Skip to main content
sharethis


 


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ จัดเวทีร่วมคิดร่วมสร้าง อารยะประชาธิปไตย เรื่อง "กระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี" โดยมีการอภิปราย ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ 50 เครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งการเมืองภาคพลเมือง" โดย ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิภพ ธงไชย กรรมการมูลนิธิเด็ก ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบาย สาธารณะ สถานีโทรทัศน์ทีวีไท ทีวีสาธารณะ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา


 


 



"การเคลื่อนตัวของประชาชนในการต่อสู้บนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สุดท้ายจะถูกตัดสินโดยศาล ว่าการกระทำและการเคลื่อนตัวของการเมืองภาคประชาชนที่ดำเนินไปโดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญนี้ ศาลจะมองประเด็นนี้อย่างไร และถ้ามองหรือตัดสินประเด็นนี้ไปในเชิงที่ไปกำหลาบ ไปกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเมืองภาคประชาชนจะชะงักงัน และการต่อสู้ก็จะเข้มข้นขึ้น ในหลายคดีความในตอนนี้"


 


 


พิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกรรมการมูลนิธิเด็ก กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ถูกจำกัดโดยผู้มีอำนาจรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ว่าความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีมาก่อนและยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วค่อยๆ ขยายความตื่นตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับอำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นราชาธิปไตย หรือการเมืองของนักการเมืองในระบอบเลือกตั้งก็จะพยายามขัดขวางเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา


 


ฉะนั้นการทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมีความเป็นจริงก็จะต้องมาจากการต่อสู้ ซึ่งไม่ใช่การทะเลาะ สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นของดั้งเดิมของมนุษย์จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการต่อสู้เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เปิดพื้นที่ให้การต่อสู้ อยู่ในขอบเขตของสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม นักการเมืองก็พยายามที่จะขัดขวางการต่อสู้ของประชาชนเพื่อยกระดับสิทธิเสรีภาพของตนเอง ซึ่งการยกระดับสิทธิเสรีภาพของตนเองนี้ นำพาไปสู่คำว่าการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชน


 


พิภพ กล่าวถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เป็นการแบ่งการเมืองเป็น 2 ระบบ คือการเมืองในระบบรัฐสภาหรือการเมืองของนักการเมือง และการเมืองภาคพลเมือง ในกรณีเหล่านี้ การยกคำอ้างในการต่อสู้ของภาคประชาชนพัฒนาจากการเมืองแบบมีส่วนร่วมมาเป็นการเมืองที่มีส่วนกำหนดและกลายเป็นการเมืองภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผลการพัฒนามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่มาจากการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของประชาชนมาตั้งแต่ในอดีต


 


ทั้งนี้ การต่อสู้ในทางการเมืองของสังคมไทยเพื่อสร้างความเติบโตให้การเมืองภาคพลเมือง หรือเปิดพื้นที่ในการเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง จะมี 2 กระแส คือ กระแสที่เป็นงานเย็นและกระแสที่เป็นงานร้อน แต่คนมักมองกระแสที่เป็นงานร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่ดูร้อนแรง แต่ว่าความจริงแล้วประชาชนสามารถสร้างพื้นที่ใหม่ๆ สร้างแนวคิดใหม่ๆ ในงานมากมาย และได้ไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่มักไม่ถูกนำมาอ้างในงานเด่น ยกตัวอย่าง เรื่องสิทธิชุมชน การศึกษาทางเลือก และการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น


 


พิภพ เล่าว่า การชุมนุม 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นงานที่ร้อนแรงมากเป็นพิเศษ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปกระแทก หรือเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมืองมากเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นนักการเมืองย่อมพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้ โดยเฉพาะมาตรา 190, 237, 309 เลยไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


 


"การขับเคลื่อนของประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะยืนหยัดตรงนี้ ว่าไม่ให้แก้ในมาตราเหล่านี้ รวมทั้งแก้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ระหว่างอำนาจของรัฐบาลกับประชาชน สำหรับประชาชนเองก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นี้เป็นตัวยืนหยัดในการต่อสู้ ที่จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น" พิภพกล่าว


 


ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น โดยข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมี เช่น ในเรื่องกระบวนการเลือกตั้งซึ่งมีมาก และยังมีเรื่องอื่นๆ อีก แต่โดยยุทธศาสตร์นั้นต้องยันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแก้กฎหมายก่อน ดังนั้นจะบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีผลที่ไปเปลี่ยนแปลงนักการเมืองและเพิ่มพลังภาคประชาชนให้ขับเคลื่อนได้เป็นอย่างมาก


 


และสอง รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยไทย คืออำนาจตุลาการของศาลซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ แม้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้รองรับอำนาจตุลาการให้มีบทบาทมากนัก แต่หลังจากแนวพระราชบัญญัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงชี้แนะประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลฎีกา ทำให้ตุลาการได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน สร้างอำนาจขึ้นมาอีกอำนาจหนึ่งซึ่งถึงแม้จะมีอยู่แล้วในสังคม แต่ไม่มีปรากฏเป็นจริงในรัฐธรรมนูญ ได้มีการปฏิบัติจริงขึ้น


 


ปัญหาที่จะถูกถามขึ้นมาก็คือ อำนาจตุลาการที่เข้ามานี้จะทำให้เกิดการสนับสนุนการเมืองระบบไหน ซึ่งอันนี้ยังไม่ชัดเจนในบทบาทของตุลาการ เพราะในบางครั้งตุลาการก็ถูกใช้ให้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยกตัวอย่างเช่นการที่เราต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการชุมนุมกันอย่างสงบและสันติในพื้นที่สาธารณะ ตุลาการที่เป็นศาลแพ่งก็ใช้อำนาจในการจำกัดสิทธิของเรา ไม่ให้มีชุมนุมบนท้องถนน ไม่ให้มีชุมนุมบนฟุตบาท ให้เลิก หลีก กีดกัน จนกระทั่งเราต้องย้ายเวที


 


เพราะฉะนั้น ความลักลั่นของอำนาจตุลาการที่ประกอบไปด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ยังไม่มีความชัดเจนว่า อำนาจตุลาการที่ใช้อ้างอิงรัฐธรรมนูญ 2550 จะใช้สนับสนุนและแก้ปัญหาทางการเมืองในสองระบบที่มีอยู่ได้สมดุลกันหรือไม่ ตรงนี้เป็นปัญหาของสังคมไทย


 


ยกตัวอย่างการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ที่ร้อนในการกระทบกันระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนกับรัฐ หรือประชาชนกับทุน อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในศาลกลับไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ ว่าจะยืนหยัดในการใช้อำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจนิติบัญญัติ ที่จะดูแลกระบวนการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร


 


เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของภาคประชาชนกับนักการเมือง จึงมีความขัดแย้งกันสูงในการอ้างอิงกฎหมายและอ้างอิงรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็ต้องไปหวังพึ่งพาอำนาจตุลาการว่าจะตัดสินความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ไปในแนวทางการส่งเสริมเรื่องการเมืองภาคพลเมืองมากแค่ไหน หรือจะไปส่งเสริมการเมืองภาคนักการเมือง


 


ประเด็นที่สำคัญอีกอีกอันหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือ รัฐธรรมนูญ 2550 สามารถเปลี่ยนการเมือง จากการเมืองเก่าเป็นการเมืองใหม่ได้หรือไม่


 


"ผมคิดว่าหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นพื้นฐานในการสร้างการเมืองใหม่ได้ เพียงแต่ว่ากระบวนการที่จะจัดการดำเนินการให้เกิดการเมืองใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตราต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น สองนักการเมืองยังไม่เห็นประเด็นนี้ ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อสร้างการเมืองใหม่ สร้างสังคมใหม่โดยเฉพาะ ถ้าใช้คำกลางๆ ก็คือการปฏิรูปทั้งระบบไม่ว่าเรื่องอะไร"


 


ยกตัวอย่างเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้บอกว่า ในเรื่องการศึกษา รัฐควรจะต้องทำอะไรบ้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการศึกษาควรมีสิทธิที่จะทำอะไรบ้าง ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีจะพูดมาตราเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเรื่องการศึกษาแค่สองวรรคเท่านั้น คือวรรคเกี่ยวกับเรื่องเรียนฟรี กับการศึกษาเพื่อคนพิการ แต่วรรคที่เป็นการปฏิรูปการศึกษาคือวรรคที่ 3 ในเรื่องที่ให้ประชาชนสามารถจัดการศึกษาได้เอง ทั้งการศึกษาทางเลือก นายกรัฐมนตรีก็ไม่พูดถึง


 


เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เสริมการเมืองภาคประชาชนและเสริมการเมืองใหม่ แต่ปัญหาว่าการเอาข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไปใช้เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ และแก้ไข ควบคุมพฤติกรรมของนักการเมืองเก่า การเมืองภาคประชาชนจะต้องลุกขึ้นต่อสู้และมีความเข้มแข็งจึงจะสามารถนำไปใช้ได้


 


แต่กระนั้น ต้องถามว่าถ้าตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในศาลจะมีจุดยืนในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการเมืองสองระบบในขณะนี้จะพัฒนาอย่างไร แน่นอนการเมืองในระบบรัฐสภาที่เป็นตัวปัญหา จะแก้ปัญหาการเมืองในระบบรัฐสภา หรือการเมืองนักการเมืองอย่างไร และการที่จะส่งเสริการเมืองภาคประชาชน สุดท้ายอำนาจตุลาการจะเป็นตัวชี้ขาดว่าจะส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งขึ้นไปตรวจสอบการเมืองภาครัฐสภาได้มากน้อยแค่ไหน


 


"การเคลื่อนตัวของประชาชนในการต่อสู้บนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สุดท้ายจะถูกตัดสินโดยศาล ว่าการกระทำและการเคลื่อนตัวของการเมืองภาคประชาชนที่ดำเนินไปโดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญนี้ ศาลจะมองประเด็นนี้อย่างไร และถ้ามองหรือตัดสินประเด็นนี้ไปในเชิงที่ไปกำหลาบ ไปกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเมืองภาคประชาชนจะชะงักงัน และการต่อสู้ก็จะเข้มข้นขึ้น ในหลายคดีความในตอนนี้"


 


ประเด็นต่อมาที่จะพูดเพิ่มเติม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านี้ที่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้สร้างการเมืองสองระบบขึ้นมา แม้แต่ในระบบเศรษฐกิจ ก็สร้างระบบเศรษฐกิจสองระบบขึ้นมา คือ ระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก กับระบบเศรษฐกิจทางเลือกหรือกระแสรอง อันนี้นักการเมืองยังไม่เอ่ยถึงระบบเศรษฐกิจสองระบบให้ชัดเจนในการแถลงนโยบายของคุณอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ


 


เพระฉะนั้นก็เป็นประเด็นว่าการเมืองภาคพลเมืองจะต้องเคลื่อนขบวนโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 สร้างระบบเศรษฐกิจอีกระบบหนึ่งขึ้นมาให้ชัดเจนให้ได้ การใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น ต้องใช้เปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบเศรษฐกิจด้วย ต้องใช้ให้เกิด 2 ระบบเศรษฐกิจ โดยในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักต้องทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นธรรม คือต้องทำให้เกิดทุนที่สะอาดขึ้นมา


 


รัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตราเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ มีความตั้งใจจริงที่จะสร้างทุน สร้างเศรษฐกิจที่สะอาดขึ้นมา แต่การที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ต้องส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค และความตื่นตัวของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในกระแสหลัก ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ไม่สะอาดและเป็นเศรษฐกิจที่ฉ้อฉล ความตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชนเท่านั้นที่จะเข้ามาขจัดตัวนี้ และขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนสร้างเศรษฐกิจในกระแสทางเลือกขึ้นมาได้


 


อีกอันหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 พยายามมาก คือการสร้างสื่อในภาคประชาชน แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จในรัฐธรรมนูญ 2540 และในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่


 


การสร้างสื่อทางเลือกขึ้นมาเป็นความตื่นตัวของภาคประชาชนโดยแท้จริง และยังคลุมเครือว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย สุดท้ายก็จะทำให้ไม่สามารถที่จะไปจัดการกับสื่อกระแสหลักซึ่งยังอยู่ในมือของทหารและนายทุนของรัฐบาล ซึ่งอิงผลประโยชน์กับกลุ่มทุนมากมาย


 


"การสร้างสื่อของภาคประชาชนเพื่อมาส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน มันพิสูจน์มาแล้วในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้พันธมิตรฯ ในช่วงเวลา 193 วัน สามารถขยายไปได้ เพราะการที่มีสื่ออิสระอย่างเอเอสทีวี เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีแนวคิดที่จะสร้างให้ประชาชนมีสิทธิของตัวเองแต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปคุ้มครองการมีสื่อของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไปในเรื่องสื่อ"


 


ทั้งหมดนี้ โดยสรุปรัฐธรรมนูญ 2550 มีส่วนเอื้ออย่างสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสร้างแนวทางการพัฒนาสองกระแสขึ้นมาคู่กัน แต่ปัญหาที่จะต้องเผชิญ คือ สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะถูกนำไปเป็นหลังพิงของการต่อสู้ของภาคประชาชนได้อย่างไร และทำให้ภาคประชาชนรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยในการใช้เจตจำนงของรัฐธรรมนูญในการที่จะไปปฏิบัติการต่อสู้เพื่อการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนได้อย่างไร ซึ่งหลังพิงที่สำคัญคือตุลาการภิวัตน์ ตุลาการภิวัตน์จะต้องเป็นหลังพิงให้กับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน


 


สอง การตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชน ตอนนี้มีคำใหม่เกิดขึ้นคือ การเมืองภาคประชาชนกลายเป็นประชาภิวัตน์ ปัญหาคือประชาภิวัตน์จะเป็นสิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเมืองเก่าสู่การเมืองใหม่ได้อย่างไร


 


แต่ทั้งหมด ในการเคลื่อนตัวทางการเมืองของสังคมไทย กำลังจะเคลื่อนตัวออกจากการใช้ความรุนแรงไปสู่การใช้ระบบนิติรัฐ และระบบนิติรัฐเป็นระบบตุลาการที่มีความสำคัญว่าจะนำพาสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ไปในทิศทางใด


 


ทั้งนี้ จะต้องเอาตุลาการเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ให้สาธารณะมีไฟสปอร์ทไลท์จับที่ตัวตุลาการ และการเคลื่อนไหวของประชาชนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตุลาการซึ่งส่วนใหญ่เป็นอำมาตยาธิปไตย ให้มาสนับสนุนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบสื่อมวลชน ที่เป็นสองระบบ


 


คิดว่าในช่วงรอยต่อตอนนี้ ในการนำพาสังคมไทย ไม่ใช่ล้มล้างระบบหนึ่งแล้วสร้างระบบใหม่ขึ้นมา แต่จะต้องทำให้สองระบบนี้เดินไปด้วยกัน แล้วระบบที่เป็นปัญหาของสังคมไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง จะต้องถูกควบคุมโดยการเมืองภาคประชาชน ขณะเดียวกันการเมืองภาคประชาชนก็ต้องสร้างระบบอีกระบบหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เปิดช่องรองรับไว้แล้ว นี่ก็คือรอยต่อของการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย


 


 



"รัฐบาลก็ไม่ยอมกระจายอำนาจลงไป และการกระจายอำนาจ หรือการจัดการ การจัดตั้ง การจัดทำพื้นที่ป่าให้คนจนโดยที่ไม่มีมิติทางจิตวิญญาณ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่แท้จริง มันก็ไม่ได้ช่วยให้ชุมชนได้อยู่ดีมีสุขแต่ประการใด กลับเป็นภาระให้ชุมชนต้องคอยดูแลรักษาต้นไม้ ป่าที่เคยจัดตั้งให้ชุมชนก็ไม่ได้เป็นป่าชุมชนตามหลักการ ชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ สุดท้ายป่าเหล่านี้ก็ถูกทำลายไป"


 


 


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรโดยเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ลงไปคลุกคลีกับปัญหาเกษตรกรตั้งแต่ปี 2538 ว่า เริ่มแรกมีความเชื่อว่าหากเกษตรกรมีที่ทำกิน ได้รับการจัดสรรที่ทำกินอย่างพอเพียง เกษตรกรจะอยู่รอดได้ โดยปัญหาของเกษตรกรจะหมดไป แต่หลังจากทำงานมานานกว่า 15 ปี ได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าจะจัดที่ดินให้เกษตรกรมากน้อยขนาดไหน ถ้าจัดให้แต่ที่ดินอย่างเดียว เกษตรกรก็ไม่สามารถอยู่ไม่รอด สุดท้ายก็จะสูญเสียที่ดินให้กับนายทุนเหมือนเดิม ฉะนั้นวิธีการจัดหาที่ดิน ให้ที่ดินอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในช่วงหลังจึงเริ่มสนใจเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากร


 


"ผมตั้งสมมติฐานว่า ถ้าชาวบ้านและเกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรได้ โดยเฉพาะในเรื่องของป่า ที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพ แหล่งรายได้ มีแหล่งน้ำ เขาสามารถใช้ที่ดินที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจะสร้างอาชีพสร้างรายได้ แต่ว่า 10 กว่าปีที่ขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ในเรื่องกฎหมายที่จะกระจายอำนาจไปยังชุมชน ก็ได้ข้อสรุปว่า อย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลก็ไม่ยอมกระจายอำนาจลงไป และการกระจายอำนาจ หรือการจัดการ การจัดตั้ง การจัดทำพื้นที่ป่าให้คนจนโดยที่ไม่มีมิติทางจิตวิญญาณ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่แท้จริง มันก็ไม่ได้ช่วยให้ชุมชนได้อยู่ดีมีสุขแต่ประการใด กลับเป็นภาระให้ชุมชนต้องคอยดูแลรักษาต้นไม้ ป่าที่เคยจัดตั้งให้ชุมชนก็ไม่ได้เป็นป่าชุมชนตามหลักการ ชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ สุดท้ายป่าเหล่านี้ก็ถูกทำลายไป"


 


เพิ่มศักดิ์ เล่าว่า ช่วงปี 2543-46 ได้ไปจับเรื่องการประเมินผลโครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืน เรื่องการปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของเกษตรกร โดยลงไปเรียนรู้ในภูมินิเวศน์ ค้นพบว่าปัญหาของเกษตรกร แม้จะเป็นเกษตรรายย่อย แต่มีปัญหาที่ซับซ้อนมาก และปัญหาที่แก้ยากที่สุดคือปัญหาการตีบตันทางความคิด ทั้งนี้ เท่าที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องความคิดเกษตรกร เห็นช่องทางออกหลายช่องทางที่จะทำให้เกษตรกรได้กลับฟื้นคืนสู่ระบบเกษตรกรรมที่นั่งยืน และเป็นเกษตรกรที่มีความสุขอยู่ได้


 


เมื่อเอาทางเลือกต่างๆ มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ก็พบปัญหาอุปสรรคกีดขวางมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องระบบการรวมตัวกันของเกษตรกรเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ การสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งเมื่อศึกษาข้อมูลดูแล้ว พบว่า แต่ละปีงบประมาณที่ลงไปสู่ภาคเกษตรกรเป็นแสนล้าน แต่ไปไม่ถึงมือของเกษตรกร ลงไปไม่ถึงการแก้ปัญหาของเกษตรกร


 


คิดว่าปัญหาที่สั่งสมมามากมายแล้วก็ยาวนาน มันไปถึงจุดหนึ่งที่เริ่มพูดกันมากในเรื่องหนี้สินเกษตรกร และจากการที่ร่วมในสภาที่ปรึกษา ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาปัญหาหนี้สินของเกษตรกร พบว่า ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหนี้สินของเกษตรกรในครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากมาย คำนวณจากฐานหนี้สินของข้อมูลฟื้นฟูเกษตรกรที่มาจดทะเบียนไว้ประมาณ 6.3 ล้านครอบครัว และสถิตจากการมาจดทะเบียนซื้อหนี้ 3 แสนกว่าครอบครัว โดยมีที่ซื้อไปแล้วประมาณ 2,500 ครอบครัว เฉลี่ยครอบครัวละ 2 แสนกว่าบาท ถ้ารวมทั้งหมดของคนที่จดทะเบียนทั้ง 6.3 ล้านครอบครับจะคิดเป็นงบประมาณไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งประมาณ 25-30% ของ GDP ของหนี้สินสาธารณะ


 


จึงเริ่มมาสนใจว่าถ้าจะแก้ปัญหาเกษตรกร และแก้ปัญหาหนี้สินได้ ปัญหาน่าจะไปรอด จึงเริ่มไปทำงานกับชาวบ้าน แต่สิ่งที่ค้นพบกลับตรงกันข้ามกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 10 เดือน ทำการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมา 10 รุ่น ประมาณ 500 คน แต่ละรุ่นได้ทำข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินเกษตรกร พุดคุยกับเกษตรกรที่เป็นหนี้ และข้อมูลล่าสุดที่ได้รับมาเมื่อวานคือ เกษตรกรที่คลองแปดขายที่ดิน 30 ไร่ ให้กับหมู่บ้านจัดสรร ได้เต็มๆ 42 ล้านบาท และ 42 ล้านบาทนี้ใช้หมดภายใน 6 ปี ขณะนี้เขาจนกว่าเดิมเพราะว่านอกจากเงินที่หมดไปเขายังได้ไปค้ำประกันให้กับบริษัท บริษัทหนึ่ง ปัจจุบันเป็นหนี้อยู่ประมาณล้านบาท


 


เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วเกษตรกรที่พนมสารคาม มีที่ดินเช่าทำนา เอาข้าวปลูกไปขายซื้อข้าวสารมากิน แล้วเงินเหลือเลยเอาไปซื้อหวยอีกสองคู่ครึ่ง ถูกล็อตเตอร์รี่รางวัลที่ 1 ได้เงินมา 15 ล้านบาท ก็คิดว่าคงได้ตัวอย่างที่ดีแล้ว เขาคงฟื้นฟูการเกษตรเป็นตัวอย่างเกษตรกรรมยั่งยืน แต่เขาบอกว่าเงิน 15 ล้านบาท ให้เมีย 1 ล้าน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ที่เหลือประมาณ 7 ล้านบาท ใช้หมดภายใน 2 ปี เพราะใช้เงินวันละ 2 หมื่นกว่าบาท


 


เกษตรกรอีกรายที่อำเภอนาดี เกษตรกร อายุ 60 กว่าปี เข้าใจผิดว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมาถามว่ามีที่ดินไหม และเล่าว่าแกเป็นคนที่นี่ แต่ที่มาขอที่ดินเพราะที่ดินของตนเองขายไปแล้ว 10 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีก่อน ให้เงินลูกไปคนละล้าน เหลือ 8 ล้าน เช้าไปกินกาแฟคุยเรื่องเงินล้าน บ่ายไปกินเบียร์ กลางคืนไปกินเหล้าเข้าบาร์คาราโอเกะ แกบอกว่า ชีวิตนี้แกไม่เชื่อว่าจะได้เงิน 10 ล้าน แกเป็นชาวบ้านอยู่นาดีซึ่งติดกับป่าเขาใหญ่ แต่ตอนนี้แกหมดเงิน 10 ล้านแล้ว และอยากหาที่ไปทำนาทำไร่ปลูกผักกิน แกบอกว่าชีวิตนี้แกต้องการเท่านี้


 


เมื่อเจออย่างนี้จึงไม่เชื่อว่าเงินจะแก้ปัญหาเกษตรกรได้ ตัวอย่าง 42 ล้าน 15 ล้าน 10 ล้าน ไม่เชื่อว่าการให้ที่ดินอย่างเดียวจะแก้ปัญหาเกษตรกรได้ ไม่เชื่อว่าการยกสินทรัพย์ยกอะไรต่างๆ กระจายให้กับเกษตรกรจะแก้ปัญหาเกษตรกรได้ จึงอยากจะท้าทายนักพัฒนานโยบายของรัฐ ท้าทายให้เห็นว่าปัญหาเกษตรกรในวันนี้ ถ้าไม่แก้ทั้งระบบไม่คิด ไม่มองภาพรวม ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้


 


5 เรื่องใหญ่ๆ ที่อยากให้ดู 1.เรื่องหนี้สินล้านล้าน 2.เรื่องที่ดินในขณะนี้คน 90 เปอร์เซ็นต์ครอบครองที่ดินอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ คน 10 เปอร์เซ็นต์ครอบครองที่ดิน 90 เปอร์เซ็นต์ 3.เรื่องฐานทรัพยากร 4.เรื่องสุขภาพ จากที่เคยหมดมุขแล้วในการปรับเปลี่ยนเกษตรกร จึงพาเกษตรกรไปตรวจเลือด พร้อมกับเกษตรกรตำบลข้างเคียงที่ปลูกผักปลอดสารพิษ ผลการตรวจเลือดพบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับอันตรายและในระดับเสียงสูง มีถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสอบถามจึงพบว่าปลูกผักปลอดสารพิษไปขาย แล้วซื้อผักตลาดมากินเพราะอยากได้เงิน ชาวบ้านที่สิงห์บุรีกับพิจิตรก็ได้ผลไม่ต่างกัน โดยประมวลคร่าวๆ พบว่าสุขภาวะของเกษตรกรไทย ย่ำแย่มากจนกลายเป็นทุกขภาวะ โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับเสี่ยง 70-80 เปอร์เซ็นต์


 


ปัญหาเรื่องภาคอสังหาฯ ขณะนี้เกษตรไม่มีศักยภาพ ปี 49 เกษตรกรที่ทำนาไม่ได้ข้าวเลย คือได้ข้าวประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ปี 50 ได้ข้าวเต็มที่เลย เพิ่งคุยกับเกษตรกรว่าปีนี้คงรวย เกษตรกรบอกว่าไม่แน่ เพราะหนึ่งอาจโดนโกงเรื่องน้ำหนัก สองเรื่องความชื้น สามโดนกดราคา สี่โดนโกงเรื่องคุณภาพข้าว เกวียนหนึ่งหายไปประมาณ 600-700 บาท ปี่ที่แล้วเกษตรกรที่ภาคกลางขายข้าวประสบปัญหาโดนกดราคา สุดท้ายเอาเจ้าหน้าที่ไปตรวจแก้ค่าโดนโกงที่ต้องเสียให้โรงสีฟรี แก้โกงตาชั่ง แก้กดราคา และมีอำนาจต่อรองกับตลาดได้คืนมาเกวียนละ 600-700 บาท ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาไม่น่าจะยากเย็น แต่ว่าที่ผ่านมาต่างคนต่างแก้ ต่างคนต่างทำ


 


เกษตรกรหลายคนกู้หนี้ร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 60 ต่อปี บางรายกู้ร้อยละ 10 - 20 ต่อปี บางรายร้อยละ 20 ต่อเดือนหรือร้อยละ 240 ต่อปี


 


อยากสรุปว่า ขณะนี้มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องเกษตรกร แต่ว่าบางคนแก้เรื่องหนี้สิน บางคนแก้เรื่องที่ดิน บางคนแก้เรื่องน้ำ บางคนแก้เรื่องของตลาด ต้องกลับมาทบทวนว่า หนึ่ง จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจในปัญหาเกษตรทั้งระบบ สอง เมื่อเข้าใจแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดพลังในการร่วมกันคิดร่วมกันทำ สาม ทำอย่างไรถึงจะเชื่อมภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาครัฐให้มาแก้ปัญหาร่วมกัน


 


คิดว่าในต่อไปจะเสนอสภาเกษตรกร และสมัชชาการเกษตรแห่งชาติ ซึ่งไปสังเกตการและเรียนรู้จากสมัชชาสุขภาพ โดยจะต้องเปลี่ยนความคิดของภาคเกษตรกร นักวิชาการด้านการเกษตร และเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านการเกษตร ในการรวมพลังสร้างความเข้มแข็งของเกษตร


 


ทั้งนี้ จากการสังเกตการณ์ในเวทีสมัชชาสุขภาพ และศึกษากฎหมายที่เกี่ยวของกับเกษตรกร คิดว่าแนวทางที่จะพูดเป็นเบื้องต้นคือว่า ต้องเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ไม่ว่าม็อบปิดถนน ม็อบหอม ม็อบข้าวโพด ม็อบยาง ฯลฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหา หลักการคือว่าปัญหาของเกษตรกรต้องแก้โดยเกษตรกร ปัญหาของเกษตรกรต้องแก้เป็นกระบวนการ และการแก้ปัญหาเป็นกระบวนการต้องอาศัยพลังจากทุกผ่าน


 


เกษตรกรอย่างเดียวมันตีบตัน มันไปไม่รอด ภาคราชการอย่างเดียวมันอยู่บนหอคอย มีงานวิจัยเยอะแยะมากมายแต่ไม่เชื่อมโยงกับปัญหาของเกษตรกร ภาครัฐปรารถนาดี มีเงินเยอะ อุ้มได้เฉพาะกลุ่ม และคนเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งสกปรกทางการเมือง มันทำให้เกิดกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นอารยะ ฉะนั้นจึงอยากเสนอวิธีคิดใหม่ในรูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง


 


ทั้งนี้ เขากล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นโอกาสที่จะนำมาใช้สร้างความเชื่อมโยง ความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมอย่างมาก แต่โอกาสนี้ประชาชนหรือเกษตรกรก็ยังไม่ทราบ โดยสามารถใช้ 10 กว่ามาตราของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มาตรา 87 (1)- (5) เรื่องการสร้างความเข้มแข็งทางการเมือง และมาตรา 84 (5) โดยเฉพาะเรื่องของการทำให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรและการดูแลช่วยเหลือกันเอง ตรงนี้เป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าอยากให้เกษตรกรได้รวมตัวกันและช่วยเหลือกันเอง


 


 


 


 





อมรา พงศาพิชญ์ กรรมการปฎิรูปกฎหมาย กล่าวถึงความเป็นมาของคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายว่า เกิดขึ้นตามมาตรา 308 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายเพื่อศึกษาและเสนอแนะการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้นเพื่ออนุวัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยให้จัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฎหมาย เมื่อร่างเสร็จแล้วคณะกรรมการก็จะถูกยุบไป ทั้งนี้ ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติกำหนดให้มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย


 


นอกจากนี้ คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายได้รับการทาบทามให้ผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมฯ โดยมีหลายเจ้าภาพ อาทิ ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์) มีทั้งร่างของคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วม ร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่างของสภาที่ปรึกษาฯ แต่ก็ไม่มีฉบับใดผ่านการพิจารณาของ สนช. เนื่องจากการจัดตั้งองค์กรการมีส่วนร่วมต้องตั้งสำนักงานและต้องมีการจัดตั้งกองทุน ซึ่งมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความยุ่งยาก รวมถึง สนช.หมดอายุการทำงานด้วย


 


จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายเห็นว่าการพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมนั้นคงเป็นไปได้ยาก และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่จะมีขึ้นนั้นก็มีหน้าที่ต้องร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคณะกรรมการฯ จึงตกลงกันว่าจะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องไปร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมต่างหากอีกฉบับ


 


ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปฎิรูปกฎหมายได้ยึดแนวทางตามมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญ คือ รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน 5 เรื่อง ได้แก่ การร่วมกำหนดนโยบายวางแผน ร่วมตัดสินใจทางการเงิน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ มีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองและให้การศึกษากับประชาชนเรื่องการพัฒนาการเมือง โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงชายที่ใกล้เคียงกันด้วย รวมถึงหมวด 7 ของรัฐธรรมนูญ คือ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงได้ เช่น มาตรา 163 ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คนสามารถเสนอชื่อเพื่อร่าง พ.ร.บ. ได้ หรือ มาตรา 164 บอกว่า 20,000 คนเสนอชื่อเพื่อถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน การขัดกันของผลประโยชน์


 


โดยคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในการร่างกฎหมาย ให้เป็นรูปแบบที่ถูกต้องเพื่อนำไปเสนอต่อได้ รวมทั้งช่วยจัดประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย


 


ส่วนความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. ของคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายนั้น ได้ผ่าน ครม.ชุดที่แล้วไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา


 


 




"แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 50 คือขบวนการประชาภิวัตน์ที่รักษาเครื่องมือนี้ให้ขบวนการตุลาการภิวัตน์นำไปใช้ได้ แล้วทำให้ตุลาการภิวัตน์ทำงานได้ง่ายขึ้น หากปราศจากขบวนการประชาภิวัตน์ที่เข้มแข็งแล้ว ผลในทางปฏิบัติเป็นจริงไม่ได้"


 


 

ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้จะพูดถึงการใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นเครื่องมือสร้างสุขภาวะของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยรัฐธรรมนูญ 50 นั้นมีฤทธิ์พอประมาณ อย่างน้อยกระทบต่อนายกฯ 3 ท่านด้วยกัน โดยมี 2 ท่านต้องพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 267 นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 237 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเข้าคุกด้วยมาตรา 309


 


"แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 50 คือขบวนการประชาภิวัตน์ที่รักษาเครื่องมือนี้ให้ขบวนการตุลาการภิวัตน์นำไปใช้ได้ แล้วทำให้ตุลาการภิวัตน์ทำงานได้ง่ายขึ้น หากปราศจากขบวนการประชาภิวัตน์ที่เข้มแข็งแล้ว ผลในทางปฏิบัติเป็นจริงไม่ได้"


 


การดำเนินการโครงการเรื่องรัฐธรรมนูญกับสุขภาวะก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือสร้างเครือข่ายขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็ง หรือประชาภิวัตน์ที่เข้มแข็ง โดยผลลัพธ์จากการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เราจะได้ร่างกฎหมาย 20-25 ฉบับซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าให้รัฐบาลหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญทำ แต่เมื่อสภาที่แล้วไม่ทำ เราก็ทำในฐานะพลเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ โดยการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ โดยทุกฝ่ายจะร่วมหารือถึงกรณีที่ประสบความสำเร็จ เช่น ผู้สูงอายุในชุมชนอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีอย่างไร หรือในพื้นที่มีรูปแบบโมเดลที่ดีในการบริการผู้สูงอายุที่สมศักดิ์ศรีอย่างไรเพื่อให้ได้นโยบายสาธารณะในการพัฒนาท้องถิ่นออกมา


 


"สิ่งเหล่านี้เป็นการดูแลในลักษณะที่ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า มีจุดต่างนิดเดียวคือ ประชานิยมเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง ซึ่งนักเลือกตั้งชอบ เพราะจะทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้และต้องมาพึ่งเขา แต่รัฐสวัสดิการก้าวหน้าหรือความเป็นพลเมืองอย่างที่เราทำอยู่ จะมีความสัมพันธ์เชิงแนวราบ ทำให้เขาพึ่งตนเองได้และพึ่งกัน ช่วยเหลือเชื่อมโยงการแก้ปัญหาซึ่งกันและกันได้"


 


ความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคพลเมือง หรือภาษาของคุณพิภพ ธงไชย คือ ขบวนการประชาภิวัตน์ นับเป็นรูปธรรมของการตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ถ่วงดุลไม่ให้ประเทศไทยเสียหาย โครงการนี้จะเรียกว่าร่วมกันสร้างประเทศไทยหรือสร้างการเมืองใหม่ก็ได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประเด็น พื้นที่ เป็นตัวตั้ง เช่น เรื่องการชุมนุมกระทบกับสุขภาวะของผู้คนจำนวนมาก การชุมนุมควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 63 ที่ให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งมีการทำการศึกษาทั่วโลกว่า การชุมนุมอย่างอารยะประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ถ้าตกลงกันได้แล้ว ต่อไปจะเอาไข่ไปปาเขามันไม่ถูก มันต้องมีกติกาที่เคารพกัน คือชุมนุมได้แต่ต้องมีกติกาที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการสร้างสังคม


 


นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดกระบวนการนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะมีเวทีนโยบายสาธารณะเสนอกรณีที่ประสบความสำเร็จ มีกฎเกณฑ์วิธีการปฎิบัติ เช่น สิทธิชุมชน ไม่ต้องอ้างกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญ แล้วเอาตรงนี้เผยแพร่ให้ทั่วประเทศปรับใช้เชื่อมโยงทุกประเด็น ทุกหย่อมหญ้า เป็นรูปแบบใหม่จากที่ปกติเวทีจะมาพูดกันถึงปัญหาเป็นส่วนใหญ่


 


ในส่วนของกลไกและกระบวนการในการสร้างและพัฒนาความรู้ ต้องมีความรู้ที่ครบถ้วนในระดับที่จะขับเคลื่อนได้ ปัญหาของนักวิชาการไทยตอนนี้คือไม่มองช้างทั้งตัว ทำให้สังเคราะห์นโยบายไม่ได้ ดังนั้น ต้องสามารถตั้งคำถามต่อเพื่อให้ได้ความรู้ครบถ้วน เพื่อผลักดันต่อในเชิงนโยบายได้


 


ประเด็นต่อมาคือการขับเคลื่อน การให้สังคมร่วมเคลื่อนจะเป็นหัวใจที่สำคัญ แต่ต้องเคลื่อนในภาษาความรู้ความเข้าใจของเขา เช่น ในแอตแลนตาบอกว่าไปวัดคุณภาพของน้ำว่ามีออกซิเจนเท่าไร มีสารเคมีเท่าไร ชาวบ้านชาวเมืองฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่พอบอกว่า ปลาแซลมอนสูญพันธุ์ไปเท่าไร เขาก็ตกใจและมีพลังที่จะขับเคลื่อนทำให้แม่น้ำสะอาด ปลาแซลมอนกลับมา


 


เรื่องกลไกรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ จะช่วยย่อยกฎหมาย 20-25 ฉบับเพื่อให้ง่ายในการสื่อสารกับชาวบ้าน และ 1 ใน 3 ของผู้เสนอต้องตั้งตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามความคืบหน้าด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา พอตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาสาระสำคัญกลับบิดเบี้ยวไป ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะมีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองด้วย เพราะไม่ว่าจะรวบรวมรายชื่อไปถอดถอนหรือเสนอกฎหมายก็ต้องใช้งบประมาณ


 


โดยสรุป รัฐธรรมนูญ 50 ได้เปิดพื้นที่การเมืองภาคประชาชนอย่างมาก แล้วมีกลไกมีเครื่องมือให้ใช้ อยู่ที่ว่าประชาชนได้นำมาใช้ไหม และชุดโครงการนี้จะเป็นชุดโครงการที่จะทำให้ประชาชนได้ออกแรงปฏิบัติ เหมือนกับที่คุณพิภพได้มาออกแรงและใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ ถ้าประชาภิวัตน์ไม่ได้เคลื่อน ไม่ได้ทำอะไร รัฐธรรมนูญก็อยู่เฉยๆ ประโยชน์ก็มีน้อย


 


 


 


....................................


หมายเหตุ: ดาวน์โหลดไฟล์เสียงการอภิปราย ได้ที่นี่ http://www.mediafire.com/?zymzjtnvtql


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ประเวศ เสนอ "สี่เหลี่ยมประชาธิปไตย" หวังสร้างสังคม "อารยะประชาธิปไตย", ประชาไท, 12 ม.ค. 52 http://www.prachatai.com/05web/th/home/15190

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net