ถังแตก !? "มาร์ค" เล็งกู้เงินนอก 6-7หมื่นล้าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ว่า คณะกรรมการได้กำหนดกลุ่มคนที่จะเข้ารวมโครงการเพิ่มศักยภาพ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 6.9 พันล้านบาท ฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้สนใจจำนวน 5 แสนราย กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่สนใจฝึกอบรมอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 2.กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ที่เป็นหนี้สินกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ช่วงฝึกอบรมจะจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือนช่วงเวลาฝึกอบรม หรือประมาณ 2-6 สัปดาห์ เมื่อฝึกอบรมเสร็จช่วงที่กำลังรองานอยู่จะจ่ายเงินช่วยเหลือ 2-4 เดือนด้วย

 

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกลุ่มคนที่ 3 เป็นกลุ่มแรงงาน ในภาคธุรกิจเอกชนที่ประสบปัญหาและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ โดยภาครัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าแรงงานของผู้ประกอบการ 5,000 บาทต่อเดือน ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือประมาณ 3-4 เดือน แต่เอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการต้องยืนยันว่าจะไม่มีการปลดคนงานออกภายในช่วงเวลา 1 ปี

 

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน โดยสรุปเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับชุมชนต่างๆ

 

"มาร์ค" รับจำเป็นกู้ต่างประเทศ

วันเดียวกัน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมตอบข้อซักถามในงานสัมมนา "เจาะลึก 8 คำถามอุตสาหกรรมเด่นกับนายกรัฐมนตรี" โดยมีนักธุรกิจชั้นนำร่วมรับฟังกว่า 400 คน ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เป็นเพียงแผนรักษากำลังซื้อ หลังเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2551 คาดว่าจะประคองสถานการณ์ได้ถึงสิ้นไตรมาส 3 เท่านั้น

 

"เราจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ แต่ผมยืนยันว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนสำรอง หรือวิกฤตเงินตราต่างประเทศ ถ้าจะมีการกู้เงินก็เพื่อช่วยเรื่องโครงการพัฒนา สร้างแรงงาน จะเป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชน นี่คือแผนสำรอง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ เก็บเอาไว้ในกระเป๋า แต่ถ้าจำเป็นก็เอาออกมาใช้ ไม่ใช่นั่งรอจนถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแล้วค่อยมานั่งคิด ซึ่งจะไม่ทัน ดังนั้นสิ่งที่ให้กระทรวงการคลังทำคือไปลองทาบทามดู"นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

คลังชงครม.ขอหลักการกู้นอก

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแนวทางการกู้เงินต่างประเทศ ว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ กระทรวงการคลังจะขออนุมัติหลักการเพื่อไปทาบทาม ต้องทำไว้เพื่อให้มีความพร้อม แต่ยังไม่มีการพูดถึงรายละเอียด ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลต้องกู้เงินจากต่างประเทศใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นคนไม่ประมาท ในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนและมีความจำเป็น หากจะไปคิดและตัดสินใจตอนนั้นมันไม่ทัน สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการมีอะไรบางอย่างไว้ในกระเป๋า ส่วนจะใช้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ

 

ส่วนกระแสข่าวเงินคงคลังร่อยหรอ นายกฯกล่าวว่า เงินคงคลังที่พูดถึงหมายถึงการถือดุลเงินสดไว้สำหรับบริหารจัดการ หลักคือต้องถือไว้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างน้อยต้องเพียงพอสำหรับรายจ่ายประจำ เงินเดือน แต่ในภาวะเช่นนี้ไม่ควรถือไว้มากเกิน ขอยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เราสามารถบริหารจัดการได้ ขอให้มั่นใจว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานะของประเทศ หรือฐานะของรัฐบาล ยังมีเงินพอจ่ายเงินเดือนข้าราชการ

 

เล็งกู้6-7หมื่นล.ทำเมกะโปรเจ็คต์

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในส่วนของเงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสังคม ที่จะขอกู้จากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในโครงการที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวม เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็คต์) ซึ่งสามารถทำได้ตามกรอบการกู้ยืมเงินที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินจากธนาคารโลกครั้งนี้จะใกล้เคียงกับที่รัฐบาลกู้ยืมตราสารหนี้  

 

นายกรณ์กล่าวถึงงบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการงบประมาณ คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากต้องเร่งใส่เงินเข้าไปในระบบ จากนั้นจะประเมินผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายนว่าได้ผลอย่างไรและจะต้องใช้งบฯอื่นๆ มากระตุ้นอีกหรือไม่

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาเม็ดเงิน short term facility จำนวน 2 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเครื่องมือกรณีที่รัฐวิสาหกิจต้องการเงินกู้เพิ่มเติม ว่า หากรัฐวิสาหกิจมีการขอใช้วงเงินกู้เต็มจำนวน 2 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเปิดวงเงินเอาไว้ให้ จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่เชื่อว่ารัฐวิสาหกิจคงไม่ขอกู้จนเต็มวงเงิน

 

กกร.หนุนรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม

วันเดียวกัน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมว่า ประธานทั้ง 3 สถาบันมีความเห็นสอดคล้องกัน เรื่องงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าอาจจะไม่เพียงพอ อาจต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากแผนที่กระทรวงการคลังเสนอกู้ 2.7 แสนล้านบาท หากมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อกู้เพิ่มก็ควรทำ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อให้นำเงินทุนสำรองของประเทศมาใช้เป็นการชั่วคราวได้

 

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหารุนแรง การนำเงินงบประมาณออกมาใช้ จนเงินคงคลังลดต่ำลงมาก ต้องมีการกู้เงินเพิ่ม ถือเป็นเรื่องปกติ เราเกรงว่าเงินที่จะกู้มาอาจจะไม่พอด้วยซ้ำ รัฐบาลน่าจะกู้เพิ่มเพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญว่าต้องใช้เงินมากพอ ไม่อย่างนั้นการกระตุ้นก็ไม่มีความหมาย การกู้หนี้ในภาวะปกติ อาจจะทำให้กังวล แต่ขณะนี้การเป็นหนี้ จำเป็นต้องทำ เพราะถ้ากลัวการสร้างหนี้ ก็แก้ปัญหาไม่ได้

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนสนับสนุนการกู้ ส่วนจะกู้เพิ่มมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องรอประเมินการใช้งบกลาง 1 แสนล้านบาท ว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด คาดว่าหลังเดือนเมษายน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องหาเงินมาเพิ่ม

 

"กรณ์" ยันเงินคงคลังลด-ต้นทุนต่ำ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเงินคงคลังลดลง ว่า ในการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เงินคงคลังจะลดลง และถือเป็นการบริหารเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีต้นทุนต่ำ เพราะเงินทุกบาทที่เก็บไว้มีภาระต้นทุนดอกเบี้ยถ้าเก็บไว้มากนอกจากจะไม่ได้สร้างประโยชน์แล้ว ยังถือเป็นต้นทุนต้องจ่ายโดยไม่จำเป็น ยืนยันว่าเงินคงคลังที่ลดลงนั้นไม่ได้สร้างปัญหาต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาล โดยรัฐบาลยังมีรายได้จากเงินภาษีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะเข้ามาเป็นช่วงๆ แต่ภาษีนิติบุคคลล็อตใหญ่จะเข้ามาในเดือนพฤษภาคม

 

"ในการบริหารงบประมาณจะต้องทำให้มีเงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนซึ่งในระดับปัจจุบันถือว่าเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงมากเพราะต้นทุนการเงินไม่สูงมากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้สร้างปัญหาต่อการเบิกจ่าย แต่หากถือเงินสดไว้มากเกินไปและมีภาระดอกเบี้ยไม่ถือเป็นการบริหารจัดการที่ดี"นายกรณ์กล่าว และว่า ไม่ควรมีความกังวลใดๆ เพราะเป็นการบริหารงบประมาณให้มีต้นทุนต่อประเทศน้อยที่สุด

 

กรมบัญชีกลางยันคงคลังไร้ปัญหา

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้เงินคงคลังที่มีอยู่ประมาณ 52,000 ล้านบาท เพียงพอกับการบริหารจ่ายเงินภายในประเทศในระยะ 1 เดือนต่อจากนี้แน่นอน เพราะการบริหารที่ผ่านมาจะมองไปข้างหน้าตั้งแต่ 2 สัปดาห์-1 เดือน คือดูเงินคงคลังให้เพียงพอกับสถานการณ์ โดยประเมินจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าออกในแต่ละเดือนให้สอดคล้องกัน ในกรณีที่เห็นว่าจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายก็จะกู้เพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งอยู่ในรูปตั๋วเงินคลัง ที่เป็นการกู้เงินระยะสั้น ซึ่งสามารถทำได้ภายใน 2 สัปดาห์

 

"เงินคงคลังเป็นเพียงการแสดงสถานะทางการเงินในระยะหนึ่งเท่านั้น โดยเงินคงคลังที่เรามีเยอะที่สุด คือปี 2538-2539 ที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัว 2 หลัก การจัดเก็บรายได้ทะลุเป้าหมาย จนส่งผลให้เงินคงคลังมีสูงถึง 4 แสนล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินคงคลังที่เหลืออยู่น้อยที่สุดคือปี 2549 เป็นปีที่เราถังแตกของจริง คือเหลือเงินคงคลังเพียง 20,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เคยติดลบ และยืนยันว่าเงินคงคลังไม่สามารถติดลบได้ ดังนั้น กรมบัญชีกลางขอยืนยันว่าเราไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะมีบทเรียนจากปี 2549 แล้ว"แหล่งข่าวกล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีคณะกรรมการบริหารเงินคงคลัง จะมีการประชุมทุกไตรมาส แต่เพื่อให้ทันกับสถานการณ์จึงปรับให้มีการประชุมร่วมกันในทุกเดือน พร้อมทำรายงานสถานะเงินคงคลังรายงานต่อปลัดกระทรวงการคลังทุกวัน

 

"ทนง" แนะอัด 5 แสนล.กระตุ้นศก.

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบรรยายในหัวข้อ "อุดมการณ์และแนวทางสู่ความสำเร็จของพรรค" ในระหว่างการประชุมสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมกรีนเนอร์รี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ถึงเศรษฐกิจไทยเวลานี้ว่า กำลังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะแย่ที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  โดยการส่งออกไทยหายไปร้อยละ 15 หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท เมื่อหักลบต้นทุนการผลิตแล้วรายได้ของไทยหายไป 5 แสนล้านบาท การแก้ไขปัญหาจะต้องอัดฉีดงบประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเท่าเดิม ขณะนี้สมรรถนะการใช้เครื่องจักรลดลงเร็วมากเหลืออยู่ที่ร้อยละ 50-60 เกือบจะเท่าช่วงวงิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้น รัฐบาลจะไปหวังการลงทุนใหม่ๆ ไม่ได้ เพราะการผลิตเท่าที่มีอยู่ยังไม่มีคนซื้อเลย เศรษฐกิจจะติดลบไปอีก 2 ไตรมาส คงจะยังโงหัวไม่ขึ้น ดังนั้น เมื่อเราเป็นฝ่ายค้านแล้วอัดเขาได้เต็มที่ในประเด็นนี้

 

กลไกสำคัญคือกลไกการทำลายตัวเอง คือผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดจากการปฏิวัติ การปิดสนามบิน ที่ส่งผลกระทบชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะกลั่นแกล้งเราให้ได้ จนตอนนี้กลายเป็นตัวเองยังไม่มีทางออก ผูกปมฆ่าคน วันนี้ปมนั่นมันเริ่มที่จะฆ่าตัวเองแล้ว นายทนงกล่าว และว่า โครงการประชานิยมของรัฐบาลแบบสุดขั้วอย่างนี้ เป็นการเกาที่ไม่ถูกที่คัน หากรัฐบาลยังไม่มีกลยุทธ์แก้ไขปัญหาอย่างองค์รวมจะลำบากมาก

 

