Skip to main content
sharethis

"กระจงแดง" เผยอีกกรณีละเมิดสิทธิฯภาคใต้ เจ้าหน้าที่ใช้ "คน" เป็นโล่บังกระสุนระหว่างเกิดการปะทะ เกิดเหตุลอบวางเพลิงบ้านนักศึกษา ตำรวจไม่รับแจ้งความ

 

 

 

เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาสมทบอีกเป็นจำนวนมาก และได้ถีบประตูบ้านนักศึกษาอย่างรุนแรง พร้อมกับตะโกนให้พ่อและแม่ของสองนักศึกษาดังกล่าวและญาติให้เปิดประตูบ้านพร้อมขู่ว่าถ้าไม่เปิดจะยิงเข้าไป ผู้เป็นแม่จึงเปิดประตูออกมา มีเจ้าหน้าที่สามคนวิ่งเข้าไปในบ้านและหนึ่งในสามคนนั้นได้ตะโกนออกมาว่า "โจรหนีเข้ามาในบ้านนี้ มันอยู่ไหน"

 

ขณะนั้นผู้เป็นพ่อละหมาดเสร็จพอดี ส่วนญาติตนอื่นกำลังละหมาดอยู่ เจ้าหน้าที่บอกให้ทุกคนออกไปอยู่ตรงกลางถนน ขณะที่ตอนนั้นยังมีการปะทะอยู่ ทั้งสามคนตกใจมากและทั้งสามมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ ตัวสั่นทั้งตัวและขอไม่ออกไปกลางถนน เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปลากตัวผู้เป็นพ่อออกไปอยู่กลางถนนและเอาพ่อของนักศึกษาดังกล่าวเป็นที่กำบัง

 


 

 

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 เวลา 16.00 น. ใกล้ๆบริเวณบ้านเลขที่ 170 บ้านตันหยง หมู่ 2  ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของนายการิม มูซอ รองเลขาธิการ สนน.จชต. ฝ่ายการเมือง และนายกริยา มูซอ โฆษก สนน.จชต. ทั้งสองเป็นพี่น้องฝาแฝดซึ่งศึกษาอยู่ที่เดียวกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้มีเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังไม่ทราบฝ่ายกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บสาหัสหลายนาย จากนั้นกลุ่มปฏิบัติการไม่ทราบฝ่ายใช้ความชำนาญในพื้นที่หลบหนีไปได้

 

ก่อนหน้านั้นเวลา 15.30 น. ผู้เป็นพ่อและแม่ของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) กำลังอยู่ภายในบ้าน ต่อมาได้ออกไปยังบ้านญาติซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 500 เมตร จนกระทั่งเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในบริเวณใกล้ๆกับบ้านดังที่กล่าวมาแล้ว

 

การปะทะผ่านไปประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาสมทบอีกเป็นจำนวนมาก และได้ถีบประตูบ้านนักศึกษาอย่างรุนแรง พร้อมกับตะโกนให้พ่อและแม่ของสองนักศึกษาดังกล่าวและญาติให้เปิดประตูบ้านพร้อมขู่ว่าถ้าไม่เปิดจะยิงเข้าไป ผู้เป็นแม่จึงเปิดประตูออกมา มีเจ้าหน้าที่สามคนวิ่งเข้าไปในบ้านและหนึ่งในสามคนนั้นได้ตะโกนออกมาว่า "โจรหนีเข้ามาในบ้านนี้ มันอยู่ไหน"

 

ขณะนั้นผู้เป็นพ่อละหมาดเสร็จพอดี ส่วนญาติตนอื่นกำลังละหมาดอยู่ เจ้าหน้าที่บอกให้ทุกคนออกไปอยู่ตรงกลางถนน ขณะที่ตอนนั้นยังมีการปะทะอยู่ ทั้งสามคนตกใจมากและทั้งสามมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ ตัวสั่นทั้งตัวและขอไม่ออกไปกลางถนน เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปลากตัวผู้เป็นพ่อออกไปอยู่กลางถนนและเอาพ่อของนักศึกษาดังกล่าวเป็นที่กำบัง

 

หลังจากเหตุการณ์ปะทะ เจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน เข้าไปควบคุมสถานการณ์โดยมีรถหุ้มเกราะนำหน้า 2 คัน และรถยนต์ของเจ้าหน้าที่กองกำลังผสมพลเรือนประมาณ 15 คัน พ่อและแม่ของนักศึกษาดังกล่าวออกจากหมู่บ้านไปนอนที่บ้านอีกหลังหนึ่งในตัวตลาดอำเภอบันนังสตา

 

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น (วันที่ 10 มกราคม 2552) ผู้เป็นแม่ของนักศึกษาดังกล่าวกลับมาที่บ้านเลขที่ 170 หมู่ 2 บ้านตันหยง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก็ตกใจมาก เพราะบ้านของตัวเองมีร่องรอยจากการถูกวางเพลิง ประมาณ 7 แห่งรอบๆบ้าน และมีรอยคราบน้ำมันเป็นจำนวนมาก ผู้เป็นพ่อจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีกลับบอกว่า "ร้อยเวรไม่อยู่ รับแจ้งไม่ได้" ดังนั้นจึงไม่ได้แจ้งความ

 

เหตุการณ์ลักษณะนี้ที่เกิดกับนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น นับตั้งแต่หลังการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารนอกระบบในหลายๆเหตุการณ์ในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) เมื่อ 31พ.ค. - 4 มิ.ย.2550

 

โดยเริ่มต้นจากการกล่าวหาอย่างใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาอยู่ใน มอ.ปัตตานีและมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า เป็นเจเนเรชั่นที่ 2 ของขบวนการ BRN จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ม.ค. - 4 ก.พ. 2551 มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอเมือง จ.ยะลา และสงสัยว่านักศึกษาดังกล่าวเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบด้วย จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 นักศึกษาดังกล่าว 2 คน คือ นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเอาผิดกับกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม

 

ล่าสุดวันที่ 15 ม.ค. 2552 เวลา 16.00 น. โดยประมาณ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ จ.ปัตตานี บุกเข้าปิดล้อมและตรวจค้นบ้านพักของนายลีโอ เจ๊ะกือลี นายกองค์การบริหารนักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายประชาชน โดยไม่ทราบสาเหตุว่าทำการปิดล้อมและตรวจค้นเพื่ออะไร

 

ผิดด้วยหรือที่นักศึกษามีจิตสำนึกในการรับใช้สังคมด้วยการพยายามเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยและพื้นที่ทางกระบวนการยุติธรรมให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ด้วยการทำกิจกรรมอบรมส่งเสริมความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิมนุษยชน และทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชนให้เป็นสุขด้วยการสร้างโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กวัยประถม) โดยนักศึกษาต้องไปสร้างเองด้วยทุนที่ได้จากการเปิดหมวกบ้าง ผู้มีจิตศรัทธาให้การสนับสนุนบ้าง เพราะหน่วยงานของรัฐไม่ไปสร้าง ทั้งที่รัฐเองก็รู้ว่าชาวบ้านขาดแคลนสถานที่การศึกษาความรู้ทางศาสนาให้กับเด็กและเยาวชนอยู่

 

ยิ่งปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัฒน์ได้คุกคามวัฒนธรรมและคุณธรรม ทำให้ตัวชี้วัดคุณค่าของคนอยู่ที่มูลค่า ส่งผลให้คนเห็นแก่ตัวสูง แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน สุดท้ายชุมชนก็อมทุกข์หาความสุขไม่ได้ ชุมชนขาดความสุข สังคมก็มีปัญหา ประเทศชาติก็ขาดสมดุลในการพัฒนาสู่ประเทศที่มีหลักประกันความสุขให้กับประชาชน คนจนก็จนไป คนรวยก็รวยไป นักการเมืองก็มัวแต่แย่งชิงอำนาจกันไปมา

 

ความเป็นจริงรัฐเองก็รู้ดีว่าชาวบ้านมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีโรงเรียนตาดีกา แต่รัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกากันทุกชุมชนแต่อย่างใด ปล่อยให้นักศึกษาไปทำกันเอง ทั้งๆที่นักศึกษาเป็นความหวังในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต จำเป็นที่นักศึกษาจะต้องให้เวลากับการศึกษาให้มากๆ แต่ถ้ารัฐปล่อยปละละเลยไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของรัฐที่ดีจะให้นักศึกษาให้เวลากับการศึกษาในสถาบันอย่างเดียวได้อย่างไร

 

นักศึกษาประสบความสำเร็จในการศึกษา ได้งานดีๆ เงินเดือนสูงๆ แต่ในเวลาเดียวกัน พี่น้องประชาชนกำลังอมทุกข์อยู่ งานดีๆ เงินเดือนสูงๆ จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเป็นการเอาความรู้ไปรับใช้นายทุน ไม่ได้รับใช้ประชาชน

 

เมื่อนักศึกษาเอาความรู้ของตัวเองไปรับใช้ประชาชน รัฐกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมโจร กลั่นแกล้งสารพัดวิธี ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน ไม่สนใจสนธิสัญญาที่เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาประกอบเป็นพันธกรณีที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอยู่ รวม 6 ฉบับด้วยกัน ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ คือ

 

1) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ [Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD)]

 

2)  อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี [Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)]

 

3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและพิธีสารเลือกรับ [Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW), Optional Protocol]

 

4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก [Convention on the Rights of the Child (CRC)]

 

5) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)]

 

6) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม [UN International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)]

 

กติการะหว่างประเทศทั้ง 6 ฉบับนี้ ประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ที่เคารพในสิทธิมนุษยชนรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งร่วมลงนามและให้สัตยาบันกับองค์การสหประชาชาติแล้วจะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริงรัฐไทยไม่เคยเคารพสัตยาบันดังกล่าวเลย หรือรัฐกลัวว่าประชาชนจะมีความสุข ถ้าเป็นอย่างนี้ รัฐก็มีความสุขอยู่บนความทุกข์ของประชาชน

 

นี่หรือประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย อันความมั่นคงของชาติสำคัญกว่าสิทธิมนุษยชนของประชาชน

 

 

หมายเหตุ

นายแวหะมะ มูซอ บิดาของนายการิม และนายกริยา มูซอ เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ตั้งแต่อายุ 30 ปี จนถึงเกษียณราชการ ปัจจุบันอายุ 80 ปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net