Skip to main content
sharethis

สรส. เคลื่อนพล ตบเท้าพบส.ส.สงขลา ยื่นหนังสือต้านแปรรูปประปาหาดใหญ่ เตรียมเดินสายพบผู้ใช้น้ำ พนักงานประปาแจงตัวเลขต้นทุน ระบุชัดจัดจ้างเอกชนใช้เงินมากกว่ากการประปาฯผลิตน้ำเอง "พันธมิตรสงขลา" ฮือต้านแปรรูปประปาหาดใหญ่ชี้ เป็นภัยร้ายจากกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาหาดใหญ่
 
นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา จะเข้าพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปประปาหาดใหญ่ ตามนโยบายของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยหลังจากนี้ จะออกพบปะผู้ใช้น้ำประปาตามที่ต่างๆ เช่น ตำบลน้ำน้อย ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม อำเภอสิงหนคร อำเภอเมืองสงขลา เป็นต้น เพื่อรณรงค์ให้ออกมาคัดค้านการแปรรูปประปาหาดใหญ่
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 พนักงานสำนักงานประปาหาดใหญ่จำนวน 37 คน ได้ยื่นหนังสือต่อสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แสดงเจตนารมณ์คัดค้านการจ้างเอกชนมาบริหารจัดการผลิตน้ำประปา และบำรุงรักษาระบบประปาหาดใหญ่
 
หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า พนักงานสำนักงานประปาหาดใหญ่รับทราบจากบันทึกการประปาส่วนภูมิภาค ที่ มท 55101-3/155 ลว. 14 กค. 51 เรื่องขออนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณค่าจ้างในการบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปา ระหว่างปีงบประมาณ 2552 - 2554 โดยกำหนดกรอบเวลาการจ้างให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552
 
พนักงานสำนักงานประปาหาดใหญ่พิจารณาแล้ว เห็นว่าภายหลังจากบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ จะเกิดผลกระทบ 6 ประเด็น ประกอบด้วย ผลกระทบต่อพนักงาน ที่อาจจะต้องโยกย้ายไปปฏิบัติงานในสำนักงานประปาแห่งอื่น หรือต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ตรงกับตำแหน่ง ขาดความก้าวหน้าในอาชีพ หรือต้องแยกกันอยู่กับครอบครัว มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงได้ว่า การประปาส่วนภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากการจัดจ้างเอกชนมาดำเนินการ มากกว่าที่การประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการเอง
 
นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่บริษัทเอกชนใช้ในการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปาทั้งหมด เป็นทรัพย์สินของการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนทั้งชาติจัดซื้อจัดหา เท่ากับเป็นการนำทรัพย์สินของประชาชน ให้คนบางกลุ่มใช้ประโยชน์ โดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดจ้างให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการน้ำประปา
 
เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบของประปาหาดใหญ่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ และผู้มีความรู้เฉพาะในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะช่วงเกิดภัยแล้ง ถึงแม้จะจัดจ้างเอกชนเข้ามาผลิตน้ำประปา ภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำดิบของประปาหาดใหญ่ ก็จะยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาคต่อไป
 
เมื่อเกิดปัญหาคุณภาพน้ำ หรือปัญหาปริมาณการจ่ายน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ การประปาส่วนภูมิภาคในฐานะผู้รับผิดชอบผลิตน้ำประปา ยังคงต้องเข้าไปแก้ไขและชี้แจงผู้ใช้น้ำเอง เนื่องจากปัญหาดังกล่าว อาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของการประปาส่วนภูมิภาค ขณะที่บริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดจ้างมา ไม่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว
 
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่าย ระหว่างการผลิตน้ำประปาโดยพนักงานการประส่วนภูมิภาค กับการผลิตน้ำโดยจัดจ้างบริษัทเอกชน เมื่อพิจารณาจากงบประมาณปี 2552 ซึ่งได้รับการจัดสรรมาทั้งสิ้น 40,363, 190 บาท และใช้จ่ายไปแล้วในช่วง 3 เดือนแรก 10,591,379 บาท ยังคงเหลืองบประมาณสำหรับใช้จ่ายในช่วง 9 เดือนที่เหลืออีก 29,771,711 บาท จะพบว่าหากดำเนินการโดยพนักงานการประปาส่วนภูมิภาคในช่วง 9 เดือนที่เหลือ (มกราคม 2552 - กันยายน 2552) จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,530,460 บาทต่อเดือน อยู่ในวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ ขณะที่ให้บริษัทเอกชนดำเนินการ ในช่วง 9 เดือนที่เหลือ (มกราคม 2552 - กันยายน 2552) จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,410,441 บาท รวมเป็นเงิน 39,693,969 บาท หมายความว่าการประปาส่วนภูมิภาค จะต้องของบประมาณจัดจ้างบริษัทเอกชนเพิ่มเติมอีก 9,922,158 บาท
 
 
 
นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ แกนนำประชาคมสงขลา
 
นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ แกนนำประชาคมสงขลา ผู้คัดค้านการแปรรูปประปาหาดใหญ่ กล่าวว่า ตนจะเน้นการให้ความรู้เป็นหลัก โดยจะเดินสายบรรยายตามสถานที่ต่างๆ สาเหตุที่ออกมาคัดค้าน เพราะการประปาส่วนภูมิภาค เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน อยู่ในสาขาสาธารณูปการ ซึ่งรัฐจะต้องไม่แสวงหากำไรจากการให้บริการประชาชนของรัฐวิสาหกิจสาขานี้ ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องลงทุนและยอมขาดทุนเพื่อให้บริการประชาชนได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง ในราคาที่ไม่แพง เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต
 
นายแพทย์อนันต์ กล่าวต่อไปว่า การแปรรูปให้ผูกขาดน้ำประปา อาจนำไปสู่การผูกขาดการบริหารจัดการแม่น้ำด้วย เพราะการผลิตน้ำประปาต้องนำน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ประปาหาดใหญ่ก็ใช้น้ำดิบจากคลองอู่ตะเภา ซึ่งตอนนี้มีปัญหาน้ำเสีย เอกชนอาจจะขอเงินเพิ่ม เพื่อนำมาใช้ในการบำบัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถ้ารัฐไม่ให้ก็เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำ หากน้ำประปาแพงขึ้น ขณะที่คุณภาพต่ำลง เท่ากับผลักให้ประชาชนหันไปใช้น้ำขวดหรือน้ำถังในราคาแพง
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ที่ลานสถานีรถไฟหาดใหญ่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดสงขลา ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ทำไมประปาหาดใหญ่ต้องให้เอกชนผลิต?" มีนักวิชาการ พนักงานสำนักงานประปาหาดใหญ่ และประชาชนเข้าร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง
 
นพ.อนันต์ กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทย เริ่มเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากที่ไทยตกเป็นหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเทศลูกหนี้รายใด ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะถูกบีบบังคับให้นำรัฐวิสาหกิจมาแปรรูปเพื่อตัดภาระของรัฐบาล และสร้างกำไรให้กับกลุ่มทุน ทั้งในและนอกประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
 
นพ.อนันต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยมีการแปรรูปในหลายกิจการ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและความมั่นคงของชาติ และขัดต่อข้อกฎหมายของไทย โดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในขณะนั้น ได้ออกกฎหมาย 11 ฉบับ เพื่อรองรับการแปรรูปที่จะเกิดขึ้น ตามข้อบังคับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่เรียกกันว่ากฎหมายขายชาติ ถึงแม้จะสิ้นสุดยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย ผลของกฎหมายก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน
 
นพ.อนันต์ กล่าวอีกว่า วิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะกิจการให้บริการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กิจการรถไฟ กิจการไฟฟ้า กิจการน้ำประปา หากตกไปอยู่ในมือของเอกชน ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เช่น อาจมีการปรับเปลี่ยนราคาให้สูงขึ้น กิจการเหล่านี้รัฐจะต้องดูแลเอง ถึงแม้จะขาดทุน รัฐต้องเข้าอุ้มชู เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงการให้บริการ การว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้สำนักงานการประปาหาดใหญ่ จะส่งกระทบต่อประชาชนโดยตรง ในระยะยาวคุณภาพน้ำประปาจะลดต่ำลง เพราะการให้เอกชนเข้ามารับช่วงต่อ เอกชนจะคำนึงถึงกำไรสูงสุดเป็นหลัก
 
"ที่อ้างว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ โดยให้เหตุผลว่าเอกชนเข้ามาแล้ว จะผลิตน้ำประปาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการเอง ผู้บริหารให้ข้อมูลด้านเดียว บอกแต่เพียงว่าหากเอกชนดูแลไม่ดี รัฐบาลจะนำกิจการกลับมาดำเนินการเอง โดยไม่พูดถึงข้อผูกมัดในสัญญาที่รัฐเสียเปรียบ การจัดจ้างเอกชนให้ผลิตน้ำประปา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแปรรูปด้วยการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย" นพ.อนันต์กล่าว
 
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล อนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา วุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการผลิตน้ำประปาในอำเภอหาดใหญ่ มีน้ำสายหลักที่สำนักงานการประปาหาดใหญ่ดึงมาผลิตน้ำประปา คือ ต้นน้ำอู่ตะเภา ซึ่งเป็นต้นน้ำสายหลักของชาวหาดใหญ่ จากการที่ตนเฝ้าศึกษาภาวะน้ำที่ผ่านมา ต้นน้ำอู่ตะเภาถูกทำลายมากแล้ว สาเหตุหลักมาจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับต้นน้ำ มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงสู่แม่น้ำลำคลอง
 
รศ.ดร.เริงชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ชุมชนต้นน้ำเอง ก็ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ลำน้ำ ปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง เมื่อมีของเสียสะสมอยู่ในแม่น้ำลำคลองเยอะ ต่อไปในอนาคตจะเข้าสู่ภาวะขาดเเคลนน้ำจืด ตามด้วยสภาวะการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ทั้งในส่วนของการผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมือง น้ำเพื่อการเกษตร น้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรม ยิ่งมีการแปรรูปธุรกิจน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน จะยิ่งทำให้คนยากจนเข้าถึงน้ำยากขึ้น เช่น ประเทศอาร์เจนตินา มีแม่ลูกคู่หนึ่งนอนกอดกันตาย เพราะไม่มีเงินซื้อน้ำประทังชีวิต
 
"เรื่องน้ำประปาไม่ใช่เรื่องของการประปาส่วนภูมิภาคเท่านั้น มีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ เมื่อบริษัทเอกชนเข้ามาดูแลผลิตน้ำประปา ผมเชื่อว่าจะไม่มีการดูแลระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เมื่อป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ผสมกับปัญหาของเสียปล่อยลงแม่น้ำ เมื่อน้ำในแม่น้ำเน่าเสียเยอะ ต้นทุนการผลิตน้ำประปาก็สูงขึ้น ชุมชนเองก็ควรมีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันดูแลต้นน้ำ ก่อนที่ค่าน้ำประปาจะสูงจนรับไม่ไหว กรณีที่การประปาส่วนภูมิภาค จะว่าจ้างบริษัทเอกชนมาผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ประชาชนทุกคนมีสิทธิคัดค้านได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้คน" รศ.ดร.เริงชัย
 
ข้อมูลสำนักงานประปาส่วนภูมิภาคเขต 5
 
สำหรับการประปาหาดใหญ่ ขึ้นกับสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคเขต 5 จังหวัดสงขลา ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานการประปา 19 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานการประปาหาดใหญ่ สำนักงานการประปาสะเดา สำนักงานการประปานาทวี สำนักงานการประปาระโนด สำนักงานการประปาสงขลา สำนักงานการประปารือเสาะ สำนักงานการประปาสายบุรี สำนักงานการประปาปัตตานี สำนักงานการประปาเบตง สำนักงานการประปายะหา สำนักงานการประปาสุไหงโก-ลก สำนักงานการประปานราธิวาส
 
สำนักงานการประปาละงู สำนักงานการประปาสตูล สำนักงานการประปาย่านตาขาว สำนักงานการประปากันตัง สำนักงานการประปาห้วยยอด สำนักงานการประปาตรัง สำนักงานการประปาเขาชัยสน สำนักงานการประปาพัทลุง
 
สำนักงานการประปาหาดใหญ่ ใช้แหล่งน้ำดิบจากครองอู่ตะเภา โดยผลิตน้ำประปาเฉลี่ย 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีระบบส่งจ่ายน้ำประปาครอบคลุมเทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสิงหนคร อำเภอนาหม่อม อำเภอเมืองสงขลา
 
ข้อมูลจากเอกสารสีสันข่าวกปภ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 79 เดือนกรกฎาคม 2551 ระบุว่า สำนักงานการประหาดใหญ่ มีกำไรเป็นอันดับ 8 ของประเทศ ปีละประมาณ 98 ล้านบาท รองจากสำนักงานการประปาสงขลา ที่มีกำไรเป็นอันดับ 7 ของประเทศ ปีละประมาณ 101 ล้านบาท นอกจากสำนักงานการประปาหาดใหญ่แล้ว ในภาคใต้ยังมีสำนักงานการประปาสุราษฎร์ธานี ที่มีกำไรติดอันดับ 9 ของประเทศ ประมาณ 95 ล้านบาทต่อปี
 
ส่วนสำนักงานการประปาที่ขาดทุนสูงสุด คือ สำนักงานการประปาอ้อมน้อย 563 ล้านบาท ตามด้วยสำนักงานการประปาสมุทรสาคร 354 ล้านบาท สำนักงานการประปาสามพราน 89 ล้านบาท
 
 
 
 

 
รัฐวิสาหกิจไทยกับการแปรรูป
ประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง รัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญอยู่ใน 4 สาขาหลัก ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการจ้างงานและมีผลกำไรในระดับสูง อยู่ในระดับเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้
 
ถึงกระนั้น รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังคงอยู่ในระบบผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด และต้องการเงินลงทุน หรือเงินสนับสนุนจำนวนมากจากรัฐบาลในการดำเนินงาน
 
สำหรับรัฐวิสาหกิจ (State Enterprises) ในคำจำกัดความของรัฐ คือ กิจการที่รัฐเป็นผู้ลงทุนทำเองทั้งหมด หรือมากกว่าครึ่ง
 
วัตถุประสงค์การตั้งรัฐวิสาหกิจมี 5 ประการ ได้แก่ 1. ความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน 2. ความสะดวกสบายและสุขภาพอนามัยของประชาชน 3. เพื่อการพัฒนาประเทศ 4. เพื่อหารายได้เข้ารัฐ 5. เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐ แยกตามสาขา ได้ดังนี้
สาขาพลังงาน- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สาขาขนส่งทางบก- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด
สาขาขนส่งทางน้ำ- การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด
สาขาขนส่งทางอากาศ- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน
สาขาสื่อสาร- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
สาขาสาธารณูปการ- การ ประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การจัดการน้ำเสีย การเคหะแห่งชาติ
สาขาอุตสาหกรรม- โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต องค์การสุรา กรมสรรพสามิต องค์การแบตเตอรี่ (ยุบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550) องค์การฟอกหนัง (ยุบตามมติมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550) โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
สาขาเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ- องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การสะพานปลาสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง บริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด
สาขาพาณิชย์และการบริการ- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาด องค์การคลังสินค้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
สาขาสังคมและเทคโนโลยี- สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การกีฬาแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม
สาขาการเงิน- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
ที่มา - บางส่วนจาก www.mof.go.th/sepc/sepcfnt1.htm และจากการรวบรวมของนายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ
 
 
 
 

 
ความหมาย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หมายถึง มาตรการต่างๆ ในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจที่รัฐดำเนินการอยู่
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หมายรวมถึงการลดสัดส่วนภาครัฐในกิจการรัฐวิสาหกิจ หรือสินทรัพย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ (การโอนความเป็นเจ้าของ) การให้สัมปทาน การร่วมทุน การทำสัญญาว่าจ้างบริหาร การให้เช่า
การว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการแทน การทำสัญญากับภาคเอกชนในการให้บริการ การผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเพิ่มการแข่งขัน จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลและการส่งเสริมให้มีการแข่งขันจากคู่แข่งขันรายใหม่
วัตถุประสงค์การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตามข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สรุปได้ดังนี้
เพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ลดภาระหนี้สาธารณะ ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับสวัสดิการที่ดีแก่พนักงาน
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน และจำหน่ายจ่ายโอนรัฐวิสาหกิจที่ต้องแปรรูป แต่งตั้งที่ปรึกษาในการแปรรูป จัดทำแผนแม่บทเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า การปฏิรูปมีรากฐานที่เข้มแข็ง ภายใต้กรอบการทำงานภายในอนาคตอันใกล้
ที่มา - บางส่วนจาก www.mof.go.th/sepc/sepcfnt1.htm และจาการรวบรวมของนายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net