Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"กำพล จำปาพันธ์" เสนอการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมาจนวันนี้ ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลายสำนัก (ที่เรียกกันรวมๆ ว่า "สื่อกระแสหลัก") ด้วยภาพที่ค่อนข้างหนักไปในทางลบอยู่ 4 รูปแบบ

กำพล จำปาพันธ์

 

มีคนบ่นว่า ภาพของคนเสื้อแดงตามที่ปรากฏในสื่อนั้น บิดเบือนอย่างร้ายกาจ ชนิดที่ทำเอาหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องพากันส่ายหัวส่ายหน้าไปตามๆ กัน บางคนก็ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า ในแวดวงสื่อมีการนำเอาข้อกล่าวหาให้ร้ายของฝ่ายเสื้อเหลืองที่มีต่อฝ่ายเสื้อแดงมาใช้อย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจุดยืนความเป็นสื่อที่ทำงานสอดรับกับผลประโยชน์ของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม คำถามที่เกิดตามมาก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? และเมื่อเป็นเช่นที่กล่าวนี้แล้วจะมีความหมายเช่นใดต่อไป ?

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นคำถามข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอพิจารณาภาพดังกล่าวเสียก่อนว่ามีลักษณะเช่นไร จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่แนวการอธิบายปัญหาอันมีที่มาจากการเสนอภาพดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป จากการสำรวจคร่าว ๆ ผู้เขียนพบว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมาจนวันนี้ ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลายสำนัก (ที่เรียกกันรวม ๆ ว่า "สื่อกระแสหลัก") ด้วยภาพที่ค่อนข้างหนักไปในทางลบอยู่ 4 รูปแบบดังนี้คือ

 

 

1.เลียนแบบพันธมิตร ทั้งที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง แตกต่างกันอยู่หลายประการ เป้าหมายก็ต่างกัน เป็นต้นว่า เสื้อเหลืองต้องการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้ทหารและกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับไทยรักไทยเดิม ซึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์ เสื้อแดงต้านรัฐประหาร ต้านอำนาจนอกระบบที่แทรกแซงทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชนได้ วิธีการก็ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเคลื่อนไหวโดยเห็นเป้าหมายทางการเมืองของตนสำคัญกว่าอื่นใด มุ่งเอาชนะในทางยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี คิดแบบทหาร การเมืองบนท้องถนนของพันธมิตรจึงดูไม่ต่างจากการรบในสมรภูมิสงครามตรึงกำลังตั้งมั่น ไม่ใส่ใจแม้กระทั่งชีวิตมวลชนของตนเอง จัดตั้งให้เป็นทหารเป็นนักรบที่พร้อมเสียสละ จึงสารพัดวิชามาร ถึงขนาดไฮแจ๊คทำเนียบ ยึดสนามบิน สร้างความเสียหายแก่ประเทศ อีกฝ่ายเน้นแสดงพลัง ชุมนุมโดยสันติ ไม่นำพาซึ่งความรุนแรง ภายในขบวนการมีความหลากหลาย ไม่ชุมนุมยืดเยื้อ ไม่เรียกร้องสุดโต่ง ไม่ประกาศชัยชนะพร่ำเพรื่อ ไม่คุกคามสื่อ ฯลฯ

 

 

2.ใช้ความรุนแรง ถามว่า ระหว่างอิฐตัวหนอน ปาไข่ กับยึดสนามบิน ใช้อาวุธปืน ระเบิด อันไหนรุนแรงกว่ากัน? หากจะใช้มาตรฐานว่าด้วยความรุนแรงในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่พันธมิตรกระทำย่อมถือว่าเป็นความรุนแรงที่เห็นได้เด่นชัดเป็นที่สุด แต่แทนที่จะประณามการกระทำของพันธมิตรด้วยมาตรฐานว่าด้วยความรุนแรงตามปกติ ก็กลับเอามาตรฐานนี้ (ที่ควรใช้กับกรณียึดสนามบิน) มาใช้กับกรณีของอิฐตัวหนอนและการปาไข่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็เห็นกันอยู่ว่าใครใช้ความรุนแรงเป็นปัจจัยเร่งให้บรรลุชัยในการเคลื่อนไหว อย่าลืมว่า พันธมิตรทำให้คนตาย 8 คน (หรือ 9 คน หากรวมกรณีณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงด้วย) เสียหายอีกกว่า 1.4 แสนล้านบาท

 

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า อิฐตัวหนอน ปาไข่ และกรณีอื่น ๆ ไม่ถือเป็นความรุนแรง ประเด็นอยู่ที่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่นอกเหนือการควบคุมโดยไม่มีการคิดคำนวณถึงผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้าใช่หรือไม่ และอีกคำถามที่ละเลยไม่ได้ก็คือ ความรุนแรงของใคร ? อิฐตัวหนอนกับไข่เน่าอาจเป็นความรุนแรงสำหรับนักการเมืองบางคนที่ทำความผิดบางอย่างตามความเห็นของผู้ปา ไม่ใช่ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างการตั้งกองกำลังส่วนตัวของกลุ่มพันธมิตร

 

แทนที่จะหมกมุ่นอยู่เพียงปรากฏการณ์ระดับพื้นผิว ทำไมไม่ลองมองดูสาเหตุที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นบ้างว่าทำไมหรือเพราะอะไร จึงมีคนโกรธแค้นพรรคประชาธิปัตย์ จนแสดงออกมาอย่างนั้น การปล้นอำนาจประชาชน สมรู้ร่วมคิดกับม็อบเผด็จการอนารยะอย่างพันธมิตร ยอมรับการแทรกแซงของทหารและตุลาการ ไม่ถือเป็นความรุนแรงโดยตัวมันเอง หรืออีกนัยคือไม่ถือเป็นการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงหรอกหรือ ?

 

 

3.ทำเพื่อนายใหญ่ "ทักษิณ" ยังเป็นผีร้ายให้คนพวกนี้ใช้อ้างโจมตีกลุ่มที่ออกมาประท้วงพันธมิตรและรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ทั้งที่จริงแล้วพันธมิตร ทหาร และพรรคประชาธิปัตย์ ต้องทบทวนดูบทบาทการกระทำของตัวเองใหม่ได้แล้วว่า ทำไมจนป่านนี้แล้วพวกตนจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการปลุกกระแสความเกลียดชังต่อ "ทักษิณ" และกลุ่มไทยรักไทยเดิม จะรัฐประหารก็แล้ว ม็อบอนารยะก็แล้ว ตุลาการภิวัตน์ก็แล้ว ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังเห็น "ทักษิณ" เป็นฮีโร่ หรือจะคิดเอาง่ายๆ ตื้นๆ ว่า ชาวบ้านเหล่านั้นยังโง่ยังขายเสียงกันอยู่อีก ก็รังแต่จะผิดพลาดกันต่อไปอีกเป็นนานเท่านั้น

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข้อเสนอจากภายในของเสื้อแดงเองด้วยซ้ำว่า ให้ถือว่า "ทักษิณ" เป็นเพียงแนวร่วมคนหนึ่ง เขาดูแลตัวเองได้ ผู้นำที่ควรให้การยกย่องกันต่อไปคือ "วีระ" และก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอเป็นการภายในอยู่แล้วว่า ทักษิณเป็น "สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" โดยนัยก็คือทักษิณไม่ได้มีบทบาทควบคุมบงการการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงดังที่ฝ่ายเสื้อเหลืองกล่าวหา แต่เป็นคนเสื้อแดงต่างหากที่เชื่อมโยงการต่อสู้ของตนเข้ากับ "ทักษิณ" เขาไม่ได้มีฐานะเป็น "นายใหญ่" ของคนเสื้อแดงแต่อย่างใด

 

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าในหมู่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยยังรักและผูกพันกับทักษิณและรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารไปในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่นั่นไม่เป็นสารัตถะมากพอที่จะกล่าวหาคนเหล่านี้ว่า ที่ออกมาเสี่ยงชีวิตบนท้องถนนนั้นเพียงเพราะนายสั่งหรือทำเพื่อทักษิณเท่านั้น ประเด็นที่ต้องถามต่อก็คือ ทำไมถึงต้องเป็นทักษิณ เพราะทักษิณมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่? ถ้าใช่! งั้นสารัตถะที่ถูกมองข้ามไปจากการอคติแบบนี้ก็คือ "ประชาธิปไตย" (ที่เข้าใจกันว่า "ทักษิณ" กับพวกมีความเชื่อมโยงอยู่) ใช่หรือไม่?

 

ความผิดพลาดอย่างสำคัญของขบวนการต่อต้านทักษิณในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การเคลื่อนไหวของพวกเขานำไปสู่รัฐประหารและการเมืองแบบพันธมิตรอภิสิทธิ์ชน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลยแทนที่จะเห็นด้วยกับขบวนการต่อต้าน กลับแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อขบวนการดังกล่าว "ทักษิณ" หลุดจากตำแหน่งจนต้องระหกระเหินต่างแดนก็เพราะการแก้ปัญหาที่ไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยของคนจำนวนหนึ่งในบ้านเมืองนี้ นี่คือความจริงสามัญที่เห็นกันอยู่ แท้ที่จริงแล้วผู้ที่ทำให้ทักษิณเป็น "สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" และทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องออกมาแสดงตัวตนว่าเป็น "กลุ่มคนรักทักษิณ" อย่างที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็คือ ขบวนการต่อต้านทักษิณในช่วงที่ผ่านมานี้นั่นเองแหล่ะ!

 

 

4.หมิ่นสถาบัน ตัวอย่างเช่น การติดตั้งพระบรมสาทิสลักษณ์ข้างๆ คำ "อภิสิทธิ์ (ชน) โจร" บนเวทีนปช. ในคราวชุมนุมเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกใช้โดยหนังสือพิมพ์ฝ่ายพันธมิตรกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่า "หมิ่นสถาบัน" (โปรดดู นสพ. ไทยโพสต์. วันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2551 ปีที่ 13 ฉบับ 4445) เนื้อหาการนำเสนอข่าวยังมีการขุดคุ้ยกรณีดา ตอร์ปิโด, สุชาติ นาคบางไทร, จักรภพ เพ็ญแข และคดีที่ยังค้างอยู่มาเชื่อมโยงเป็นประเด็นกล่าวหาว่าหมิ่นฯ ตามด้วยการเสนอความเห็นของนายสุริยะใส กตะศิลา เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า "เป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง ถือเป็นการส่อเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงอย่างชัดเจน" ขณะที่จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้กล่าวชี้แจงแล้วว่า "ไม่เจตนาละเมิดสถาบันแน่นอน เพราะกลุ่มนปช. ต้องการแสดงให้เห็นว่า นปช. เทิดทูนสถาบัน แต่เนื่องจากมีความพยายามเชื่อมโยงให้ละเมิดสถาบัน จึงได้นำพระบรมสาทิสลักษณ์ลงเพื่อป้องกันไม่ให้ไปขยายผลต่อไป และทำให้เกิดปัญหาได้ ส่วนข้อความที่ว่า อภิสิทธิ์ชน "โจร" นั้น เราต้องการโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่มีนัยแอบแฝง"

 

จะเห็นได้ว่า มีความพยายามจะใช้กฎหมายมรดกจากยุคเผด็จการมาทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาเป็นกลุ่มเดียวกับที่ต่อต้านการรัฐประหาร ภายหลังก็พยายามที่จะใช้ในกรณีที่มีคนต่อต้านรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ด้วย สะท้อนมุมมองแบบพันธมิตรและการสืบรับเอาวิธีการทางการเมืองในแบบฉบับของพันธมิตรมาใช้ สื่อบางสำนักมีใจให้กับพันธมิตรมากไป จนไม่รู้อะไรถูก-ผิดไปอย่างไม่น่าเชื่อ กลุ่มคนที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลสมัคร-สมชาย ฟังเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตร วันนี้เมื่อเสื้อแดงเป็นฝ่ายประท้วง คนเหล่านี้ไม่เพียงไม่ได้กระทำการอย่างเดียวกับที่เคยทำคราวนั้น คราวนี้กลับทำตรงกันข้ามคือ พวกเขาโจมตีผู้ออกมาประท้วง กล่าวหาว่าเป็นพวกก่อความไม่สงบ สมควรถูกปราบปราม ทั้งที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลสมัคร-สมชาย จัดการกับการชุมนุมด้วยวิธีสันติ รวมหัวกันประณามกรณี 7 ตุลา" มาคราวนี้กลับจะชักนำให้รัฐบาล "อภิสิทธิ์" ทำการปราบปรามฝ่ายเสื้อแดงอย่างเด็ดขาดรุนแรง ด้วยข้อหาความผิดฉกาจฉกรรจ์ฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

 

"ทวิมาตรฐาน" ไม่เพียงไม่เป็นกลาง แต่กลับเข้าข้างฝ่ายเผด็จการอย่างเต็มที่ ไม่เพียงไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา กลับสร้างภาพบิดเบือนว่าการเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อแดงไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาธิปไตย ชี้นำให้คนหลงผิดเห็นเป็นเพียงพวกทำเพื่อ "นายใหญ่" เอาความผิดหรือข้อหาที่ควรตกเป็นของกลุ่มพันธมิตรมาให้กลุ่มเสื้อแดง ลดระดับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงให้อยู่ระดับเดียวกับเสื้อเหลือง เข้าข้างเสื้อเหลืองนำเอามายาคติข้อกล่าวหาให้ร้ายของฝ่ายเสื้อเหลืองมาใช้ว่าเสื้อแดงอีกต่อหนึ่ง มองเสื้อแดงเป็นเพียงพวกก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองไม่ต่างจากที่เสื้อเหลืองเคยทำมา ร่วมสังฆกรรมกับเผด็จการ ภาพบิดเบือนที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นภาพที่สะท้อนตามมุมมองของฝ่ายพันธมิตร แสดงตัวตนของสื่อที่เป็นผู้นำเสนอภาพนั้นเอง ไม่ได้แสดงถึงตัวตนของคนเสื้อแดงอย่างแท้จริง

 

ปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" และความผิดระดับก่อการร้ายสากลของม็อบอนารยะอย่างพันธมิตร ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝ่ายเสื้อแดงหยิบยกขึ้นมา ไม่ได้รับการพูดถึง ไม่ถูกพิจารณาอย่างจริงจัง การเล่นงานผู้ประท้วงนั้นง่าย เพราะเสื้อแดงไม่มี "เส้น" เหมือนเสื้อเหลือง แต่หากสื่อยังอยากจะเป็นสื่อ ก็ควรทำหน้าที่ของสื่อที่ดี ด้วยการปกป้องประชาธิปไตย เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา อย่าสวมแว่นพันธมิตร เพราะจะทำให้สายตาคุณสั้น-ยาวเกินปกติได้ง่าย ๆ จนทำให้มองภาพเป็นเบลอเห็นคนด้วยกันเป็นอื่นไป ที่สำคัญคือ อย่าเข้าข้างเผด็จการแล้วสร้างภาพบิดเบือนให้ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมดังที่เป็นอยู่ ลองคิดดูว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ดิ่งเหวตกต่ำขนาดไหน หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าขืนยังยืนกรานจะสร้างภาพบิดเบือนเสนอข่าวสารอย่างเป็นเท็จอย่างนี้ต่อไปอีก ก็ขอให้เปลี่ยนหัวเป็น "สื่อพันธมิตร" "สื่อของเผด็จการ" "กระบอกเสียงของรัฐบาลอภิสิทธิ์" และ/หรือ "เครื่องมือของอภิสิทธิ์ชน" ไปเสียเลยจะดีกว่าไหม ?!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net