Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง บอกเล่าถึงเครื่องสักการบูชาของล้านนาอันงดงามที่แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อทางศาสนา แต่ความเก่าแก่ กาลเวลาที่ผ่านไป และความใส่ใจ ...จึงหายไปจากที่ตั้งและความทรงจำของผู้คน
 
 
ธเนศวร์ เจริญเมือง
 
 
1.
 
สัตตภัณฑ์ เป็นคำในภาษาล้านนาหมายถึง "เชิงเทียนที่ใช้ในการบูชาพระประธานในวิหาร" โดยทั่วไป สัตตภัณฑ์มี 2 รูปแบบ ทั้ง 2 แบบมีส่วนที่เหมือนกันคือ มีที่สำหรับปักเทียน 7 ที่และมีระดับสูงลดหลั่นกัน ส่วนที่เหมือนอีกอย่างหนึ่งคือ สัตตภัณฑ์ในแต่ละวัดมักได้รับการตกแต่งอย่างสุดฝีมือจากช่างเอกของชุมชนนั้นในยุคๆ หนึ่ง เพราะเมื่อสัตตภัณฑ์ทำหน้าที่สำคัญหน้าพระประธาน สัตตภัณฑ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการน้อมบูชา เป็นหน้าตาของวัดและพุทธ ศาสนิกชนที่เป็นศรัทธาของวัดนั้น โดยเฉพาะเมื่อมีผู้มาเยี่ยมเยือนจากชุมชนอื่น ในเมื่อทุกคนที่เข้าไปนั่งชุมนุมกันและประกอบพิธีทางศาสนาในวิหารต่างมองไปที่พระประธานและสัตตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าตลอดเวลา
 
สัตตภัณฑ์แบบแรก เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ซึ่งมีที่สำหรับปักเทียน ข้างละ 3 ที่รวมที่อยู่บนยอดสามเหลี่ยมเป็นทั้งหมด 7 ที่ สัตตภัณฑ์แบบนี้พบทั่วไปในบริเวณเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบขั้นบันได พบมากในบริเวณจังหวัดแพร่และน่าน มีผู้ให้ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าสัตตภัณฑ์แบบสามเหลี่ยมมักพบในเขตของไท-ยวน (หรือคนเมือง) ส่วนสัตตภัณฑ์แบบขั้นบันไดมักพบในเขตของคนไทลื้อ
 
ขณะที่แบบแรกซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมที่แสดงความกว้าง แบบขั้นบันไดมีลักษณะลึก ตอนท้ายสุดมีสามเหลี่ยมที่ตรงยอดมีที่สำหรับปักเทียน ส่วนอีก 6 ที่เรียงตามลำดับลดหลั่นของขั้นบันไดทั้ง 2 ข้าง [1]
           
 
2.
 
ในความเชื่อทั่วไป ลักษณะของสัตตภัณฑ์สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อด้านจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา นั่นคือ จักรวาลอันกว้างใหญ่มีเขาพระสุเมรเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ล้านนาเรียกพระสุเมรว่า "สิเนรุ" หรือ "สิเนโร" และมีทิวเขา 7 ทิวล้อมรอบเขาพระสุเมรเป็นวงกลม สูงลดหลั่นกันลงมาจากศูนย์กลาง มีชื่อดังนี้ ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสน์ เนมินธร วินันตกะ และอัสสกัณณ์ เมื่อที่ปักเทียนทั้ง 7 หมายถึงทิวเขาทั้ง 7 พระพุทธรูปในวิหารที่อยู่เหนือสัตตภัณฑ์ก็คือเขาพระสุเมรอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
 
งานนิพนธ์ชิ้นสำคัญชื่อ จักรวาลทิปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์ ปราชญ์ล้านนาในราวปี พ.ศ.2100 ได้กล่าวถึงคติความเชื่อดังกล่าวอย่างชัดเจน และที่ผ่านมามีศิลปวัตถุจำนวนมากที่สอดคล้องกับคติความเชื่อนั้น เช่น เครื่องบูชาทำด้วยโลหะหน้าพระธาตุของวัดหริภุญไชย, พระพุทธบาทจำลองทำด้วยไม้ทาชาดประดับมุก ลายพระบาทเป็นแผนผังจักรวาล มีตัวอักษรล้านนากำกับตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะทิวเขาทั้ง 7
 
และแน่นอน สัตตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่องค์พระประธานในวิหารของแต่ละวัดในล้านนา แต่ละชิ้นมีอายุหลายร้อยปี ไม้ที่นำมาใช้สร้างสัตตภัณฑ์ได้รับการคัดเลือกอย่างดี และแกะสลักเป็นรูปเรื่องราวในศาสนา ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือนาค ซึ่งปรากฏให้เห็นทั่วไปในวัดต่างๆ ของล้านนา ในฐานะผู้ที่เทิดทูนและค้ำจุนพุทธศาสนามายาวนาน
 
ดังปรากฏในวรรณกรรมล้านนาจำนวนมาก [2] ว่านาคในตำนานที่มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา เช่น ปัญญาสชาดก (วรรณกรรมของเชียงใหม่แต่งในสมัย พ.ศ.2000-2200) กล่าวว่า นาคได้เข้าร่วมการโปรยดอกไม้ทิพย์เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ, พญานาคชื่อมุจลินท์ที่ขดขนานกาย 7 รอบแผ่พังพานเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้าป้องกันลม ฝนและสัตว์ต่างๆ เป็นเวลาถึง 7 วันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้, ในงานชื่อ มหาวรรค นาคบางตนแปลงกายเป็นชายหนุ่มมาขอบวช เนื่องจากมีข้อห้ามมิให้สัตว์ออกบวช และในงานชื่อ หัตถิมังสาทิปติกเขปกถา นาคราชตนหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขอให้พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุบริโภคเนื้องู เพราะประชาชนไม่เห็นด้วย ฯลฯ
 
เมื่อองค์พระประธานนั่งหรือยืนเด่นอยู่ในวิหาร และข้างหลังวิหารคือตัวพระธาตุ (พระธาตุเป็นภาษาล้านนา ไทยภาคกลางเรียกว่าพระเจดีย์) ซึ่งอยู่สูงสุดเปรียบเป็นเขาพระสุเมรและรายล้อมด้วยทิวเขาทั้ง 7 นั่นคือสัตตภัณฑ์ที่อยู่เบื้องหน้าพระประธานและองค์พระธาตุ พุทธศาสนิก ชนที่ได้เดินเข้าไปในวัด ผ่านพื้นทรายในวัดอันเป็นเสมือนมหาสมุทรที่รายล้อมทิวเขาทั้ง 7 เข้าไปนั่งในวิหารเบื้องหน้าพระเจ้า (ภาษาล้านนาหมายถึงพระพุทธรูป) นั่นหมายถึงพวกเขาได้เดินทาง ผ่าน (กระทั่งฝ่าฟันอุปสรรค เอาชนะทั้งทางกายและใจ) เพื่อเข้าไปใกล้ตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างที่สุดแล้ว
 
สำหรับคนล้านนา สัตตภัณฑ์ ของพวกเขาจึงไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นที่มาและที่ไปของพวกเขา จากบ้านสู่วัด จากประตูวัดสู่วิหาร เข้าไปหาพระเจ้า บัดนั้น พวกเขาได้นั่งเบื้องหน้า พระเจ้า ถัดไปทางซ้ายเป็น ธรรมาสน์ อันเป็นสถานที่แสดงธรรม และถัดไปเป็น แต้นสังฆ์ (แท่นสังฆ์) บางแห่งเรียกว่า จ๋องสังฆ์ หรือที่นั่งของพระสงฆ์ซึ่งยกสูงกว่าพื้นวิหารราว 1 ศอก เป็นแถวยาวด้านซ้ายสุดของวิหาร จะเห็นว่าในวิหารมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สามเสาหลักของพระพุทธศาสนา พระธรรมและพระสงฆ์อยู่ทางด้านขวามือของพระพุทธตามลำดับ
 
พวกเขานั่งลงพนมมือก้มกราบ 3 ครั้ง จากนั้นจึงไปวางดอกไม้และธูปที่ ขันดอก (พานดอกไม้ของล้านนาที่อยู่ข้างสัตตภัณฑ์) ที่มักมี 3 มุมเพื่อวางดอกไม้และธูปเป็นการคารวะ 3 เสาหลัก บางวัดที่มีการจุดธูปก็ปักธูปไว้ที่กระถางธูป จากนั้น จึงจุดเทียนให้ส่องสว่างพร้อมกับปักเทียนบนยอดเขาหนึ่งในสัตตภัณฑ์ เพื่อบูชาพระเจ้าและปรารถนาจะให้แสงสว่างนั้นช่วยส่องแผ่นดินธรรม
 
สัตตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมร้อยพุทธศาสนิกชนกับพระพุทธองค์ที่อยู่สูงสุด บัดนี้ พวกเขาได้มาอยู่เบื้องหน้าท่านแล้ว พวกเขาขอจุดเทียนน้อมบูชาและจะให้แสงไฟนั้นส่องสว่างอยู่บนยอดเขาหนึ่งใน 7 ยอด
 
สำหรับคนล้านนา จะจุดเทียนบูชาพระพุทธองค์ได้ที่ไหนถึงจะอิ่มอกอิ่มใจเทียบเท่ากับจุดเทียนที่สัตตภัณฑ์ในวิหารหลวง.
 
3.
 
"ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านพูดเป็นเสียงเดียวกัน
"หากไม่มีสัตตภัณฑ์ในวิหารก็เหมือนไม่มีพระประธานในวิหาร และเหมือนไม่ได้ไหว้พระเจ้าเช่นกัน""
 
ชาวบ้านหมู่ที่ 1, 14 - ศรัทธาวัดน้ำโค้ง ต.ป่าแมต อ. เมือง จ. แพร่
กรรณิการ์ เกลียวกลม และวิโรจน์ เต็มสุนทรวารี, มกราคม 2552
 
ดังเช่นคำกล่าวของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ข้างต้น สัตตภัณฑ์อยู่คู่กับพระประธานในวิหารของล้านนา และหากไม่มีสัตตภัณฑ์ พุทธศาสนิกชนในล้านนาก็ไม่มีที่จุดเทียนบูชาพระประธานในวิหาร ก็เท่ากับไม่ได้แสดงความคารวะต่อพระพุทธรูปในวิหารเหมือนที่บรรพชนเคยทำ
 
สัตตภัณฑ์ของล้านนาจึงแตกต่างจากโต๊ะหมู่บูชาของสยาม เพราะสัตตภัณฑ์เป็นของพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ต้องการจุดเทียนสักการะพระประธานในวิหาร ที่ยอดใดก็ได้ ขณะที่พุทธศาสนาในบางสังคมมีลักษณะชนชั้น มีการเมืองการปกครองเข้าแทรกแซง กำหนดให้ผู้ที่สามารถจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาหน้าพระประธานได้นั้นจะต้องเป็นประธานในพิธีหรือผู้ใหญ่ของชุมชนเท่านั้น
 
ในระหว่างที่ล้านนายังเป็นประเทศราชระยะต้นของสยาม (พ.ศ. 2317-2416) ขุนนางสยามเข้ามาดูแลและปกครองล้านนาแบบไม่ประจำการ ล้านนามีเจ้าหลวงปกครองในแต่ละเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกของสกุลเจ้าเจ็ดตน (ยกเว้นเมืองแพร่และน่าน) พิธีกรรมต่างๆในล้านนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย จนกระทั่งอำนาจของสยามเข้ามาปกครองล้านนาโดยตรงเริ่มตั้งแต่สยามจัดตั้งเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปางให้เป็น "หัวเมืองลาวเฉียง" ในปี พ.ศ. 2416 มีข้าราชการ (ชายล้วน) จากสยามถูกส่งให้เข้ามาประจำการและปกครองโดยตรงเป็นครั้งแรกจำนวน 72 คน [3]
 
รูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมล้านนาต่อมา เช่น วัฒนธรรมการมีห้องพระในบ้าน เป็นห้องพระที่มีพระพุทธรูปภายในบ้าน ขณะที่บ้านของล้านนาไม่มีห้องพระ มีเพียงหิ้งพระในที่สูงติดหลังคาบ้าน แต่ไม่มีพระพุทธรูปในบ้าน ด้วยเห็นว่าบ้านพักของฆราวาสมีการกระทำต่างๆ ทั้งทางกายและวาจาที่ไม่เหมาะสำหรับพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระศาสดา ฯลฯ
 
อำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดการเลียนแบบหรือมีการออกคำสั่งให้ทำตามระเบียบใหม่ นั่นคือ การมีห้องพระในบ้าน การอัญเชิญพระพุทธรูปไปไว้ยังที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีห้องพระในบ้าน แต่คนในล้านนาส่วนใหญ่ก็หันไปรับเอาวัฒนธรรมการมีพระพุทธรูปในบ้านโดยให้มีที่หิ้งพระ และด้วยความเคารพนับถือผสมกับลัทธิพุทธพาณิชย์ในระยะหลังๆ จำนวนพระพุทธรูปบนหิ้งพระและในห้องพระก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
 
อีกสิ่งหนึ่งก็คือ การนำเอาโต๊ะหมู่บูชาเข้ามาตั้งในวิหารหน้าพระประธานแทนที่สัตตภัณฑ์จากนั้น สัตตภัณฑ์ของล้านนาก็ค่อยๆถูกเบียดขับออกไปจากวิหารทีละแห่ง 2 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอำนาจของมหาเถรสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 6 เข้าปกครองวัดทั่วราชอาณาจักร และออกคำสั่งให้รับเอาวัฒนธรรมส่วนกลางเข้ามา เช่น การออกคำสั่งห้ามอ่านเขียนตัวอักษรล้านนา การสร้างวิหารและอุโบสถใหม่จะต้องใช้รูปแบบของวิหารและอุโบสถที่มหาเถรสมาคมกำหนดไว้ การใช้ธรรมาสน์แบบสยาม และต่อมา ให้มีการยุบวัดที่มีพระสงฆ์ไม่ถึง 5 รูป ฯลฯ [4]
 
ประกอบกับการที่ตำราสำหรับใช้สอนในโรงเรียนทุกชั้นทั้งของนักเรียนและวัดจัดทำโดยส่วนกลาง องค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับท้องถิ่นที่กล่าวมาจึงไม่ปรากฏในตำราเรียนทั้งหลาย ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมาสน์ สัตตภัณฑ์ แต้นสังฆ์ ขันดอกในล้านนาก็หายไป เมื่อไม่รู้ ก็ไม่เห็นคุณค่า เมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ถูกโยกย้ายออกไป
 
สัตตภัณฑ์ไม่เพียงแต่ถูกแทนที่ด้วยโต๊ะหมู่บูชา หากสัตตภัณฑ์ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งหน้าพระประธานไปอยู่ด้านข้าง ต่อจากนั้น ก็ถูกนำไปตั้งพิงข้างผนังวิหาร หรือนำไปไว้หลังวิหาร และนานๆ เข้า จากข้างๆ ผนังวิหารหรือหลังวิหาร สัตตภัณฑ์ก็ค่อยๆถูกลำเลียงไปไว้ที่ห้องเก็บของ หรือที่ศาลาวัด หรือข้างกำแพงวัด กระทั่งนอกกำแพงวัด
 
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490-2500 เป็นต้นมาที่เศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัวในสังคมไทย มีคนสน ใจ "ของเก่า" มีการสะสมและค้าของเก่า เริ่มมีกรรมการวัด มีร้านรับซื้อและขายของเก่า และการ "พัฒนาวัดให้ทันสมัย" ด้วยสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมแบบส่วนกลางตามระเบียบของมหาเถรสมาคม สัตตภัณฑ์จำนวนมากก็ได้ถูกนำออกขายตามร้านค้าของเก่า มีกรรมการวัดนำไปขายบ้าง หรือเจ้าอาวาสหรือพระบางรูปนำไปขาย หรือมีคนผ่านไปมาที่บริเวณวัด เห็นข้าวของในวัดถูกทิ้งขว้าง หรือมีคนเข้าไปขโมยสัตตภัณฑ์และนำไปขายให้ร้านค้าของเก่าและเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
 
ในปี พ.ศ. 2538 วัดพระเจ้าเม็งราย หรือวัดกานก้อด (ข้างโรงแรมอนุบาลเชียงใหม่) ที่เล่ากันว่าเป็นวัดที่เก่าแก่อันดับที่ 2 ของเมืองเชียงใหม่รองจากวัดเชียงหมั้นก็สูญเสียสัตตภัณฑ์หน้าพระประธาน (คือพระเจ้าก้าคิง) ในวันที่เจ้าอาวาสไม่อยู่ วัดมีพระสงฆ์เพียง 3-4 รูป ประตูวิหารเปิดตลอดเวลา ตอนสายวันหนึ่ง รถปิ๊คอัพคันหนึ่งแล่นเข้ามาจอดกลางข่วงวัด และไม่นานนัก รถก็แล่นออกไปอย่างรวดเร็ว เที่ยงวันนั้น จึงมีคนพบว่าสัตตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ที่หน้าพระเจ้าก้าคิงในวิหารหายไปอย่างไร้ร่องรอย
 
ทุกวันนี้ ไปเดินตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ก็จะพบสัตตภัณฑ์ร้านละ 3-4 แผ่น ราคาตั้งแต่ 2-3 หมื่นไปจนถึง 1-2 แสนบาท ขึ้นอยู่กับสภาพ ความสวยงาม และความเก่าแก่ของสัตตภัณฑ์แต่ละชิ้น มีทั้งของเก่าที่มีอายุหลายร้อยปี และมีทั้งของใหม่ที่ทำเลียนแบบของเก่า
 
3 ปีก่อน เจ้าอาวาสของวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งกลางเมืองเชียงใหม่ได้เปิดเผยว่า มีโรงแรมแห่งหนึ่งมาขอดูสัตตภัณฑ์ของวัด และขอซื้อในราคาถึง 5 แสนบาท แต่ทางวัดไม่ขาย
 
2 ปีก่อน มีคนไปถ่ายรูปโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ปกติไม่ยอมให้คนภายนอกเข้าไปชม พบว่ามีสัตตภัณฑ์หลายสิบชิ้นเรียงรายพิงกำแพง เพื่อนำไปตกแต่งตามฝาผนัง กระทั่งมีข่าวว่าเจ้าของโรงแรมดังกล่าวชื่นชมความงดงามของลวดลายของสัตตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งมาก จึงสั่งให้ช่างไม้ลอกแบบจัดทำเป็นหัวเตียงของทุกเตียงในโรงแรม อีกโรงแรมหนึ่งได้นำเอาสัตตภัณฑ์มาปรับปรุงด้วยการทำที่นั่งด้านหน้าเพื่อให้แขกโรงแรมได้นั่ง โดยใช้สัตตภัณฑ์เป็นพนัก
 
อย่างน้อย การเปลี่ยนแปลงของลานวัดกับการเดินทางไกลของสัตตภัณฑ์เป็นนิทาน 2 เรื่องที่คนในล้านนาปัจจุบันควรรับรู้
 
เพราะในอดีต เมื่อสัตตภัณฑ์อันเปรียบเสมือนทิวเขาทั้ง 7 ตั้งอยู่ในวิหาร พื้นดินรอบๆ วิหารก็เปรียบเสมือนมหาสมุทรที่รายล้อมทิวเขาเหล่านั้น วัดในล้านนาจึงกำหนดให้ลานวัดเป็นพื้นทรายแทนมหาสมุทร เมื่อคนล้านนาในอดีตถอดรองเท้าเดินเข้าวัด และมีเม็ดทรายติดเท้าออกจากวัด ขัดแย้งกับกฎที่ห้ามนำสิ่งใดของวัดประเพณีขนทรายเข้าวัดจึงเกิดขึ้น
 
แต่เมื่อความรู้และความเชื่อในอดีตถูกทำลาย บวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจสมัยใหม่ และปัญหาของท้องถิ่นเอง นั่นคือ ความล้มเหลวของระบบขนส่งมวลชน การเติบโตของจำนวนรถยนต์ส่วนตัว วัดหลุดจากชุมชนกลายเป็นหน่วยงานของรัฐ และค่านิยมต่อเงินบริจาคจำนวนมากเพื่อสร้างถาวรวัตถุ พื้นทรายของวัดจึงกลายเป็นพื้นซีเมนต์ ลานวัดจึงกลายเป็นลานจอดรถ
 
 
4.
 
