Skip to main content
sharethis

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


 


 


เลขาธิการอาเซียน และอุปทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตากล่าวต้อนรับ และให้โอวาท


 


 


ปอเนาะดารุลอัรกอม อินโดนีเซีย


 


 


ระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2552 ผู้เขียนและคณะจำนวน 35 คน จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้าจังหวัดได้ที่ได้มีโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระบบปอเนาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น


 


วันที่ 20 มกราคม 2552 หลังจากได้ไปศึกษาดูงานที่ ปอเนาะอัลยันดารามี รัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ขึ้นรถบัสสู่สนามบินนานาชาติของมาเลเซียนเพื่อบินตรงไปประเทศอินโดนีเซียเพื่อพบเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงจาการ์ตา เพื่อฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของสถานทูตไทกับนักศึกษาไทยในประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะไปตามสถาบันต่างๆเช่น สำนักงานใหญ่องค์กรมูฮัมมาดียะห์ ปอเนาะดารุลอัรกอม ปอเนาะดารุตเตาฮีดเมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย


 


เวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาอินโดนีเซีย ในวันดังกล่าว ได้มีโอกาสพบเลขาธิการอาเซียน ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่สำนักงานใหญ่อาเซียนกรุงจาการ์ตาในวันที่ 20 มกราคมนั้นท่านได้กรุณาอธิบายถึงความสำคัญของบทบาทของอาเซียนต่อประชาคมและโต๊ะครูต่อการพัฒนาสังคมท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


ซึ่งพอจะสรุปการบรรยายจาก เลขาธิการอาเซียนดังนี้


 


สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN เป็นองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 10 ประเทศ มีสำนักงานเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้บริหารสำนักงาน


 


สัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าว สีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง สีแดง หมายถึงความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และ สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง


 


มีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมอาสา หรือ Association of South East Asia ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผันแปรทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซีย


 


องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขึ้นในภูมิภาค "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม "ปฏิญญากรุงเทพฯ" ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) จาก คำประกาศอาเซียน (ASEAN Declaration) ซึ่งลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก ก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ประเทศบรูไนดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก และมีเวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา เข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับ


 


สำหรับประชากร ประมาณ 600 ล้านคน ด้วยจุดประสงค์เพื่อร่วมมือกันพัฒนา ลดความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกัน ดังนั้นอนาคตจะมีการเปิดตลาดสินค้าร่วมกันโดยไม่เก็บภาษี อาเซียนต้องเป็นตลาดที่ใหญ่ เพราะจะทำให้มีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น จึงถือได้ว่า ทุกคนในภูมิภาคนี้ จะมีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพ


 


ชีวิตในโลกสมัยใหม่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง มีสิ่งท้าท้ายความคิดเกิดขึ้นโดยตลอด โจทย์ใหญ่คือผู้นำศาสนาจะมีบทบาทอย่างไร? ในการให้การแนะนำต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาด้านต่างๆในยุคโลกาภิวัตน์ ในสังคมที่หลากหลายซึ่งไม่มีในสมัยศาสดา ไม่มีในตำรานิติศาสตร์อิสลามสมัยอดีตซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นตำราเรียนในสถาบันปอเนาะในบ้านเรานั้นโต๊ะครูจะต้องมีคำตอบให้กับสังคม การวินิจฉัยหลักนิติศาสตร์อิสลามในภายภาคหน้าโต๊ะครูต้องที่มีความรู้ทั้งหลักนิติติศาสตร์อิสลามเบื้องต้นและศาสตร์ร่วมสมัย


 


คนของเราพร้อมหรือยัง กับการกำหนดอนาคตตนเอง ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้?


 


มูญัดดีด (นักฟื้นฟู) ในอดีต จะเกิดขึ้นจากศูนย์เรียนรู้หลักๆ ในยุคนั้น เช่นในบูคอรอ ( เอเชียกลาง) แต่ปัจจุบันนี้มีแรงกดดันมากมาย อูลามาอใหญ่ ๆ (นักปราชญ์ด้านอิสลามศึกษา) ไม่อาจจะวางบทบาทตนเอง เช่นในอดีตได้แล้ว หลานของหะซัน อัลบันนา นักฟื้นฟูของอียิปต์ ก็ไม่ได้อยู่ในอียิปต์แล้ว แต่ไปทำงานและฟื้นฟูใน สวิซเซอร์แลนด์ นายฟัซลุรเราะห์มาน นักฟื้นฟูของปากีสถาน ก็ไปทำงานฟื้นฟูในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทั้งสองท่านถือเป็นนักคิดที่สำคัญมากสำหรับโลกมุสลิมยุคปัจจุบัน


 


ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อระดับโลก ก็มีการเปิดศูนย์กลางอิสลาม โดยมีการเชิญนักวิชาการอิสลามสำคัญๆ จากทั่วโลกไปบรรยาย


 


เลขาธิการอาเซียนได้ย้ำถึงโอกาสที่มี และเปิดกว้างเสมอสำหรับคนที่มีความรู้ แต่คนของเรา จะได้โอกาสหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาความรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วย


 


ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าใน 365 วันของอาเซียน จะมีวันสำคัญทางศาสนา หมุนเวียนกันไปถือเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงต้องอยู่ด้วยความเคารพและให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน เพื่อก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน."


 


สรุป สำหรับโต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู เจ้าของปอเนาะต่างๆ นอกจากจะผลิตนักเรียนปอเนาะหรือโต๊ะปาแกตามศัพท์ที่เรียกกันในหมู่ชาวบ้านที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามหลักคำสอนเบื้องต้นของศาสนาแล้ว หรือช่วยเป็นผู้นำศาสนาในการนำปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนซึ่งนับวันเริ่มขาดแคลนผู้นำด้านศาสนพิธีของเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีแต่คนแก่ๆ ระดับโต๊ะครูเท่านั้น ประกอบศาสนกิจให้แล้ว


 


ต่อไปโต๊ะครูจะต้องสามารถวินิจฉัยปัญหาร่วมสมัยมากขึ้น ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันปอเนาะก็ต้องอาจจะต้องปฏิรูปด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวมิสามารถประสบความสำเร็จหากขาดการสนับสนุน ส่งเสริมจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และอาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรเอกชนที่เข้าใจ เข้าถึงสถาบันปอเนาะเพื่อพัฒนาหรือช่วยเป็นสื่อกลางในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาสถาบันปอเนาะอย่างยั่งยืนเพื่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในการเป็นคนดี มีคุณภาพ เป็นทั้งพลเมืองไทยและพลโลกที่สามารถบูรณาการกับหลักศาสนาได้อย่างลงตัวในยุคโลกาภิวัตน์


 



 


บทความก่อนหน้านี้


รายงาน: การศึกษาดูงานปอเนาะแบบอย่างในมาเลเซีย-อินโดนีเซีย (1), ประชาไท, 4/2/52


http://www.prachatai.com/05web/th/home/15451

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net