ชาวปกาเกอะญอปักหมุดแยกที่ทำกินและเขตป่า หวังสร้างความมั่นใจคนอยู่ร่วมกับป่าได้

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.52 ที่ผ่านมา ณ บริเวณเส่ฉี่เด ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยเฮี๊ยะ (บ้านป่ากล้วย) หมู่ที่ 19 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ในนามเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ยะ-แม่ปอน และกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง ร่วมกันทำการเปิดพิธีฝังหลักหมุดขอบเขตการใช้ที่ดินและพื้นที่ป่า ที่มีพิธีกรรมความเชื่อของชุมชนสร้างความศักดิ์ในพิธีนี้ โดยมีผู้สนใจที่เข้าร่วมงานทั้งในพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง นักศึกษาอาสาสมัครชาวออสเตรเลีย และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานอย่างจำนวนมาก

 

ในพิธีได้มีนายอดิเรก สุริยะวงศ์ ปลัด อ.จอมทอง มาเป็นประธาน ภายหลังประธานเปิดพิธีเสร็จ นายผจญ ชาญชาติชาย ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ยะ-แม่ปอน และประธานกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ผ่านมา บางส่วนเกิดข้อขัดแย้งทางความคิด มีการกล่าวหาต่างๆ นานา เกี่ยวกับการทำมาหากินของพี่น้องบนดอย และมีข้อครหาในแนวเขตป่าของรัฐ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าระหว่างเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐกับเขตที่ดินทำกินของตนเองต้องแยกกันอย่างไร เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าคิดว่าป่าก็คือที่ดินที่สามารถทำกินได้ เพราะมีการแบ่งเป็นป่าที่กินได้กับป่าอนุรักษ์ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำอยู่แล้ว

 

นายผจญ ยังกล่าวต่อว่า ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ราชการกับชาวบ้านในเรื่องที่ดินทำกินในเขตป่า ที่ผ่านมามีการเข้าจับชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียนในข้อหาบุกรุกป่าในหลายพื้นที่ รวมทั้งเมื่อชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะมีชาวบ้านบางส่วนขยายที่ดินทำกินมากขึ้น ทำให้ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า ดังนั้น คณะกรรมการในชุมชนได้ร่วมกันประชุมหารือกันว่า เพื่อที่จะลดกระแสหรือปัญหาข้อขัดแย้ง สร้างความเข้าใจเท่าที่ทำได้ โดยแนวทางหนึ่งที่คณะกรรมการมีอำนาจทำได้ คือ การเอาหลักหมุดไปวางขอบเขตที่ดินทำกินและเขตป่า โดยเป็นข้อกำหนดข้อตกลงของเครือข่ายลุ่มน้ำฯ ให้กับชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้จะเป็นการชี้ได้ว่าเขตนี้คือที่ทำกิน ส่วนนอกเขตหลักหมุดนั้นเป็นเขตป่า นอกจากนี้ มีดำเนินการจับจุดพิกัดแผนที่ 1:4,000 (GPS) เอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อชี้และกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เพราะหากหลักหมุดที่ฝังไว้ตรงไหนหาย หรือจุดไหนเกิดการทะเลาะกัน ก็ยังมีแผนที่เป็นหลักฐานบอกอยู่

 

การปักหลักหมุดเพื่อวางขอบเขตที่ดินทำกินกับเขตป่าในครั้งนี้ เป็นการพิธีปักหลักหมุดเสาเอกเพียงเสาเดียวก่อน โดยมีบ้านป่ากล้วย ม.19 เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งเบื้องต้นตกลงกันว่าในวันที่ 26 ม.ค. 2552 จะดำเนินการสำรวจแปลงไร่-สวน ของชาวบ้านและฝังหลักหมุดเป็นแนวเขตที่ทำกินไว้ ต่อไปจะมีแผนงานร่วมในการเดินสำรวจแนวเขตไร่-สวน ของอีกหลายหมู่บ้าน

 

การปักหลักหมุดเพื่อวางขอบเขตที่ดินทำกินกับเขตป่า จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านที่อยู่อาศัยทำกินในป่าด้วย ทั้งนี้ หลักหมุดจะเป็นขอบเขตการทำกินในเขตป่าที่ทุกคนยอมรับได้ และยังเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่าเจ้าหน้ารัฐจะไม่เข้ามาจับกุมชาวบ้านที่ทำมาหากินอยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ แต่หากชาวบ้านบางคนทำกินล้ำออกนอกเขตที่กำหนด ก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ราชการดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการกฎหมายต่อไป

 

นายอดิเรก สุริยะวงศ์ ปลัดอำเภอจอมทอง กล่าวว่า การฝังหลักหมุดขอบเขตการใช้ที่ดินและเขตป่า นับว่าเป็นโครงการที่ดีของคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ยะ-แม่ปอน อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุทยานแห่งชาติ หน่วยจัดการต้นน้ำ เพื่อร่วมกันดูแลพื้นที่ป่าต่อไป ทั้งนี้ การปักฝังแนวเขตที่ทำกินกับเขตป่าจะช่วยเป็นการป้องกันการบุกรุกป่าจากทั้งคนภายในและภายนอกชุมชนด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าหากมีกฎหมายมารองรับการดำเนินเช่นนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก อีกทั้งต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า หากจับชาวบ้านที่อยู่ในป่าทั้งหมดก็คงไม่รู้ว่าจะให้คนเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในป่ามาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เพียงแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเท่านั้น

 

นอกจากนี้ช่วงที่รอการถวายเครื่องเซ่นไหว้จึงเป็นช่วงของการแลกเปลี่ยนซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างที่เข้าร่วมเช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, นายก อบต.บ้านหลวง, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, มูลนิธิโครงการหลวงดอยอินทนนท์, โครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านขุนแตะ, ตัวแทนแก่เหมืองแก่ฝาย, มูลนิธิรักษ์ไทย, รองผู้กำกับ สภอ.จอมทอง, สมาคม Impect, มูลนิธิปกาเกอะญอฯ ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน

 

โดยสรุปได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากภายนอกดังนั้นเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้จึงเป็นการระเบิดขึ้นจากชุมชนเองเมื่อชุมชนแสดงออกมาในรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นผลที่ตามมาคือ การให้การสนับสนุนหรือความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็แล้วแต่แม้กิจกรรมที่เกิดขึ้นวันนี้จะเป็นการปูทางให้กับชุมชนอื่นๆ ก็ตาม แต่หากชุมชนต้นแบบไม่มีสำนึกหรือไม่มีการดำเนินงานต่อไม่มีการปฏิบัติตามกิจกรรมวัน นี้ก็จะไม่มีความหมาย ขอเป็นกำลังใจให้กับชุมชน และเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ยะ-แม่ปอน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ คิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการฝังแนวเขตที่ทำกินกับเขตป่า จะสามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าในระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศต่อไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท