รายงาน: หัวใจฝ่ายบุกรุก "ป่าต้นน้ำผาดำ" แห่งสงขลา

เริ่มต้นปีใหม่แล้วเราหวังว่า ว่าปักษ์ใต้บ้านเราน่าจะผ่านช่วงหน้าฝนไปแล้ว ซึ่งรอบนี้ถือว่าหนักหนาพอสมควร สำหรับภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่หลายจังหวัด ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งรวมถึงจังหวัดสงขลาด้วยเช่นกัน

หากพูดถึงพิบัติในช่วงหน้าฝนแล้ว มักจะมีการเตรียมรับมือหรือการเตือนภัยนอกจากน้ำท่วมแล้ว ยังมีเรื่องคลื่นลมแรง พายุและแผ่นดินถล่ม ซึ่งพูดถึงดินถล่มกับน้ำป่าไหลหลาก ก็มักจะนึกถึงการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นสาเหตุหลักของภัยพิบัติดังกล่าว

สำหรับในจังหวัดสงขลา คนทั่วไปก็จะนึกถึงป่าผาดำ ซึ่งเป็นป่าต้นนำผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ของสงขลา ที่เป็นต้นน้ำสำคัญของลุ่มน้ำอู่ตะเภา อันมีเมืองสำคัญๆ อย่างหาดใหญ่ และเมืองสงขลา ตั้งอยู่ด้วย ที่สำคัญพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภามักเกิดภัยน้ำท่วมเกือบทุกปี

วันนี้มีปรากฏการณ์เป็นที่ประจักษ์อยู่ว่า ป่าต้นน้ำผาดำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหอยโข่ง สะเดา รัตภูมิและหาดใหญ่ และเป็นพื้นที่ป่าพระนามาภิไธย สวนป่าสิริกิติ์ด้วยนั้น กำลังถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

แต่หากพิจารณาจากข้อมูลแล้วจะพบว่า การเข้าบุกรุกมีเป็นระลอก จนเมื่อรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ว่าด้วยมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อแก้ปัญหาคนที่เข้าไปบุกรุกป่ามาก่อนทั่วประเทศ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการบุกรุกป่าต้นน้ำผาดำจะหยุดลงแค่นั้น โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2551 ที่ราคายางพาราสูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ความต้องการพื้นที่ป่าเอามาทำสวนยางจึงสูงตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้คนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จึงถูกมองว่ามีส่วนในการบุกรุกเพิ่มเติมด้วย ส่วนหนึ่งในนั้นก็คือ ชาวบ้านบาโรย หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

นายสุรินทร์ ชัยเขียว แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าผาดำบ้านบาโรย หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านในกลุ่มของตนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าพระนามาภิไธย สวนป่าสิริกิติ์ จำนวน 32 ครัวเรือน จากที่มีอยู่ทั้งหมดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ประมาณ 500 คน

ในจำนวน 32 ครัวเรือน  แยกออกเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินเมื่อปี 2507 จำนวน 3 ครัวเรือน ซึ่งเป็นชาวอำเภอคลองหอยโข่ง คือ กลุ่มของนายดำ

จากนั้นเมื่อกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย ซึ่งยึดพื้นที่ป่าผาดำเป็นฐานที่มั่น ได้ยุติบทบาทลงในปี 2524 ปีต่อมารัฐบาลไทยจึงมีการปิดสัมปทานทำป่าไม้ในบริเวณป่าผาดำและใกล้เคียง โดยมีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ป่า และบนภูเขาสูง เพื่อลำเลียงไม้ซุง ช่วงนั้นทำให้ต้นไม้เศรษฐกิจขนาดใหม่ถูกโค่นจำนวนมาก

และเป็นช่วงเดียวกันกับชาวบ้านกลุ่มที่สองเข้ามาบุกเบิกทำที่ทำกิน ปลูกยางพาราและทำสวนผลไม้ จำนวน 10 ครอบครัว คือ กลุ่มของนายคล่อง มาจากจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีครอบครัวของตนด้วย

กลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มของนายเฉี้ยง จากอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เข้ามาในช่วงปี 2528 - 2529 จำนวนอีก 10 ครอบครัว

กล่าวโดยสรุปก็คือ ปัจจุบันมีผู้ถือครองที่ดินในเขตป่า ก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ว่าด้วยมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ รวม 37 ราย จำนวน 60 แปลง เนื้อที่ 672 ไร่เศษ

เหตุผลที่เข้ามาบุกรุก เนื่องจากต้องการพื้นที่ทำกิน เข้ามารับจ้าง และปัญหาความยากจน อย่างไรก็ตาม ต่อมา ในจำนวน 32 ครอบครัวดังกล่าว ได้มีการรวมกลุ่มกันในปี 2545 จากนั้นมีการกำหนดกติกาและจัดทำแผนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าขึ้นมา โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ หยุดทำลายป่าเพิ่มเติม ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ห้ามล่าสัตว์ รวมถึงช่วยกันป้องกันรักษาป่า

เขายืนยันด้วยว่า ในพื้นที่ครอบครองของชาวบ้านทั้ง 32 ครอบครัว เป็นพื้นที่เดิมที่ครอบครองมาก่อนปี 2541 สังเกตได้จากต้นยางพาราในพื้นที่ยึดครอง มีอายุมากกว่า 15 ปี จนถึง 30 ปี

ในพื้นที่หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ ไม่มีนายทุนมายึดโดยให้ชาวบนที่ถือครองที่ดินแทน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งรวมทั้งตนเองด้วย โดยเขาเองถูกจับกุมเมื่อปี 2549

ขณะนี้คดีถึงขั้นมีการสั่งให้ติดป้ายประกาศห้ามมีให้เข้าพื้นที่แล้ว แต่หลังจากมีการจับกุมดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้จัดทำเอกสารเพื่อชี้แจงให้สังคมได้รู้ถึงความเดือดร้อน เพื่อหากต้องออกจากพื้นที่แล้วชาวบ้านก็ไม่มีที่ไป อีกทั้งพื้นที่ที่ถูกจับกุมก็เป็นพื้นที่ทำกินเดิม

แม้ว่า นายสุรินทร์ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีการบุกรุกตัดไม้แล้ว แม้แต่ต้นยางพาราเก่าก็ไม่มีการโค่นเพื่อปลูกใหม่แล้วก็ตาม ระหว่างทางเข้าไปยังหมู่บ้านบาโรยผู้สื่อข่าวก็ยังพบว่ามีรถบรรทุกไม้ยางพาราวิ่งเข้าออกอยู่ นั่นหมายความว่าอาจมีการโค่นต้นยางพาราเก่าในเขตป่าสงวนด้วย ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ จากการที่ผู้สื่อข่าวได้เข้าสำรวจพื้นที่ป่าร่วมกับนายสุรินทร์ พบว่า พื้นที่บุกรุกของทั้ง 32 รายนั้น เป็นสวนยางพาราและสวนผลไม้ที่มีอายุประมาณ 15 ปี ขึ้นไป หมายความว่าเป็นสวนยางที่ปลูกก่อนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 สลับกับพื้นที่ป่า

โดยนายสุรินทร์ ระบุว่า ทั้ง 60 แปลงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้เข้ามารังวัดแล้ว ส่วนพื้นที่บุกรุกนอกเหนือจากนี้ เป็นพื้นที่บุกรุกใหม่

ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งระบุว่า ผู้ที่เข้ามาบุกรุกทำลายป่าส่วนใหญ่ที่พบขณะนี้เป็นชาวพม่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจถูกว่าจ้างจากนายทุนให้เข้ามาทำลายป่าเพื่อยึดครองพื้นที่ทำสวนยางพารา

แม้ว่าในส่วนของชาวบ้านเองขณะนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มากขึ้น แต่บางครั้งความพยายามดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น โดยเฉพาะระหว่างชาวบ้านกับประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ที่มีนายจรัญ ช่วยเอียด กับนายประวิทย์ ทองประสม เป็นแกนนำ

นายสุรินทร์ บอกว่า ทางชุมชนเคยร่วมกิจกรรมในการอนุรักษ์ป่าร่วมกับกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ มาแล้ว แต่เนื่องจากแนวทางการทำงานที่ไม่เหมือนกันทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา

"เนื่องจากกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ต้องการให้กลุ่มที่บุกรุกทั้งหมดออกจากพื้นที่ป่า ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านบาโรยทั้ง 32 ครอบครัว ยังต้องการทำมาหากิน เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำมาหากินที่อื่นได้แล้ว"

เขาบอกว่า ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีความสำนึกในการอนุรักษ์ป่ามากขึ้นแล้ว ซ้ำยังช่วยป้องกันไม่ให้มีคนนอกพื้นที่เข้ามาบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ มักใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมไปฟันทำลายต้นยางพาราของชาวบ้านที่ปลูกไว้แล้ว ซึ่งนายสุรินทร์ บอกว่า "รับไม่ได้"

พร้อมกันนี้ เขาบอกด้วยว่า แต่หากมีแนวทางที่ดีที่สามารถพูดคุยกันได้ โดยให้ความเห็นอกเห็นใจกันก็น่าจะช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหาการบุกรุกป่าได้แน่นอน

วันนี้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ดูจะแผ่ขยายไปไกล ด้วยเพราะตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าก็ยังถูกบุกรุกอยู่ต่อไป มันเหมือนป่าแห่งนี้ถูกต้องมนต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท