"แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ" ตั้งกองทุนเพื่อความยั่งยืนหวังสร้างความเข้มแข็งองค์กรชาวบ้าน

กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ซึ่งเป็นผลพวงของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 และระยะต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้ยุติบทบาทลงด้วยเหตุผลทางการเมือง จนกระทั่งเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเคยเข้าร่วมกิจกรรมของสหพันธ์ชาวนาชาวไรภาคเหนือในอดีตจำนวนหนึ่ง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันจำนวนหลายครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2541 และมีความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรของเกษตรกรในระดับภาคขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นหน่วยงานประสานในการระดมแนวความคิดแก้ไขปัญหาของเกษตรกรภาคเหนือที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ดำรงอยู่ และร่วมกันผลักดันแก้ไขปัญหา

           

จนกระทั่งมีมติร่วมกันจัดตั้งองค์กรชื่อ "กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ" ขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2541 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ยกระดับความรู้และพัฒนาทักษะของเกษตรกร สนับสนุนให้เกิดการหนุนช่วยซึ่งกันและกันของสมาชิกในกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ ปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์และสิทธิอันชอบธรรมของเกษตรกร ผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน และผลักดันให้มีการปลดเปลื้องหนี้สินของเกษตรกร

           

ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือมีจุดยืนชัดเจนและยั่งยืนหยัดมาโดยตลอดคือ เป็นองค์กรภาคประชาชนที่เน้นดารมีส่วนร่วมของสมาชิกให้ความสำคัญในการดำเนินงานที่เป็นอิสระโดยปราศจากการชี้นำและการครอบงำจากกลุ่มอำนาจใดๆ แต่พร้อมที่จะประสานความร่วมมืออย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่องกันพันธมิตรหรือกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันเพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ สังคมที่ดีงาม

           

การดำเนินงานที่ผ่านมา มีทั้งรูปแบบการพบปะแลกเปลี่ยน การประชุม สัมมนา ฝึกอบรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในการผลักดันแก้ไขปัญหาของเกษตรกรเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้าง ซึ่งผลการดำเนินงานบางช่วงบางเวลาประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่บางช่วงเวลาต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดไม่น้อย

           

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอย่างหนักหน่วงจนแทบไม่มีกิจกรรมใดๆ ออกมาให้สมาชิกและองค์กรพันธมิตรได้รับรู้ พลังแห่งการต่อสู้เรียกร้องเริ่มลดน้อยถอยลง สมาชิกที่เป็นแกนนำขององค์กรจำนวนไม่น้อยมีอาการอ่อนล้า แกนนำบางคนหันเหไปเข้าร่วมกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ ที่มีปัจจัยสนับสนุนและมีความพร้อมมากกว่า และบางคนขอจำกัดบทบาทตนเองเฉพาะภายในครอบครัวและชุมชนเท่านั้น

           

ถึงขั้นถูกปรามาสว่ากลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนืออาจถึงคราต้องล่มสลายแล้วจริง ๆ

           

3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือได้พยายามร่วมกันค้นหาสาเหตุของปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ต้องเผชิญกับชะตากรรมดังกล่าวมาโดยตลอด และมีข้อสรุประดับหนึ่งที่ต้องฟันฝ่าให้ได้ในโอกาสต่อไป

           

กล่าวคือ ปัญหาอุปสรรคเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ องค์กรที่ให้การสนับสนุนเงินทุนบางแห่งมีกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับองค์กรภาคประชาชนระดับชาวบ้านธรรมดาดังเช่นกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือจะสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด และองค์กรเงินทุนบางแห่งแทนที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถรวมพลังกันได้อย่างเหนียวแน่นกลับกลายเป็นการส่งเสริมให้มีการแยกสลายพลังของเกษตรกร บางครั้งมีความขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรงถึงขั้นต้องประกาศแยกทางกัน เพราะเกิดการแย่งชิงงบประมาณจากองค์กรเงินทุนจนทำให้ไร้อำนาจในการต่อรองใดๆ

           

ขณะเดียวกัน ปัญญาชน หรือชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งในอดีตต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควรสำหรับการทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อค้นหาและเชื่อมสัมพันธ์กับแกนนำเกษตรกรในพื้นทีชุมชนเป้าหมาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับกลายเป็นตรงกันข้ามเพราะปัญญาชนสามารถเลือกรับหรือปฏิเสธประชาชนบางคนบางกลุ่มได้อย่างง่ายดาย

           

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ องค์กรหรือแกนนำเกษตรกรจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนเพื่อให้สามารถพึ่งพาหรืออยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์รูปแบบใหม่ขององค์กรเงินทุนและกลุ่มปัญญาชนดังกล่าวได้

           

ส่วนปัจจัยภายใน เกิดจากการที่แกนนำของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือยังขาดความเข้มแข็งและไม่มีเอกภาพมากเพียงพอ เมื่อมีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันจึงทำให้องค์กรเกิดความปั่นป่วนพอสมควร ประกอบกับการที่องค์กรมุ่งเน้นการผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้างเป็นหลัก แต่ผลของการผลักดันต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ มากมายซึ่งต้องใช้พลังอำนาจและระยะเวลาที่ยาวนานในการต่อสู้เรียกร้องทำให้แกนนำบางส่วนและสมาชิกจำนวนไม่น้อยขาดความมั่นใจ และเกิดอาการอ่อนล้าขณะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว

           

คณะกรรมการกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือมีความเห็นร่วมกันว่า แนวทางการดำเนินงานจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ดำรงอยู่ ทั้งนี้การประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ ในการผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้างยังคงเป็นกิจกรรมสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจให้กับองค์กร ซึ่งหมายความรวมถึงแกนนำและสมาชิกองค์กรให้สามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากองค์กรยังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจคงไม่สามารถผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาเชิงโครงสร้างได้

           

3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือพยายามศึกษา ค้นคว้า และทดลองปฏิบัติเกี่ยวกับการสร้างฐานเศรษฐกิจให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่องและได้ข้อสรุปว่า ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนน่าจะเป็นทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสม และกิจกรรมที่เป็นไปได้มากที่สุดที่สามารถสร้างรายได้และพึ่งตนเองได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวคือ การเลี้ยงหมูหลุม เพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่า และยังสามารถต่อยอดไปสู่กิจกรรมอื่น ในอนาคตภายใต้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

           

ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงหมูหลุมคือสามารถเลี้ยงในชุมชนและปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่ได้จากคอกหมูรวมทั้งความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ในการนำไปสู่กิจกรรมเลี้ยงสัตว์และปลูกผักปลอดสารพิษอื่นๆ

           

จากการศึกษาพบว่า หากเลี้ยงปริมาณมากเพียงพอ คือประมาณ 10 คอกๆ ละ 10 ตัว จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่าการเลี้ยงหมูทั่วไป ดังนั้นแม้ว่าราคาหมูในท้องตลาดจะตกต่ำ เมื่อหักต้นทุนการเลี้ยงแล้วก็ยังขายได้กำไรอย่างน้อยตัวละ 500 บาท

 

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงหมูหลุมเริ่มต้นต้องใช้งบประมาณสำหรับลงทุนมากพอสมควร แต่เป็นลงทุนในปีแรกเพียงปีเดียวเท่านั้น โดยประมาณการคาดว่าต้องใช้งบประมาณค่าก่อสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงหมู 10 คอกประมาณ 150,000 บาท ค่าวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับผสมอาหารประมาณ 50,000 บาท เงินหมุนเวียนสำหรับซื้อลูกหมู อาหารหมู และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดทั้งปีประมาณ 200,000 บาท ดังนั้นงบประมาณเริ่มต้นที่ต้องใช้ลงทุนรวมประมาณ 400,000 บาท

 

โดยปกติในรอบ 1 ปี แต่ละคอกสามารถเลี้ยงลูกหมูได้ 2 รุ่น ภายใน 1 ปี จึงสามารถผลิตหมูเข้าสู่ท้องตลาดได้จำนวน 200 ตัว มีกำไรจาการขายหมูมากถึง 100,000 บาท และนอกจากรายได้จาการขายหมูแล้ว ยังมีรายได้จากการขายปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการเลี้ยงหมูหลุมอีกด้วย (200 กระสอบ/การเลี้ยงหนึ่งรุ่น) ซึ่งรายได้จากปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

 

กล่าวโดยสรุปคือ ใช้งบประมาณลงทุนเลี้ยงหมูหลุมรวมประมาณ 400,000 บาท ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ปีละอย่างน้อยรวมประมาณ 200,000 บาท

 

กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า การลงทุนเลี้ยงหมูหลุมซึ่งผู้ปฏิบัติงานขององค์กรมีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยตรงจะทำให้องค์กรมีรายได้เพียงพอสามารถพึ่งตนเองได้อย่างต่อเนื่องและสามารถลดการพึ่งพาเงินทุนในการดำเนินงานจากองค์กรภายนอกได้ในที่สุด ที่สำคัญนอกจากเป็นการสร้างรายได้ให้กับองค์กรแล้ว ยังมีศักยภาพเป็นศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมการเลี้ยงหมูหลุม รวมถึงกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรายั่งยืนสำหรับแกนนำ และสมาชิกองค์กรได้เป็นอย่างดี จึงมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะผลักดันกิจกรรมนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีความมั่นใจว่าเมื่อองค์กร แกนนำ และสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือสามารถสร้างฐานเศรษฐกิจพึ่งตนเองได้ระดับหนึ่งจะทำให้กิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในองค์กร การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้างสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและอย่างมีประสิทธิภาพในโอกาสต่อไป

 

แต่เนื่องจากสภาวการณ์ปัจจุบัน กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือขาดงบประมาณที่จะดำเนินกิจกรรมใด ๆ และช่องทางขอรับการสนับสนุนจากองค์กรเงินทุนต่างๆ แทบมองไม่เห็น ช่องทางเดียวที่เป็นไปได้คือการขอรับบริจาคจากทุกฝ่ายที่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ

 

ด้วยความจำเป็นและความสำคัญดังกล่าว กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือจึงได้จัดตั้ง "กองทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ" ขึ้น เพื่อขอความอนุเคราะห์จากมิตรสหายทั้งหลาย จากกลุ่ม หรือองค์กรต่างๆ ได้โปรดกรุณาช่วยเหลือสนับสนุนด้วยการบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนดังกล่าวตามที่ความเหมาะสม

 

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร กรุงไทย สาขา ย่อยถนนห้วยแก้ว ประเภท ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี เครือข่าย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ เลขที่บัญชี 549-1-13834-7

 

 





กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ

119 หมู่ 9 ต. สารภี อ. สารภี จ. เชียงใหม่ 50140

 

 

ที่ นกน.10/2551                                                              กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ

                                                                                    119 หมู่ที่ 9 ต. สารภี อ. สารภี

                                                                                    จ. เชียงใหม่ 50140

1 ธันวาคม 2551

 

 

เรื่อง  ขอความอนุเคราะห์บริจาคเงินสมทบเข้ากองทุน

เรียน.............................................................................

สิ่งที่ส่งมาด้วย  รายละเอียดกองทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ

 

 

เนื่องด้วยกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ได้จัดตั้ง "กองทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ" ขึ้น โดยมุ่งเน้นที่จะระดมเงินบริจาคเข้ากองทุนรวมประมาณ 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) เพื่อนำไปสร้างฐานเศรษฐกิจขององค์กรที่สอดคล้องกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และมีศักยภาพในการผลักดันแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป ดังรายละเอียดที่แนบมาด้วยนี้

            กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ ใคร่ของความอนุเคราะห์จากมิตรสหายทั้งหลาย กลุ่ม หรือองค์กรต่างๆ ที่เข้าใจ เห็นความสำคัญในภารกิจและการดำรงอยู่ของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ กรุณาบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่เห็นสมควร โดยสามารถบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร กรุงไทย สาขา ย่อยถนนห้วยแก้ว ประเภท ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี เครือข่าย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ เลขที่บัญชี 549-1-13834-7 กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงได้รับการอนุเคราะห์จากท่านเป็นอย่างดี

            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายสิงห์ชัย  ธรรมพิงค์)

ประธานกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ

 

 

หมายเหตุ ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

            1.  นายสมศักดิ์  โยอินชัย โทร. 083-3249507

            2.  นายทวี  จันทร์สกุล       โทร. 081-0236814

            3.  นายสิงห์ชัย  ธรรมพิงค์  โทร. 089-9540953

 

หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ม.ค.52 -  18.50น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท