Skip to main content
sharethis

.อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


 



 


ระหว่างวันที่  19 - 25  มกราคม  2552 ผู้เขียนและคณะจำนวน  35 คน จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้าจังหวัดได้มีโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระบบปอเนาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างกระทรวงต่างประเทศของไทยและสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยโดยตั้งชื่อโครงการ  "พัฒนาความคิด ยกระดับจิตสำนึกที่สร้างสรรค์ภายใต้ภาวะวิกฤต" โดยได้นำคณะโต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู ผู้บริหารโรงเรียน สมาชิกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย  เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาดูงานระบบการจัดการศึกษาในระบบปอเนาะว่าเขาจัดระบบอย่างไรที่จะสามารถดำรงวิถีวัฒนธรรมความเป็นมลายูมุสลิมที่สามารถเผชิญกับกระแสยุคโลกาภิวัตน์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


เหตุผลที่ได้จัดทำและตั้งชื่อโครงการดังกล่าวนั้นนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยนายนิมะนาเซ สะมะอาลีได้อธิบายให้ผู้เขียนให้ฟังว่า


 


 "ปัญหาใน จังหวัดชายแดนที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ได้สร้างผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ผลกระทบเหล่านี้ได้สร้างปัญหาต่อเนื่องมากมาย โดยในทางสังคมผู้คนบางส่วนได้เปลี่ยนความคิดในทางสร้างสรรค์และร่วมเกื้อหนุนในสิ่งดีๆ ต่อกัน มาเป็นการมุ่งร้าย คิดเชิงทำลายล้าง  ซึ่งบ่อยครั้งของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดโดยการจัดตั้งและไม่มีการเตรียมการ  หากแต่เป็นการกระทำที่เกิดจากอารมณ์แห่งความเคียดแค้นจากภายในจิตใจ การเยียวยาที่ดีและสอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน จึงไม่ใช่แค่เพียงการมอบเงิน หากแต่จะต้องสร้างระบบทางความคิด เปลี่ยนแปลงทัศนคติ รวมทั้งต้องทำให้เกิดระบบทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะต้องให้ทุกองคาพยพที่มีในท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วม บนพื้นทางของการพึ่งพาและร่วมสร้างความเข็มแข็งในชุมชนตนเองมากกว่าการพึ่งพาจากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก"


 


"สถาบันปอเนาะถือเป็นสถาบันทางจิตใจที่สำคัญของชาวบ้านในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาและยกระดับสถาบันปอเนาะก็หมายถึงการพัฒนาประชาชนใน  จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกเช่นเดียวกัน   จึงต้องสร้างระบบคิดและการจัดการสมัยใหม่ภายใต้บริบททางทรัพยากรและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลงไปหรืออาจจะหมดไปในที่สุด"


 


"ในการบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท) เห็นว่า การสร้างคุณภาพใหม่ของผู้ได้รับผลกระทบ ของสถาบันทางจิตใจที่สามารถหลอมรวมความคิดของชาวบ้าน (ปอเนาะ)  ซึ่งเป็นบุคลากรที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องพึ่งพา ได้พบปะ และร่วมพัฒนาความคิด จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทุเลาปัญหาและความรุนแรง พร้อมทั้งสร้างวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนา วิสัยทัศน์แห่งการพึ่งพาตนเอง  ร่วมเกื้อหนุนเพื่อสิ่งดี ๆ ในชุมชนตนเอง โดยผ่านการเรียนรู้ตรงจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป้าหมายหลังจากการศึกษาดูงานนั้นคิดว่าจะสามารถพัฒนาให้เกิดสถาบันแห่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นที่มีทั้งความทันสมัยก้าวทันโลก   และสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่นเป็นการยกระดับความคิด พัฒนาศักยภาพ การทำงาน ตามบทบาทของแต่ละคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ"


 


เพื่อบรรลุในเป้าหมายดังกล่าว การศึกษาดูงานครั้งนี้จึงวาง กำหนดการดังนี้กล่าวคือ จะเริ่มตั้งแต่ปอเนาะอัลยันดารามี  รัฐเซลังงอร์  ประเทศมาเลเซีย และบินตรงไปประเทศอินโดนีเซียเพื่อพบเลขาธิการอาเซี่ยน ดร. สุรินทร์  พิศสุวรรณ เจ้าหน้าที่สถานฑูตไทยประจำกรุงจาการ์ตาเพื่อฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของสถานทูตไทกับนักศึกษาไทยในประเทศอินโดนีเซีย   ก่อนจะไปตามสถาบันต่างๆเช่น  สำนักงานใหญ่องค์กรมูฮัมมาดียะห์   ปอเนาะดารุลอัรกอม   ปอเนาะดารุตเตาฮีดเมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย


 


สำหรับปอเนาะอัลยันดารามี  รัฐเซลังงอร์  ประเทศมาเลเซียเดิมเป็นสถาบันสอนศาสนาอิสลามแก่ชุมชนโดยมีโต๊ะครู( ปราชญด้านศาสนาอิสลามเป็นผู้ก่อตั้ง) ชัยค์ มูฮัมมัดฮาฟิซ หะยีสลามัต ในปี ค.. 1985  ซึ่ง ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษากับเยาวชนและชาวบ้าน


 


ลักษณะเด่นของปอเนาะนี้นอกจากเป็นแหล่งสอนศาสนาอิสลามในรูปแบบปอเนาะกับเยาวชนและชาวบ้านนั้นคือการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการด้านการศึกษา  เศรษฐกิจและสังคม  ด้านการศึกษานอกจากการสอนด้วยระบบปอเนาะ  ทางสถาบันได้เปิดการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาซึ่งใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการกับอิสลามศึกษา  ด้านสังคมนั้นทางสถาบันได้เปิดศูนย์สงเคราะห์คนวัยทองโดยจัดสร้างหมู่บ้านคนวัยทองขึ้นและให้คนเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา  บางคนเป็นผู้เรียน บางคนมีความสามารถเป็นทั้งผู้เรียนด้านศาสนาและยังเป็นอาสาสมัครช่วยสอนนักเรียน  เยาวชนและชาวบ้าน


 


ด้านเศรษฐกิจนั้นได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อเลี้ยงตนเองและเป็นรายได้หลักในการบริหารจัดการมูลนิธินอกจากเงินบริจาค


 


ในระบบสหกรณ์ที่นี้นั้นมีหลายกิจกรรมและธุรกิจที่ได้ดำเนินการเช่นร้านค้า   โรงแรม การท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม  การบริการฮัจญ์และอุมเราะห์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์


 


ในขณะเดียวกันในอนาคตนั้นสหกรณ์ยังมีความต้องการทำธุรกิจด้านเกษตรกรรม  น้ำมัน


 


กิจกรรมเด่นที่นี่อีกชิ้นหนึ่งคือทุกปีจะมีการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการของบรรดาโต๊ะครูจากกลุ่มประเทศอาเซี่ยนรวมทั้งประเทศไทยและโลกอาหรับ


 


สิ่งที่ได้รับและข้อคิดจากการจัดการของสถาบันแห่งนี้ถึงแม้จุดเริ่มต้นของที่นี่เริ่มด้วยปอเนาะ


 


1. ภาวะผู้นำของโต๊ะครู


 


โต๊ะครูที่นี่ใช้การบริหารในรูปแบบการจัดการความรู้    เป็นเสมือน"คุณอำนวย"(Knowledge Facilitator) ในการ "จุดไฟ ใส่ฟืน" การดำเนินการจัดการความรู้แก้ปัญหาความไม่รู้ทั้งด้านศาสนาและสามัญพร้อมทั้งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้องค์กร สมาชิกขององค์กรสามารถพึ่งตนเองได้และแก้ปัญหาความยากจน    โดยลูกศิษย์  สมาชิกและชุมชนระดับแกนนำคอยเป็น   "คุณกิจ" (Knowledge Practitioner) ซึ่งไม่ได้แยกกันทำเป็นคนๆ แบบต่างคนต่างทำ เหมือนขนมชั้น แต่มีการรวมหมู่รวมกลุ่มกันทำและบูรณาการงานเปรียบเสมือนข้าวยำ(หรือขนมซูรอของภาคใต้) ใช้ความเป็นชุมชนที่มีความชื่อถือต่อบุคลิกของโต๊ะครู เป็นเครื่องมือ


การดำเนินการจัดการบริหาร เป็นกิจกรรมที่ต้องทำเป็นกลุ่มที่มีทั้งดุลยภาพและประสิธิภาพ ไม่ใช้ความเด่นของโต๊ะครู  ความเด่นของแกนทำคนคนเดียว  แต่ละครั้งเมื่อมีการทำกิจกรรมเสร็จหรือก่อนทำครั้งใหม่จะมีการประชุม  ใน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันความรู้


เป้าหมายขององค์กรชัดเจนคือทุกกิจกรรมเพื่อความโปรดปรานต่อพระเจ้า  การศึกษาคือเครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่ไม่คิดแยกส่วนระหว่างศาสนธรรมกับวิชาการแขนงต่างซึ่งเปรียบเสมือนหัวปลา  โต๊ะครูซึ่งเป็น"คุณอำนวย" ที่เข้ามา ร่วมกันเป็นเจ้าของ "หัวปลา" คือร่วมกันทำงาน เพื่อให้ "คุณกิจ" บรรลุการแก้ปัญหาการศึกษาสังคมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะความยากจนและการอยู่รอดขององค์กรโดยลำเข่งของตัวเองซึ่งเป็นปัญหาของสถาบันปอเนาะส่วนใหญ่


 


โต๊ะครูสามารถให้ชุมชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ "หัวปลา" ตัวจริง คือ "คุณกิจ"


2. การบริหารชุมชนด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม


ที่นี่มีการการบริหารชุมชนทั้งด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก  การบริหารชุมชนเอื้ออาทรแบบบูรณาการ  มีมัสยิดที่สร้างโดยเงินมูลนิธิเป็นหลักเป็นศูนย์กลางการอบรมด้านจิตวิญญาณ  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน  สมาชิกชุมชนมีวินัย  มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีโอกาสในการสร้างรายได้และ/หรือลดค่าใช้จ่าย  บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอื้ออาทรกันต่อกัน  เคารพสิทธิของผู้อื่น ชุมชนมีความเข้มแข็ง  มีศักยภาพและมีความสามารถบริหารจัดการด้วยระบบองค์กรชุมชนของตนเองได้  ทั้งนี้โดยใช้บริหารจัดการด้วยระบบองค์กรชุมชนในรูปนิติบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้มูลนิธิ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net