สหภาพแรงงาน สออส. ลำพูน ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี - ผู้บริหารยกวิกฤตเศรษฐกิจยื่นข้อเรียกร้องสวน

 

สหภาพแรงงาน สออส. ยื่นขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างประจำปีต่อผู้บริหาร บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (จำกัด) 12 ข้อเน้นปรับปรุงสวัสดิการในการทำงาน ขอให้บริษัทรักษาเกณฑ์การให้โบนัสและปรับขึ้นเงินเดือนตามข้อตกลงเดิม ส่วนผู้บริหารบริษัทยื่นข้อเรียกร้องสวน ยกเหตุผลวิกฤตเศรษฐกิจ ขอกำหนดเกณฑ์ลากิจ-สิทธิค่ารักษาพยาบาล เลิกพิจารณาค่าตอบแทนความเสี่ยงจากการทำงาน ยกเลิกเกณฑ์การจ่ายโบนัสและปรับขึ้นเงินเดือนที่เคยตกลงอยู่เดิม
สหภาพแรงงาน สออส. ยื่นขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างประจำปีต่อผู้บริหาร บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (จำกัด) 12 ข้อเน้นปรับปรุงสวัสดิการในการทำงาน ขอให้บริษัทเกณฑ์การให้โบนัสและปรับขึ้นเงินเดือน ด้านผู้บริหารบริษัทยื่นข้อเรียกร้องสวน ยกเหตุผลวิกฤตเศรษฐกิจ ขอกำหนดเกณฑ์ลากิจ-สิทธิค่ารักษาพยาบาล ยกเลิกค่าตอบแทนความเสี่ยงจากงาน ยกเลิกเกณฑ์การจ่ายโบนัสและปรับขึ้นเงินเดือนที่เคยตกลงอยู่เดิม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ซึ่งมีสมาชิกเป็นพนักงานใน บจก.โฮยา กลาส ดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี 2552 โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 12 ข้อ
 
โดยเป็นการขอให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน เช่น ทำหลังคาทางเดินไปโรงอาหาร ปรับปรุงจุดแสกนลายนิ้วมือก่อนเข้าทำงาน จัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายเพิ่มจากเดิม ขอเพิ่มค่าอาหาร ขอให้บริษัทคงสภาพการจ้างในการให้โบนัสและการปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงาน ขอให้บริษัทจัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
 
การขอให้บริษัทอนุญาตให้มีการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานภายในบริษัทได้และขอให้บริษัทจัดให้มีห้องทำงานสำหรับคณะกรรมการสหภาพแรงงานภายในบริษัท รวมทั้งขอให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรต่างๆ นอกเหนือจากราชการ ตามที่มีหนังสือเชิญได้ปีละ 20 วัน โดยไม่มีผลต่อเบี้ยขยัน, ค่าจ้างและไม่มีผลต่อการพิจารณาการตัดเกรดโบนัสและเงินเดือน เป็นต้น (ดูล้อมกรอบ 1.)
นาย รัชชานนท์ นนทะธรรม ประธานสหภาพแรงงาน สออส. ชี้แจงการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี 2552 ใน "สาสน์ฉบับที่ 1/2552 จากประธาน สหภาพแรงงานฯ (สออส.)" ว่า "เนื่องจากปีนี้เป็นที่ทราบกันว่าสภาพเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจโดยรวมไม่ค่อยดี และมีข่าวเรื่องการเลิกจ้าง กลั่นแกล้ง หรือกระทำการใดๆที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน จากบริษัทฯหลายแห่ง ทั้งในนิคมฯลำพูน และที่อื่นๆ ดังนั้นสหภาพแรงงานฯ จึงมีข้อเรียกร้องที่เน้นไปในด้านการรักษาผลประโยชน์ ดูแลสภาพการจ้าง และสวัสดิการ ของเพื่อนพนักงานทุกคน เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม  
 
สหภาพแรงงานฯ ได้พิจารณาแล้วว่าข้อเรียกร้องที่ยื่นในปีนี้ เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง โดยพิจารณาถึงการอยู่ร่วมกันด้วยระบบแรงงานสัมพันธ์"
 
