Skip to main content
sharethis

จากกรณี บจ. ทรูมูฟ ออกแพ็คเกจการตลาดใหม่ ขายเครื่อง iPhone  3G โดยกำหนดรูปแบบส่วนใหญ่เป็นการผูกค่าเครื่องรวมกับค่าบริการให้ลูกค้าจ่ายในอัตราเหมารายเดือนเป็นระยะเวลา ๑๒-๒๔ เดือน เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า แพ็คเกจการตลาดดังกล่าวมีประเด็นที่น่าห่วงใยหลายประการในมิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภค


 


ประเด็นสำคัญประการหนึ่งก็คือเรื่องของสัญญา เนื่องจากการส่งเสริมการขายของทรูในครั้งนี้เป็นการขายเครื่องพ่วงบริการ เป็นแพ็คเกจที่ผูกเรื่องการเช่า/ซื้อเครื่องกับการบริการโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน และเป็นการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตด้วย ลักษณะการทำสัญญาในครั้งนี้จึงเป็นพันธะทางกฎหมายที่คาบเกี่ยวระหว่างบริการโทรคมนาคมซึ่งผูกพันกับ บจ. ทรูมูฟ และการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต ซึ่งผูกพันกับธนาคาร


 


ทั้งนี้ ในการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด สำหรับกรณีที่เป็นการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต ผู้บริโภคจะสามารถทำได้ภายใต้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2552  ข้อ 3 (7) ข ซึ่งระบุว่า


 


"ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีข้อตกลงกับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าหรือใช้บริการ   ที่ผู้บริโภคเพียงแจ้งความประสงค์ขอชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ โดยการแจ้งหมายเลขบัตรเครดิตด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการทำการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบธุรกิจ  ต้องมีข้อสัญญาดังต่อไปนี้...


 


(ข)  ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า ภายในระยะเวลา ๓๐ วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ  ....."


 


นายแพทย์ประวิทย์ชี้ว่า ผลของข้อกฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคที่ได้ไปรับเครื่อง iPhone 3G มาแล้วมีสิทธิยกเลิกการซื้อสินค้ากับธนาคารได้ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่รับเครื่องมา            


 


"หากผู้บริโภคท่านใดที่รับได้รับเครื่องมาตั้งแต่วันแรกที่กำหนดส่งมอบเครื่อง คือ วันที่ 16 มกราคม 2552  ก็มีสิทธิบอกเลิกการซื้อสินค้ากับแบงค์ได้ภายในไม่เกินวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ และหากรับเครื่องหลังจากนั้นก็นับต่อไปอีก 30 วัน ที่ท่านจะมีสิทธิในการบอกยกเลิกการซื้อเครื่องได้" ผอ. สบท. กล่าว


 


ส่วนการบอกเลิกสัญญากับ บจ. ทรูมูฟ นั้น นายแพทย์ประวิทย์กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 15 ระบุว่า


 


"ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ ในขณะที่ส่งมอบเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการจะถือเอาเหตุดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้บริการหรือเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้


 


"ดังนั้น ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเวลาใดก็ได้ โดยที่ผู้ให้บริการจะยกเอาเครื่องอุปกรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net