"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย ลำพูน มีสัตตภัณฑ์ราว 10 ชิ้น
เกือบทั้งหมดวัดเป็นผู้มอบให้... ป้ายที่ติดส่วนใหญ่บอกไว้ว่าได้มาจากวัดรอบนอก
ป้ายหนึ่งเขียนว่าบริจาคโดยวัดต้นผึ้ง ต. เหมืองง่า ลำพูน ....เราจึงไปสอบถามที่วัด
พอถามพระอาวุโสรูปหนึ่งว่าที่นี่มีสัตตภัณฑ์หรือไม่ พระท่านถามกลับว่ามันคืออะไร
พอเราบอกว่าเป็นเชิงเทียนหน้าพระประธาน ท่านบอก "อ้อ ไม่มีแล้ว มอบให้
พิพิธภัณฑ์ไปแล้ว อยากดูให้ไปดูในเมือง ให้ไปนานแล้ว จำไม่ได้ว่าปีไหน"…"
                                                                       
วุฒิชัย นันตา และ สุรางคณา ศรีสวัสดิ์
มกราคม 2552.
 
ด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะอยู่ได้ หากครอบครัวเข้มแข็งและอบอุ่น ชุมชนต้องเข้มแข็งและอบอุ่น ท้องถิ่นต้องรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นต้องได้รับการเคารพ, รักษาและสืบสาน ทั้งนี้เพราะศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นคือสายใยที่ถักทอสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวและชุมชนให้แน่นแฟ้น เป็นเกราะคุ้มกันครอบครัวและชุมชน และเป็นเสมือนยาที่ดูแลและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของมวลสมาชิก อันเป็นรากฐานของความเข้มแข็งสำหรับท้องถิ่นและสืบสานเป็นมรดกให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป
 
วันนี้ (พุธที่ 14 มกราคม 2552) เราจึงไปคารวะวัดแรกของเมืองเชียงใหม่คือ วัดเชียงหมั้น
ที่สร้างโดยพญามังราย - ปฐมกษัตริย์ของล้านนาและวัดนี้จะมีอายุครบ 713 ปีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 นี้ สัตตภัณฑ์ยังคงตั้งอย่างสง่างามที่หน้าองค์พระประธานในวิหารของวัด ไม่มีโต๊ะหมู่บูชาให้เห็นในวิหารนั้น แม้ว่าสัตตภัณฑ์นี้จะไม่ใช่ของเก่าเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วก็ตาม
 
ด้วยความอยากรู้ว่าวัดต่างๆในล้านนายังคงเก็บรักษาสัตตภัณฑ์ไว้หรือไม่และอย่างไร นักศึกษาที่เรียนวิชาการปกครองท้องถิ่นและการบริหารจัดการท้องถิ่น (127213) ภาคเรียนที่ 2 ของคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ออกสำรวจขั้นต้นในวัดทั่วล้านนาจำนวน 79 วัด
 
ผลปรากฏว่า มีวัดที่มีสัตตภัณฑ์ตั้งอยู่หน้าพระประธานในวิหารรวม 22 วัด ส่วนที่เหลือ ย้ายไปไว้ในอุโบสถรวม 13 วัด นำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของวัด 7 วัด มอบให้พิพิธภัณฑสถาน 1 วัด ตั้งอยู่ข้างฝาผนังของวิหาร 3 วัด ซุกอยู่หลังโต๊ะหมู่บูชาจนมองไม่เห็น 1 วัด หายหรือชำรุดทิ้งไป 6 วัด และมีพระสงฆ์ (รวมทั้งเจ้าอาวาส) ที่บอกว่าไม่รู้จักคำว่าสัตตภัณฑ์และไม่มีสัตตภัณฑ์ในวัดถึง 26 วัด
 
ที่น่าสนใจคือ ในบรรดาวัดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่และลำพูน ปรากฏว่าที่หน้าพระประธานในวิหาร มีแต่โต๊ะหมู่บูชา ส่วนสัตตภัณฑ์ถูกย้ายไปที่อื่น เมื่อนักศึกษาถาม พระก็จะพยายามอธิบายว่าวัดนี้มีสัตตภัณฑ์ และอธิบายความสำคัญของสัตตภัณฑ์ในวัดของล้านนา แต่ไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมต้องย้าย หรือหากสูญหายไป ทำไมจึงไม่สร้างขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่วัดมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากมาย
 
และหากนำเอาจำนวนของวัดในล้านนาที่สัตตภัณฑ์ได้ถูกย้ายออกจากหน้าพระประธานไปไว้ที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บของ หรืออุโบสถ หรือพิพิธภัณฑ์ หรือไม่มีพระสงฆ์หรือชาวบ้านที่รู้จักคำนี้ หรือสัตตภัณฑ์ได้หายไปจากวัด จะพบว่ามีถึง 57 วัด แสดงว่าสัตตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้เดินทางออกจากที่ตั้งเดิมของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลข้างต้น นั่นคือ การออกคำสั่งจากส่วนกลาง ระบบการศึกษาของรัฐผ่านกรมสามัญศึกษาและกรมศาสนาส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาและพระสงฆ์จำนวนมากในล้านนาไม่รู้จักและไม่เคยเห็นสัตตภัณฑ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว
 
การย้ายสัตตภัณฑ์ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์โดยอ้างว่าเป็นของเก่า มีค่ามาก หรืออ้างว่าวัดนี้ยังมีสัตตภัณฑ์ แต่นำไปเก็บไว้ที่อุโบสถ หรือห้องเก็บของ หรือบอกว่าผุพังจนต้องทิ้งไป หรือสูญหาย แสดงว่า 1. สัตตภัณฑ์จำนวนมากได้สูญเสียฐานะเดิมคือเป็นที่บูชาพระประธานในวิหารด้วยการจุดเทียน เพราะอุโบสถห้ามสตรีเข้า ส่วนฆราวาสชายก็ไม่เข้าไปในอุโบสถ เพราะอุโบสถเป็นสถานที่สำหรับกิจของสงฆ์เป็นหลัก ดังนั้น การนำสัตตภัณฑ์ไปตั้งไว้ในอุโบสถก็เท่ากับยอมรับบทบาทของโต๊ะหมู่บูชา
 
2. เมื่อไม่เห็นคุณค่าแบบดั้งเดิม ความไม่รู้ไม่สนใจก็เกิดขึ้น นำไปสู่การละทิ้ง และการที่คนในนำออกไปขาย หรือคนจากนอกวัดเข้ามาขอซื้อหรือขโมยสัตตภัณฑ์ เมื่อสอบถามก็ตอบว่าหาย แต่ไม่รู้และไม่สนใจว่าหายไปตั้งแต่ตอนไหน ไม่คิดที่จะค้นหาหรือสร้างสัตตภัณฑ์ใหม่ และ 3. การที่พระบางรูปเผยว่าไม่รู้จักสัตตภัณฑ์เพราะไม่ใช่คนที่นี่ ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะอยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได หรือโยนความผิดให้คนรุ่นใหม่ว่าไม่สนใจ จึงน่าจะเป็นการพูดถึงปลายเหตุ เพราะคำสั่งจากส่วนกลางและระบบการศึกษานั่นเองที่ทำให้เจ้าอาวาส, พระสงฆ์และนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้จักสัตตภัณฑ์ และไม่ให้ความสนใจ จนเกิดการละทิ้ง การขโมย หรือการนำไปขาย ฯลฯ
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีพระสงฆ์หลายรูปที่ได้สนใจติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการรื้อฟื้นความสนใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายวัดจึงได้นำสัตตภัณฑ์ที่ซุกตัวอยู่ในห้องเก็บของหรืออุโบสถให้เดินทางกลับคืนสู่ที่เดิม
 
 
5.
 
"ไปสอบถามพระมาแล้วหลายวัด บางรูปถามกลับว่า "สัตตะบัน เหรอ"
บางรูปถามว่า อะไร ไม่เคยได้ยิน บางรูปบอกว่าไม่มีมานานแล้ว
ให้ลองไปหาวัดใหญ่ๆดู อาจจะมี เพราะจริงๆแล้ว เมื่อก่อนก็มีกันทุกวัด"
 
ธีรภัทร์ บุญอินทร์ และชลิกา เหมะรัชตะ,
มกราคม 2552
 
ในฐานะที่เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งรายตอบได้ทันทีว่าสัตตภัณฑ์หน้าพระประธานในวิหารหายไปในปี 2538 ตอนที่ท่านไม่อยู่ และท่านอยากจะเห็นสัตตภัณฑ์กลับสู่ที่เดิม แต่จนบัดนี้ก็ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่อาจหาสัตตภัณฑ์อันใหม่ได้ (แต่มีผู้มีจิตศรัทธาจัดหาโต๊ะหมู่บูชามาถวายวัดนานแล้ว) และในฐานะที่วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อันดับ 2 ของเมือง คณะศรัทธากลุ่มหนึ่งนำโดยมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่จึงได้ไปหาซื้อสัตตภัณฑ์ใหม่ที่ทำเลียนแบบของเก่าได้จากหมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง (ไม่ต้องการซื้อสัตตภัณฑ์เก่าที่ขโมยมาจากวัดหรือคนของวัดนำมาขาย เพราะจะเป็นการส่งเสริมสิ่งที่ผิด) และจะนำไปถวายวัดพระเจ้าเม็งรายในวันครบรอบปีที่ 713 ของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในวันที่ 12 เมษายน 2552 นี้
 
นี่เป็นการป่าวประกาศว่าจะถวาย เพราะต้องการจะส่งข่าวนี้ให้แผ่นดินล้านนาได้รู้ว่าวิหารของล้านนาต้องมีสัตตภัณฑ์ วัดใดที่ไม่มีสัตตภัณฑ์ควรปรึกษาหารือกับศรัทธาของวัดว่าควรจะทำอย่างไร วัดใดที่สัตตภัณฑ์หายไปควรจัดประชุมร่วมกันและติดต่อกับหน่วยงานด้านพุทธศาสนาของจังหวัดเพื่อเรียกประชุมร้านขายของเก่าทั้งหมดและตรวจสอบ และขอซื้อสัตตภัณฑ์เหล่านั้นกลับคืนสู่ที่เดิม
 
ประการสุดท้าย หลายปีมานี้ ได้มีความห่วงใยจากฝ่ายต่างๆเรื่องการจุดธูปเทียนเบื้องหน้าพระประธานในวิหารว่าควันและความร้อนจะมีผลเสียต่อโบราณวัตถุอันล้ำค่าภายในวิหาร จึงได้มีการรณรงค์ให้ยุติการกระทำดังกล่าว และเสนอให้จุดธูปเทียนหน้าวิหารแทน
 
แต่นั่นก็หาได้หมายความว่าสัตตภัณฑ์จะต้องอยู่นอกวิหาร ไม่ว่าที่ผ่านมาสัตตภัณฑ์จะอยู่ในห้องเจ้าอาวาส ห้องเก็บของ อุโบสถ พิพิธภัณฑ์ หรือพิงผนังวิหาร หรือพิงกำแพงวัด ฯลฯ แต่ต่อจากนี้ไป สิ่งที่เคยอยู่ ณ จุดไหนในอดีต ก็ควรได้กลับไปอยู่ ณ จุดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตตภัณฑ์ - เครื่องบูชาพระเจ้าของคนล้านนา
 
แม้ต่อนี้ไป จะไม่อาจจุดเทียนไหว้พระเจ้าในวิหาร ในยามนี้ที่โลกระอุด้วยปัญหาโลกร้อน, ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ, ปัญหาเศรษฐกิจวิกฤต และปัญหาสารพัด แต่สองมือและหัวใจศรัทธาก็ยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย
 
ขอเพียงให้สัตตภัณฑ์ได้เดินทางกลับไปอยู่ตรงนั้น
 
ให้พุทธศาสนิกชนได้จุดเทียนขึ้นในใจต่อหน้าพระประธาน แล้วก็ออกมาจุดเทียน 1 เล่มด้านหน้าวิหารก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่
 
ว่าแต่ว่าวันนี้ ปี้น้องคนอ่านเกยเดินทางเสาะหาสัตตภัณฑ์ของวัดในหมู่บ้านของตัวเองแล้วหรือยัง?
 
 
                                                                                    21 มกราคม 2552.
 
----------------------------------
เชิงอรรถท้ายบท
 
[1] มาณพ มานะแซม, "สัตตภัณฑ์" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 เล่ม 13 หน้า 6758-6761
[2] อุดม รุ่งเรืองศรี และเกื้อพันธุ์ นาคบุปผา, "นาค" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. เพิ่งอ้าง, เล่ม 6 หน้า 3089-3094
[3] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2539 หน้า 363
[4] ธเนศวร์ เจริญเมือง, "ตั๋วเมือง" คนเมือง: ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่, พ.ศ. 2317-2551. เชียงใหม่, 2552
 

 

ที่มาภาพจาก: http://www.nairobroo.com/nairobroo_monthly/2002/01/doyouknow_candlestick.htm
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net