เหล้า ยา (แอนตี้)ปาร์ตี้ และสิทธิบัตร: เศรษฐกิจวัฒนธรรมของเกาะพะงัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วิริยะ สว่างโชติ [1]

 

 

(1)

เมื่อวันจันทร์ ที่12 มกราคม 2552 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้พาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1 ว่า "บีบคอฆ่าโหดแหม่มสาวเปลือยอกเซ่นฟูลมูน" หลังจับผู้ต้องหาได้ในเย็นวันจันทร์นั้นข่าวพาดหัวในวันอังคารบ่ายถูกพาดว่า " ช่างสักคู่กิ๊กรับฆ่าแหม่ม แค้นขี้หึงคุยลูกค้าสาวไม่ได้" ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และรายการข่าวทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องถึง 3-4 วัน ซึ่งหากกล่าวอย่างไม่เกินเลย ข่าวคดีฆาตกรรมนี้ถูกนำเสนอชนิดเกาะติดสถานการณ์แทบไม่แตกต่างจากสีสันการนำเสนอข่าวผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.และการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.

 

ประเด็นที่ผู้เขียนติดใจไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวที่เล่นคำว่า "เซ่นฟูลมูน" ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หัวสี หากแต่ยังรวมถึงสิ่งที่นักข่าวโทรทัศน์ท่านหนึ่งออกอาการตระหนกว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมนี้จะส่งผลต่อการ"เสียภาพพจน์ "การท่องเที่ยวของเกาะพะงัน และจะขยายไปสู่การลดลงของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทยของเรา (ในยามที่นักท่องเที่ยวเริ่มซบเซาจากเหตุเศรษฐกิจโลกตกต่ำ) ที่จริงแล้ว ผู้เขียน(คง) ไม่อาจประเมินถึงจำนวนเงินจากนักท่องเที่ยวที่จะหายไปพร้อมกับ"ภาพพจน์เสีย"นั้นว่า จะมีค่าพอกับการขาย "ภาพพจน์ดี" ของฟูลมูนปาร์ตี้ที่อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณจะนำไปจดสิทธิบัตร(patent) หรือเปล่า? [2]

 

ซึ่งหากจดสิทธิบัตรได้จริงเราคงไม่ต้องห่วงเรื่อง "ภาพพจน์" เพราะที่ไหนๆ ในโลกก็จะมีงานฟูลมูนปาร์ตี้และจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับเรา จะว่าไปความคิดเรื่องการจดสิทธิบัตรคงไม่แปลกหากเราพูดถึงเรื่องพันธุ์ข้าว เรื่องยา เรื่องการคิดค้นต่างๆ ฯลฯ แต่นี่เกี่ยวกับ "ฟูลมูนปาร์ตี้"!!!! งานที่เต็มไปด้วยขาแด็นซ์ต่างชาติ คนไทยเรานับหัวได้เลย ....แล้วมันเป็นของเราได้อย่างไร? และเป็นเมื่อไร?

 

 

(2)

ที่น่าสนใจในปัจจุบัน ฟูลมูนปาร์ตี้คืองานปาร์ตี้ที่ทำให้เกาะพะงันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปีหนึ่งมีผู้คนไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนมาเที่ยวที่นี่ เพราะเกาะพะงันเข้าไปอยู่ในเส้นทางของงานปาร์ตี้ของพวกเดินทางขาเทคโนแด็นซ์ (psytrance subculture) โดยเริ่มจากนักเดินทางที่ถูกเรียกว่า "นักเดินทางยุคใหม่" (New Age Traveller) ที่เริ่มมีในยุคปลาย 1980 ซึ่งในยุคแรกกลุ่มใหญ่สุดจะเป็นวัยรุ่นอังกฤษที่นิยมเพลงเทคโนแด็นซ์ ที่เรียกว่า "Trance" และพวกเขาเรียกตัวเองว่าเรฟ (Raver) ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชนชั้นกลางในหลังยุคมาการ์เร็ต แทรตเชอร์ (post-Thatcher) ที่เติบโตภายใต้สภาพสังคมอังกฤษที่พรรคอนุรักษ์นิยมครองอำนาจมานานกว่า 10 (ทั้งหมด 18 ปีหากรวมยุคของจอห์น เมเจอร์ด้วย) พวกเขาหันมาสู่ "การแสวงหา"ความหมายของชีวิตอีกครั้งด้วยการตระเวนท่องโลกจากทางตะวันตก (Occident)ไปสู่ทางตะวันออก (Orient) บนเส้นทางที่พวกฮิปปี้ในยุค 1960 เคยย้ำรอยเท้าเอาไว้ โมร็อคโค อิบิซ่า(Ibiza)ในสเปน กัว(Goa) ที่อินเดีย และบาหลีที่อินโดนีเซียคือดินแดนแรกๆ ที่พวกเขาไป สำหรับที่รัฐกัว (Goa) เมืองใหญ่ริมทะเลอาหรับ (กัวเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส 450 ปีก่อนที่อินเดียจะเข้ายึดครองหลังจากที่เป็นรัฐอิสระได้แค่ไม่ทันข้ามวัน เมื่อปี 1961) พวกนักเดินจากอังกฤษที่เดินทางที่มุ่งมากัวหรือที่ถูกเรียกว่า "Goa Freak" (ซึ่งต่างไปจากฮิปปี้เดิมที่กลายเป็นคนท้องถิ่น) นำพาซึ่งดนตรีอิเลคโทรนิคแดนซ์และยาอี (Ecstasy) มาตั้งวงปาร์ตี้ในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงที่ชายหาดอันจูนา (Anjuna) เพียงแค่ไม่กี่ปี กัวซึ่งเคยเป็นดงฮิปปี้เก่าก็คึกคักไปด้วยพวกเรฟ (Raver) ที่ต่างหลั่งไหลมากจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอังกฤษเท่านั้น กัวยังเป็นที่กำเนิดของดนตรีอิเลคโทรนิคแดนซ์ที่เรียกกันว่า "Psychedelic trance" หรือ "Goa trance" (Psychedelic คือ คำที่ใช้มาตั้งแต่ยุคฮิปปี้) หรือที่เรียกสั้นว่า "Psytrance" ดนตรีดังกล่าวผสมเอาแนวทรานส์ ซึ่งเป็นดนตรีในคลับมาใส่บีทที่หนักขึ้น และเล่นด้วยระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้เวทีการจัดที่มีทั้งแสงสีและการประดิษฐ์งานศิลปะแนวตะวันออก

 

แต่แล้วในกลางปี 1990 ทั้ง Raver และ Goa Freak ก็ถูกจัดระเบียบจากรัฐบาลท้องถิ่นของกัว แม้ปาร์ตี้และดนตรียังคงมี แต่ถูกควบคุมมากขึ้น ส่วนยาอีและสิ่งเสพติดมึนเมาอื่นๆ เป็นของต้องห้าม (จำหน่ายและใช้) พวกเขาบางกลุ่มจึงเดินทาง "มุ่งทางตะวันออก"อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายที่ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในยุคปี 1990 นั้นไทยได้กลายเป็นประเทศที่เปิดตลาดการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการเดินทาง (รวมทั้งเป็นทางผ่านของยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดด้วย) นักเดินทางเหล่านั้นจึงเดินทางเข้าสู่ไทย พักย่านถนนข้าวสารและมุ่งหาที่ผจญภัยแห่งใหม่ พวกเขาพบว่า เกาะแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากสมุยนัก ซึ่งที่นั้น คือ เกาะพะงัน

 

ทำไมต้องเป็นพะงัน? เหตุผลก็คือในตอนต้นยุค 1990 เกาะพะงันยังขายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวแบบ "โลกที่สาม" (Third Word Tourism) ซึ่งเหล่านี้ถูกจริตของนักเดินทางจากฝากตะวันตกทั้งหลาย ดังนั้น เกาะพะงันเป็นสิ่งถูกตาถูกใจเมื่อพวกนักเดินทางพบว่าที่นี้ยัง "สงบ"จากกระแสคลื่นของของทุน แต่ด้านหนึ่งการเดินทางมาถึงของพวกเขาก็นำพาเอากระแสคลื่นของทุนนิยมพัดเข้าสู่ฝั่งอย่างรุนแรง จนเซาะเอาฝั่ง (ชาวบ้าน) ต้องปรับตัวตามไปเช่นกัน ฉะนั้น ในปัจจุบันเราจะเห็นรีสอร์ทในหลายแบบตั้งแต่ของชาวบ้านคืนละ 400 บาท (ยุคแรก 150 บาท) จนถึงบูติครีสอร์ท (ราคา 3,000 บาท-5,000 บาท) กระจายอยู่ทั่วเกาะทั้งริมหาดและเชิงเขา

 

 

(3)

ที่จริงแล้วปาร์ตี้ฟูลมูนในไทยเริ่มที่ไหนไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าที่เกาะเสม็ด ระยอง ที่สมุยบ้าง แต่สำหรับที่เกาะพะงันฟูลมูนเริ่มที่พาราไดซ์รีสอร์ท บริเวณหาดริ้นใน เมื่อราวปี พ.ศ.2531 จากงานเล็กๆ จัดเฉพาะแขกที่มาพักที่รีสอร์ทและเพื่อนๆ ที่มารู้จักกันในพะงัน ตอนนั้นพะงันยังเป็นเกาะที่ห่างไกลจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากปาร์ตี้ที่เครื่องเสียงต้องใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ (ไฟฟ้าและถนนยังไปไม่ถึงบริเวณหาดริ้นในปีนั้น) กลายเป็นงานปาร์ตี้ใหญ่ระดับโลก จากปาร์ตี้ที่ยาอียังหาไม่ได้ (ในเมืองไทย) กลายเป็นที่มาของวาทกรรม ฝรั่งสะพายเป้กับปาร์ตี้ยาอี จากปาร์ตี้ของกลุ่มนักเดินทาง (traveller) กลุ่มเล็กๆ กลายเป็นงานปาร์ตี้ของมวลชนนักท่องเที่ยว (mass tourist) ที่ในคืนวันลอยกระทง หรือในวันปีใหม่มีคนถึงหมื่นคนที่แด็นซ์สุดฤทธิ์กันบนหาดริ้นใน ซึ่งเราเห็นได้จากฟูลมูนปาร์ตี้ที่เพียงแค่ 20 ปี มันเปลี่ยนโฉมหน้าของพะงันให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนังสืออย่าง Lonely Planet บอกว่า "ต้องมา"

 

แต่วาทกรรมที่ทำให้รู้สึกฟูลมูนปาร์ตี้คืองานที่สำคัญแห่งยุคสมัย ก็คือที่ฝรั่งไปเสพยา เมาเหล้า มีเซ็กส์ อาชญากรรม และเต้นรำบ้าๆ กัน หากดูกันเผินๆ ที่เกาะพะงันน่าจะเป็นเกาะที่รวมเอา "วัฒนธรรมความเสื่อม" (decadent culture) ทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน แต่มันก็ระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมของเกาะพะงันเกิดคือ จากเกาะชาวประมงและปลูกมะพร้าว มาเป็นแหล่งท้องเที่ยวที่มีเงินสะพัดหลายสิบล้านบ้านในช่วงพระจันทร์เรืองแสง แน่นอนในปัจจุบัน ที่เกาะพะงันไม่ใช่มีแค่ปาร์ตี้ในคืนพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น ปัจจุบันมีปาร์ตี้นอก (ปาร์ตี้นอกหาดริ้น) ที่เรียกกันว่า After Party, Half Moon party, Black Moon Culture, Shiva Moon Family, Bottom Moon และก็อาจมีอีกหลายงานที่จัดกันเฉพาะมาในรีสอร์ทที่กระจายอยู่ทั่วเกาะ แต่ปาร์ตี้ที่มีมากจนเรียกได้ว่า "เต้นกันตลบตลอดเดือน" ทำให้ชาวบ้านท้องถิ่นทั้งไทยและเทศเริ่มระอา มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านหลายๆ กลุ่มตั้งแต่ปลายปี 2550 เช่น กลุ่มชาวบ้านแถบบ้านใต้, กลุ่ม Save Phangan และ Anti-Shiva Moon และ Real Phangan ที่ใช้เว็บบล็อกเป็นสื่อรณรงค์ "ไล่ปาร์ตี้" ให้พ้นพะงัน ชาวบ้านที่บ้านใต้ยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หามาตรการมาจัดระเบียบการใช้เครื่องเสียง ให้จำกัดเวลาเปิดปิดไม่เกินตี 1 ซึ่งการต่อต้านโดยเรียกร้องให้ตำรวจเข้ามาจัดระเบียบนั่นประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แต่พอผ่านไประยะหนึ่งงานปาร์ตี้ยันเช้า (อาจถึงเที่ยง) ก็กลับเป็นปกติ

 

ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะ "ค่าบัตร 300 บาท ต้องเอาไปจ่ายตำรวจ 100 บาท" ผู้จัดรายหนึ่งให้ข้อมูล ฉะนั้น ตอนนี้ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว นักเดินทาง ผู้ประกอบการ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาเฟีย พ่อค้ายา ฯลฯ ล้วนแต่ "เซ่นฟูลมูน" กันทั้งนั้น ที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าจะแอนตี้ปาร์ตี้ แต่การจัดงานประเภทนี้ต้องไม่ใช่ "แค่เต้น"อย่างเดียว ต้องมี "วาระ" (agenda) ด้วย ผู้จัดงานเกาะพะงันจึงน่าจะต้องไป "ดูงาน" งานปาร์ตี้นอกเกาะอย่าง Green Spirit ที่จัดไปสองครั้งที่กระบี่และงาน Rainbow Gathering งานชุมนุมของฮิปปี้ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 1960 (ปัจจุบันจัดไปหลายที่ทั่วโลก) ที่มาชุมนุมอยู่ 3 เดือนบริเวณอ่าวหาดเคย พังงา เมื่อต้นปี 2550

 

 

(4)

ทุกวันนี้ ปีๆ หนึ่งที่พะงันมีนักเดินทางและท่องเที่ยวหลายแสนมาเยี่ยมเยือน บางคนอยู่นานนับสัปดาห์ นับเดือน แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยว (mass tourist) จะมีช่วงสั้นๆ แค่วันสองวันก่อนฟูลมูน และจำนวนไม่ใช่น้อยที่พักอยู่ที่สมุยและเดินทางมาพะงันในคืนฟูลมูนปาร์ตี้ (รวมถึงงานอื่นๆ) แม้ปัจจุบันนักเดินทางหลายคนจะเห็นว่าฟูลมูนกลายเป็นแค่ที่พวกเรฟสูญหายไปตามยุคสมัยนิยม แต่นักเดินทางสะพายเป้ (subculture traveller) ยังคงทยอยมาอย่างไม่ขาดสาย แต่หากเทียบกับพวกนักท่องเที่ยวที่ประเภทมากันแล้ว (รีบ) กลับไปบอกเพื่อนว่า "ครั้งหนึ่ง ฉันเคยมาฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงันแล้ว" พวกสะพายเป้ดูจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปถนัดตา อย่างไรก็ตามเกาะพะงันก็ได้ทำให้วาทกรรมในเรื่องของวัฒนธรรมดนตรีชาวเกาะเปลี่ยนไป ในยุคหนึ่งหากพูดถึงชาวเกาะ เราจะนึกถึงเกาะฮาวายและดนตรีแบบเต้นรำสายสะโพก ยุคถัดมาเราจะเน้นถึงจาไมกา เพลงเรกเก้และทรงผมเดดร็อค แต่ในยุคนี้ต้องเป็นเพลงไซเคเดลิค ทรานซ์ นักเต้นสภาพมอมแมมท่ามกลางแสงจันทร์บนหาดริ้น เกาะพะงัน

 

แม้เกาะพะงันในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ผู้จัดงานปาร์ตี้คนหนึ่งบอกกับว่า "ถ้าไม่มีปาร์ตี้ ก็ไม่มีพะงัน" แต่โทษทีอย่าไปมัวคิดถึงเรื่อง "สิทธิบัตร"หรือแค่ "งานเต้น" คิดถึงปลาหมึกจากแพปลาของชาวบ้านแถวโฉลกหลำที่ซื้อหาเป็นของฝากเพื่อนฝูง- ญาติพี่น้องได้จะดีกว่า งานนี้รับรองเป็นปลาหมึกคุณภาพที่ไม่จำเป็น "จดสิทธิบัตร" แต่อย่างใด

 

 

เชิงอรรถ

[1] เนื้อหาบ้างส่วนมาจากข้อมูลงานภาคสนามของผู้เขียน ในโปรเจค Psytrance: Local Scenes, Global Culture ที่มี Graham St. John นักมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

[2] แต่ที่จริงแล้ว "จดสิทธิบัตร" เป็นแค่แนวคิดของอดีตรัฐมนตรีท่านนั้นและไม่ได้ดำเนินมีการจดสิทธิบัตรฟูลมูนปาร์ตี้แต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท