สมเกียรติ ตั้งนโม: สิ่งที่ต้องทำ 2 อย่าง "ซื้อปืน-เลิกเสียภาษี" ถ้ารัฐบาลไม่ปกป้อง "นิติรัฐ-นิติธรรม

"เราต้องไม่เชื่อวาทกรรมชุดหนึ่งที่เราถูกสอนว่า "ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" ผมเสนอว่า "ถ้าคุณเสียภาษี คุณต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะภาษีเป็นเรื่องที่คุณต้องจ่าย เพื่อความเป็นสุขของคุณ" ฉะนั้น ทุกคนควรสนใจการเมือง"

ในรายการ "มองคนละมุม" ทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM 100 MHz มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล ซึ่งออกอากาศในวันที่ 17 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีแขกรับเชิญคือ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช. และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แลกเปลี่ยนในประเด็นหลังการจัดตั้งรัฐบาลของประชาธิปัตย์ และสถานการณ์ของการเมืองในปัจจุบัน

 
 
การใช้นโยบายประชานิยม ของพรรคการเมืองในอดีตมาใช้ และมองว่า สิ่งที่ประชาชน ควรจะระวัง สิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ควรจะทำต่อไปอย่างไร
ผมมองว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ ณ วันนี้ เป็นการลอกการบ้านเพื่อน ในฐานะที่ผมเป็นครู ผมใช้ศัพท์ครูสอนหนังสือว่า "ลอกการบ้านเพื่อน" ถามว่าเป็นประโยชน์ไหม เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน สามารถทำให้ประชาชน มีรายได้
 
แต่แท้ที่จริง การกระทำเช่นนี้ควรมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมาย ให้มันเสร็จสรรพไปเลย แทนที่จะเป็นนโยบายหาเสียง เพราะการเป็นนโยบายหาเสียง มันวูบวาบ แต่ถ้าเป็นกฎหมาย มันหมายถึงว่า มันต้องมีการบังคับใช้ แน่นอนว่า ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลใดก็ตามปฏิบัติตามกฎหมายและทำให้เขาสามารถมีชีวิตรอดได้โดยไม่อดตายข้างถนนและป่วยตายเหมือนคนอนาถา ทั้งหมดระบุชัดว่า ภาระหน้าที่ของรัฐมันไม่เป็นเพียงนโยบาย ผมคิดว่าแบบนี้จะมั่นคงกว่า และเมื่อกลายเป็นกฎหมายก็เป็นความมั่นคง แต่ถ้าเป็นนโยบายก็วูบวาบเป็นไปตามกระแสอย่างที่ผมบอกไว้
 
เรื่องที่ถามไว้ว่าภาวะการเมืองเป็นอย่างไร การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในภาวะเช่นนี้ ผมสงสารประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐบาลลากตั้ง เขาไม่สามารถมีอิสระมากพอที่จะดำเนินตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มตัว จะเห็นว่ารัฐมนตรี หลายคนเป็นรายการแบบคุณขอมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้
 
เป็นภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทนทำงานที่เป็นทางเลือกของตนเองไม่มากนัก อันที่จริง รัฐบาลแบบพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแบบเบี้ยล่าง ถ้าในสำนวนของผมก็คือเป็น "รัฐบาลเบี้ยล่าง" หมายความว่า เป็นกลุ่มบุคคล บางกลุ่ม มีอิทธิพลเหนือกว่า รัฐบาลแทรกแซงอยู่
 
 
ความหมายเบื้องหลังของการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือ กลุ่มคน ที่มีอิทธิพลเยอะกว่าประชาธิปัตย์เกี่ยวข้องด้วย
เรื่องนี้ปรากฏมานานพอสมควร โดยฝังอยู่ในวิกฤติทางการเมืองของสังคมไทย จะเห็นว่า มีสำนวนหลายสำนวน เช่น จะเรียกกลุ่มพันธมิตรว่าม็อบมีเส้นบวกกับม็อบบรรดาศักดิ์บ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพหรือสำนวนที่สะท้อนให้เห็นเบื้องหลังของวิกฤติการเมืองในคราวนี้ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างน้อยมาก่อนและเป็นพรรคฝ่ายค้านมาก่อน ไม่ได้ฝ่าฟันมาด้วยตัวของเขาเอง มาจากอิทธิพลที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และผมอยากจะพูดว่า รู้สึกว่าเราเสียเวลาไปมากพอสมควรกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแล้วมันถอยหลังกลับ
 
 
สิ่งที่ควรจะทำเป็นกฎหมาย และนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ใช้โอกาสนี้
สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ เคยได้แถลงนโยบายไว้ว่าจะสมานฉันท์ด้วยหลักความยุติธรรม ผมกำลังรอดูอยู่ และที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ว่าจะทำหลักความยุติธรรมได้ทำหรือยัง และคำถามการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและการเข้าไปครอบครองพื้นที่ปิดสนามบินทั้ง 2 แห่งของกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้ ได้ดำเนินการไปถึงไหนและมีความเอาใจใส่ สนใจเรื่องเหล่านี้อย่างไร อันนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าละเว้นพวกปาอิฐบล็อกใส่รถนักการเมืองที่เข้าประชุมในรัฐสภานะครับ หมายถึงพวกเสื้อแดงด้วย จริงๆ ก็คือว่า หลักความยุติธรรมจะต้องถูกปฏิบัติให้สมดุลและทำไปอย่างตรงไปตรงมา
 
 
มองว่าการยึดสนามบินและทุบรถต้องเคลียร์และจัดการให้หมด
จัดการ เพราะว่าทุกฝ่ายกำลังรอดูอยู่ว่า เราปล่อยให้อันธพาลเหล่านี้ใช้อารมณ์ ใช้ความบันดาลโทสะ และเหตุผลส่วนตัว และเราทุกคนอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและกฎหมายจะคุ้มครองคนที่อ่อนแอในสังคม
 
และถ้าเกิดเราปล่อยให้คนที่เป็นอันธพาลที่มีความแข็งแรงและมีอำนาจเหนือกฎหมาย ผมคิดว่า จะต้องหาอาวุธมาประจำบ้าน เพราะเราไม่สามารถได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายได้ นอกจากหาอาวุธมาแล้ว เราไม่ควรเสียภาษีด้วย เพราะว่าภาษีที่เราจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมเราจ่ายเพื่อเราจะได้รับความมั่นใจได้ว่าการคุ้มครองทางกฎหมาย เราได้รับความยุติธรรม เราได้รับความเสมอภาค และเรามีเสรีภาพ ฉะนั้น ภาษีที่เราจ่ายไปมีหลายความหมาย
 
ถ้ารัฐบาลไม่สามารถปกป้องสิ่งที่เป็นนิติรัฐและนิติธรรมได้ ผมว่าเราควรเตรียมสองอย่าง หนึ่ง ซื้อปืน สอง เลิกเสียภาษี ผมว่าถ้าไม่บังคับกฎหมายก็เท่ากับซ่องโจรคือใครมีกล้ามใหญ่และใครมีกระบองคนนั้นก็ปกครองประเทศเหรอ? ไม่ใช่ครับ เราพัฒนามากกว่าสภาพจากการเป็นสัตว์มานานแล้ว เราอยู่ภายใต้กฎกติกา ฉะนั้น กฎกติกา จะต้องได้รับการปฏิบัติ และถูกบังคับใช้ได้อย่างยุติธรรม
 
 
มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานอย่างอื่น หรือเปล่า
ผมคิดว่า จะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้ไว้ไม่ได้นะ เพราะว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น ทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกายทุกฝ่าย
 
คือเราไม่สามารถอยู่ได้ที่มันสภาวะสับสนอลหม่านในลักษณะนี้ได้หรอก และสังคมใดก็ตามที่มันสับสนอลหม่านอย่างนี้ไม่มีใครอยากสังคมกับคุณหรอก เพราะว่าวันดีคืนดี เขามาลงทุนกับคุณ แล้วคุณไม่เคารพกฎ กติกา ไม่มีวินัยมากพอ ผมคิดว่าสังคมโลกทิ้งคุณ
 
ฉะนั้น เราจะกลับมาสู่หลักโดยใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้เร็วที่สุดอย่างไร ก็ประกาศแล้วไม่ใช่หรือว่า จะใช้หลักยุติธรรมในการจัดการปัญหา ฉะนั้น ก็กำลังรอดูอยู่ไงว่าเมื่อไหร่จะลงมือ ตอนนี้ ก็เห็นอยู่แต่นโยบายประชานิยมอย่างเดียว
 
 
ในมุมมองของอาจารย์ว่าในส่วนของฝ่ายเสื้อแดงมีการไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เอาอย่างนี้ดีกว่า คุณถามเป็นช่วงๆ ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องไหลมาจากอดีต ผมคิดว่าผู้นำของกลุ่มเสื้อแดงได้ประกาศไว้นานแล้วว่า ถ้ารัฐบาลสามารถถูกขับไล่ได้โดยกลุ่มคนไม่เคารพกฎหมายเหล่านี้ได้ เราก็สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะว่ามันราคาไม่แพงเราก็สามารถทำอย่างนี้ได้ ถ้าเราอยากเป็นรัฐบาล และถ้าอย่างนั้นกฎ กติกา อยู่ที่ไหน
 
ที่น่าสงสารที่สุดคือประชาชนส่วนใหญ่ถูกนำไปวางไว้ตรงไหน ถ้ากลุ่มอันธพาลทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเท่ากัน และบุคคลที่ 3 ประชาชนถูกวางไว้ตรงไหน คนเหล่านี้รอคุณต่อสู้กันจนเสร็จแล้ว จนบ้านเมืองมันพินาศฉิบหายไปแล้ว รอคนที่แข็งแรงที่สุดมาปกครองบ้านเมืองอย่างนั้นเหรอ
 
ผมคิดว่าต้องยุตินะครับกรณีแบบนี้และทุกอย่าง ผมไม่อยากให้เราย้อนกลับไปอีกหลายสิบปีหลังจากที่เราพัฒนามาสู่ระบอบประชาธิปไตยมา ในความหมายของผมก็คือประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ขุนนาง ชนชั้นสูง ไม่ใช่กลุ่มทหาร ไม่ใช่พวกมีเครื่องแบบและมีอาวุธ เราเกินจากขอบเขตของอำนาจรัฐแบบนั้นมาไกลโข เราจะย้อนกลับไปเหรอ
 
ที่น่าเสียใจมากที่สุด ถ้าเราปล่อยให้มีรัฐบาลเงามีอำนาจกว่ารัฐบาลเบี้ยล่าง คำถามผมก็คือ ถ้าต่างประเทศอยากทำธุรกิจเขาจะติดต่อกับใคร เขาจะติดต่อกับรัฐบาลเบี้ยล่าง หรือเขาจะติดต่อกับรัฐบาลเงาที่เหนือกว่ารัฐบาลเบี้ยล่าง
 
 
รัฐบาลเงาในความหมายใด
ในความหมายใหม่ เพราะว่ารัฐบาลเงาที่ผมพูดถึงเป็นกลุ่มบุคคลที่เหนือรัฐธรรมนูญ สามารถมีอำนาจในการบีบบังคับรัฐบาลได้
 
ผมตั้งข้อสงสัยว่า ถ้ารัฐบาลเงามีอำนาจเหนือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การติดต่อทางธุรกิจในอนาคตจะมีการคอรัปชั่นแหลกเลย เพราะว่าแทนที่เขาจะไปหานายกรัฐมนตรี เขาก็ไปหานายกรัฐมนตรีเงาแทน ผมคิดว่าแล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร
 
 
คือ 1 ประเทศ มีสองรัฐบาล และรัฐบาลที่ออกหน้าตากับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจริง
ใช่ครับเป็น "รัฐบาลปลอม" ผมใช้คำเบากว่านี้ว่า "รัฐบาลเบี้ยล่าง"
 
จริงๆ แล้วมันน่ากลัว แทนที่จะซึ่งหน้า โปร่งใส หลักธรรมาภิบาลใช้ไม่ได้ด้วยเลย ปราศจากความโปร่งใส ความตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบไม่มี ความโปร่งใสไม่มี ไม่มีการมีส่วนร่วม ก็ไม่ใช่ธรรมาภิบาลแน่นอน
 
ผมถึงบอกไงว่ามันน่ากลัว มันจะย้อนยุค เราจะแก้ไขได้ไหม ผมคิดว่านักวิชาการรวมทั้งนักสื่อสารมวลชนรวมทั้งผู้ดำเนินรายการต้องขยายความเข้าใจว่า เราไม่ยอมให้เกิดภาวะแบบนี้ได้ เพราะว่า ภาวะแบบนี้เป็นภาวะทุจริต ไม่โปร่งใส
 
 
สิ่งที่เสื้อแดงไม่ยอม มันมีนัยยะ มีความหมายคล้ายๆ กับที่พูดเมื่อสักครู่หรือเปล่า
ผมไม่ได้ติดตามเสื้อแดงนะ ถ้าเขาจะพูดตรงกับผมก็เป็นเพียงแค่คนที่คิดตรงกันเท่านั้นเอง เพราะผมไม่รู้จักคนเสื้อแดงสักคน ผมรู้จักคุณวีระ มุสิกพงศ์ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เคยคุยกัน ผมไม่รู้จักใครเลย ที่ใส่เสื้อแดง แต่ถ้าจะคิดตรงกันก็เป็นเรื่องปกติที่จะคิดตรงกันได้
 
 
คิดว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรได้บ้าง
อันที่จริงรัฐบาลนี้คิดว่าทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ผมเชื่อว่าทำได้บางส่วน อย่างเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในครรลองคลองธรรม มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ
 
เราต้องไม่ลืมนะครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเกิดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขของวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ คปค. แล้วเปลี่ยนไปเป็น คมช. เป็นผู้ตบแต่งจัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น สิ่งที่รัฐธรรมนูญทำอยู่ ณ วันนี้ มันมีหลายสิ่งหลายอย่างทำให้รัฐบาลหรือกลไกรัฐมันอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะมีอำนาจในการบริหารประเทศได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยคือฝ่ายบริหารอ่อนแอฉะนั้นจะต้องแก้ไข
 
อันที่จริงเลย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเคยเสนอแล้วนะครับว่าให้มีการยกร่างขึ้นมาใหม่ แล้วให้มี สสร. ที่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง หรือจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียกับนักการเมือง เป็นผู้ร่างกติกา ฉบับนี้เป็นกติกาของประเทศ หรือ รัฐธรรมนูญของประเทศ ก็คือ ถ้าจะให้ดีก็คือ ยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยใช้คนกลาง
 
 
ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นหลักการที่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะสามารถทำได้
ผมคิดว่าทำได้ และก็มีนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุน ส่วนพันธมิตรจะไม่สนับสนุนก็เป็นเสียงของพันธมิตร แต่ว่าจริงๆ แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เรากลับมาใช้กติกาที่มันมีความยุติธรรม ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี"50 มันมาไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ทั้งกระบวนการไม่ดีและเนื้อหา
 
ไปดูให้ดีเถิดลองค้นรัฐธรรมนูญและอ่านมาตรานี้ เรื่องล่าชื่อ 20,000 รายชื่อว่า มันล็อกไว้ในมาตราอื่น อ่านให้ละเอียด เราจะเห็นว่าหลายอย่างทำไม่ได้
 
จะกระตุ้นทางการเมืองอย่างไร ในเมื่อทุกคน ก็เริ่มเบื่อการเมือง มากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ผมจะพูด ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เรามองเห็น ที่เป็นกฎ กติกา นี้ มันยังมีรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนานอีก ที่หลายๆ คนเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" มันเป็นสำนึกของสังคม ซึ่งมันจะต้องเปลี่ยนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
 
ตราบใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีการประกาศใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมยังไม่พัฒนาไปตาม เหตุการณ์ มันจะตีกลับได้แบบนี้บ่อยๆ ที่ผมพูดหมายความว่า เรายังถูกปลูกฝังจากกลุ่มบุคคล ผ่านการปลูกฝังให้วาทกรรมชุดนี้ ยังใช้ได้อยู่ ผ่านระบบโรงเรียน ผ่านระบบสื่อ ผ่านสื่อสารมวลชนตลอดเวลา และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ต้องถูกแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่คุณจะไปอยู่ในสภาวะที่อยู่ในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
 
แนวโน้มของประชาธิปัตย์จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไหม ถ้าดูจากการเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งผู้ว่า
ผมอยากให้ย้อนไปดูพรรคภูมิใจไทยที่เกิดขึ้นด้วยนะ อย่ามองเฉพาะตอนนี้ว่ารัฐบาลได้มา 29 เสียงอะไรประมาณนี้ ภูมิใจไทยจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคต ขอให้สังเกตให้ดูดีๆ นะครับ ตอนนี้เขารวมกันได้ 30 กว่าคน ถ้าเป็นก้อนหินไปอยู่ตราชั่งข้างไหนข้างนั้นก็เอียงทันที
 
ฉะนั้น จริงๆ ก็คือว่า เราอย่าดูแค่ตัวเลข ในความซับซ้อนของตัวเลข เราเห็นกลุ่ม ถ้าพูดเป็นก้อนหินคือมีก้อนหินอยู่หลายก้อน และบางก้อนมีน้ำหนักพอ วางไว้ในตราชั่งด้านใด ด้านหนึ่งมันเอียงเลย
 
ทั้งหมดของความซับซ้อนจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เราเห็นอยู่ มันมีอะไรอยู่ข้างหลัง มันมีอะไรซ่อนอยู่ ถ้าเรามองให้ละเอียด รอบคอบ ผมขอพูดให้เป็นรูปธรรม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่กรุงเทพฯ มีคู่แข่งอยู่ 4 คน มีสุขุมพันธ์ มีแซม มีแก้วสรร มีปลื้ม คนที่แข่งกันจริงๆ คือ แซม กับ สุขุมพันธุ์ ซึ่งไม่แน่ว่าใคร จะชนะ แต่มีการวางแผนให้มีการตัดคะแนนเสียงของแซม โดยผ่านแก้วสรรและปลื้ม ถ้าคุณเอาคะแนนเสียงสุขุมพันธ์ มาบวกกันกี่เปอร์เซ็นต์ และเอาแซมมาบวกแก้วสรรกับปลื้มไปดูเถิดมันสูสี เห็นไหมครับ มันซับซ้อนกว่าที่เราเห็นว่าแข่งกันสี่คนแล้วยุติธรรม ไม่ใช่ มันตัดคะแนนกัน ซึ่งมันซับซ้อนกว่า ปรากฏการณ์ที่เราเห็น คุณลองรวมคะแนนของแก้วสรรและปลื้มดูว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แล้วแข่งกับสุขุมพันธ์ เห็นไหมครับจริงๆ ก็คือว่ามันซับซ้อน
 
 
ควรสังเกตการเมืองอย่างไร การเมืองแต่ละเรื่องมันมีเบื้องหลังเบื้องลึกได้อย่างไร
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่เป็นปรากฏการณ์มีเบื้องหลังซับซ้อน มันถูกวางแผนเป็นอย่างดี มันไม่ได้ตรงไปตรงมา การเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์ ฉะนั้น มันจึงไม่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่หรอก เวลาที่เราอ่านการเมือง จึงต้องอ่านความซับซ้อนเหล่านี้ให้ลึกที่สุด เราถึงจะวิเคราะห์การเมืองได้ชัดเจนครับ
 
ส่วนคำถามว่าควรสังเกตการเมืองอย่างไร การเมืองแต่ละเรื่องมันมีเบื้องหลังเบื้องลึกได้อย่างไร
 
ผมคิดว่า อันดับแรก เราต้องไม่เชื่อวาทกรรมชุดหนึ่งที่เราถูกสอนว่า "ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" ผมเสนอว่า "ถ้าคุณเสียภาษี คุณต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะภาษีเป็นเรื่องที่คุณต้องจ่าย เพื่อความเป็นสุขของคุณ" ฉะนั้น ทุกคนควรสนใจการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท