Skip to main content
sharethis

ภาคีเครือข่ายด้านครอบครัว จ.น่าน ร่วมหน่วยงานรัฐจัด "เวทีมุฑิตาจิตความรู้ครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน" แสดงงานการเรียนรู้ในช่วงปีที่ผ่านมา หวังความก้าวหน้าผลักดันประเด็นความเข้มแข็งครอบครัวสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

 

 

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่านและเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน มูลนิธิฮักเมืองน่าน ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ศูนย์พัฒนาครอบครัวประจำตำบล (ศพค.) และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดน่าน จัด "เวทีมุฑิตาจิตความรู้ครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน" ครั้งที่ 2 ณ ลานโพธิ ลานไทร อ.เมือง จ.น่าน

 

นายสุเมษ สายสูง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน ในนามหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านครอบครัว กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ในการสร้างสุขภาวะครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลไปยังครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับร่วมแสดงความชื่นชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดการ การเรียนรู้ในการพัฒนาครอบครัว เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน สังคม ได้เห็นความสำคัญของครอบครัว และเกิดการเชื่อมประสานพลังความร่วมมือของเครือข่ายครอบครัวในระดับพื้นที่ นอกจากนี้จังมีจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนวาระครอบครัว สู่วาระของชุมชน ท้องถิ่น ตลอดไปถึงในระดับจังหวัด

 

ด้านนายสุรเดช สุวรรณปากแพรก รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประธานเปิดงานกล่าวถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวในระดับจังหวัดว่า จังหวัดน่านได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดด้านการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ โดยได้กำหนดกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันและสามารถจัดการกับปัญหาในการดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง

 

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2552 จังหวัดได้อนุมัติงบพัฒนาจังหวัด เพื่อดำเนินโครงการด้านการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวเป็นเงิน 2,500,000 บาท โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์จังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน

 

ส่วนนายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่านหนึ่งในองค์กรร่วมจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานซึ่งใช้ชื่อว่ามุฑิตาจิตนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแสดงถึงการร่วมยินดี และชื่นชมกับองค์ความรู้ต่างๆ ที่สมาชิกได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเด็นความเข้มแข็งของครอบครัว ไปยังส่วนงานบริหารระดับท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งในส่วนของนโยบายในระดับจังหวัด

 

"เป้าหมายสูงสุดคือการผลักดันวาระครอบครัวให้เป็นยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด คนน่านมีกว่าแสนแปดหมื่นครอบครัว จะทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนแปลงสร้างความเข้มแข็งในระดับครอบครัว ชุมชน ขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนเฉพาะประเด็นร้อน อย่างรวมตัว ก่อม็อบปิดถนนเรียกร้อง ซึ่งแม้สิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ได้ยั่งยืน ชาวบ้านก็ยังคงต้องออกมาเรียกร้องรัฐในการแก้ปัญหาอยู่ทุกปี" นายสำรวยกล่าว

 

ในส่วนแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว นายสำรวยเล่าว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 โดยการทำให้ครอบครัวเป็นฐานการเรียนรู้ จากเดิมที่เคยขับเคลื่อนประเด็นสาธารณต่างๆ อย่างสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร การเกษตร มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานดังกล่าวช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ครอบครัวอ่อนแอ และเรื่องครอบครัวนี้จะทำให้คนทำงานไม่มีแรงในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ

 

จากการทำงานด้านครอบครัวมากว่า 5 ปี ได้มีการขยายเป็นเครือข่าย และภาคีจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ใน จ.น่านมีสมาชิกในโครงการครอบครัวเข้มแข็งกว่า 2,000 ครอบครัว และมีศูนย์ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งในชุมชน 35 แห่ง ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งได้ขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ คือ ลำปาง และพะเยา

 

นายสำรวยกล่าวถึงเนื้อหาซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็งว่า มีหลักสูตรที่เป็นแกน 5 ข้อ คือ 1.คุณธรรมครอบครัว ซึ่งจะมีการร่วมกันคิด วิจัย และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเวทีชุมชน ทำเป็นหลักสูตร เช่น หลักคิดคุณธรรมครอบครัวที่จะนำมาใช้กับคนรุ่นใหม่ 2.หลักสูตรพัฒนาการเด็กตามวัย โดยเรียนรู้พัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เพื่อเตรียมความพร้อมของครอบครัวที่จะดูแลเด็กในช่วยวัยต่างๆ 3.ความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นการเรียนรู้การสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกต่อกัน สร้างความเข้าใจ และกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัว

 

4.หลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ จากที่มองกันว่าสื่อทั่วไปเป็นปัญหา มอมเมา ขาดสาระ ก็จะหันมาเรียนรู้ผลิตสื่อด้วยตนเอง ให้เกิดประโยชน์และสอดรับต่อความตองการของชุมชน 5.ครอบครัวและชุมชน เป็นการขยายผลจากครอบครัวสู่ชุมชน ว่าครอบครัวที่เข้มแข็งจะสร้างชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างไร ยกตัวอย่างในเรื่องสิ่งเสพติด การทำลายป่า การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ซึ่งหากครอบครัวเข้มแข็งมีการรวมกลุ่ม ขยายเครือข่าย สร้างความร่วมมือ การแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะถูกผลักดันไปสู่ในระดับท้องถิ่น ละดับจังหวัดได้

 

 

ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน

 

ส่วน นายสถาพร สมศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายทรัพยากรและเกษตรยั่งยืน จ.น่าน กล่าวว่า เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง จ.น่าน เป็นคณะทำงานร่วมหลายภาคส่วนทั้งในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข ทรัพยากร ฯลฯ รวมทั้งองค์กรศาสนา เพื่อมาทำงานขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องครอบครัวร่วมกัน เพราะลำพังแต่องค์กรพัฒนาเอกชนเองหากทำงานอย่างโดดเดียว ก็จะไม่ครอบคลุมการดูแลแก้ไขปัญหา นอกจากนี้การรวมตัวยังเป็นการดึงศักยภาพที่คนทำงานในแต่ละองค์กรมี เพื่อมาทำงานร่วมกัน

 

ในฐานะเครือข่ายด้านการจัดการทรัพยากรซึ่ง นายสถาพร กล่าวถึงความสัมพันธ์ของทรัพยากรและความเข้มแข็งของครอบครัวที่จะส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงกันว่า หากมีการจัดการทรัพยากรอย่างป่าชุมชนโดยชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ป่าจะเป็นแหล่งอาหาร ส่งเสริมดำรงวิถีชีวิต และสามารถสร้างรายได้โดยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและสามารถอยู่กับธรรมชาติที่สมดุลได้โดยไม่มีการทำลาย และขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาความรู้ ความคิด ของคนในครอบครัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยม และรู้จักความพอเพียง รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีความเข้มแข็งควบคู่กันไปด้วย

 

ทั้งนี้ กิจกรรมในงานดังกล่าวประกอบด้วย การเสวนา "ต้นทางความคิดในการสร้างสุขภาวะทางครอบครัว" โดย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสถาบันครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูก บริษัทรักลูกแฟมมิลี่กรุ๊ป ผู้แทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และประธานชมรมองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดน่าน ร่วมให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานพื้นที่ในด้านครอบครัว

 

การแสดงบนเวทีโดยนักเรียน และนิทรรศการแสดงผลงานจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งในภาคปฏิบัติ เช่น เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม การขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นในรูปแบบแห้ง แบบน้ำ และในแบบที่ทำเป็นรูปบอล การทำปุ๋ยหมักจากขยะ การคัดแยกขยะ การทำบัญชีชีวิต การทำน้ำยาเอนกประสงค์ การปลูกผักถุง การจัดราบการวิทยุสัญจร ชุดเมนูความรู้ครอบครัวเข้มแข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำสินค้าหัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน และผักปลอดสารพิษมาจำหน่ายในงานด้วย

 

 

 

 

 

มุทิตา" หมายถึง "อยู่อย่างเป็นสุขกับปัจจุบันขณะ" เราจะไม่รีบเร่งไปสู่อนาคตข้างหน้า เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ สิ่งละอันพันละน้อยมากมายสามารถนำพาความยินดีเบิกบานใหญ่หลวงมาสู่เราได้

 

คำว่ามุทิตา ก็คือความยินดีเบิกบานที่เจอไปด้วยความสงบและความพอเพียง เราชื่นบานเมื่อได้เห็นผู้อื่นมีความสุข ขณะเดียวกันตัวเราก็ชื่นบานไปกับความสุขของตนด้วย เราจะยินดีเบิกบานกับผู้อื่นได้อย่างไร หากเรามิได้รู้สึกอย่างนี้กับตนเอง ความยินดีเบิกบานจึงเป็นของทุกๆ คน

 

ติช นัท ฮันห์

จากหนังสือ "เมตตาภาวนาคำสอนว่าด้วยรัก"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net