษยชนโดนคุกคาม


 


"ท้ายนี้สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั้น รัฐจะต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเสรีและปลอดภัยจากการถูกต้องสงสัยว่าเป็นโจรหรือถูกคุกคามในทุกรูปแบบจากเจ้าหน้าที่รัฐ" แถลงการณ์ระบุ


  


 


 


 


แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)


ขอให้เคารพและหยุดคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน


 


สืบเนื่องการบุกค้นสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลาประมาณ 05:00 น.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังตำรวจ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ประมาณ 20 นาย นำโดย พันโทประเวศ สุทธิประภา ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จังหวัดปัตตานี ในการตรวจค้นในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสาร และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นภายหลังการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 อ้างถึงแหล่งข่าวจากการประชุม กอ.รมน. ภาค 4 ในการประชุมสภาสันติสุข รายงานว่ามีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน เพื่อยุยงให้ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐในรายงานยังกล่าวถึงกิจกรรมการที่นักสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัว การกล่าวอ้างที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการลดความน่าเชื่อถือในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่


 


เหตุการณ์ทีเกิดขึ้นย่อมแสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทีได้แถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลัก การเมืองนำการทหาร กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ การคุกคามนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีการคุกคามนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อม ตรวจค้นบ้านพัก และซ้อมทรมานนักศึกษาในพื้นที่ให้รับสารภาพว่าเป็นโจร สิ่งเหล่านี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ปัญหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงสู่แนวทางที่ดีขึ้น ยังมีการแก้ปัญหาโดยใช้ การทหารนำการเมือง อยู่เหมือนเดิม เหตุการณ์ในครั้งนี้อาจทำให้ภาคประชาสังคมมองว่ารัฐบาลพยายามคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยของนักสิทธิมนุษยชน หากการแก้ปัญหาความไม่สงบในวันนี้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้ มิเพียงสันติภาพที่ยากจะเกิดขึ้น มิหนำซ้ำรัฐบาลเสียเองเป็นผู้ราดน้ำมันลงบนกองไฟของไฟใต้ที่กำลังลุกโชน


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนครั้งนี้คงจะเป็นครั้งสุดท้ายที่นักสิทธิมนุษยชนโดนคุกคาม การแก้ปัญหาจะต้องเคารพบทบาทหน้าที่การทำงานของนักสิทธิมนุษยชนและต้องปฏิบัติตามกติกาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่อย่างเคร่งครัด ดังที่รับรองไว้ใน มาตรา 82 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550


 


ท้ายนี้สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั้น รัฐจะต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเสรีและปลอดภัยจากการถูกต้องสงสัยว่าเป็นโจรหรือถูกคุกคามในทุกรูปแบบจากเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ด้วยจิตรักสันติ


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)


 


12 กุมภาพันธ์ 2552


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net