Skip to main content
sharethis

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว)ระบบสรรหาเปิดเผยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า ได้รับหมายจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่า ได้รับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ยื่นคำร้องให้เพิกถอนการสรรหาตนโดยอ้างว่า นิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์คที่เสนอชื่อตนในการสรรหา ส.ว.เป็นองค์กรที่ไม่มีสิทธิเสนอรายชื่อเข้าสรรหา ส.ว.ตามกฎหมายโดยระบุว่า มิใช่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม หรือประโยชน์สาธารณะ อันจะยังประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาแต่ประการใด


 


"หลังจากที่ได้รับหมายศาลฎีกาแล้ว ผมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่ง ขณะนี้กำลังศึกษาเอกสารต่างๆเห็นว่า กกต.ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการซึ่งจะนำไปต่อสู้ในศาลต่อไป"นายเรืองไกรกล่าว


 


ผู้สื่อรายงานว่า  การที่ กกต.หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาดำเนินเนื่องจากนายคำรพ ชัยวัชราภรณ์  นายกสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคได้ได้ทำร้องคัดค้านว่า ผลการสรรหา ส.ว.เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 องค์กรที่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหา ส.ว. 5 องค์กรประกอบด้วย หอการค้าไทย-นอร์เวย์, นิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์ค หอการค้าจังหวัดชลบุรีและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท เอ ที พี อินดัสตรี จำกัด และมูลนิธิเพื่อนช้าง กกต.จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง คณะที่ 4 เป็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำวินิจฉัยสั่งการของ กกต.ที่ 223/2551ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551เรื่องการคัดค้านการสรรหา ส.ว.ในตอนท้ายซึ่งสรุปผลการสืบสวนสอบสวนว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่า ผู้ถูกคัดค้านทั้งห้าเป็นองค์กรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดทุกประการ อีกทั้ง ในส่วนของกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาภาคเอกชนก็ดำเนินการโดยเปิดเผยภายในกรอบกฎหมาย ข้ออ้างและข้อกล่าวหาของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น และเสนอความเห็นว่าควรยกคำร้องคัดค้าน


 


กกต.ได้พิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนว่า การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับนายธีระจิตต์ สถิโรตมวงศ์ นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ นายถาวร ลีนุตพงษ์ และนายวรินทร์ เทียมจรัส (ได้รับการเสนอชื่อจากหอการค้าไทย-นอร์เวย์,  หอการค้าจังหวัดชลบุรีและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี, สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท เอ ที พี อินดัสตรี จำกัด และมูลนิธิเพื่อนช้าง )ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนยังฟังไม่ได้ว่าเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้ยกคำร้องคัดค้าน


 


ส่วนกรณีมีผู้คัดค้านว่า การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับนายเรืองไกร(เสนอโดยนิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์ค)ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้รับการเสนอชื่อจากนิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์ค ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนั้น


 


กกต.เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้โดยสรุปได้ว่า องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้น ต้องเป็นองค์กรที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และต้องมิใช่เป็นองค์กรที่แสวงหากำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง


 


 


แต่กรณีของนิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์ค จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของร่วมและกระทำการใดๆ ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะที่ดิน อาคารที่อยู่บนที่ดิน ตลอดจนทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน มิใช่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม หรือประโยชน์สาธารณะ อันจะยังประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาแต่ประการใด


 


 


จึงมิใช่องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯกับทั้งนิติบุคคลประเภทนี้มีอยู่มากมาย หากได้รวมกันเป็นสมาคมแล้วให้สมาคมเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็จะเหมาะสมยิ่งกว่าให้นิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้เสนอชื่อโดยตรง เมื่อยังมีข้อโต้แย้งจึงเป็นการสมควรที่จะเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาไต่สวนและวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน เพื่อประโยชน์ในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาครั้งต่อไป


 


 


อาศัยอำนาจตามมาตรา 236 (5) และมาตรา 238 และมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 และมาตรา 10 (10) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีคำสั่งตามมติในการประชุมครั้งที่ 163/2551 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ไต่สวน วินิจฉัย และมีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ


 


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.เพื่อวินิจฉัยเรื่องนี้ มี กกต.เข้าประชุมเพียง 4 คน เนื่องจากนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เป็น กรรมารสรรหา ส.ว.ด้วยจึงต้องถอนตัว ที่ประชุมจึงมีมติใ ห้ นายสมชัย จึงประเสริฐ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ปรากฏว่า ในการลงมติ กกต. 2 คนที่มีมติว่า นิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์คเป็นองค์กรไม่ชอบด้วยกำหมายคือ นายสมชัย และนางสดศรี สัตยธรรม ขณะที่ นายประพันธ์ นัยโกวิท และ นายสุเมธ อุปนิสากร เห็นว่า เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมาย


 


นายสมชัยจึงใช้สิทธิประธานที่ประชุมลงมติอีกครึ่งหนึ่ง ทำให้เสียงในที่ประชุมเห็นว่า นิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์คไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3 ต่อ 2


 


 


 


ที่มา : มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net