Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย Siam Intelligence Unit


เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.siamintelligence.com/democrate-era-image-and-truth/


วันที่ 12 มกราคม 2552


 


ผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 ส่งให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าเมืองกรุง ในขณะที่ผลเลือกตั้งซ่อมน่าจะทำให้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ขยับขึ้นมาจาก 166 ที่นั่งเป็น 173 ที่นั่ง และส่งผลให้เสียงซีกรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 235 เสียงเป็น 265 เสียง เหนือกว่าเสียงของซีกฝ่ายค้านที่ได้เพิ่มจาก 198 เป็น 207 เสียง คะแนนที่มีความแตกต่างอยู่ 58 เสียง คงจะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้หายใจโล่งคอขึ้นบ้าง หากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อหักเสียงรัฐมนตรีจำนวนราว 35 เสียงออกไป ก็ยังพอมีคะแนนเหนือกว่าฝ่ายค้านอยู่ราว 20 คน


 


ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ครองอำนาจทั้งการเมืองใน ระดับประเทศ และการเมืองในส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งต่อเนื่องจากนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่บริหารงานในตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครมาแล้ว 4 ปี และยังมีเสียงของ ส.ก. และ ส.ข. เหนือกว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามเสียอีก นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากเมื่อครั้งการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 อย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลานั้นกระแสสูงยังเป็นของพรรคไทยรักไทย เพื่อต่อสู้กับกระแสดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้ยุทธวิธีขอเข้าไปเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาล โดยการขอให้ประชาชนเลือก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ให้ถึง 201 เสียง ในขณะนั้นนายกรณ์ จาติกวนิช เคยอ้างอิงผลโพลเสียด้วยซ้ำว่าประชาชน 80% ต้องการการถ่วงดุลและการตรวจสอบรัฐบาล



 


 



(ภาพจาก วิกิพีเดีย)


 


แต่ผลการเลือกตั้งกลับปรากฏออกมาว่า ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง แต่อีกด้านหนึ่งประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับพรรคไทยรักไทยถึง 377 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์จึงยังใช้ยุทธวิธีการ "ขอตรวจสอบ" รัฐบาลอย่างไม่ลดละ เพียงแต่ว่าเสียงของซีกในพรรคฝ่ายค้านขณะนั้นรวมกันไม่ถึงหนึ่งในห้า ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ตามมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เมื่อมีคะแนนเสียงไม่ถึง พรรคฝ่ายค้านจึงขอให้รัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยอ้างเหตุผล เรื่อง "ขอตรวจสอบ" เช่นเดิม แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคประชาธิปัตย์จึงโต้ตอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ว่าการไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ จะทำให้ประชาชนอีกฝ่ายไม่พอใจและนำไปสู่ปัญหาความมีเสถียรภาพของรัฐบาลได้


 


แต่ครั้นเมื่อนายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาให้ดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขากลับเลือกไม่เชิญ ส.ส. จากซีกฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมแถลงนโยบาย เพื่อเสนอความคิดเห็น และวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล เขากลับเลือกแถลงเฉพาะหัวข้อนโยบายแบบคร่าวๆ และให้ ส.ว. จากกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดก่อนเพียง 3 คนให้อภิปรายพอเป็นพิธี เรื่องนี้แม้จะมีข้ออ้างว่าการประชุมครั้งนี้เกิดปัญหาขึ้นเพราะมีมวล ชนกลุ่มเสื้อแดงเดินทางมาชุมนุมล้อมรัฐสภา แต่การไม่แจ้งให้ ส.ส. จากซีกฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมด้วยทำให้เกิดคำถามได้ว่า รัฐบาลอาจจงใจใช้โอกาสนี้หลีกเลี่ยงการรับฟังคำวิจารณ์จากฝ่ายค้าน ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เองเคยพูดย้ำไว้หลายครั้งในช่วงที่ยังดำรงตนอยู่ใน ซีกฝ่ายค้านของรัฐบาลชุดก่อนๆว่าเชื่อมั่นในเรื่อง "การตรวจสอบ"


 


สิ่งนี้ต่างหาก ที่เป็นความไม่สง่างามของรัฐบาล หาใช่เรื่องการเปลี่ยนสถานที่จากการแถลงในที่ประชุมรัฐสภาไม่


 


ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ต้องถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (หลักการข้อนี้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย…") ดังนั้นการใช้อำนาจสาธารณะนั้นแทนประชาชน จะต้องมาควบคู่กับการรับผิดชอบและการเปิดให้ตรวจสอบ (accountability) เสมอ หมายความว่าไม่ว่าจะเป็น "หน่วยงานรัฐ" หรือ "ผู้ได้รับเลือกให้เข้ามาใช้อำนาจรัฐ" จะต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ และ เอาผิดได้


 


รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้น ก็แสดงเจตนาหลีกเลี่ยงหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว


 


ก่อนหน้านี้ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายเนวินเคยกอดคอแถลงข่าวร่วมกันว่า การที่ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ย้ายข้างสลับขั้วไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ของ ประเทศชาติ แต่ในความเป็นจริงการที่รัฐบาลต้องจัดเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงคมนาคม ให้กับตัวแทนของ ส.ส. จากกลุ่มนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าความจริงแล้ว การย้ายข้างสลับขั้วนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่


 


เพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลอื่น พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องเจียดเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญอย่างกระทรวง พาณิชย์ ให้กับตัวแทนของพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่นี่เป็นหนึ่งในกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาคเอกชนจะมีคำถามถึงความเหมาะสมทั้งตัวบุคคลที่นั่ง ตำแหน่งรัฐมนตรี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแง่การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ในห้วงเวลาที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นนี้


 


นายอภิสิทธิ์พยายามชี้แจงว่า หากรัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมทุจริตหรือบกพร่องในหน้าที่ก็จะพิจารณา แต่เมื่อดูในเงื่อนไขโครงสร้างเสียงพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เอาเข้าจริงก็เชื่อได้ยากว่าเมื่อถึงเวลานายอภิสิทธิ์จะสามารถแปรคำพูดเสนาะ หู ให้กลายเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมไปได้


 


ในช่วงสมัยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรกๆ เขาได้รับความชื่นชมจากสื่อและสังคม จนกระทั่งดูเหมือนว่าสื่อมวลชนได้ละเลยการตรวจสอบไป และในภายหลังจากการตรวจสอบนั้นก็กลับกลายเป็นการ "ไล่ล่าเอาผิด" ไปเสีย


 


การที่ปัจจุบันสื่อมวลชนยังตรวจสอบเรื่องการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ของ พ.ต.ท. ทักษิณเพื่อวิ่งเต้นต่อวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี หากแต่ต้องไม่ลืมว่าในขณะนี้รัฐบาลที่สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้ทำหน้าที่บริหารงานประเทศแล้ว แต่ในขณะนี้กลับเป็นรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ต่างหาก


 


และยิ่งการบริหารอำนาจนี้กระทำอย่างครอบคลุมทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในเมืองหลวงที่มีขนาด GDP เป็นกึ่งหนึ่งของประเทศด้วยแล้ว สื่อมวลชนยิ่งต้องไม่กระทำผิดซ้ำ โดยละเลยการตรวจสอบรัฐบาลดังที่เห็นกันอยู่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net