Skip to main content
sharethis

มูลนิธิสยามกัมมาจล


 


 



 


เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 31 .. -1 .. ที่ผ่านมา อาจไม่ใช่วันหยุดธรรมดาๆ สำหรับเด็กน้อยกลุ่มหนึ่งใน ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งได้มีโอกาสรู้จักกับความหมายของ "ป่าชุมชน" ได้ฝึกซ้อมวิธีการสำรวจเก็บข้อมูลทรัพยากรในป่า และได้ลงสนามเก็บข้อมูลในป่าจริง โดยเป็นกิจกรรมในค่ายเยาวชน โครงการ "ให้เด็กน้อย คอยเฝ้าดู สิ่งที่มีอยู่ในป่าชุมชน" จุดประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าให้แก่เจ้าตัวน้อยตั้งแต่วัยเยาว์


 


กิจกรรมดีๆ ครั้งนี้จัดโดย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีนักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งป่าชุมชนกว่า 40 คนเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนักเรียนจากโรงเรียนรุจิรพัฒน์ บ้านห้วยม่วง โรงเรียนบ่อหวี บ้านบ่อหวี และโรงเรียนห้วยผาก บ้านห้วยผาก โดยเป็นกิจกรรมค่ายต่อเนื่องครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 4 ครั้ง หลังจากที่มีการจัดค่ายครั้งที่ 1 เพื่อปูพื้นฐานความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 -16 ..2551 ที่ผ่านมา


 



 



 



 


สำหรับกิจกรรมค่ายเยาวชนครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้น้องๆ รู้จัก "ป่าชุมชน" โดย นายนริศ อาจธัญกรณ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เพื่อให้น้องๆ รู้จักความหมายของป่าชุมชน ที่หมายถึง "การอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนรูปแบบหนึ่ง มีการรักษาและใช้ประโยชน์ เพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชิวิตของชุมชน" ซึ่งการจัดการป่าชุมชนจะไม่มีรูปแบบแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น


 


ผอ.นริศ ชี้ให้เยาวชนเห็นความสำคัญของป่าชุมชนด้วยว่า เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ ทั้งใช้เป็นแหล่งอาหาร อุปกรณ์ก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมถึงเป็นแหล่งต้นน้ำ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างความผ่อนคลายให้แก่ผู้คนในสภาพสังคมที่ตึงเครียด จึงจะเห็นได้ว่าการอนุรักษ์ป่าชุมชนถือเป็นเรื่องสำคัญ


 


ถัดจากนั้น กิจกรรมในวันแรกยังมี การแบ่งกลุ่มฝึกหัดการสำรวจและเก็บข้อมูลทรัพยากรป่า ณ ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยน้องๆ ได้จัดสรรหน้าที่ในการสำรวจกันอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายแผนที่ ฝ่ายวัดระยะทาง ฝ่ายบันทึกข้อมูล และฝ่ายวาดภาพประกอบ ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปสรุปผลและนำเสนอเป็นร่างแผนที่ป่าชุมชนอย่างง่าย พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี น้องๆ ให้ความสนใจ และตั้งใจสำรวจพรรณไม้และสิ่งมีชีวิตในศูนย์ฯ ฟังคำแนะนำจากพี่เลี้ยง หมั่นซักถาม และจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้


 


ทั้งนี้ เมื่อน้องๆ มีความรู้และทักษะการสำรวจและเก็บข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว ในวันที่สองของกิจกรรมจึงถึงเวลาของ การสำรวจและเก็บข้อมูลทรัพยากรป่า ณ พื้นที่ป่าบ้านห้วยม่วง -ห้วยน้ำหนัก เพื่อสำรวจข้อมูลพรรณไม้ยืนต้นเฉพาะถิ่นขนาดใหญ่ พรรณไม้ต่างถิ่น สัตว์ป่า และนก โดยเยาวชนจะประมวลและใช้ทักษะที่เรียนรู้มาแล้วในวันแรกเข้าเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จัดทำร่างแผนที่ป่าชุมชน และนำเสนอผลงาน พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ น้องๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการสำรวจเก็บข้อมูล การจัดทำร่างแผนที่ป่าชุมชน และการนำเสนอข้อมูลที่ค้นพบ


 


ก่อนปิดท้ายค่ายกิจกรรมครั้งที่ 2 พี่เลี้ยงค่ายยังนัดหมายวันเวลาจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนครั้งที่ 3 กับน้องๆ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนทั้ง 3 โรงเรียนวางแผนกำหนดวันเวลาและเสนอชื่อผู้มีความรู้ในชุมชนเป็นวิทยากรในการสำรวจเก็บข้อมูลป่าในหมู่บ้านของตนเอง เพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพยากรป่าที่ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ในกิจกรรมค่ายเยาวชนครั้งที่ 4 ภายในเดือนพฤษภาคม อันจะทำให้ชุมชนมีฐานข้อมูลทรัพยากรป่าเป็นของตัวเอง เกิดความรู้สึกหวงแหน เป็นเจ้าของ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น 


 


เด็กชายดนุสรณ์ วิไล หรือน้องสร นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านบ่อหวี กล่าวว่า รู้สึกสนุกและได้ความรู้เรื่องป่าชุมชนจากการมาร่วมกิจกรรม ต่างจากอดีตที่แม้ว่ามีบ้านอยู่ใกล้ป่า อีกทั้งเข้าป่ากับคนในบ้านเพื่อเก็บเห็ดโคนมาขายหรือประกอบอาหารบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้ทำให้เรียนรู้พรรณไม้และสัตว์ในป่า ผิดกับการเดินป่าครั้งนี้ที่ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมายจนจำไม่หมด แต่เชื่อว่าหากได้ศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้รู้จักป่าชุมชนมากขึ้น


 


"ผมจะกลับไปปลูกต้นไม้เยอะๆ จะได้ลดภาวะโลกร้อน เราต้องอนุรักษ์ป่าเอาไว้ ถ้าไม่อนุรักษ์ เราก็จะไม่มีนก ไม่มีสัตว์ป่าให้ดู"  เด็กชายดนุสรณ์บอกเล่าความคิด


 


เด็กหญิงขนิษฐา ธงสอาด หรือน้องกวาง นักเรียนชั้น ป .6 โรงเรียนรุจิรพัฒน์ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชอบกิจกรรมเพราะเป็นเรื่องที่เธอสนใจ และตั้งใจจะเข้าร่วมกิจกรรมครั้งที่ 3 และ 4 ด้วย เหตุผลเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สนุก ทำให้ได้ความรู้เรื่องป่าชุมชน แถมยังทำให้รู้จักวิธีสำรวจและเก็บข้อมูลพรรณไม้ สัตว์ป่า และนกในธรรมชาติ เวลานี้เธอเริ่มทำได้บ้างแล้ว แม้จะยังไม่ชำนาญและต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมากก็ตาม


 


ส่วน อาจารย์นพมาศ เมหิ ครูโรงเรียนบ้านห้วยผาก ซึ่งร่วมทำกิจกรรม เสริมว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ดี น้องๆ ให้ความสนใจ ทำให้เยาวชนได้รู้จักทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และนำสิ่งที่เรียนรู้บอกกับพ่อแม่หรือคนในหมู่บ้าน โดยในส่วนของชุมชนบ้านห้วยผากได้เริ่มกระบวนการจัดตั้งป่าชุมชนบ้างแล้ว ที่ผ่านมามีนักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเข้าสำรวจข้อมูลทรัพยากรป่าชุมชน ขณะที่โรงเรียนยังได้มีส่วนขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวโดยจัดหลักสูตรท้องถิ่นสอดแทรกเนื้อหาการสำรวจและทำความรู้จักพรรณไม้ในท้องถิ่นสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 -.3 และการสอนนักเรียนชั้น ป.4 -. 6 ฝึกงานหัตถกรรมจากลูกไม้หรือวัสดุธรรมชาติ ซึ่งดำเนินการมาเป็นภาคเรียนที่ 3 แล้ว


 


กิจกรรมนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในชุมชน และหนุนเสริมกระบวนการจัดการป่าในท้องถิ่น กับแนวคิดที่ว่า "คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน" ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net