Skip to main content
sharethis

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช
.)


จากกรณีข่าวชาวบ้านจังหวัดกาฬสินธุ์นิยมนำค้างคาวมาใช้ประกอบอาหาร โดยเชื่อว่าเลือดของค้างคาวมีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ขณะที่ไขมันที่สะสมอยู่ในตัวค้างคาวจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นต้านทานความหนาวเย็นได้นั้น (5 มกราคม 2552) ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี หัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านวิจัยและฝึกอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (WHO Collaborating Centre for Research and Training on Viral Zoonoses) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มเลือดค้างคาวสดๆ หรือบริโภคเนื้อหรือเครื่องในค้างคาว แบบสุกๆ ดิบๆ มีโอกาสเสี่ยงในการติดโรคจากเชื้อไวรัสสูงมาก


ทั้งนี้มีรายงานการพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิดจากค้างคาวหลายชนิดทั่วโลก ซึ่งหลายชนิดก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสตระกูลโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัสอีโบล่า (Ebola), ไวรัสซาร์ (SARS), ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และผลการวิจัยในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการตรวจพบไวรัสนิปาห์ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบและมีอัตราการเสียชีวิต 40-80% จากการตรวจเลือด น้ำลายและเยี่ยวของค้างคาวแม่ไก่ โดยเชื่อว่าค้างคาวชนิดอื่นๆ ก็มีเชื้อไวรัสเหล่านี้เช่นกัน ส่วนกรณีที่มีคนเชื่อว่าค้างคาวที่จับมาดูสุขภาพดีไม่น่าจะมีการติดเชื้อใดๆ นั้น ถือเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดและต้องระวังมาก เพราะเมื่อค้างคาวมีการติดเชื้อไวรัสอาจไม่แสดงอาการความผิดปกติใดๆ หรือถ้ามีอาการก็เล็กน้อยมาก และแม้ว่าจะมีไวรัสบางชนิดทำให้ค้างคาวป่วยหนักจนตาย แต่ก็จะมีจำนวนไม่น้อยที่หายเอง และยังคงแพร่เชื้อต่อไปได้


อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้หลายคนจะเชื่อว่าการปรุงค้างคาวให้สุกจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ก่อนการปรุงก็มีโอกาสที่ติดเชื้อไวรัสได้ในหลายขั้นตอน โดย ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านวิจัยและฝึกอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (WHO Collaborating Centre for Research and Training on Viral Zoonoses) กล่าวว่า การปรุงสุกอาจจะช่วยทำลายเชื้อไวรัสได้ แต่ประชาชนมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่การจับและการชำแหละ เพราะเชื้อไวรัสจะมีการสะสมอยู่ทั้งในเลือด น้ำลาย และเครื่องใน โดยเฉพาะที่ตับ ม้าม และเยื่อบุช่องท้องของค้างคาว ดังนั้นหากถูกกัดหรือบริเวณที่มีบาดแผลไปสัมผัสถูกบริเวณดังกล่าวเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทันที  อีกทั้งเมื่อรับประทานค้างคาวแล้วไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100% เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดใช้ระยะการฟักตัวนาน เช่น เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวเป็นเดือน หรือไวรัสนิปาห์ ที่นอกจากจะแสดงอาการของโรคหลังจากรับเชื้อไวรัสเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้ว เชื้อไวรัสบางตัวยังสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายและใช้ระยะเวลาฟักตัวนานถึง 2 ปี จึงจะแสดงอาการออกมา ดังนั้นผู้ที่เคยบริโภคค้างคาว หากมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย เป็นไข้ ควรแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีการบริโภคค้างคาวมาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรค


ทั้งนี้แม้จะพบว่ามีเชื้อไวรัสในค้างคาวหลายชนิด แต่ค้างคาวก็ไม่ได้แพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ได้โดยง่าย การแยกพื้นที่ที่ชัดเจนจะช่วยให้ไม่ให้มีการปะปนของค้างคาวติดเชื้อมายังคนและสัตว์ การไม่รุกล้ำเข้าไปในถิ่นธรรมชาติของค้างคาวเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการครอบครองพื้นที่ รวมทั้งการไม่นำค้างคาวมาบริโภค จะเป็นเครื่องมือป้องกันให้ค้างคาวไทยยังคงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีคุณค่าโดยที่ไม่มีผลกระทบนำโรคร้ายใดๆ มาสู่คน


ด้าน ดร.สาระ บำรุงศรี นักวิจัยความหลากหลายของค้างคาวในประเทศไทย จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า การจับค้างคาวมาบริโภคไม่เพียงเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส แต่อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย เพราะปัจจุบันค้างคาวกินแมลงทุกชนิด และค้างคาวกินผลไม้เกือบทั้งหมด (มีค้างคาวกินผลไม้เพียง 7 ชนิด ไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง) ล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยถือเป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งค้างคาวที่ชาวอีสานนิยมนำมาบริโภคขณะนี้ คือ ค้างคาวปีกถุง เป็นค้างคาวกินแมลง และนับเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองด้วยเช่นกัน


"ส่วนความเชื่อที่ว่าเมื่อกินค้างคาวแล้วไขมันที่สะสมอยู่ในตัวค้างคาวจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นนั้น ไม่เป็นความจริงเพราะค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีไขมันน้อยมาก เนื่องจากค้างคาวต้องบินหาอาหาร ฉะนั้นตัวต้องเบา ร่างกายส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยกล้ามเนื้อและหนังเป็นหลักเท่านั้น" ดร.สาระ กล่าวและว่า ความเชื่อเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ความเชื่อที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลอาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อตนเองและระบบนิเวศได้ในระยะยาว เพราะค้างคาวมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษย์ มีส่วนสำคัญในช่วยการผสมเกสร กระจายพันธุ์พืชและช่วยรักษาสภาพผืนป่าให้คงความสมบูรณ์ ที่สำคัญค้างคาวยังเป็นสัตว์ที่ออกลูกเพียงปีละ 1 ตัวเท่านั้น ดังนั้นหากมีการล่าเพื่อนำมาบริโภคเป็นจำนวนมากแล้ว นับเป็นเรื่องยากที่ประชากรค้างคาวจะฟื้นตัวได้ทัน และอาจจะมีผลให้ค้างคาวต้องสูญพันธุ์ได้ในที่สุด


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net