เงินเฟ้อม.ค.ติดลบ 0.4 % รอบ 9 ปี

วันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนมกราคม โดยนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมกราคม 2552 เท่ากับ 102.1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนธันวาคม 2551 แต่เมื่อเทียบเดือนมกราคม 2551 ลดลง 0.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปีจากเดือนตุลาคม 2542 ที่ติดลบ 0.4% ทั้งนี้ เนื่องจากฐานเงินเฟ้อในปี 2551 สูงจากภาวะราคาน้ำมันปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น 100% ทำให้เดือนมกราคมปีนี้ หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ติดลบ 8% โดยเฉพาะการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 32.4% ค่าโดยสาธารณะลดลง 8.7% ส่วนดัชนีราคาอาหารและเครื่องดื่มยังสูงขึ้น 11.7% โดยเฉพาะราคาแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก-ผลไม้ และอาหารบริโภคในบ้าน

 

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) เท่ากับ 102.4 ลดลง 0.1% จากเดือนธันวาคม 2551 แต่สูงขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเดือนมกราคม 2551 เนื่องจากการลดลงของค่าโดยสารสาธารณะ เครื่องประกอบอาหาร

 

"พาณิชย์" ยันไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด

นายศิริพลกล่าวว่า มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบในไตรมาส 1 และ 2 ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในครึ่งปีหลัง หากพิจารณาบนฐานราคาน้ำมันและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีขึ้น จึงมีการปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อจากเดิม 0-1.2% เป็น 0-0.5% โดยพิจารณาบนสมมุติฐานราคาน้ำมัน 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐ

 

"ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อปรับลดจากราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่มีราคาสูงมากในปีก่อน แต่ตอนนี้เป็นการลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ กำลังซื้อยังมีอยู่ และอัตราการว่างงานก็ยังไม่สูง อยู่ระดับ 1.2% หรือประมาณ 5 แสนคน การว่างงานในอัตรา 3-5% ถือว่าเป็นอัตราธรรมดา ดูจากอัตราว่างงานในเอเชีย 3.5% ในญี่ปุ่น 3.7% ส่วนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ย่อมมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่ราคาก็ยังอยู่ต่ำกว่าสมมติฐานที่จะกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่ม โดยขณะนี้ราคาน้ำมันดูไบ 44 เหรียญ/บาร์เรล ห่างจากสมมุติฐาน 50-60 เหรียญสหรัฐ" นายศิริพลกล่าว

 

ม.หอการค้าชี้เงินฝืดทางเทคนิค

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางเทคนิคถือว่าตอนนี้เป็นภาวะเงินฝืดเพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นเดือนแรกที่ติดลบ 0.4% แต่เมื่อดูดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งหักกลุ่มอาหารและพลังงานยังสูง 1.6% สะท้อนถึงกำลังซื้อประชาชนยังมีอยู่ แต่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบเพราะฐานน้ำมันและราคาสินค้าในปีก่อนสูงมาก และแม้เงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่องไปครึ่งปี แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัว และ 5 มาตรการ 6 เดือนลดค่าครองชีพประชาชนสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ก็จะทำให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพประชาชนเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เงินเฟ้อเป็นบวกอีกครั้ง ดังนั้น ไม่เป็นภาวะที่น่ากังวล

 

วางกรอบงบฯจังหวัดเน้นกระตุ้นศก.

วันเดียวกัน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) นัดแรก ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตามพระราชกฤษฎี (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 และกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่เบื้องต้นรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ให้จังหวัดต่างๆ รวม 5 หมื่นล้านบาท 

 

นายทศพรกล่าวว่า การพิจารณาแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด นอกจากเรื่องคุณภาพในการจัดทำแผนแล้ว ยังจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมด้วยว่าแผนที่เสนอมาจากต้องสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 18 ประการของรัฐบาล ที่แถลงต่อสภา และต้องมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ อาทิ เรื่องการจ้างงาน

 

"ก.น.จ.นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 6 มีนาคม ดังนั้น จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะมีเวลาไปจัดทำแผนงานตามเงื่อนไขที่กำหนดกลับเข้ามาให้พิจารณา หากจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไม่จัดทำแผนงานมาตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็อาจจะมีปัญหาต่องบประมาณที่จะได้รับการจัดสรรด้วย" นายทศพรระบุ

 

 

เรียบเรียงจาก : มติชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท