รายงาน: เสวนาโต๊ะกลม "สตรีกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"

 

เสวนาโต๊ะกลมที่ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อรวมรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนการประชุมหัวข้อ "สตรีกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" สรุปสามแนวทางบทบาทสตรีแก้จนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องส่งเสริมความรู้และให้สร้างอำนาจต่อรองของสตรี ผลักดันระดับนโยบาย ขจัดกฎหมายที่เอาเปรียบคนจน และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร
ตามที่ รศ.ดร.ภาวดี ทองอุไทย ประธานกรรมการโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้แทนของประเทศไทยในการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในการสัมมนา ในโครงการความสัมพันธ์ไทย - จีน ครั้งที่ 5 เรื่อง "สตรีกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" (Women in Poverty Alleviation and Environment Conservation) ซึ่งจะจัดในวันพุธที่ 11 ก.พ. โดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมาพันธ์สตรีแห่งชาติจีน (All - Chaina Women"s Federation ACWF) และ ธนาคารกสิกรไทย
 
ดังนั้นวานนี้ (27 ม.ค.) ที่ห้อง F 332 อาคารอเนกประสงค์ 2 ริมน้ำเจ้าพระยา ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จึงมีการจัดเสวนาโต๊ะกลมขึ้น เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนการประชุมในวันที่ 11 ก.พ. โดยการเสวนาโต๊ะกลมดังกล่าวมีผู้แทนภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยมี รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี และ ผศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง ที่ปรึกษาโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
 
สตรีกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เพลินใจ ชาญเสนาะ ผู้ก่อตั้งสมาคมหยาดฝน จ.ตรัง กล่าวถึงประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชมชายฝั่งทะเล อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลสำหรับสัตว์น้ำ การอนุรักษ์ ป่าสาคู ป่าชายเลน ลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง เพื่ออนุรักษ์ปลาของชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน เพลินใจบอกว่าถ้าสามารถพึ่งตัวเองได้ก็ไม่เป็นหนี้เป็นสิน และต้องทำให้ชาวบ้านมีความสามารถต่อรองราคาปลากับแพปลาได้ เธอสรุปว่าถ้าประชาชนรวมพลังกันถึงนายทุนใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถทำผิดกฎหมายและทำลายทรัพยากรชาวบ้านได้
 
ในด้านการรวมกลุ่มสตรีในชุมชน เพลินใจเห็นว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ ผู้หญิงนอกจากจะทำเรื่องในบ้านแล้ว ผู้หญิงที่ต้องทำงานในชุมชนจำเป็นต้องฝึกพูดและฟังผู้อื่น ผู้หญิงเมื่อรวมตัวกันได้แล้วจะเป็นที่พึ่งของชุมชน การต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองก็ทำได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้ามีมาก ส่วนผู้หญิงจะสามารถเจรจาต่อรองได้ดีกว่า ผู้หญิงจึงเป็นที่พึ่งของชุมชนและสามารถทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้ได้ พลังของผู้หญิงจึงไม่ใช่การก้าวก่ายสิทธิคนอื่น แต่เป็นการทำให้ผู้อื่นเห็นประโยชน์ เห็นโทษ ของการรุกรานทรัพยากร เป็นเรื่องที่ผู้หญิงมีความสามารถทำได้
 
000
 
 
โรงงานต้องปลอดภัยกับสุขภาพคนงาน
สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมัชชาคนจน กล่าวว่าจากประสบการณ์การเป็นคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมามากกว่า 20 ปี และเป็นผู้นำขบวนการแรงงานและผู้นำขบวนการสิทธิสตรี พบว่า เพราะคนงานหญิงขาดความรู้จึงเจ็บป่วยจากการทำงาน ตนและเพื่อนเคยป่วยกันทีละ 200-300 คน คือป่วยทั้งโรงงาน จึงใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสรวมกลุ่มผู้หญิง
 
โดยขั้นแรกไม่ได้คิดเรื่องแก้ไขระดับนโยบาย แต่คิดว่าจะต้องแก้ไขเฉพาะหน้าให้ได้ เช่น สิทธิได้รับเงินทดแทนเนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิของคนงาน มีการเผยแพร่ปัญหาสุขภาพที่พวกตนได้รับผลกระทบให้พี่น้องคนงานในโรงานอื่นๆ ได้รับรู้ ทำให้คนอื่นเห็นว่าเกิดผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้หญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบจากมลพิษจากการทำงานในโรงงาน
 
สมบุญระบุว่าหลังการรวมกลุ่มสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พบว่า การรวมตัวของคนป่วยกลุ่มเดียว ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย จึงเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่เราที่เจ็บป่วยจากผลพวงของการพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ยังมีชาวบ้านภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบร่วมกันด้วย แม้จะมีการปรับปรุงประกาศกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ฉบับลงวันที่ 2 ก.พ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 15 ต.ค. 2550 ออกมาคุ้มครอง แต่ในทางปฏิบัติยังมีผู้ที่เจ็บป่วยก็ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าคนทั่วไป
 
โดยนอกจากการรวมกลุ่มแรงงานดังกล่าว ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์กับแรงงานทุกกลุ่ม ทำให้มีสื่อมวลชนติดตามประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในโรงงานจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง และนอกจากนี้ยังเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย
 
สมบุญบอกว่าขณะนี้มีการเรียกร้องให้เกิด "สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันสามารถรวมกลุ่มแรงงานได้ 8 ย่านในกรุงเทพและปริมณฑล ผลัดดันนโยบายของสหภาพแรงงานทั้ง 8 กลุ่มให้นำเรื่องสุขภาพความปลอดภัยจากการทำงานเข้าไปเป็นประเด็นของการเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานด้วย
 
 
ชูแนวทางอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้อาชีวเวชศาสตร์ให้แรงงาน
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ผู้นี้เห็นว่า ภาครัฐไม่สามารถทำให้เกิดความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมได้ หน่วยแพทย์ที่ดูแลอาชีวเวชศาสตร์ยังขาดแคลน ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้ภาครัฐผลิตแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องให้มีการตั้งคลินิกด้านดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานในโรงงานเดินทางไปรักษาที่ รพ.ราชวิถีเพียงที่เดียว แพทย์ที่อื่นก็ไม่ค่อยยอมรับรักษาเพราะกลัวถูกฟ้อง ทางกลุ่มจึงเคลื่อนไหวในนามสมัชชาคนจนให้มีการผลิตแพทย์ทางเวชศาสตร์เพิ่มเติม จนในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขยอมรับที่จะผลิตแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพิ่ม และมีการสร้างสถานพยาบาลเฉพาะด้านกว่า 24 แห่ง
 
การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของผู้หญิงยังมีข้อจำกัด โรงพยาบาลจำนวนมากไม่มีแผนกอาชีวเวชศาสตร์ และมักไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทั้งเรื่องแท้งลูกจากท่าทางการทำงานด้วย จึงสร้างภาระให้กับครอบครัวของคนงานนั้น จึงเคยมีการพาเครือข่ายกลุ่มแรงงานดังกล่าวทั้ง 8 กลุ่มเข้าไปนำเสนอเรื่องนี้ในกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย
 
จากนั้นจึงพากันไปร้องเรียนและปรึกษากับเลขาสำนักงานประกันสังคม จนกระทรวงแรงงานต้องออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดว่า ถ้าคนงานต้องการวินิจฉัยโรงด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมต้องมีการประสานงานต่อสถานพยาบาล
 
อย่างไรก็ตามแม้จะมีหนังสือสั่งการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติสถานพยาบาลหลายแห่งยังไม่ยอมรับวินิจฉัย ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการแก้ตัวที่จะไม่ให้ความสำคัญของสิทธิคนงาน จึงเรียกร้องเคลื่อนไหวในองค์กรว่าจะทำการใดให้คนงานเข้มแข็งสามารถป้องกันตัวเขาเองได้ ถ้าเขาขาดองค์ความรู้เรื่องอาชีวเวชศาสตร์ก็จะป้องกันตัวไม่ได้ เจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ ที่ผ่านมาจึงมีการทำโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านความปลอดภัย
 
โดยกระบวนการฝึกอบรมวิทยากร ฝึกให้แรงงาน หลักสูตรการอบรม มีทั้งเรื่องการทำแผนภูมิร่างกายและแผนผังโรงงาน มีการอบรมเชิงกระบวนการ มีการระดมสมอง มีการสร้างบทบาทสมมติ และมีผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนมาแลกเปลี่ยน โดยตั้งแต่ปี 2551 มีการอบรมไปแล้ว 160 คน
 
สมบุญ เผยถึงแผนการอบรมในอนาคตว่า จะทำอย่างไรให้แผนอบรมวิทยากรดังกล่าว เข้าไปอยู่ในแผนของฝ่ายและรัฐและภาคการศึกษาเพื่อให้คนงานในชุมชนต่างๆ เอาหลักสูตรไปใช้ ทุกวันนี้การอบรมสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน มีแต่การซ้อมหนีภัย และซ้อมดับเพลิงอย่างเดียว จึงควรมีหลักสูตรนี้ด้วย
 
เขายังกล่าวด้วยว่า ช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน จนได้ มาตรา 44 (มาตรา 44 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ)
 
สมบุญสรุปไว้ว่าการแก้ไขความยากจนของคนงานสตรีนั้น ถ้าเขาเจ็บป่วยหรือพิการ จะยิ่งสร้างความยากจนให้เขา ดังนั้น การให้องค์ความรู้และสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี จะทำให้คนงานมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และสามารถร่วมพัฒนาประเทศชาติไปได้
 
000
 
 
สตรีกับการรณรงค์เพื่อสวัสดิการและสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม
ศรีไพร นนทรี คณะกรรมการกลุ่มสภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า ทุกวันนี้คนงานได้รับค่าจ้างต่ำไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ แรงงานหญิงไม่ได้ทำงานหารายได้เพื่อดูแลตัวเองเท่านั้น แต่ต้องส่งเสียครอบครัวอันประกอบไปด้วยพ่อแม่ในต่างจังหวัดและดูแลบุตรของตัวเอง
 
ผู้หญิงหลายคนแต่งงานแล้วแยกทางกับสามี ลูกๆ จะอยู่กับแม่เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือ Child Center ในที่ทำงาน แรงงานหญิงจึงต้องส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงในต่างจังหวัด นอกจากนี้คนงานหญิงต้องแบกรับการทำงานในภาคปกติและการทำงานล่วงเวลา คนงานในย่านนวนคร ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเวชภัณฑ์ ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันใน 1 สัปดาห์ พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธโอทีได้ แม้กฎหมายแรงงานจะเอื้อให้ลูกจ้างปฏิเสธ แต่ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่คนงานต้องรับผิดชอบทำให้พวกเขาไม่อาจปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาได้
 
และการทำงานล่วงเวลานี้เอง ส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานหญิง พวกเขาเจ็บป่วยทั้งโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมดลูกอักเสบ เนื่องจากยืนทำงานตลอดเวลาไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหนจากสายพานการผลิต ผู้หญิงในโรงงานแท้งลูกบ่อย สาเหตุเพราะได้รับสารตะกั่วจากการทำงาน บางรายแท้ง 3-4 ครั้งก็มี
 
ศรีไพร อภิปรายต่อไปว่า สัญญาจ้างงานแบบเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว ก็ทำให้เกิดแรงงานทาส ทั้งในย่านนวนครกับย่านรังสิต บางบริษัทไม่ต้องการให้คนงานหญิงตั้งครรภ์ช่วงที่ทำงาน แม้กฎหมายแรงงานให้สิทธิลาคลอด 90 วัน แต่นายจ้างก็มีนโยบายไม่รับคนท้องเข้าทำงาน ลูกจ้างหญิงที่เป็นแรงงานเหมาค่าแรง ในช่วงทดลองงาน 120 วัน หากเขาตั้งครรภ์เขาจะหาวิธีไม่ให้นายจ้างรู้ว่าตั้งครรภ์ บางคนต้องนุ่งกางเกงไปจนถึงอายุครรภ์ 6 เดือน เพื่อไม่ให้นายจ้างเห็นหน้าท้อง หรือเอาสเตย์มารัด บางคนเลือกไปทำแท้ง เพราะต้องการมีงานทำเพื่อครอบครัวมากกว่า เรื่องในโรงงานแบบนี้เวลาร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐก็มักไม่ได้รับการแก้ไข
 
และจากภาระที่กล่าวมาทำให้คนงานผู้หญิงไม่สามารถขึ้นมาอยู่ในระดับนำของการทำสหภาพแรงงานได้ ผู้ชายจะมีบทบาทนำในสหภาพแรงงานมากกว่าเพราะมีชีวิตที่อิสระกว่า และมีภาระน้อยกว่า
 
ศรีไพรยังกล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก มีคนงานหญิงถูกเลิกจ้างมากมาย ผู้หญิงจะถูกเลิกจ้างก่อนผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายอยู่ในอุตสาหกรรมหนัก แต่ผู้หญิงอยู่ในภาคการประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ นายจ้างมักอ้างว่าเป็นคนงานที่ปลดเป็นคนงานเหมาค่าแรงไม่มีสิทธิรับค่าชดเชย ซึ่งไม่จริง เพียงแต่กฎหมายเข้าไม่ถึงแรงงานเหล่านี้ และเขาไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ จึงทำให้เขาไม่เข้าใจและยอมเซ็นใบลาออกโดยไม่รับค่าชดเชย
 
รัฐบาลชุดนี้ ส่งเสริมให้คนงานกลับชนบท แต่จะเป็นปัญหาว่าถ้ากลับบ้านเขาจะไปทำอะไร เพราะเขามาทำงานโรงงานก็เพราะเขาไม่มีอาชีพในชนบทแล้ว ในปี 2540 คนงานรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพของตัวเอง ที่ผ่านมามีปัญหากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องรวมกันไม่ต่ำกว่า 25 คน ต้องรอให้ครบ 25 คนก่อนแล้วถึงจะไปเรียนได้ ถึงที่สุดการส่งเสริมอาชีพมันเป็นจริงไม่ได้ การกู้เงินจากธนาคาร ต้องมีข้าราชการระดับ 7 ระดับ 8 มารับรอง คนงานเข้าไม่ถึงตรงนี้ ก็วนเวียนในวัฏจักรของการเป็นแรงงานราคาถูก
 
การแก้ไขเฉพาะหน้ามีการเคลื่อนไหวแจกใบปลิวว่าการถูกเลิกจ้างของเขาแก้ไขได้ และระยะยาวรณรงค์ให้เกิดรัฐสวัสดิการ เหมือนการเคลื่อนไหวเพื่อประกันสังคมที่รณรงค์มา 46 ปี
 
000
 
 
สมณะสันติอโศกชวนทำ "เกษตรอินทรีย์" แก้จน - ประเทศไม่สงบถ้าชาวบ้านไม่ฉลาด
สมณะเสียงศีล ชาตวโร นักบวชลัทธิสันติอโศก กล่าวว่าเห็นใจชีวิตคนงาน แต่เหตุปัญหาของคนงานมาจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมอันเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่รัฐบาลไม่ส่งเสริมการเกษตร แทนที่จะทำให้เกษตรกรหมดหนี้หมดสิน เพราะแท้จริงแล้วเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความสุข อยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี แต่ทุกวันนี้มีแต่การส่งเสริมออกเงินกู้ให้เกษตรกร เมื่อผลิตแล้วเป็นหนี้ก็ต้องทิ้งภาคการเกษตรเข้ามาทำงานโรงงาน เป็นวงจรอยู่เช่นนี้
 
เรื่องปัญหาคนงานแม้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่เป็นเรื่องปลายเหตุ การแก้ไขที่ต้นเหตุคือต้องทำภาคเกษตรให้เข้มแข็งเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ได้ ต้องส่งเสริมการอบรมเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พิชิตความยากจน ต้องอบรมให้ถูกต้องตรงกับปัญหา ที่ผ่านมาพอเดือดร้อนก็มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องแก้ไขปัญหา ประเทศชาติก็ไม่สงบตราบใดที่ไม่ทำให้ชาวบ้านฉลาด ก็ไม่รู้ว่ารัฐคิดอะไรอยู่ที่ไม่ทำให้คนฉลาด ทั้งนี้การมีคนฉลาดเป็นเรื่องดีแม้ปกครองยากหน่อย ส่วนคนโง่ผู้ปกครองจะชอบ กดขี่อย่างไรก็ไม่พูดไม่เถียงอะไร
 
000
 
 
ชี้ความยากจนเกิดจากการทุนกระจุกตัว ต้องสร้างความเท่าเทียมด้วยรัฐสวัสดิการ
วิภา ดาวมณี อาจารย์สตรีและเยาวชนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยกล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ใครคุมปัจจัยการผลิตเอาไว้ก็จะมีโอกาสในการจัดสรรทรัพยากร จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยไม่คำนึงเรื่องการกระจายทรัพยากรและลดการกระจุกตัวของครอบครองปัจจัยการผลิต ดูได้จากอัตราการขึ้นเงินเดือน และรายได้ของคนไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียหรือในโลก ขณะที่คนไทยมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกปี มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น 3-5% หรือ 8% ทุกปี แต่เงินเดือนขึ้นแค่ 1-2% ขณะที่ในประเทศเอเชียด้วยกันรายได้ขึ้น 4-8%
 
ดังนั้นผลจึงไปตกที่คนงานที่ต้องจนลง เพราะรายได้ในกระเป๋าน้อยกว่ารายจ่าย
 
วิภาเสนอว่าถ้าเราพูดถึงภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมต้องพูดปัญหาของทั้งสองภาคนี้ไปด้วยกัน ถ้าเห็นแต่ภาพที่ว่าสองภาคการผลิตนี้ขัดแย้งกันจะไม่สามารถอภิปรายต่อได้ว่าจะมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไปทางไหน อุตสาหกรรมทำให้คนผลิตได้มากขึ้น และถ้าสามารถทำให้ปัจจัยการผลิตสามารถกระจายได้เต็มที่ คนงานก็จะมีชั่วโมงทำงานลดลง จะได้มีเวลาเรียนหนังสือ เสพศิลปะ สนใจวรรณกรรม คนน่าจะมีคุณภาพชีวิตในการทำงาน แต่รัฐไม่คำนึงเรื่องนี้ ทุกวันนี้ทุกคนต่างมีภาระในการทำงานหนัก ดังนั้นถ้าต่อไปมีการทำรัฐสวัสดิการทุกคนจะได้รับการบริการเท่ากัน ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้หญิงได้เรียนเหมือนผู้ชาย ย่อมลดความยากจนลง และทุกคนล้วนมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น รัฐสวัสดิการไม่ได้มีเฉพาะด้านการศึกษา แต่รวมถึงที่อยู่อาศัยด้วย
 
ในประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีมรดก ขณะที่ประเทศอื่นทำเพื่อลดช่องว่างของรายได้ ความยากจนจะหมดได้ต่อเมื่อมีการกระจายทรัพยากร มีการควบคุมปัจจัยการผลิต กฎหมายต้องยุติธรรม มีรัฐสวัสดิการ สร้างระบบเก็บภาษี เพื่อทำให้คนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
 
000
 
 
ชวนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงานแก้ปัญหายากจน
ศรุดา แจ้งศิริเจริญ จากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวถึงประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนในย่านอุตสาหกรรมว่า เคยทำงานร่วมกับบางโรงงานเพื่อส่งเสริมให้นายจ้างยอมจ่ายเงินเพื่อให้คนงานได้รับค่าแรงในอัตราที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และให้คนงานได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมหากผลิตรายชิ้นได้มากกว่าเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ลดปัญหาการออกจากงานกลางคัน เพราะบางโรงงาน คนทำงานหลายปีได้ค่าแรงเท่าเดิมดังนั้นสัดส่วนการออกงานกลางคันจึงสูง
 
นอกจากนี้ สถานประกอบการควรส่งเสริมให้คนงานได้ซื้อหุ้นของบริษัทในราคาพาร์ เช่น ตั้งราคาหุ้นไว้ที่หุ้นละ 50 บาท แล้วแบ่งการกระจายถือครอง ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 หรือร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน ให้เป็นส่วนการถือหุ้นของคนงาน เพื่อให้คนงานรู้สึกมีส่วนร่วมกับโรงงาน
 
ศรุดา อภิปรายถึงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิระหว่างการตั้งครรภ์ว่า ทางที่ดีโรงงานควรส่งเสริมสิทธิของคนตั้งครรภ์ในโรงงาน โดยไม่เลิกจ้าง แต่อาจใช้วิธีให้ย้ายไปทำงานในแผนกที่เบาลง มีเดย์แคร์เซ็นเตอร์หรือศูนย์เลี้ยงเด็กช่วงเวลาทำงาน ที่มีพี่เลี้ยงคอยเลี้ยงลูกเป็นการช่วยแม่ที่เป็นคนงาน และตอนกลางวันคุณแม่ที่เป็นคนงานก็สามารถเข้ามาป้อนน้ำนมแม่ให้ลูกได้
 
000
 
 
ต่อสู้ความยากจนสไตล์ "สันติอโศก" ใช้วิกฤตเศรษฐกิจเป็น "โอกาส"
สมณะเสียงศีล ชาตวโร อภิปรายเพิ่มเติมว่า เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน หากใช้แนวคิดของเขา ซึ่งนำหลักการพุทธศาสนามาใช้จะแก้ไขความยากจนได้ง่าย คือต้องจนให้เป็น สมัยนี้คนรายได้ต่ำ รสนิยมสูงเยอะ ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย บทบาทผู้หญิงควรเป็นคนสร้างสิ่งแวดล้อม ดูแล อบรมลูก ไม่ใช่เอาเวลาไปทำมาหากินแบบได้เงินมาแต่เสียลูก ลูกติดสิ่งเสพย์ติด ผลาญเงิน ติดมือถือ สมัยเด็กอนุบาลก็มีมือถือโดยไร้สาระ ดังนั้นบทบาทสตรีควรมาทำแบบนี้กันบ้าง สมัยนี้ผู้ชายเป็นเด็กแว้นเด็กเวรสร้างปัญหา ต้องพูดกันตรงๆ ให้ฝากไว้
 
สมณะเสียงศีลกล่าวว่าอาตมารู้สึกดีใจ ที่มีช่วงเศรษฐกิจวิกฤต หลายคนกลัว แต่เราเห็นว่าเป็นโอกาส ทำไมเราต้องเป็นขี้ข้าโรงงาน คนที่หันมาร่วมงานเกษตรอินทรีย์กับอาตมาจะรอดหมดหนี้หมดสิน สมณะเสียงศีลระบุว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์คือการเปลี่ยนแนวคิดเกษตรกรจากเกษตรพาณิชย์เป็นเกษตรอินทรีย์ ที่เขาไม่เอาเพราะเกษตรแบบใช้สารเคมี มันง่ายและสะดวก สั่งปุ๊บบริษัทเอาปุ๋ย เอาของมาส่งถึงที่ อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ใช้ก่อนผ่อนทีหลังก็ได้ ใส่ปุ๊บเขียวปั๊บ แต่เกษตรอินทรีย์ต้องผสมสูตรเอง แต่ทุกวันนี้เกษตรแบบเคมีกำลังถึงทางตัน พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทะเลก็เป็นของนายทุนหมดแล้ว กว่าจะคิดแก้ไขก็สายแล้ว เมืองไทยจะเป็นเมืองขึ้นแล้ว เพราะที่ดินเป็นของเกษตรกรแต่จะมีกฎหมายขายชาติเพื่อให้ต่างชาติมาครองเมืองและสามารถซื้อที่ดิน
 
สมณะเสียงศีลระบุด้วยว่า เกษตรกรบางรายคิดแต่จะยืมเงิน แต่ไม่มีเงินใช้หนี้ ธกส. ดังนั้นเขาจึงมีโครงการอบรมพักชำระหนี้ด้วย
 
000
 
 
สรุปบทบาทผู้หญิงกับแก้ปัญหาความยากจนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสามแนวทาง
ผศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง กรรมการบริหารโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการช่วงท้ายกล่าวว่า จากเวทีเสวนาโต๊ะกลมวันนี้ สามารถสรุปได้ว่า แนวทางส่งเสริมบทบาทผู้หญิงเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและสิ่งแวดล้อม หนึ่ง ต้องส่งเสริมให้ความรู้และสร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อทำให้ผู้หญิงมีความสามารถลุกขึ้นมากล้าพูด กล้าบอก
 
สอง ผลักดันเชิงนโยบาย ในทางปฏิบัติคือการสร้างหรือแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งสนับสนุนด้านนายทุนแต่คนงานไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ นโยบายของทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแต่เข้าไม่ถึงประชาชน
 
สุดท้าย ต้องมีการใช้ภูมิปัญญา หลายอย่างมีของดีๆ อยู่แล้ว แค่ถูกทำให้หมดความสำคัญ ต้องกลับมาพูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการและอนุรักษ์แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ตลอดจนแหล่งพลังงานด้วย
 
โดยหลังจากเวทีเสวนาโต๊ะกลมนี้ จะมีการสัมมนาในหัวข้อ "สตรีกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" นี้อีกในวันที่ 11 ก.พ. ที่จะถึงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท