Skip to main content
sharethis

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจัดงานครบรอบ 60 ปี แห่งการเรียกร้องเอกราชจากพม่า เสนาธิการ KNU กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ต่อสู้จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ประณามอุดมการณ์คลั่งชาติของรัฐบาลทหารพม่า นอกจากนี้มีการมอบรางวัลให้แก่นักกิจกรรมหญิงชาวกะเหรี่ยงที่อุทิศการทำงานเพื่อผู้คนตามแนวชายแดนด้วย

ทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงภายในงาน (ที่มา: The Irrawaddy)

 

 

มอบรางวัลและของขวัญแก่ผู้นำอาวุโสชาวกะเหรี่ยงจำนวน 16 ราย เนื่องในวันครบรอบ 60 ปีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (ที่มา: The Irrawaddy)

 

 

การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง (ที่มา: The Irrawaddy)

 

วันที่ 31 ม.ค. ถือเป็นวันครบรอบ 60 ปี ของกลุ่มกบฏเรียกร้องเอกราชที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชีย "สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU - Karen National Union) โดยในวันดังกล่าวมีการรำลึกโดยชาวกะเหรี่ยงในหลายแห่งทั่วโลก

โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ฐานที่มั่นกะเหรี่ยง KNU ตรงข้าม บ้านแม่สลิด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชาวกะเหรี่ยงและแขกรับเชิญราว 5,000 คน ร่วมรำลึกครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU - Karen National Union)

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการจัดงาน 1 วัน (30 ม.ค.) มีรายงานว่ามีการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่า กับกองกำลัง KNU ในพื้นที่ชั้นในของพม่าลึกห่างจากชายแดนประมาณ 24 กิโลเมตร การปะทะกันดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากชุดลาดตระเวนของทหาร KNU ได้ออกลาดตระเวนในช่วงก่อนการจัดงานครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงดังกล่าว

และทหาร KNU ได้พบกับทหารพม่าที่มีการส่งกำลังมาประชิดชายแดนเพื่อกดดันการจัดงาน จึงทำให้มีการสู้รบกันนานกว่า 30 นาที จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้ถอนกำลังออกจากจุดปะทะโดยไม่มีรายงานความสูญเสีย อย่างไรก็ตาม หลังการปะทะทหารกะเหรี่ยงได้เสริมกำลังอีก 2-3 กองร้อย ประมาณ 200-300 นายพร้อมอาวุธครบมือเพื่อนำกำลังพลไปวางไว้หน้าแนวฐานที่มั่นแห่งหนึ่งที่ได้เตรียมการไว้จัดงาน

เจ้าหน้าที่ KNU เผยว่าในงานฉลองดังกล่าวมีการแสดงวัฒนธรรมกะเหรี่ยง เพื่อเป็นเกียรติแก่การปฏิวัติกะเหรี่ยง และเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักปฏิวัติกะเหรี่ยงรุ่นเก่าและนักปฏิวัติรุ่นใหม่

กำหนดการสำคัญของงานฉลองคือการมอบรางวัลแด่นักรบอาวุโสที่รับใช้กองทัพ KNU มาตลอด 60 ปี ของการปฏิวัติกะเหรี่ยง ในบรรดานักรบอาวุโสที่ได้รับเชิญเหล่านั้นได้แก่ ประธาน KNU นายพลทะมะละบอ (Tamalabaw) ผู้บัญชาการมู ตู (Mu Tu) เสนาธิการ KNU อย่างไรก็ตาม นายพลทะมะละบอ ไม่สามารถร่วมงานได้

"การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของกะเหรี่ยงจะดำเนินต่อไปจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย" ผู้บัญชาการมูตูกล่าวกับฝูงชน "เราชาวกะเหรี่ยงขอประณามอุดมการณ์แบบคลั่งชาติของพวกรัฐบาลทหารพม่า และประณามลัทธิทหารนิยมของพม่า"

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก่อตั้งขึ้นเพื่ออิสรภาพของกะเหรี่ยงใน พ.ศ.2492 หนึ่งปีหลังจากพม่าประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยกลุ่มกบฏกะเหรี่ยงและองค์กรการทหารของพวกเขา กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA - Karen National Liberation Army) ถือเป็นหนึ่งในกบฏติดอาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เคยยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของปากแม่น้ำอิระวดีเอาไว้ได้และสามารถตั้งฐานบัญชาการอยู่ชานกรุงย่างกุ้ง ก่อนจะถูกทหารพม่าโจมตีจนต้องล่าถอยเข้าไปอยู่ในเขตป่าเขาของรัฐกะเหรี่ยงชายแดนไทย-พม่า โดยในทศวรรษที่ 1960 พวกเขาสามารถตั้งฐานที่มั่นมาเนอปลอว์ (Manerplaw) อยู่ริมแม่น้ำเมย ใกล้ชายแดนไทย

ในปี 2538 KNU เกิดแตกแยกภายใน มีการแยกตัวออกไปตั้ง กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA - Democratic Karen Buddhist Army) ซึ่งลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า และฐานที่มั่นมาเนปลอว์ของ KNU ก็แตกในปีนั้นหลังถูกกองทัพพม่า และกองทัพกะเหรี่ยง DKBA ร่วมกันโจมตี

หลังจากนั้นกองทัพกะเหรี่ยง KNLA ก็จำกัดการโจมตีลงเหลือเพียงทำสงครามกองโจร ใช้กลยุทธ "ตีแล้วถอย" โจมตีศัตรูแล้วแยกย้ายหนีภายในป่า ทั้งนี้การเสียฐานที่มั่นของ KNU หมายถึงการสูญเสียพื้นที่ทางยุทธศาสตร์และที่สำคัญคือเสียเส้นทางการค้าระหว่างเขตพม่ากับเขตไทย

รองประธาน KNU เดวิด ตักกะบอ (David Takapaw) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กองทัพกะเหรี่ยง KNU จะรักษาแนวป้องกันเอาไว้เพื่อต้านทานกองทัพของรัฐบาลทหารพม่าและกะเหรี่ยง DKBA

"ในการสงคราม บางครั้งทหารต้องล่าถอย บางครั้งพวกเราก็รุกไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นจึงต้องล่าถอยก่อนที่จะรุกคืบ" เขากล่าว

ผู้จัดการเน้นเป็นอย่างยิ่งว่างานรำลึกครบรอบ 60 ปี สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เป็นมากกว่าพิธีการทางการเมือง แต่เป็นก้าวที่สำคัญของการรวมชาวกะเหรี่ยงทั้งในรัฐกะเหรี่ยงและในต่างประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ภายใต้โครงการของสหประชาชาติ ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงหลายพันคน ต้องย้ายไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศตะวันตกเมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้ชาวกะเหรี่ยงต่างแดนส่วนหนึ่งได้เดินทางมาร่วมงานรำลึกครบรอบ 60 ปี ของการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงนี้ด้วย

ซอว์ เอ ที คอว์ (Saw Eh Htee Kaw) ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ปัจจุบันไปตั้งรกรากในอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน กล่าวว่าเขามางานรำลึกนี้เพื่อเยี่ยมญาติ เพื่อนเก่า และอดีตเพื่อนร่วมงาน

"ผมดีใจมากที่มาร่วมงานรำลึกนี้ ผมไม่ได้คาดมาก่อนว่าจะมีคนหลายพันคนมาร่วมงานนี้" เขากล่าว

โซยา ฟาน (Zoya Phan) บุตรสาวของผู้นำ KNU พะโด้ มาน ซาห์ ที่ถูกลอบสังหารเมื่อปีก่อน ก็เดินทางจากลอนดอน ประเทศอังกฤษเพื่อมาร่วมงานนี้ด้วย

พะโด้ มาน ซาห์ เป็นอดีตเลขาธิการทั่วไปของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เมื่อ 14 ก.พ. ปี 2551 เขาถูกมือปืนไม่ทราบชื่อยิงในที่พักเสียชีวิตที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

"รัฐบาลทหารพม่าพยายามจะกำจัดชาวกะเหรี่ยงและผู้นำ" โซยา ฟาน กล่าว "แต่พวกเขาสามารถทำลายได้หรือ?"

ครอบครัวของมาน ซาห์ ได้ตั้งกองทุนฟาน (the Phan Foundation) เพื่อสนับสนุนนักกิจกรรมกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวกะเหรี่ยง

กองทุนดังกล่าวได้ตั้งรางวัล "ผู้นำหนุ่มพะโด้ มาน ซาห์" (Padoh Mahn Sha Young Leader Award) และมอบรางวัลเมื่อเสาร์ที่ 31 ม.ค. ให้กับนักกิจกรรมหญิงชาวกะเหรี่ยง หน่อว์ ปอว์ ค บลา ฮทู (Naw Paw K' Bla Htoo) อันเนื่องมาจากการงานอย่างมานะของเธอที่อุทิศแก่ผู้คนตามแนวชายแดน โดยเธอยังได้เงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐ ด้วย

หน่อว์ ปอว์ ค บลา ฮทู กล่าวว่ารู้สึกมีความสุขมากที่ได้รับรางวัล และจะรักษาเจตจำนงของเธอเอาไว้ในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ยังต้องการกำลังใจอย่างมาก

ส่วนซอว์ เอ ที คอว์ แบ่งปันความรู้สึกของเขาว่า "แม้ว่าจะมีความยากลำบากและความคับข้องใจตลอด 60 ปีแห่งการต่อสู้ แต่ฉันหวังว่า รุ่งอรุณของชาวกะเหรี่ยงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้"

 

.................................................. 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

Bridging the Generation Gap, By WAI MOE, Irrawaddy, Feb 2, 2009.

http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15045

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net