กรณีนักศึกษาแม่โจ้ กับภาพลักษณ์ชาวไทใหญ่ในสายตาคนไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

อัมพร จิรัฐติกร

 

การเรียกคนงานไทใหญ่ที่ข่มขืนและฆ่านักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่าเป็นชาวพม่า หรือว่าเป็น "ชาวพม่า สัญชาติไทยใหญ่" ที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ของไทยนั้น มีนัยยะยอกย้อนสองสามประการที่ผู้เขียนอยากหยิบยกมาพูดถึง เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อแรงงานอพยพในประเทศไทย

 

ก่อนที่จะขยายความถึงความยอกย้อนดังกล่าว ขอเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงที่ผู้เขียนได้เข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก อยู่นานร่วมสองปีที่ จ.เชียงใหม่ และได้มีโอกาสสัมภาษณ์แรงงานอพยพชาวไทใหญ่ที่เข้ามาหางานทำในเมืองไทย แต่กลับต้องมาติดคุกอยู่ในเมืองไทย ด้วยข้อหาลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งเรื่องนี้จะโยงไปถึงสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงต้องเลือกทางเดินเช่นนี้ และจบลงด้วยการใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในคุกเมืองไทย

 

จากสถิติในปี พ.ศ.2548 มีแรงงานอพยพชนกลุ่มน้อยชาวไทใหญ่จากประเทศพม่า ต้องโทษที่เรือนจำชาย จ.เชียงใหม่ถึง 300 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3,000 คน ส่วนใหญ่ด้วยข้อหาขนยาเสพติด ยาเสพติดที่ว่านั้นก็คือยาบ้านั่นเอง ผู้เขียนได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเรือนจำชาย จ.เชียงใหม่ ให้ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ชาวไทใหญ่ที่ต้องโทษทั้งสิ้นจำนวน 12 คน (ส่วนใหญ่เป็นคนที่ผู้เขียนเคยติดต่อด้วยมาก่อนทางจดหมาย ผ่านรายการวิทยุชุมชนเสียงภาษาไทใหญ่) คนเหล่านี้ต้องโทษระหว่าง 10 - 25 ปี ความที่ยาบ้า ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อเยาวชนชาวไทย ยาบ้าเพียง 500 เม็ดก็ทำคนบางคนต้องติดคุกถึง 11 ปี ส่วนคนที่ต้องโทษ 25 ปีนั้น ส่วนใหญ่ต้องโทษสูงกว่านั้นด้วยข้อหายาบ้าหลายหมื่นเม็ด หรือเฮโรอินหลายกิโลกรัม นักโทษเหล่านี้ได้ใช้โทษที่อื่นมาก่อน พอโทษเหลือ 25 ปี จึงได้โอนย้ายมาอยู่ที่ จ.เชียงใหม่

 

ชาวไทใหญ่ในเรือนจำชายที่ จ.เชียงใหม่ ที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน อย่างจายนะ ต้องโทษ 11 ปีจากการมียาบ้าในครอบครอง 550 เม็ด จายนะเกิดที่รัฐฉาน ประเทศพม่า ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในบ้านเกิด ติดตามพี่ชายมาหางานทำในเมืองไทยเมื่ออายุ 14 ปี พี่ชายพาไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ใน จ.แม่ฮ่องสอน จายนะได้ทำงานในไร่รับจ้างปลูกขิงกับเผือก ได้เงินค่าจ้างวันละ 50 บาท ทำอยู่ราว 5 ปี จายนะก็ตัดสินใจเข้ามาหางานทำในเมืองเชียงใหม่ หวังว่าจะได้งานที่ดีขึ้นและมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่หลังจากเข้ามาหางานทำในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เพียง 2 ปี เขาก็ถูกจับ

 

หรืออย่างคัมภีร์ ที่เพียง 1 ปี หลังจากผู้เขียนได้สัมภาษณ์เขา ก็ได้ทราบข่าวทางจดหมายจากเพื่อนชาวไทใหญ่ในคุกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว คัมภีร์ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมืองตองกี แต่เรียนไม่จบ ออกมาสมัครเป็นทหารกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ คัมภีร์เป็นทหารอยู่นานนับสิบปี จนกระทั่งแต่งงานมีลูกมีเมีย เงินเดือนทหารไม่พอเลี้ยงครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นทหาร อพยพครอบครัวมาหางานทำในเมืองไทย

 

คัมภีร์บอกว่าความยากลำบากของชีวิตทหารนั้นต่างกันมากกับความยากลำบากในการต้องมาทำงานเป็นแรงงานอพยพในเมืองไทย นั่นเป็นสาเหตุให้เขายอมรับข้อเสนอขนยา คัมภีร์ยอมรับในโทษของเขา แต่ก็เห็นว่าเวลา 17 ปีนั้นไม่นานมากนัก ที่จะรอเพื่อจะได้ออกไปเห็นหน้าลูกอีกสักครั้ง ได้พ้นโทษออกไปรับใช้ชาติบ้านเมือง ได้ออกเทปเพลงไทใหญ่ที่เขาแต่งไว้จำนวนมากระหว่างอยู่ในคุก แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น ผู้เขียนไม่ทราบว่าคัมภีร์เสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร ได้ทราบแต่จากจดหมายที่เพื่อนในคุกส่งมาแจ้งข่าวว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

 

หลายๆ คนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ยอมรับในโทษของตัวเอง และเห็นว่าการอยู่ในคุกเมืองไทยเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้รับการศึกษา ได้เรียนหนังสือ บางคนเรียนหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน บางคนก็ทำงานในโรงงานแกะสลัก โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ จายคำที่ต้องโทษ 24 ปี จากยาบ้า 20,000 เม็ด ใช้เวลาไม่กี่ปีเริ่มต้นจากที่ไม่รู้หนังสือไทยเลยจนเรียนจบชั้นมัธยมของ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) ในช่วงที่ผู้เขียนสัมภาษณ์เขา จายคำกำลังพยายามขวนขวายส่งใบสมัครเพื่อเข้าเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

...

 

แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าคนพวกนี้ทำผิด พวกเขาอยากรวยทางลัด เลือกที่จะขนยาเสพติด ก็ถูกต้องแล้วที่ต้องมารับใช้โทษในคุก แต่อะไรล่ะที่ผลักดันให้คนจำนวนหนึ่งหันมาเลือกทางเดินทางนี้ แทนที่จะก้มหน้าทำงานงกๆ รับค่าแรงวันละร้อยบาท เหมือนเพื่อนแรงงานอพยพจำนวนนับล้านจากประเทศเดียวกับพวกเขา ในที่นี้ผู้เขียนอยากวิเคราะห์เฉพาะกรณีของชาวไทใหญ่ เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เฉพาะ ที่สัมพันธ์กับคนไทย และการที่มีชาวไทใหญ่เข้ามาขายแรงงานเป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะวิเคราะห์ถึงภาพตัวแทนของคนไทใหญ่ที่คนไทยสร้างขึ้น และภาพตัวแทนเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างไรต่อแรงงานอพยพชาวไทใหญ่

 

ภาพตัวแทนของชาวไทใหญ่ที่คนไทยรู้จักนั้น มีอยู่หลายระดับ ในระดับโรแมนติก คนไทยได้สร้างภาพคนไทใหญ่ให้เป็นตัวแทนคนที่มีชาติกำเนิด มีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบเดียวกันกับเรา เป็นกลุ่มคนตระกูลไตเหมือนกัน เป็นพี่น้องกันกับคนไทย ภาพเหล่านี้จะพบเห็นได้ในหนังสือทางวิชาการหรือสารคดีเกี่ยวกับคนไตในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของนักรบกู้ชาติ เรื่องราวของเจ้ายอดศึก กับกองทัพกู้ชาติไทใหญ่

(Shan State Army) ปรากฏให้เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อทีวีของไทยอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งนักร้องเพื่อชีวิตชื่อดังอย่างแอ็ด คาราบาวก็อุทิศทั้งอัลบั้ม "ไม่ต้องร้องไห้" ให้กับการกู้ชาติของคนไทใหญ่ พร้อมกับกล่าวว่า "นี่เป็นความทุกข์ยากของคนที่เป็นญาติกับเรา เป็นการต่อสู้ของพี่น้องของเรา ผมต้องช่วยเขาด้วยเสียงเพลง"

 

ในระดับโรแมนติก เราจะเห็นภาพของคนไทใหญ่ปรากฏในสื่อไทย แบบเป็นพี่น้องกับเรา เป็นภาพตัวแทนชีวิตของไทยในอดีตและเป็นพี่น้องที่กำลังทุกข์ยาก กำลังสู้รบกับพม่า (ที่เราเกลียด) เราจึงต้องช่วยพวกเขา ในขณะเดียวกันภาพตัวแทนอันนี้ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่รัฐไทยหยิบมาใช้ เพื่ออ้างว่าคนไทใหญ่ที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเพื่อนบ้านไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจัดตั้งศูนย์อพยพ เพราะคนไทใหญ่สามารถปรับตัวเข้ากับคนไทยได้ง่าย มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กับไทย ภาษาพูดก็คล้ายๆ กัน

 

พ้นไปจากภาพตัวแทนแบบโรแมนติกแบบนี้แล้ว ในระดับของความเป็นจริง แรงงานไทใหญ่ที่เข้ามาเป็นแรงงานอพยพในบ้านเราเป็นจำนวนนับแสนคน ไม่เคยถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองเลย พวกเขาถูกเหมารวมว่าเป็นแค่แรงงานชาวพม่า คนไทยที่เป็นนายจ้างเกือบทุกคนที่ผู้เขียนได้พบ รู้จักลูกจ้างของตัวว่าเป็นคนพม่า เรียกพวกเขาว่าเป็นพม่า นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินกับหูตัวเองหลายต่อหลายครั้ง ที่นายจ้างพูดถึงลูกจ้างของตัวเองกับคนอื่นว่าเป็นพม่า แต่ครั้นเวลาต้องการหาแรงงานมาทำงานในบ้าน ก็บอกว่าเอาไทใหญ่นะ เพราะเรียนรู้ภาษาไทยได้ง่ายดี

 

หลายต่อหลายครั้งเช่นกันที่คนไทใหญ่เปรยกับผู้เขียนว่ารู้สึกน้อยใจที่คนไทยเรียกพวกเขาว่าเป็นพม่า ทั้งๆ ที่พวกเขาคิดต่อคนไทยว่าเป็นพี่น้องกัน มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ มีภาษาพูดเหมือนกัน แต่คนไทยกลับไม่รู้จักพวกเขาเลย ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาที่เราไปอยู่ต่างประเทศ แล้วบอกชาวต่างชาติว่าเราเป็นคนไทย มาจากไทยแลนด์ ชาวต่างชาติหลายคนตอบกลับว่า "Oh! You are from Taiwan, Nice to meet you."

 

ความรู้สึกว่าทำไมฝรั่งพวกนี้ช่างไม่เซ็นซิทีฟเอาเสียเลยระหว่าง Taiwan กับ Thailand คงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่คนไทใหญ่น้อยใจว่า ทำไมคนไทยไม่เคยเซ็นซิทีพว่าไทใหญ่ไม่ใช่พม่า และเหตุที่พวกเขาต้องอพยพมาเป็นแรงงานราคาถูกในเมืองไทยอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะรัฐบาลพม่านั่นเอง

 

ชาวไทใหญ่ที่เข้ามาขายแรงงานในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนด้อยการศึกษา หากมีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้ มีทุนพอ พวกเขาก็เลือกที่จะไปหางานทำในประเทศสิงคโปร์ หรือมาเลเซียแทน ดีกว่าที่จะมาเป็นแรงงานราคาถูกในประเทศไทย คนไทใหญ่จำนวนมากก่อนจะเดินทางมาเมืองไทย ได้รู้จักเมืองไทยผ่านการชมละครไทย พากย์ภาษาไทใหญ่ ที่มีการอัดเสียงใส่วีดีโอให้เช่า หรือฉายตามบ้านคนโดยเก็บค่าตั๋วในราคาถูก หรือได้ฟังเรื่องราวของเมืองไทยจากคนที่กลับไปเยี่ยมบ้าน ว่าเมืองไทยเป็นดินแดนแห่งความเจริญ ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ ทำงานได้เงินมาก ก็พากันอพยพเข้ามาหาแรงงานเป็นจำนวนมาก

 

การเดินทางเข้ามาเมืองไทย นอกเหนือจากเพื่อหาเงินช่วยครอบครัวในรัฐฉานแล้ว ก็เป็นเสมือนการเดินทางไปสู่ความทันสมัย แต่เป็นความทันสมัยที่ไม่ใช่อื่นไกล เป็นความทันสมัยของบ้านพี่เมืองน้อง หากแต่พอเข้ามาแล้ว ภาพความฝันกับความเป็นจริงกลับกลายเป็นคนละเรื่อง งานในสวนส้มที่วันๆ ต้องเจอกับสารเคมีอย่างหนักหน่วง ไม่เคยมีการรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าชาวไทใหญ่ในสวนส้ม อ.ฝาง ตายไปปีละกี่คนจากโรคที่เกิดจากภัยสารเคมี เช่นเดียวกับงานก่อสร้าง ที่บางครั้งถูกหลอกให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเดือน พอสิ้นเดือนนายจ้างก็เรียกตำรวจมาบุกแค้มป์ก่อสร้าง จับคนงานที่ไม่มีบัตรไป นายจ้างคนไทยที่ตัวเองเคยคิดว่าเป็นพี่น้องกัน ก็กลับไม่เคยรับรู้ว่ามีคนไทใหญ่อยู่บนโลกใบนี้ เรียกพวกเขาว่าเป็นพม่า พอต้องการหญิงขายบริการ ก็บอกว่าเอาไทใหญ่ เพราะขาว สวย พูดภาษาไทยรู้เรื่องดี พอต้องการแรงงานรับใช้ในบ้าน ก็ร้องหาไทใหญ่ เพราะฝึกภาษาง่ายดี นี่คือความยอกย้อนของภาพตัวแทนกับความเป็นจริง คนไทยเวลาจะได้ประโยชน์จากพวกเขา พวกเขาก็มีตัวตนขึ้นมาว่าเป็นไทใหญ่ พอจะเหยียดเขาลงไปก็บอกว่าเป็นพวกพม่า สิ่งเหล่านี้สร้างความขมขื่นในหมู่แรงงานอพยพจำนวนมากที่ผู้เขียนได้คลุกคลี และอาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงผลักส่วนหนึ่งให้คนบางคนเลือกทางผิดกฎหมาย

 

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าคนผิดที่ข่มขืนและฆ่านักศึกษาสาวแม่โจ้ควรถูกลงโทษ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัย หรือหอพักควรต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย และเห็นด้วยกับการเรียกร้องให้รัฐหันมาทบทวนนโยบายต่อแรงงานอพยพ แต่การทบทวนนโยบายนั้นไม่ใช่ว่าเพื่อที่จะผลักดันพวกเขาออกไป หรือปล่อยให้ตำรวจบุกกวาดล้างไซส์ก่อสร้าง หรือเข้มงวดออกตรวจจับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายหลังเกิดเหตุร้ายแต่ละครั้ง แต่ควรเป็นการทบทวนนโยบายที่เป็นธรรมต่อแรงงานอพยพ ให้สิทธิและเสียงแก่พวกเขา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ยินดีจะขายแรงงานราคาถูก ยินดีทำงานที่คนไทยไม่มีใครอยากทำ เพียงเพราะเขาไม่มีบัตรประชาชนไทย

 

...

 

กรณีนักศึกษาแม่โจ้ถูกข่มขืนและฆ่าโดยแรงงานอพยพชาวไทใหญ่ สองคนจากประเทศพม่า ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแรงงานอพยพโดยภาพรวม และโดยเฉพาะกลุ่มไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่

 

แน่นอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนก่อเหตุสมควรได้รับโทษ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปลาเน่าทั้งตัวเหม็นทั้งข้อง แต่การโยนความผิดให้แรงงานอพยพทั้งหมด การเหมารวม และ

 

คนไทยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับแรงงานอพยพมากน้อยแค่ไหน พวกเขาเป็นใครมาจากไหน พูดภาษาอะไรกันบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท