Skip to main content
sharethis

อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


 


คำรามจากปากกระบอกปืนดังรัวขึ้นชุดหนึ่งที่หน้ามัสยิดบ้านกาหยี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อเลยเวลาพระอาทิตย์ตรงหัวไปเล็กน้อยของวันศุกร์ปลายสัปดาห์ ที่ปกติพี่น้องมุสลิมจะทำละหมาดใหญ่ร่วมกัน ร่างของชายวัยกลางคนล้มคว่ำลง เขากลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดของความรุนแรงที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนกำหนด...


 


12.30 น.วันที่ 30 ม.ค.2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สายบุรี รับแจ้งว่ามีเหตุใช้อาวุธปืนบริเวณหน้ามัสยิดบ้านกาหยี จึงรีบนำกำลังเข้าตรวจสอบ แต่เมื่อไปถึงก็พบเพียงสีแดงฉานของโลหิต และรถจักรยานยนต์ที่จอดสงบนิ่งอยู่ แต่ไร้ร่างเหยื่อกระสุน


 


สอบถามชาวบ้านในละแวกที่เกิดเหตุจึงทราบว่า ชายที่ถูกยิงนั้นเสียชีวิตแล้ว เขาคือ อับดุลการิม ยูโซ๊ะ อิหม่ามวัย 42 ปีประจำมัสยิดบ้านกาหยี...สถานที่ที่เขาถูกปลิดชีพนั่นเอง บ้านของเขาอยู่เลขที่ 167/1 ต.ตะลุบัน ไม่ไกลจากมัสยิดมากนัก


 


พยานบางคนที่เห็นเหตุการณ์ ให้การกับตำรวจว่า ก่อนเกิดเหตุไม่กี่อึดใจ อิหม่ามกำลังจอดรถจักรยานยนต์ หน้ามัสยิด เพื่อขึ้นไปนำละหมาดวันศุกร์ จังหวะนั้นเองมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนขับรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าสี่ประตูสีขาวมาจอดใกล้ๆ และคนในรถได้ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงใส่อิหม่ามแบบไม่ยั้ง กระสุนถูกบริเวณลำตัวและศีรษะ ร่างของอิหม่ามทรุดฮวบลงและสิ้นใจในเวลาต่อมา ขณะที่รถยนต์มรณะเร่งเครื่องแล่นหายไปอย่างรวดเร็ว 


 


จากข้อมูลที่ได้ ดูเหมือนไม่มีปมอะไรอีกแล้วนอกจากเร่งสืบหาตัวกลุ่มคนร้ายเพื่อจับกุมมาดำเนินคดี เพราะศพผู้ตายก็มีญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาโดยไม่ได้ส่งชันสูตรตามขั้นตอนของกฎหมาย ทว่าเรื่องร้ายไม่ได้ยุติเพียงแค่สิ้นเสียงปืน เนื่องจากสุ้มเสียงที่เล็ดลอดจากชาวบ้านในละแวกบ้านกาหยีล้วนสงสัยว่า เหตุรุนแรงกับผู้นำศาสนาที่พวกเขาเคารพครั้งนี้ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่?


 


ข้อสังเกตหนึ่งที่ดูจะมีน้ำหนักมากในความรู้สึกของชาวบ้านก็คือ ก่อนที่อิหม่ามจะถูกยิง เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง และอิหม่ามก็เพิ่งพ้นคุกออกมาได้ไม่นานนี้เอง


 


บูคอรี ลูกศิษย์ของอิหม่ามอับดุลการิม ซึ่งขอไม่เปิดเผยนามสกุล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุเขาอยู่ที่บ้านของอิหม่ามเพื่อช่วยทำอาซูรอ (ขนมตามเทศกาล) จู่ๆ ก็มีเพื่อนบ้านวิ่งมาบอกว่า อิหม่ามโดนยิงที่มัสยิด 


 


"ผมได้ยินก็ตกใจ ทิ้งงานตรงหน้าและออกวิ่งไปมัสยิดทันที ไปถึงก็ถามเพื่อนๆ ที่เห็นเหตุการณ์ว่าอิหม่ามโดนยิงอย่างไร และคนร้ายมาในลักษณะไหน เพื่อนเล่าว่าคนร้ายมาด้วยรถกระบะ ขณะที่อิหม่ามจอดรถจักรยานยนต์และคุยกับลูกบ้านอยู่บนระเบียงมัสยิด คนร้ายได้ขับรถกระบะยี่ห้อโต้โยต้าสี่ประตูสีขาวมาจอด จากนั้นคนในรถก็กราดอาวุธสงครามใส่ ถูกอิหม่าม 4 นัดเสียชีวิตทันที" 


 


"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านกาหยีหลายคนมองเห็นคนร้าย เพราะมัสยิดตั้งอยู่ตรงสามแยกพอดี ส่วนโรงเรียนก็อยู่ห่างกันไม่มาก เมื่อยิงเสร็จคนในรถก็รีบเร่งเครื่องขับหนีไปเลย" 


บูคอรี บอกด้วยว่า หลังเกิดเหตุชาวบ้านจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ส่วนใหญ่สงสัยว่าสาเหตุที่อิหม่ามถูกยิงเกี่ยวข้องกับคดีครอบครองอาวุธสงครามที่ศาลเพิ่งยกฟ้องหรือไม่ เพราะหลังจากที่อิหม่ามได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ก็เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มใหญ่ซึ่งรับผิดชอบอยู่ในพื้นที่นี้มาที่บ้านของอิหม่าม แต่ละคนถืออาวุธครบมือ 


 


"ครั้งนั้นผมก็อยู่ด้วย พอเห็นเจ้าหน้าที่มากันเยอะ อิหม่ามก็ถามไปว่ามาทำอะไรกัน มีอะไรอีกหรือเปล่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าแค่มาเยี่ยมตามปกติ และหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาแถวบ้านอิหม่ามอีกหลายครั้ง" 


         


ส่วนสาเหตุที่ภรรยาและญาติของอิหม่ามไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่นำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาล บูคอรี บอกว่า เพราะครอบครัวของอิหม่ามไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ประกอบกับอารมณ์โกรธ จึงทำพิธีทางศาสนาและนำศพไปฝังที่สุสานทันที 


 


ชายอีกคนจากต่างหมู่บ้านซึ่งมาสังเกตการณ์และไม่ขอเปิดเผยชื่อ เล่าว่า หลังจากอิหม่ามอับดุลการิมถูกยิง มีวัยรุ่น 2-3 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ช่วยกันนำศพวิ่งไปทางบ้านของอิหม่าม จากนั้นไม่นานก็มีชาวบ้านร่วมกันแห่ศพอิหม่ามเพื่อไปทำพิธีฝังทีกุโบร์ (สุสาน)


 


"คนแถบนี้ให้ความนับถืออิหม่ามอับดุลการิมมาก เพราะก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศปากีสถาน เขาเคยอาสาเป็นครูสอนพละของโรงเรียนปอเนาะสายบุรีอิสลาม และสอนอัลกุรอานให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างมัสยิดบ้านกาหยีจนชาวบ้านพร้อมใจกันแต่งตั้งให้เป็นอิหม่ามไปโดยปริยายโดยที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังไม่ทราบ เนื่องจากมัสยิดเพิ่งสร้างเสร็จ นอกจากนี้เขายังมีโรคประจำตัวคือเบาหวาน" ชายจากต่างหมู่บ้านให้ข้อมูล 


 


ด้านทนายความที่ว่าความให้กับอิหม่ามอับดุลการิมในคดีครอบครองอาวุธสงคราม ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเช่นกัน เผยถึงรายละเอียดของคดีว่า อิหม่ามอับดุลการิมถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2550 ในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง และถูกคุมขังตลอดการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2551 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ 


"อาวุธปืนเป็นของใครมันขยายความยาก ศาลจึงยกฟ้อง ขณะนี้อัยการกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ คดีจึงยังไม่สิ้นสุด แต่ในมุมมองของชาวบ้านเมื่อเกิดเหตุในลักษณะแบบนี้ แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ต้องเป็นฝ่ายติดลบ เพราะในแง่ที่เคยถูกจับและเพิ่งออกจากเรือนจำมา อิหม่ามต้องเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" 


 


ทนายความยังบอกด้วยว่า เมื่อไม่นานมานี้ อิหม่ามอับดุลการิมเพิ่งมาสอบถามถึงเรื่องเงินชดเชยที่ควรได้รับจากการที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังนานกว่า 1 ปีแต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง 


 


"ผมได้อธิบายไปว่า เราจะได้หรือไม่ได้เงินชดเชย ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน แต่กรณีของอิหม่ามคดียังไม่สิ้นสุด จึงยังดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องเงินชดเชยไม่ได้ หลังจากวันที่อิหม่ามมาถาม ก็ไม่ได้พูดคุยกันอีกเลยจนได้ข่าวว่าเขาถูกยิง" 


 


สำหรับความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง พ.ต.อ.วัลลภ จำนงอาชา ผู้กำกับการ สภ.สายบุรี มองคนละมุมกับชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง และยืนยันถึงแนวทางการทำงานที่เน้นงานมวลชน


 


"ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังพยายามทำงานด้านมวลชน ด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนายอับดุลการิม อิหม่ามบ้านกาหยีก็คือหนึ่งในนั้นที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปดูแลและติดตาม เพราเคยถูกควบคุมตัวในคดีครอบครองอาวุธสงคราม ที่ผ่านมาเราก็ได้เข้าไปพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้อาจเป็นต้นเหตุทำให้ฝ่ายตรงข้ามให้ความสำคัญว่า นายอับดุลการิมมาช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานหรือไม่" 


 


"ผมคิดว่าสาเหตุของการถูกยิงน่าจะเกิดจากกรณีนี้มากกว่าที่เจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายลงมือ เพราะไม่มีเหตุผลเลยที่เจ้าหน้าที่จะทำ เนื่องจากนายอับดุลการิมไม่ใช่คนสำคัญหรือถูกดำเนินคดีร้ายแรงมากมาย เขาไม่ได้ไปสะสมอาวุธสงคราม ในพื้นที่นี้ยังมีอีกหลายคนที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันคือการสร้างความแตกแยกและสร้างเงื่อนไขเท่านั้นเอง" 


 


น่าสนใจว่าในความเชื่อของผู้กำกับการ สภ.สายบุรี มั่นใจว่าคนร้ายที่ก่อเหตุใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ


 


"ถ้าคนร้ายนั่งรถกระบะมาจริงผมว่าไม่รอดแน่ เพราะทุกเส้นทางมีการตรวจค้นอย่างเข้มงวด ทั้งสายปะนาเระ (อำเภอต่อเนื่องกับสายบุรี อยู่ในเขต จ.ปัตตานี) หรือทางไป จ.นราธิวาส หรือแม้แต่ อ.ไม่แก่น (อีกอำเภอหนึ่งที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน อยู่ในเขต จ.ปัตตานี) ฉะนั้นคาดว่าคนร้ายน่าจะใช้รถจักรยานยนต์ เจ้าหน้าที่ถึงไม่สามารถจับกุมได้" 


 


อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.วัลลภ บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะเร่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำผลตรวจหลักฐานในที่เกิดเหตุ และผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ส่งมาโดยเร็ว เพราะหลักฐานเหล่านี้เชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่าง จะได้นำไปชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และเร่งทำงานมวลชนเพื่อสร้างความสงบสุขในพื้นที่ต่อไป 


 


แน่นอนว่าการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ คงไม่สามารถไขปริศนาได้ว่า กลุ่มบุคคลที่ใช้อาวุธสงครามกราดยิงอิหม่ามอับดุลการิมคือใคร ฝ่ายไหน...แต่ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในห้วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกตั้งคำถามและถูกมองอย่างกังขาจากชาวบ้าน


 


เพราะเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง ก็เกิดสถานการณ์อึมครึมและค้างคาใจที่บ้านบาโงกาบู หมู่ 4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จากการเสียชีวิตของ นายอับดุลอาซิ คงเถียร อายุ 30 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าผู้ตายยิงต่อสู้ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ เพราะผู้ตายเป็นคนพิการ มือลีบทั้งสองข้าง ไม่น่าจะหยิบหรือเหนี่ยวไกปืนได้


 


แม้หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีจะนำทหารที่อ้างว่าถูกผู้ตายยิงออกมาแถลงข่าว และเปิดเผยผลตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าผู้ตายน่าจะใช้ปืนได้ เพราะด้ามปืนมีการดัดแปลงให้เล็กกว่าปกติ แต่ก็ดูจะไม่ได้ทำให้ความคลางแคลงใจลดลงมากนัก (อ่าน "ค้นความจริงที่เมาะมาวี สางปมเจ้าหน้าที่ยิงคนพิการ?" และ "ฉก.ปัตตานีสรุปหลักฐานนิติวิทย์ ไขปมคาใจที่เมาะมาวี" ในเว็บอิศรา) 


 


ผ่านมาไม่ถึง 15 วัน เจ้าหน้าที่รัฐก็มาถูกตั้งคำถามอีกครั้งที่สายบุรี ด้วยข้อหาฉกรรจ์ยิ่งกว่าที่ยะรัง...


 


ถือเป็นงานที่หนักหนาสาหัสไม่เบาทีเดียวหากฝ่ายรัฐจะสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้!


 


เอ็กซเรย์สายบุรี-เหตุร้ายถี่ยิบ


จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติเหตุร้ายที่เกิดขึ้นใน อ.สายบุรี พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่แห่งนี้ไม่ต่างไปจาก อ.ยะรัง เท่าใดนัก กล่าวคือ อ.ยะรัง กับสายบุรี เป็นสองอำเภอที่มีสถิติการก่อความไม่สงบสูงที่สุดของ จ.ปัตตานี ตลอดปี 2551 ที่ผ่านมา โดย อ.ยะรัง มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 70 ครั้ง ส่วนสายบุรี 54 ครั้ง 


 


ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง สองอำเภอนี้คือพื้นที่ "สีแดงจัด" ไม่ต่างอะไรกับหลายๆ อำเภอของ จ.ยะลา และนราธิวาส ที่เคยเป็นเส้นทางของคลื่นความรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 กล่าวสำหรับ อ.สายบุรี ในห้วงเวลาไม่ถึง 10 วันช่วงปักษ์หลังของเดือน ธ.ค.2551 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแทบทุกวัน...


29 ธ.ค. คนร้ายจ่อยิง นางโสธิดา สร้อยแก้ว อายุ 26 ปี และ นายสุธรรม ทวีศรี อายุ 41 ปี อาหลานพนักงานบริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) ประจำ อ.สายบุรี ขณะนั่งอยู่บนรถยนต์บริเวณจุดกลับรถบ้านมะนังดาลัม ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) หมู่ 1 ต.มะนังดาลัม อ.สายบุรี เสียชีวิตทั้งคู่ 


 


25 ธ.ค. คนร้ายประกบยิง ร.ต.ต.มาหาหมัดสาเหด อัลยุฟรี อายุ 46 ปี รองสารวัตรสืบสวน สภ.สายบุรี ขณะขี่รถจักรยานยนต์สายตรวจของโรงพักออกจากชุมชนในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี เสียชีวิตคาถนน 


 


24 ธ.ค. คนร้ายลอบวางระเบิดภายในโรงเรียนบ้านจะเฆ่ หมู่ 2 ต.แป้น อ.สายบุรี เพื่อดักสังหารทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 26 จำนวน 6 นาย ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองครู ขณะกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ที่ม้านั่งหินอ่อนภายในโรงเรียน แรงระเบิดทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย


 


22 ธ.ค. เกิดเหตุคนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดร้อย ร.4409 กรมทหารพรานที่ 44 ซึ่งเป็นชุดคุ้มครองรถรับส่งนักเรียน บนทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่บ้านวังชัย ต.ละหาร อ.สายบุรี เป็นเหตุให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 นาย 


 


21 ธ.ค. คนร้ายลอบวางระเบิดที่ศาลาริมทาง บริเวณสามแยกบ้านทุ่งน้อย หมู่ 1 ต.ละหาร อ.สายบุรี เพื่อดักสังหารทหารพรานชุดลาดตระเวนที่มักแวะนั่งพักที่ศาลาริมทางแห่งนี้เป็นประจำ แรงระเบิดทำให้อาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 1 นาย


 


ดูสถิติแล้วคงต้องย้ำอีกครั้งว่า เป็นงานหนักเอาการหากจะยุติสถานการณ์ความรุนแรงที่สายบุรีให้ได้อย่างยั่งยืน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net