ขณะเดียวกัน นายมาซาโนริ โมริโมโต ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหาร ของ บจก.โฮยาฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องของนายจ้างเสนอมายังพนักงานเช่นกันทั้งหมด 8 ข้อ (ดูล้อมกรอบ 2.) เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการกำหนดความชัดเจนของการลากิจ และสิทธิค่ารักษาพยาบาล
 
ที่สำคัญคือข้อ 4. ของข้อเรียกร้องฝ่ายนายจ้างขอให้พนักงานไม่เรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทนความเสี่ยงจากการทำงานอีก โดยข้อ 4" ให้เหตุผลว่า "จากการปฏิบัติงานจริงของบริษัทฯ (HOGT) เราไม่สามารถแบ่งแยกลักษณะการทำงานออกมาได้ว่า ลักษณะงานไหนเป็นงานเสี่ยง, ลักษณะงานไหนไม่เสี่ยง"
 
และข้อ 5. บริษัทฯ ขอยกเลิกเงื่อนไขในการจ่ายเงินตามข้อ 1 เกี่ยวกับเงินโบนัส และเงินตามข้อ 3 เกี่ยวกับปรับค่าจ้างในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ที่ทำขึ้นระหว่างตัวแทนบริษัทและตัวแทนพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 โดยให้การปรับโบนัสประจำปี และปรับค่าจ้างประจำปีเป็นไปตามผลการดำเนินงานของบริษัท และผลงานของพนักงานในแต่ละปี ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท
 
ซึ่งข้อ 5. นี้จะมีผลยกเลิกข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมในปี 2551 ที่ทางบริษัททำกับตัวแทนพนักงานเมื่อ 25 ม.ค. 2551 (คลิกที่นี่ เพื่อดูข้อตกลงสภาพการจ้างปี 2551)1 กับ ข้อ 3 คือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์จ่ายโบนัส และการปรับค่าจ้างพนักงาน โดยสภาพการจ้างเดิมที่เคยตกลงกันไว้เฉพาะข้อ
 
1. บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างงวดประจำเดือนเมษายน 2551 สำหรับลูกจ้างฝ่ายผลิต (operator) ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินผลในระดับ D ขึ้นไปในอัตราไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับการประเมินผลในระดับ A ไม่น้อยกว่าอัตรา 1.5 เท่า โดยคำนวณตามวิธีการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับเงินโบนัสในเดือนธันวาคม 2551 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนตุลาคม 2551
 
ส่วนลูกจ้างระดับอื่นๆ บริษัทฯ ยังคงใช้เงื่อนไขการให้เงินโบนัส ตามหลักเกณฑ์เดิม
 
3. บริษัทฯ ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันทุกคนเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ กระทรวงแรงงานกำหนด โดยลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ให้นำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น มาบวกเพิ่มกับค่าจ้างรายวันที่ได้รับ และปรับค่าจ้างลูกจ้างรายเดือนเพิ่มขึ้นโดยวิธีการคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำที่เพิ่มขึ้นคูณด้วย 30 วัน และนำผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกันในการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือนด้วย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552
 
ทั้งนี้ ยกเว้นลูกจ้างรายเดือนตั้งแต่ระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขข้างต้น
 
คาดว่าจะมีการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานและตัวแทนฝ่ายนายจ้าง เป็นครั้งแรกในวันที่ 26 ม.ค. นี้
 
สำหรับ "สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.)" ตั้งขึ้นภายหลัง "สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.)" โดย "สหภาพ สออส." เกิดจากการยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานของพนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ ระดับฝ่ายผลิต หลังจากที่เมื่อ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในฐานะนายทะเบียนสหภาพแรงงาน มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนสหภาพแรงงานของ "สหภาพ สอฟส." โดยให้เหตุผลว่าผู้ยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานขาดคุณสมบัติ โดยขณะนี้สหภาพ สอฟส. อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลแรงงาน
 
 
 
1.ข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ยื่นโดย สหภาพแรงงาน สออส.

ข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ปี 2552
 
1. ขอให้บริษัทมีการทำหลังคาทางเดินไปโรงอาหารของโรงงาน 1 ก่อนฤดูฝนที่จะถึงนี้และขอให้บริษัทแยกจุดสแกนนิ้วของโรงงาน 1 ออกจากล็อคเกอร์รองเท้าเนื่องจากสถานที่ดังกล่าวคับแคบและมีกลิ่นเหม็นตอนพนักงานเลิกงาน
 
2. ขอให้บริษัทจัดสถานที่และอุปกรณ์กีฬา เช่น โต๊ะปิงปอง และ กระดานหมากรุก, หมากฮอส ให้กับพนักงานในช่วงเวลาพักเบรกและหลังเลิกงาน
 
3. ขอให้บริษัทยกเลิกการรับพนักงานจ้างเหมาค่าแรงเข้ามาทำงาน เพราะจะทำให้พนักงานไม่มีความรักในองค์กร และผลงานที่ได้ก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย
 
4. ขอให้บริษัทอนุญาตให้มีการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานภายในบริษัทได้และขอให้บริษัทจัดให้มีห้องทำงานสำหรับคณะกรรมการสหภาพแรงงานภายในบริษัท
 
5. ขอให้บริษัทจัดให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรต่างๆ นอกเหนือจากราชการ ตามที่มีหนังสือเชิญได้ปีละ 20 วัน โดยไม่มีผลต่อเบี้ยขยัน, ค่าจ้างและไม่มีผลต่อการพิจารณาการตัดเกรดโบนัสและเงินเดือน
 
6. ขอให้บริษัทจัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้พนักงานโดยใช้ช่วงเวลาการทำงาน เพราะปัจจุบันมีพนักงานว่างงานเนื่องจากบริษัทมีการผลิตน้อยลง
 
7. ขอให้บริษัทมีการเพิ่มจำนวนเปอร์เซ็นต์การหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานที่เป็นสมาชิกให้มากขึ้นจากเดิม โดยให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสามารถเลือกได้
 
8. ขอให้บริษัทไม่หักเบี้ยขยันของพนักงานที่ลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์
 
9. ขอให้บริษัทคงสภาพการจ้างในการให้โบนัส และการปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานในปี 2552นี้
 
10. ขอให้บริษัทปรับเพิ่มค่าอาหารในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงปกติ จากเดิม วันละ 10 บาท เปลี่ยนเป็นวันละ 20 บาท และค่าอาหารในชั่วโมงโอที จากเดิมชั่วโมงละ 5 บาท เปลี่ยนเป็นชั่วโมงละ 10 บาท เนื่องจากอาหารได้น้อยและคุณภาพอาหารต่ำตามค่าอาหารของพนักงานที่ได้รับในปัจจุบัน
 
11. ในบรรดาข้อตกลง/สวัสดิการอื่นใด และ/หรือ ประเพณีปฏิบัติที่ไม่มีข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้คง สภาพการจ้างเหมือนเดิม
 
12. ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง, รังแก, กลั่นแกล้ง, เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุ ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้
 
 
2.ข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
ยื่นโดยผู้บริหาร บจก.โฮยา กลาส ดิสค์ (ประเทศไทย)

23 มกราคม 2552
 
เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
 
ถึง สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ และ
พนักงาน บริษัทโฮยา กลาส ดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุกคน
สำเนาส่ง 1.พนักงานทุกท่าน
2.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน
 
ด้วยปรากฏว่าสภาพเศรษฐกิจของบริษัทฯ และสภาพเศรษฐกิจของประเทศในสภาวะปัจจุบัน มีแนวโน้มตกต่ำลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลก บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของพนักงานที่ได้รับจากบริษัทฯ ณ ปัจจุบันให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจดังกล่าว และมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงในอนาคต ดังมีรายละเอียดดังนี้
 
1.เพื่อให้ข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้สิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นนั้นชัดเจนมากขึ้น บริษัทขอเพิ่มข้อความในประกาศเลขที่ HY-ANT-171-02/2551 ดังต่อไปนี้ ส่วนข้อความอื่นให้ใช้ข้อความประกาศเลขที่ HY-ANT-171-02/2551 เดิม
1.1 บริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นเกินจาก 5 วัน หมายถึง บริษัทฯ ไม่อนุญาตให้พนักงานยื่นใบลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตั้งแต่วันที่ 6 เป็นต้นไปแม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างและมีผลกระทบต่อเบี้ยขยันก็ตาม ซึ่งจะพนักงานจะต้องใช้สิทธิลาประเภทอื่น เช่น ลาขาดงาน (Absent) ลาพักผ่อนประจำปี (Annual Leave) เป็นต้น
1.2 พนักงานสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ในกรณีต่อไปนี้เท่านั้นและต้องแนบเอกสารหรือหลักฐานประกอบการลา
1.2.1 ลาเพื่อติดต่อกิจธุระกับหน่วยงานราชการ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับพนักงานและครอบครัวของพนักงาน (บิดา-มารดา-สามี-ภรรยา-บุตร-พี่น้องสายเลือดเดียวกัน (บิดา, มารดาเดียวกัน))
1.2.2 ลาเพื่อไปประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนบุตรของพนักงาน
1.2.3 ลาเพื่อดูแล, รับ-ส่งบิดา-มารดา-สามี-ภรรยา-บุตร-พี่น้องสายเลือดเดียวกัน (บิดา, มารดาเดียวกัน) ในขณะป่วยและอยู่ในระหว่างการพบแพทย์
1.2.4 ลาเพื่อไปดูแลบิดา-มารดา-สามี-ภรรยา-บุตร-พี่น้องสายเลือดเดียวกัน (บิดา, มารดาเดียวกัน) ในขณะนอกพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
1.2.5 ลาเพื่อการเข้าพิธีการสมรส, วันที่จดทะเบียนสมรสหรือหย่าของพนักงาน
1.2.6 ลาเพื่อเข้าร่วม, ช่วยเหลือพิธีการงานฌาปนกิจศพบิดา-มารดา-สามี-ภรรยา-บุตร-พี่น้องสายเลือดเดียวกัน (บิดา, มาราดาเดียวกัน)
1.2.7 พนักงานลาเพื่อเข้าร่วม, ช่วยเหลืองานพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยที่จำเป็นและสำคัญของคนไทยเช่น งานปอยหลวง, งานทำบุญบ้านใหม่, งานสลากภัต, งานทำบุญครบรอบ 100 วันของการเสียชีวิตบุคคลในครอบครัว (บิดา-มารดา-สามี-ภรรยา-บุตร-พี่น้องสายเลือดเดียวกัน (บิดา, มารดาเดียวกัน)
 
2.เพื่อให้ข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลของบริษัทนั้นชัดเจนมากขึ้น บริษัทขอเพิ่มข้อความในประกาศเลขที่ HY-ANT175-02/2551 ดังต่อไปนี้ ส่วนข้อความอื่นให้ใช้ประกาศเลขที่ HY-ANT-175-02/2551 เดิม
2.1 บริษัทฯ จะอนุมัติจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานที่ผ่านทดลองงานแล้วเท่านั้น และต้องเป็นการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่พนักงานผ่านทดลองงาน
2.2 บริษัทฯ จะอนุมัติให้พนักงานหญิงของบริษัทฯ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการตรวจการตั้งครรภ์ครั้งแรกและเกิดการเจ็บป่วยในระหว่างการตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่อนุมัติในกรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์
2.3 บริษัทฯ จะอนุมัติค่ารักษาพยาบาลที่ถือเป็นส่วนเกินจากประกันสังคม, ประกันชีวิตของพนักงาน เช่น ส่วนเงินค่าห้องพักรักษา, ส่วนเกินค่าอาหารของผู้ป่วย ไม่อนุมัติส่วนเงินที่มาจากค่าขนม, เครื่องดื่มที่บริการในตู้เย็น, ไม่อนุมัติค่าโทรศัพท์, ไม่อนุมัติส่วนเกินที่มาจากการเรียกร้องของพนักงานโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์
 
3.จากการปฏิบัติงานจริงของบริษัทฯ (HOGT) เราไม่สามารถแบ่งแยกลักษณะการทำงานออกมาได้ว่า ลักษณะงานไหนเป็นงานเสี่ยง, ลักษณะงานไหนไม่เสี่ยง ที่เราจะมีการจ่ายค่าตอบแทนความเสี่ยงจากการทำงานนั้น ดังนั้น พนักงานเข้าใจและไม่ขอให้บริษัทฯ ทำการพิจารณาอีกแล้ว
 
4.พนักงานทุกคนยอมรับระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯ ฉบับใหม่ที่แนบมากับเอกสารขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างฉบับนี้ และปฏิบัติอย่างเข้มงวด
 
5.บริษัทฯ ขอยกเลิกเงื่อนไขในการจ่ายเงินตามข้อ 1 เกี่ยวกับเงินโบนัส และเงินตามข้อ 3 เกี่ยวกับปรับค่าจ้างในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ที่ทำขึ้นระหว่างตัวแทนบริษัทและตัวแทนพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 [1] โดยให้การปรับโบนัสประจำปี และปรับค่าจ้างประจำปีเป็นไปตามผลการดำเนินงานของบริษัท และผลงานของพนักงานในแต่ละปี ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท
 
6.สภาพการจ้างใดที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ บริษัทขอให้คงไว้ตามสภาพการจ้างเดิมทุกประการ
 
7.พนักงานต้องให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ ตามวิธีที่บริษัทฯ เห็นว่าสมควรและเหมาะสมหากพบว่าบริษัทประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ โดยวิธีการให้ความร่วมมือของพนักงานนั้นต้องเป็นความร่วมมือที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
 
8.ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้ตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับ 3 ปี นับแต่วันที่ตกลงกันได้
 
บริษัทฯ ขอแต่งตั้งตัวแทนในการเจรจาตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ดังนี้ โดยให้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ทุกประการ
 
 
ตัวแทนในการเจรจา
1.นายเสฏฐวุฒิ หนุ่มคำ
2.นายศุภวัฒน์ เทพยุหะ
3.นายผจญชัย แก้วเดช
4.นางสาวอินทิรา คล่องการงาน
5.นางวีรยา คำบุรี
 
 
กำหนดวันในการเจรจา
ขอให้ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ และตัวแทนพนักงานบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมเจรจากับตัวแทนของบริษัทฯ ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้องฉบับนี้ ณ ห้องประชุมของบริษัท
 
บริษัทฯ หวังว่าตัวแทนของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ และตัวแทนของพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งจะเข้าทำการเจรจากับบริษัทฯ ตามข้อเรียกร้องข้างต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน ที่มีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม ตามกฎหมายต่อไป
 
 
นายมาซาโนริ โมริโมโต
ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหาร
 
 
หมายเหตุ: [1] หมายถึงข้อตกลงข้อ 1 และข้อ 3 ในข้อตกลงสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 หลังจากตัวแทนบริษัทกับพนักงานเจรจากันจนได้ข้อยุติ คือ 1. บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างงวดประจำเดือนเมษายน 2551 สำหรับลูกจ้างฝ่ายผลิต (operator) ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินผลในระดับ D ขึ้นไปในอัตราไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับการประเมินผลในระดับ A ไม่น้อยกว่าอัตรา 1.5 เท่า โดยคำนวณตามวิธีการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับเงินโบนัสในเดือนธันวาคม 2551 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนตุลาคม 2551
 
ส่วนลูกจ้างระดับอื่นๆ บริษัทฯ ยังคงใช้เงื่อนไขการให้เงินโบนัส ตามหลักเกณฑ์เดิม
 
3. บริษัทฯ ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันทุกคนเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ กระทรวงแรงงานกำหนด โดยลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ให้นำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น มาบวกเพิ่มกับค่าจ้างรายวันที่ได้รับ และปรับค่าจ้างลูกจ้างรายเดือนเพิ่มขึ้นโดยวิธีการคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำที่เพิ่มขึ้นคูณด้วย 30 วัน และนำผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกันในการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือนด้วย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552
 
ทั้งนี้ ยกเว้นลูกจ้างรายเดือนตั้งแต่ระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท