Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากรณีปัญหาเขื่อนหัวนากว่า 500 คน รวมตัวที่ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ ติดตามการประชุมคณะทำงานฯ หลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการทำงานหยุดชะงัก จี้เร่งแก้ปัญหาตรวจสอบทรัพย์สินและการรังวัดที่ดิน พร้อมให้ชี้แจงกรณีถมน้ำมูน เหตุขัดมติ ครม.25 ก.ค.43

28 ม.ค.2552 สมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนหัวนา จาก อ.ราษีไศล อ. กันทรารมย์ อ. ยางชุมน้อย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ กว่า 500 คน ทำการชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. เพื่อติดตามการประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ ในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรและรับรองการรังวัดที่ดินในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจาการก่อสร้างเขื่อนหัวนา

 

พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวจะมีการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี ให้มีการถมแม่น้ำมูนเพื่อบังคับน้ำให้เปลี่ยนทางมาผ่านเขื่อนหัวนา เขื่อนขนาดใหญ่ 14 ประตู ในพื้นที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการดำเนินการก่อสร้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งที่มติครม.เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2543 กำหนดให้ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมแม่น้ำมูนจนกว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้วเสร็จ

 

สืบจากเมื่อวันที่ 20ม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนหัวนา กว่า 200 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ต่อคณะทำงานฯ ที่ศาลากลาง เพื่อเร่งรัดให้มีการประชุมคณะทำงานฯ ในการแก้ปัญหากรณีเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

 

การชุมนุมมีข้อเรียกร้อง ให้คณะทำงานฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากเดิมโดยยึดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 โดยในการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายร่วมกับราษฎร ให้มีการดำเนินการรับรองผลการรังวัดที่ดินในส่วนที่รังวัดเสร็จแล้วทั้งหมด ส่วนกรณีพื้นที่บ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่การรังวัดที่ดินยังเหลือค้าง ให้มีการดำเนินการรังวัดในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตาม

 

รวมทั้งยุติการดำเนินงานใดๆ โดยเฉพาะการถมลำนำมูลเดิม และเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงแผนการดำเนินงานเขื่อนหัวนาในระยะต่อไป อีกทั้งยังมีข้อเรียกร้องให้ชี้แจงความคือหน้าเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

นายสมบัติ โนนสัง ชาวบ้าน ต.โนนสัง อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวบ้านที่มาในวันนี้มาตามนัดหมายของทางจังหวัดที่จะมีการรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน โดยมาเร่งรัดงาน เพราะไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการทั้งระดับ จังหวัดและระดับอำเภอ ตามมติครม.ที่แล้วๆ มา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตามที่ชาวบ้านได้ติดตามการทำงานมา การแก้ปัญหาต่างๆ ได้หยุดชะงักไป

 

ส่วนกรณีการดำเนินการถมลำน้ำมูนนั้น นายสมบัติกล่าวว่า ตอนนี้ในพื้นที่ชาวบ้านที่ได้สังเกตการในพื้นที่ ได้เห็นการขนสิ่งของและอุปกรณ์ก่อสร้างของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับสมัครพนักงานเข้าทำงาน เหมือนจะมีการดำเนินการถมน้ำมูน แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตาม มติครม.ปี43

 

ทั้งนี้ การประชุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00น. ที่ห้องประชุมอำเภอเมือง ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ โดยจัดเป็นเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น มี นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานคณะการกรรมการที่รับมอบอำนาจจากผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม คาดว่าผลการประชุมจะแล้วเสร็จในช่วงบ่าย เพราะเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. การประชุมได้ดำเนินไปถึงวาระที่ 3 จาก 4 วาระ และยังไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการถมลำน้ำมูน

 

 

 

 

โครงการเขื่อนหัวนา


เขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนคอนกรีต ขนาด 14 บานประตู กั้นแม่น้ำมูนที่บริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ ก่อนที่แม่น้ำชีจะไหลบรรจบกับแม่น้ำมูนที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นเขื่อนตัวท้ายสุดของ "โครงการ โขง ชี มูล" และเป็น "เขื่อนที่ใหญ่ที่สุด" ในโครงการ โขง ชี มูล มีระดับเก็บกักน้ำที่ 115 ม.รทก.ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำทอดยาวตามแม่น้ำมูนระยะทาง 90 กิโลเมตร ท้ายน้ำจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 18.11 ตร.กม.มีปริมาตรความจุ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

วัตถุประสงค์การก่อสร้างโครงการเพื่อจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 154,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 61 หมู่บ้านในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลฯ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 2,531.74 ล้านบาท

 

เขื่อนหัวนาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ที่มีมติให้ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมแม่น้ำมูนจนกว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร แต่การดำเนินการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม มีเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สินอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net