"สปก. 4-01" ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดินและไม่เท่ากับ "การปฏิรูปที่ดิน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประชา ธรรมดา

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและรัฐบาลภายใต้การนำของของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกร โดยใช้แนวทางสปก.  4-01 และคิดว่าเป็น "การปฏิรูปที่ดิน" ต่อเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดเห็นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน คือ

1.สปก. 4-01 มิใช่การปฏิรูปที่ดิน เป็นเพียงการนำที่ดินของรัฐตามกฎหมายของรัฐมาออกเอกสารสิทธิ์รองรับการทำประโยชน์ให้เกษตรกรโดยที่อำนาจในการจัดการที่ดินผูกขาดโดยรัฐ และที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาและให้บทเรียนกับสังคมไทย เช่น กรณีจังหวัดภูเก็ต ได้มีการออกสปก. 4-01 ให้นายทุนมิใช่เกษตรกรอย่างที่รับทราบกันดี

หรือ กรณีเขตพื้นที่จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภายหลังการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมหลายฝ่ายระดับจังหวัด เพื่อการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งผิดกฎหมายที่ดินมาตราที่ 61 และการปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ ผิดกฎหมายมาตราที่ 6 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงขบวนการและกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ เช่น การออกเอกสารสิทธิ์ในที่สาธารณะประโยชน์ การออกเอกสารสิทธิ์ในที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลร่วมกัน การออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ การออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของคนอื่นที่มีส.ค.1 อยู่แล้ว การปลอมแปลงเอกสารเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ารอเก็งกำไรจากการขาย ที่ดินรกร้างว่างเปล่าติดหนี้ธนาคาร เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบการฉ้อโกง เช่น กรณี ส.ค.บินมาจากต่างที่ กรณีการกล่าวอ้างการได้สิทธิโดยมีชื่อมาจากคนตาย หรืออ้างชื่อเจ้าของสิทธิว่าตายไปแล้วทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน รวมทั้งกรณีการออก สปก.ให้นายทุนอิทธิพลมิใช่เกษตรกร เป็นต้น

ซึ่งล้วนแล้วเป็นขบวนการโกงที่ดินโดยการร่วมมือกันของกลุ่มนายทุนอิทธิพล เจ้าที่ดิน นักการเมืองที่โกงกิน ฉ้อฉลกับข้าราชการบางหน่วยบางคนทั้งสิ้นเหมือนเช่นกรณี สปก.4-01สมัยรัฐบาลชวน ซึ่งประชาชนคนธรรมดาคงมิอาจทำได้แน่นอน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ได้ให้บทเรียนสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินของสังคมไทย จะนำมาสู่การคอร์รัปชั่นฉ้อฉลของข้าราชการบางหน่วยบางคนร่วมกับกลุ่มนายทุนอิทธิพล ซึ่งนำพามาสู่ความล้มเหลวต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินในที่สุด ถ้าตราบใดไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ดิน หรืออีกด้านหนึ่งการปล่อยให้กรมที่ดินหรือสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ผูกขาดอำนาจจัดการที่ดินแต่ฝ่ายเดียวนำสู่การฉ้อฉลโกงกินที่ดินได้ไม่ยากนัก

นอกจากนี้แล้ว การให้ สปก. 4-01 ก็ไม่ต่างจากการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลกเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานั้น หรือนโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุนสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นการทำให้ที่ดินเป็นสินค้า ครอบครองโดยระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกชน นำมาสู่ความเปราะบางในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรได้ง่ายหรือที่ดินหลุดมือ เนื่องจากผู้ถือครองมีกรรมสิทธิ์เด็ดขาด ไม่มีการควบคุมโดยเครือญาติและชุมชนที่ใช้ความเชื่อจารีตประเพณีเป็นการควบคุม แนวคิดทำที่ดินเป็นสินค้าจึงสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้ที่ดินกลายเป็นของนายทุน

2.ความหมาย การปฏิรูปที่ดิน ที่แท้จริง เป็นการปฎิรูปการถือครองที่ดินและระบบการผลิตที่เป็นธรรมและยั่งยืน ต้องมีการกระจายการถือครองที่ดิน และะการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีอย่างเท่าเทียมกันและยั่งยืน

การปฏิรูปที่ดินต้องนำมาซึ่งการกระจายการถือครองที่ดิน ต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น กำจัดการถือครองที่ดิน เก็บภาษีที่ดินที่ก้าวหน้า เป็นต้น ซึ่งสมัยปรีดี พนมยงค์ ได้เคยเสนอนโยบายเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และสมัยการรณรงค์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอันเนื่องมาจากขัดกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจซึ่งล้วนเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ทั้งสิ้น

3.กล่าวได้ว่า ปัญหาที่ดินนั้น ในปัจจุบันเป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤตแล้ว เนื่องจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาเป็นผลพวงให้ที่ดินกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่ตระกูล และพบว่าปัญหาที่ดินซึ่งนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากว่าคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์กลับถือครองที่ดินตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป ขณะที่คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีที่ดินเพียง 1 ไร่เท่านั้น รวมทั้งพบว่า ในภาคเกษตรซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 2 ล้านครอบครัว (10 ล้านคน) มีประชากรประมาณ 800,000 ครอบครัว ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และมีเกือบล้านครอบครัว ที่มีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นทำกิน

นอกจากนี้แล้ว จากการใช้ที่ดินไม่เต็มที่ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยการประเมินขั้นต่ำ 127,384.03 ล้านบาทต่อปี และการเก็งกำไรที่ดินที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังพบว่าที่ดินส่วนมากยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ประมาณว่าที่ดินร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นการกระจุกตัวของที่ดินว่าส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม

และแม้ว่ากฎหมายที่ดินปัจจุบัน มาตราที่ 6 จะระบุว่า …หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1)สำหรับที่ดินที่มีโฉนด เกินสิบปีติดต่อกัน (2)สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

4.รัฐต้องมีมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน แม้บุคคลที่ได้รับจัดสรรที่ดินจะเป็นเกษตรกรที่ยากจนก็ตาม แต่ตราบเท่าที่ไม่มีการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เช่นยังปล่อยให้มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ที่ดินซึ่งได้รับมาก็ยากจะหลีกเลี่ยงต่อการตกเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายที่ดินถึงกฎหมายปฏิรูปที่ดินจะห้ามการซื้อขายหรือการโอนระหว่างบุคคลที่ไม่ได้เป็นทายาทตามกฎหมาย

แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ทราบกันทั่วไปก็คือเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากธุรกิจการค้าที่ดิน แม้จะอยู่ในพื้นที่ของการปฏิรูปแต่ที่ดินเหล่านี้ก็พร้อมจะบินไปอยู่ในมือของบุคคลอื่น ซึ่งอาจใช้อำนาจเงิน ทำให้กลายเป็นการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา

ลำพังเพียงการใช้มาตรการเพื่อลดแรงกดดันต่อการถือครองที่ดินของเกษตรกร แม้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร แต่ปัจจัยอีกประการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากต้องการให้การถือครองที่ดินมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการผลิตทางเกษตรกรรมให้เกิดขึ้นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม

5.การปฏิรูปที่ดินจึงต้องมีมิติที่ต้องคำนึงถึงอย่างกว้างขวางนอกจากการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรเท่านั้น หากต้องการแก้ไขการปฏิรูปที่ดินให้เป็นผลมากขึ้นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ก็คือ การทำความเข้าใจและให้ทางเลือกกับเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือการคิดถึงการปฏิรูปที่ดินที่มองเห็นชีวิตของเกษตรกรเป็นตัวตั้ง อันเป็นมิติที่ไม่เคยได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังในกระบวนการปฏิรูปที่ดินเลย

6. ทางออกที่สำคัญ

            6.1รัฐต้องสำรวจและเปิดเผยเพื่อความโปร่งใสว่าขณะนี้พื้นที่ สปก.ใครครอบครองจริงระหว่างนายทุนหรือเกษตรกร รวมทั้งเปิดเผยด้วยว่าพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 30 ล้านไร่อยู่ที่ไหนบ้าง

            6.2รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินให้ผู้ไร้ที่ดิน ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิรปที่ดินถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงมิใช่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่มิใช่เกษตรกรอย่างที่เป็นอยู่ที่ และต้องปรับแนวคิดในการจัดที่ดินนอกจากระบบกรรมสิทธิ์เอกชนแล้ว ต้องมีทางเลือกใหม่ๆ เช่น ระบบโฉนดชุมชน เป็นต้น

            6.3รัฐต้องมีมาตรการภาษีก้าวและรัฐต้องมีมาตราการกำจัดการถือครองที่ดิน

            6.4. ในการแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกร รัฐต้องมีมาตราการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะ การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน การควบคุมกลไกตลาดมิให้บิดเบือนและไม่มีความเป็นธรรม รวมทั้งการปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร

            6.5 รัฐต้องทบทวนทิศทางการพัฒนาที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคการผลิตอื่นๆ มิใช่ใช้ภาคเกษตรกรรมเป็นเพียงฐานการเติบโตของภาคการผลิตอื่นๆ

            6.6 อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาทุนนิยมในสังคมไทย ประชากรจำนวนมากไม่ได้ทำการผลิตในระบบภาคเกษตรกรรมแล้ว การปฏิรูปที่ดินจึงต้องคำนึงถึงการกระจายที่ดินในพื้นที่เขตเมืองด้วย เพื่อให้คนไร้บ้าน คนงาน คนชั้นกลาง และอื่นๆ มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านโดยได้รับการจัดสรรที่ดิน หรือซื้อบ้านในราคาไม่แพงเกินไปนัก

7. ท้ายสุด สำหรับประชาชนผู้ไร้ที่ดิน คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐไทย นั้นมิใช่รัฐเวเนซูเอล่าที่มีผู้นำประเทศชื่อ ประธานาธิบดีชาเวซ ที่เป็นรัฐของประชาชน ได้มีนโยบายปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้ชุมชน ผู้ไร้ที่ดิน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ดังนั้น เราจึงมิอาจฝากความหวังการปฏิรูปที่ดินสังคมไทยให้กับ "รัฐไทย" ภายใต้ "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท