รัฐศาสตร์-รปศ.วิชาการ 9: บทความเต็ม การปฏิบัติการร่วมทางการเมือง: กรณีพันธมิตรฯ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective Action Frames): กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

 

 

 

 

 

ลูกๆ นักศึกษาที่รัก พวกเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ลูกๆทุกสถาบัน จะต้องเป็นกำลังของประเทศชาติ ไม่กระทรวงใดก็กระทรวงหนึ่ง ไม่ภารกิจใดก็ภารกิจหนึ่ง ในอนาคตอย่างแน่นอน แล้ววันนี้ผมรู้สึกย้อนรอยเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อนักเรียนอาชีวะ นักเรียนช่างกลมา เดี่ยวใครจะมาตี มาเลย ไอ้ นรก นปก. มาเลย เดี่ยวให้ลูกหลายแสดงฝีมือบ้าง มั้น [ลากเสียงยาว] มันมืออยู่ [มา]นานแล้ว ลูกหลานเฮ้ย [ลากเสียงยาว] ตีคนเลว ตีคนชั่ว ไม่บาป

 

                                                                                                สมศักดิ์ โกศัยสุข

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

5 กันยายน 255 [1]

 

ผู้ดำเนินรายการ1 : คือ ในเมื่อมันสามารถตั้งขบวนการซ้ายอกหักรุ่นใหม่ขึ้นมาได้เนี่ย เราจะตั้งขบวนการเสรีไทย คือ ขบวนการชูพระมหากษัตริย์รุ่นใหม่ได้มั้ย คือ สมัยก่อนเสรีไทยนี่มีหน้าที่ทั้งเล่นงานลับหลัง ทั้งส่งข่าวทั้งอะไรเนี่ยนะฮะ พวกเราว่าเป็นไปได้มั้ย มาลอบกระทืบโชติศักดิ์ลับหลัง...ไปลอบฆ่าไอ้พวกนี้เนี่ย...

 

ผู้ดำเนินรายการ1: มันต้องได้หมดแหละ โชติศักดิ์กินอะไร มันต้องเจอคนวางยาพิษไง โชติศักดิ์เดินไปทางไหน อ้าวจริงๆ คือผมรู้สึกว่ามันรับไม่ได้อีกต่อไปแล้วไง.....

 

สายจากทางบ้าน : พี่เห็นด้วยที่จะก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ไอ้พวกนี้มันใช้ไม่ได้ ไม่ต้องสนใจมันแล้ว เพราะฉะนั้นเราใช้กฎหมายกับมันไม่ได้ ผมอยากจะให้คุณต่อพงษ์นำเลยแหละ ผมจะเอาด้วยคน เจอที่ไหนฆ่ามันทิ้ง อย่าเอาไว้ เพราะอย่างนี้เกินไปแล้ว ...

 

                                                                                                รายการ Metro life

 FM 97.75 คลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน

ดำเนินรายการโดย ต่อพงษ์ เศวตามร์, วริษฐ์ ลิ้มทองกุล และ อำนาจ เกิดเทพ

29 เมษายน 2551 [2]

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อต่อต้าน/โค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" (รอบแรก) และรัฐบาล "นอมินี/หุ่นเชิด/สมุนรับใช้" และสถาปนา "การเมืองใหม่" [ตามคำนิยามของเขา] (รอบที่สอง) ที่เริ่มในต้นปี 2549 และดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าการเคลื่อนไหวนี้จะจบลงอย่างไร ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง การเคลื่อนไหวที่สำคัญมาก ในรอบ 15 ปี หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ทั้งในแง่ผลสะเทือนหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว, การระดมทรัพยากร ผู้เข้าร่วมขบวนการ, ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี และนวัตกรรมทางการเคลื่อนไหว ฯลฯ

 

ดัง นั้น สำหรับการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและ/หรือ แนวทาง/วิธีการการเคลื่อนไหวหรือไม่ก็ตาม การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ นั้นเป็น "พื้นที่อันอุดม" ที่จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้า วิจัย สร้างองค์ความรู้ในมิติต่างๆ อย่างละเอียดรอบต่อไปในอนาคต แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มีขอบเขตของการกระทำ ระยะเวลา และตัวแสดง/ผู้มีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ที่กว้างขวาง มีพลวัต/การผันแปรตลอดเวลา และมีองค์ประกอบต่างๆ ที่สลับซับซ้อน ก็ยิ่งทำให้การศึกษาทำความเข้าใจมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากขึ้น

 

ความพยายามในการศึกษาทำความเข้าใจพันธมิตรฯ นี้เริ่มต้นจากปัญหาสำคัญที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเอง 3 ประการ คือ

 

ประการแรก เกี่ยวเนื่องกับข้อความข้างต้นที่ยกมา ข้อความแรก สำคัญเพราะเป็นของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่อ้างว่าทั้งชีวิต ตนเองได้อุทิศตนเพื่อ "ผู้ใช้แรงงาน" "คนยากจน" มาโดยตลอด และเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนในขบวนการแรงงาน ขณะที่ข้อความที่สอง สำคัญเพราะเป็น "การระดมความเห็น" ออกอากาศสดๆ ทางรายการวิทยุ ว่าจะ "จัดการ" กับนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ไม่ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ที่ "ถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปีก่อน ผมคิดว่าประชาชนจะช่วยกันรุมประชาทัณฑ์โชติศักดิ์จนตายนะฮะ คือ โชติศักดิ์จะต้องถูกแขวนคอ" อย่างไร ทั้งนี้ ไม่มีความสงสัยในความเป็น "คนดี" "มีคุณธรรม" ของเจ้าของข้อความ แต่ประการใด แต่คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในใจ คือ เมื่อพวกเขาเป็นคนดี เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ประการที่สอง ทั้งสองกรณีเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็น 1 ใน 5 แกนนำ ขณะคลื่น "ยามเฝ้าแผ่นดิน" เป็นสื่อในเครือผู้จัดการ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพันธมิตรฯ (ผู้ดำเนินรายการในวันดังกล่าวท่านหนึ่งเป็นบุตรชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำอีกคนหนึ่ง) ที่แน่นอนย่อมมีบทบาทสำคัญในพันธมิตรฯ ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ ในขบวนการเคลื่อนไหว "เพื่อประชาธิปไตย" ที่ "สันติ" "อหิงสา" เกิดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

 

ประการที่สาม เกี่ยวข้องกับการศึกษาการเคลื่อนไหว ขณะที่พันธมิตรฯ เอง ประกาศย้ำบนเวทีการชุมนุมเสมอว่า "พันธมิตรฯ ไม่ใช่ 5 แกนนำ" แต่เมื่อเกิดการกระทำที่เป็น "ปัญหา" หรือเกิดความรุนแรงจากการกระทำของผู้คนที่อยู่ในขบวนการฯ แม้กระทั่งของแกนนำบางคน ก็จะถูกปฏิเสธโดยทันทีว่าเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" ของคนนั้นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ อย่างที่นายพิภพ ธงไชย แกนนำ แนะนำว่า "คุณต้องดูคำแถลงมากกว่า คำแถลงก็คือการเห็นร่วม แต่การพูดโดยส่วนตัวก็เป็นความเห็นส่วนตัว" [3] ดังนั้น คำถามสำคัญที่ตามมา และเป็นคำถามหลักของบทความนี้ คือ เราจะเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวมีขอบเขตของการกระทำ ระยะเวลา ตัวแสดงที่กว้างขวาง และองค์ประกอบที่ซับซ้อนนี้เข้าด้วยกันได้อย่างไร

 

บทความนี้ มิได้พยายามที่จะตอบคำถามทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น แต่พยายามทำความเข้าใจพันธมิตรฯ โดยเน้นเฉพาะรอบที่สอง ผ่านกรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective action frames) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหว โดยแนวความคิดในการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ริเริ่มและพัฒนาโดย เดวิด สโนว์ (David Snow), โบเบิร์ต เบนฟอร์ด (Robert Benford) และคนอื่นๆ โดยจะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ (1) ทบทวนข้อถกเถียงและแนวความคิดเรื่องกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (2) ทดลองนำเสนอกรอบโครงความคิดหลักของพันธมิตรฯ 3) ในตอนท้าย นำกรอบโครงความคิดดังกล่าวมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสั้นๆ

 

1. กรอบโครงความคิดและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

 

การเข้าไปมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนองค์กรการเคลื่อนไหว กิจกรรมและการรณรงค์ของประชาชน เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ เดวิด สโนว์ และคณะ (1986) เห็นว่า การวิเคราะห์การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวที่มีอยู่ ซึ่งสามารถแยกเป็น 2 มุมมองหลัก คือ มุมมองด้านจิตวิทยา (Psychofunctional perspective) และการระดมทรัพยากร (Resource Mobilization Perspective) มีความข้อจำกัดร่วมกัน 3 ประการ

 

1) การละเลยการตีความปัญหาความเดือดร้อน/คับข้องใจและองค์ประกอบด้านความคิด (NEGLECT OF GRIEVANCE INTERPRETATIONA ND OTHER IDEATIONAL ELEMENTS)

 

เนื่อง จากกรอบวิเคราะห์ด้านจิตวิทยามีสมมุติฐานว่า ความรู้สึกเดือดร้อน/คับข้องใจอย่างรุนแรงและการมีอารมณ์ที่อ่อนไหว เชื่อมโยงหรือนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างอัตโนมัติ เหมือนดังแม่เหล็กที่ดูดกัน ทำให้ละเลยการตีความเหตุการณ์หรือประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือ การรณรงค์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่เน้นไปที่ความเดือดร้อน/คับข้องใจของบุคคล และการแสดงออกทางจิตวิทยาสังคม เช่น ความสูญเสีย ความแปลกแยก โดยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาความเดือดร้อน/ความคับข้องใจหรือความไม่พอใจเป็นผลมาจากการตีความที่ แตกต่าง และการตีความนั้นเกิดขึ้นผ่านปัจเจกบุคคล และองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม ขณะที่กรอบวิเคราะห์การระดมทรัพยากรก็หลีกเลี่ยงการตีความเช่นกัน โดยมีสมมุติฐานว่า ความเดือดร้อน/คับข้องใจที่จะระดมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง คงที่ไม่ผันแปร ดังนั้น ตามกรอบวิเคราะห์นี้ แม้จะมีปัญหาความเดือนร้อน/คับข้องใจดำรงอยู่ แต่เป็นเพียง "ปัจจัยจำเป็น"เท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติอย่างการวิเคราะห์ในแบบแรก จึงเน้นและให้ความสำคัญกับกระบวนการะดมทรัพยากรซึ่งเป็น "ปัจจัยพอเพียง" ที่จะทำให้เกิดการกระทำรวมหมู่ได้

 

2) การมองการมีส่วนร่วมแบบหยุดนิ่ง (Static View of Participation)

 

การมองการเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวอย่างค่อนข้างหยุดนิ่งนี้ เกิดได้จากความเข้าใจผิดพลาดในหลายทาง ทางแรก คือ มองข้ามลักษณะที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์/กิจกรรมของการเข้าร่วมการเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นการยากที่ปัจเจกบุคคลจะเข้าร่วมโดยตนเอง อย่างน้อยในครั้งตอนแรก และออกจะไม่ธรรมดามากที่ปัจเจกชนที่จะเสนอตัวร่วมกระทำในกิจกรรมหรือการ รณรงค์โดยอุทิศเวลา พลังงาน และเงินตราของตน ดังนั้น การที่ปัจเจกบุคคลจะเข้าร่วมในกิจกรรมหรือสิ่งที่ปรากฏขึ้นใหม่ต้องมีการ เปลี่ยนแปลงเรื่องผลประโยชน์/ส่วนได้เสียของเขา ซึ่งการตัดสินใจนั้นมักขึ้นต่อการประเมินใหม่และการต่อรอง (Reassessment and negotiation) จึงต้องมีการอธิบายและคิดเกี่ยวกับการเข้าร่วมเสียใหม่ และพัฒนาเหตุผลร่วมกันสำหรับสิ่งที่พวกเขากระทำหรือไม่กระทำ

 

ทางที่สอง คือ ขณะที่การสร้างคำอธิบายหรือทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมนี้อยู่ภายใต้กฎของการคิดคำนวณเหตุผล (Rational calculus) แต่เหตุผลในการมีส่วนร่วมไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นอิสระ/ปัจเจกและไม่ขึ้นต่อ เวลา แต่เป็นปรากฏการณ์การรวมหมู่และดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง (collective and ongoing phenomena) ดังนั้น การใช้วิธีการศึกษาที่มีแยกการมีส่วนร่วมออกจากเงื่อนไขและเครือข่ายที่ เหตุผลถูกพัฒนาและเสริมแต่งขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจพลวัตทางจิตวิทยาสังคม หรือเข้าใจการมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์เชิงกระบวนการ (processual phenomenon)

 

3) การทำให้กระบวนการที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมเป็นการทั่วไปมากเกินไป (Overgeneralization of Participation-Related Processes)

 

กล่าวคือ ประสบกับความล้มเหลวในการอธิบายรายละเอียดเฉพาะ (specify) ของ กระบวนการที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมที่หลากหลายที่ผันแปรไปตามขบวนการ เคลื่อนไหว โดย จะอธิบายประเด็นเหล่านี้ในลักษณะทั่วไปจนเกินไป ราวกับว่ามีกระบวนการทางจิตวิทยาหรือโครงสร้างย่อยที่สำคัญเพียงอย่าง สองอย่างที่อธิบายการมีส่วนร่วมได้ในทุกขบวนการ โดยไม่สนใจลักษณะที่แตกต่างในด้านเป้าหมาย โครงสร้างองค์กร และฝ่ายตรงกันข้ามของขบวนการเคลื่อนไหว

 

การถกเถียงของดวิด สโนว์ และคณะนี้ ไม่ใช่เรื่องการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของปัญหาความเดือดร้อน/คับข้องใจ แต่เป็นเรื่องลักษณะที่ความขัดข้องใจถูกตีความ/อธิบาย การเกิดขึ้นและการกระจายตัวของการตีความเหล่านั้น ซึ่งสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการทำความเข้าใจการทำงานขององค์กรการเคลื่อนไหว ทางสังคม การเกิดและการเข้าร่วมในกิจกรรม เนื่องจากองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม และกิจกรรมขององค์กร ไม่เพียงกระทำบนโลกหรือส่วนหนึ่งของโลกที่อยู่ภายนอก โดยการพยายามเรียกร้องการยินยอมพร้อมใจของกลุ่มเป้าหมาย แต่ต้องใส่กรอบความคิด (Frame) ให้โลกภายนอกที่พวกเขากำลังกระทำอยู่ด้วย มากกกว่านั้น การกระทำทางยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการโดยองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม ความพยายามที่จะได้มาซึ่งทรัพยากร การทำงานได้ของขบวนการเคลื่อนไหว ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการตีความของขบวนการ ดังนั้น การเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิดต่อการตีความปัญหาความเดือดร้อน/คับข้องใจ และเกี่ยวกับการอุดมการณ์ เช่น คุณค่า ความเชื่อที่สนับสนุน [4]

 

ทั้งนี้ เดวิด สโนว์ และคณะ เห็นว่าใน การศึกษาจำเป็นต้องเชื่อมโยงทั้งปัจจัยทางด้านจิตวิทยาสังคมและปัจจัยเชิง องค์กร/โครงสร้าง หรือเชื่อมโยงทั้งสองกรอบวิเคราะห์เข้าด้วยกัน ทำให้เขาได้พัฒนาแนวคิดเรื่องกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิด (Framing alignment processes/Framing processes) ขึ้นมา โดยการหยิบยืมแนวคิดจาก Frame Analysis (1974) ของ Erving Goffman ที่อธิบายว่า กรอบความคิด (frames) คือ กรอบการตีความที่ทำให้ปัจเจกสามารถกำหนดจุดยืนและพื้นที่ของตนเอง, การทำความเข้าใจ ระบุ และนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของชีวิตของพวกเขาและโลกภายนอกต่อสังคม ได้อย่างมีอิสระ [5] กรอบความคิดจะทำให้เหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นมีความหมายสำคัญ และทำหน้าที่ในการจัดตั้ง/รวบรวมประสบการณ์และนำทางการกระทำ

 

กรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective action frames)

 

เดวิด สโนว์ และ โรเบิร์ต เบนฟอร์ด (2000) เสนอว่า การสร้างกรอบโครงความคิด เป็นการสร้างกรอบความหมาย (meaning work) ; "การต่อสู้และแข่งขันในการผลิตความคิดและความหมายในการระดมทรัพยากรเพื่อต่อสู้และแข่งขันกับขั้วตรงข้ามของขบวนการเคลื่อนไหว (the struggle over the production of mobilizing and countermobilizing ideas and meanings)" ซึ่งจากมุมมองนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นผู้ส่งต่อ (carriers) ความคิดและความหมายที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมและโครงสร้างที่ถูกจัดระเบียบแล้ว (structural arrangements) เงื่อนไขและเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายมาก่อน (unanticipated events) หรืออุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ แต่เป็นตัวแสดงในขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มตัวแทนที่มีความตื่นตัวในการ พยายามผลิต สร้าง และรักษากรอบความหมาย (signifying agents) ในการเคลื่อนไหว สำหรับทั้งสมาชิกและกลุ่มเป้าหมายของขบวนการ (constituents) คู่ต่อสู้ หรือขั้วตรงข้ามของขบวนการเคลื่อนไหว (antagonist) กลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ (bystanders) และกลุ่มที่คอยสังเกตการณ์การเคลื่อนไหว (observer) ดังนั้น ขบวนการทางสังคมจึงเกี่ยวข้อง พัวพันกับการเมืองของการให้ความหมาย (the politics of signification) โดยผลผลิตของกระบวนการนี้ เรียกว่า กรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective action frames)

 

กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองนี้ จะทำหน้าที่ในการตีความ ทำให้รูปการของโลกภายนอกง่ายต่อการเข้าใจ/ไม่สลับซับซ้อน (simplifying) และเข้มข้น (condensing) ขึ้น ในการระดมทรัพยากรและแรงสนับสนุนจากสมาชิกผู้ร่วมจุดหมายเดียวกัน สมาชิกผู้สนับสนุน เก็บรวมรวบการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ กลุ่มผู้สังเกตการณ์ และทำลายการระดมจัดตั้งของฝ่ายศัตรู (to demobilize antagonists) ดังนั้น กรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง จึงเป็นชุดความเชื่อและความหมายที่นำไปสู่ปฏิบัติการ (action-oriented sets of beliefs and meanings) ที่ดลใจและให้ความชอบธรรมต่อกิจกรรมและการรณณรงค์ขององค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งนี้ "กรอบโครงความคิดเพื่อการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองไม่ได้เป็นการรวบรวมเจตคติและการรับรู้ของปัจเจกเท่านั้น แต่เป็นผลของการต่อรองความหมายที่มีร่วมกัน" [6]

 

กรอบโครงความคิดถูกประกอบขึ้นเนื่องจากสมาชิกผู้เข้าร่วมขบวนการต้องจัดการ/ต่อรอง (negotiate) เรื่องความเข้าใจเงื่อนไขหรือสถานการณ์ปัญหาบางอย่างร่วมกันที่พวกเขานิยามว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง, สร้าง ลักษณะการพิจารณากล่าวโทษว่าใครหรืออะไรที่จะต้องถูกโยนความผิดให้, อธิบายชุดการจัดการที่เป็นทางเลือก และกระตุ้นผู้อื่นให้ลงมือกระทำร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดย เดวิด สโนว์ และ โรเบิร์ต เบนฟอร์ด แยกองค์ประกอบงานสร้างกรอบโครงความคิดที่เป็นแกนหลัก (core framing tasks) เป็น 3 ส่วนคือ (1) การสร้างกรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัย (diagnostic framing) คือ การวิเคราะห์ ระบุ และอธิบายผลของปัญหา (2) การสร้างกรอบโครงความคิดเยียวยารักษา (prognostic framing) (3) การสร้างกรอบโครงความคิดจูงใจ (motivational framing)

 

การสร้างกรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัย (Diagnostic framing)

เนื่องจากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นพยายามที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง สถานการณ์หรือประเด็นเป็นปัญหาที่ขบวนการเคลื่อนไหวเผชิญอยู่ ดังนั้น จึงต้องพยายามระบุแหล่งที่มาของปัญหา ตัวแสดงที่มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหา และผู้ที่ส่วนต้องรับผิดชอบต่อปัญหา นั่นคือ ขบวนการต้องสร้างกรอบโครงความคิดวิเคราะห์ปัญหาขึ้นมา โดยที่มาของปัญหานั้นมิได้มาจากธรรมชาติของปัญหาโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การจะกล่าวโทษใครหรืออะไรนั้น จึงมีการถกเถียงกันในระหว่างองค์กรการเคลื่อนไหวต่างๆ และภายในขบวนการเคลื่อนไหวเองเสมอ

 

การสร้างกรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษา (Prognostic framing)

การสร้างกรอบโครงความคิดในการเยียวยาปัญหานี้ ประกอบด้วยการแสดงให้เห็นถึงทางแก้ปัญหาที่ควรจะเป็น หรืออย่างน้อยแผนการในการต่อสู้ และยุทธศาสตร์ที่จะทำให้แผนการสำเร็จ กล่าวอย่างสั้นคือ อะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ (what is to be done) รวมทั้งการระดมฉันทามติและแนวทางในการปฏิบัติการร่วมกัน ทั้งนี้มีการเสนอว่า มีความสอดคล้องลงรอยกันระหว่างกรอบโครงความคิดวิเคราะห์และการเยียวยารักษา คือ การบ่งชี้ระบุปัญหาและสาเหตุ มีแนวโน้มที่จะบังคับจำกัดขอบเขตที่เป็นไปได้ของวิธีการแก้ไขปัญหาและ ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่นำมาใช้ที่อธิบายและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างมี เหตุผลได้ นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของการสร้างกรอบโครงความคิดนี้ ซึ่งเหมือนกับการสร้างกรอบโครงความคิดอื่น คือ เกิดขึ้นภายในสนามที่มีองค์กรหลากหลาย ดังนั้นจึงครอบคลุมไปถึงการโต้แย้งหักล้างตรรกะหรือความสามารถของแนวทางการ แก้ไขปัญหาอื่นที่ถูกนำมาใช้โดยฝ่ายตรงกันข้ามเท่าๆ กับเหตุผลที่ใช้อธิบายสำหรับการรักษาเยียวยา

 

การสร้างกรอบโครงความคิดจูงใจ (Motivational framing)

การ สร้างกรอบโครงความคิดจูงใจเป็นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมปฏิบัติการทางการ เมือง กับขบวนการเคลื่อนไหว หรือระดมเหตุผลจูงใจในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการรวมหมู่ที่ ทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น ประกอบการสร้างแนวคิดใหม่ๆ และการใช้กลุ่มคำศัพท์(Vocabularies) [7] ที่เข้ากับสถานการณ์ ที่สามารถจูงใจ ชักจูงโน้มน้าวให้กลุ่มต่างๆ เข้าร่วมได้ โดย เบนฟอร์ด ได้ระบุการใช้กลุ่มคำศัพท์จูงใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ในปฏิสัมพันธ์ในหมู่นักกิจกรรม ผู้สนับสนุนธรรมดา แนวร่วมในระดับผู้ปฏิบัติงาน (rank-and-file supporters) การระดมสมาชิกใหม่ (recruits) และอื่นๆ ที่สำคัญ 4 กลุ่มคือ ความรุนแรงเข้มงวด (severity) ภาวะฉุกเฉิน (urgency) ประสิทธิภาพ (efficacy) และ ความถูกต้องเหมาะสมทางสังคมและศีลธรรม (propriety) โดยกลุ่มคำศัพท์ เหล่านี้ทำให้สมาชิกผู้ร่วมจุดหมายเดียวกันอดทนไม่ได้ที่จะเข้าร่วมในการ เคลื่อนไหวและคงไว้ซึ่งการมีส่วนร่วมของพวกเขา [8]

 

2. กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองของพันธมิตรฯ (รอบที่สอง)

 

การศึกษาทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพันธมิตรฯ นั้น ไม่ว่าในประเด็นใดก็ตาม ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพิจารณา ทำความเข้าใจกรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective Action Frames) เนื่องจากกรอบโครงความคิดนี้จะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างปัจเจกชนต่างๆ ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับองค์กรในการเคลื่อนไหว และมีส่วนในการกำหนดการกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างของผู้คนที่อยู่ในขบวนการ และของขบวนการโดยรวม

 

แม้กรอบโครงความคิดจะเป็นสิ่งที่ผู้คนในขบวนการมีร่วมกันและเป็นการต่อรองกันใน ขบวนการเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากปัจเจกแต่ละคนจะมีกรอบในการเข้าใจสถานการณ์หรือการอ่าน เหตุการณ์ของตนอยู่แล้วก่อนการเข้าร่วมการเคลื่อนไหว และการมีกรอบที่แตกต่างกันก็ไม่สามารถนำไปสู่การระดมการเคลื่อนไหวที่มี ประสิทธิภาพได้ ขณะเดียวกัน ผู้คนจะเข้าร่วมหรือสนับสนุนก็ต่อเมื่อเห็นด้วยหรือยอมรับกรอบโครงความคิด ที่ถูกเสนอโดยขบวนการเท่านั้น ดังนั้น ในขบวนการเคลื่อนไหว ผู้ประกอบการหรือแกนนำในการเคลื่อนไหว (Movement entrepreneurs) จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างกรอบโครงความคิด และปรับแต่งกรอบการตีความของผู้ร่วมขบวนการให้เป็นเอกภาพ และหากยิ่งขบวนการใดที่มีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยน้อย การมีส่วนในการกำหนดกรอบโครงหรือการตัดสินใจต่างๆ ของผู้เข้าร่วมก็จะมีน้อยไปด้วย ทำให้ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างกรอบโครงความคิดหลักก็จะจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ ผู้ประกอบการเท่านั้นเนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านั้นมีโอกาสในการสร้างการตี ความหรืออธิบายเหตุการณ์ของตนเอง และสื่อสารกับผู้เข้าร่วมมากที่สุด

 

ในการศึกษากรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดในการกำหนด ปรับแต่งกรอบโครงความคิดของขบวนการ คือ 5 แกนนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีบทบาทโดดเด่นและน่าจะได้รับการยอมรับมากที่สุด อย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้คนที่อยู่ในสื่อเครือผู้จัดการ แกนนำในระดับรองลงมา และผู้ปราศรัยอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้แสดงหลักในการเสนอการตีความของตนเองต่อผู้เข้าร่วมหรือส่วน อื่นๆ มากที่สุด จึงเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ และจำกัดการศึกษาไว้เฉพาะตัวกรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมืองอัน เป็นผลผลิตของกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดที่ผู้ประกอบการของพันธมิตรฯ สร้างขึ้นเท่านั้น โดยมิได้ทำการพิจารณากระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดที่มีความสลับซับซ้อนและ มีพลวัตรที่จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยจะทำการเสนอกรอบโครงความคิดที่เป็นแกนหลักสำคัญ 3 ส่วน คือ กรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหา (Diagnostic frame) กรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษา (prognostic frame) และกรอบโครงความคิดจูงใจ (motivational frame)

 

2.1 จากเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร สู่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

เนื่องจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบที่สองนี้ แยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวในรอบแรก จึงจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาทบทวนการเคลื่อนไหวในรอบแรก เพื่อเป็นพื้นฐานและเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในรอบที่สอง ดังต่อไปนี้

 

2.1.1 รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร : ขบวนการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ"

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่ดำเนินการอยู่ถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า มีจุดเริ่มต้นที่การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายในเครือผู้จัดการ ผ่านรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2548 ภายใต้สโลแกน "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ทั้งนี้ การชุมนุมทางการเมืองผ่านรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" มีประชาชนเข้าร่วมเริ่มจากหลักร้อยหรือพันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพัฒนาเป็นหลักหมื่นหรือหลายหมื่น ที่สวนลุมพินี และจากชุมนุมอยู่กับที่ไปสู่การเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 มกราคม 2549

 

ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 1-8 (23 กันยายน 2548 - 11 พฤศจิกายน 2548) ประเด็นปัญหาที่ผู้ประกอบการอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล หยิบยกมาวิจารณ์รัฐบาลที่สำคัญประกอบด้วย 1) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ "ที่มุ่งผลประโยชน์ของผู้บริหารและเครือข่ายการเมือง" 2) การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผิดพลาด 3) การทุจริตคอรัปชั่นกรณีสนามบินสุวรรณภูมิและอื่นๆ 4) การละเมิดจาบจ้วงพระมหากษัตริย์กรณีการทำบุญในวัดพระแก้ว และกรณีสมเด็จพระสังฆราช 5) "เส้นทางรวย" ของทักษิณ

 

กรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยปัญหาและการเยียวยารักษาของ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" นั้น อาจสรุปรวบยอดได้จากได้จากคำกล่าวนำ (อารัมภบท) ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณ "ถวายคืนพระราชอำนาจแด่ในหลวง" ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 8 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลได้สรุปปัญหาสำคัญของระบบการเมืองไทย ที่ทำให้ "จำเป็น" ต้อง "ถวายคืนพระราชอำนาจ" เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยใช้หลัก "ราชประชาสมาศัย"ดังต่อไปนี้

 

"ทุกวันนี้เราตกอยู่ในหลุมพรางกับดักการเมืองที่ใช้ทุนเป็นใหญ่" โดยที่

 

1) นักการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนแต่เป็นตัวแทนของนายทุน ไม่มีอิสระในการทำงานหรือเป็นปากเสียงแทนประชาชน เนื่องจากระบบพรรคการเมืองที่บังคับให้สมาชิกต้องสังกัดพรรคการเมือง

 

2) พรรคการเมืองใดที่มีเงินจำนวนมาก และมีความสามารถในทางการตลาดและสร้างภาพลักษณ์ ก็สามารถที่จะ"เอาเงินพาดหัวคนต่างจังหวัด ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง" ทำให้มีคะแนนเสียงหรือที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร

 

3) วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็น "ยางอะไหล่" ของ ส.ส.เนื่องจากการได้รับเลือกตั้งนั้นต้องอาศัยฐานคะแนนของ ส.ส.และในบางจังหวัดก็มีลักษณะ "สภาผัวสภาเมีย" ทำให้รัฐบาลครอบงำวุฒิสภาได้ ดังนั้น การคานอำนาจในระบบรัฐสภา "จบไปแล้ว" และบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ที่ต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา จึงเป็น "คนของรัฐบาล" ทำให้องค์กรอิสระเป็นเพียง "ยางอะไหล่เพิ่มเติมเท่านั้น"

 

4) สื่อมวลชนถูก "ปิดปาก" ด้วยการเมืองที่มีทุนเป็นใหญ่ ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาวะที่มืดบอด ตกอยู่ใต้การครอบงำของลัทธิประชานิยม ลัทธิลดแลกแจกแถม

 

5) ระบบการเมืองในขณะนั้นเป็น "ระบบกึ่งประธานาธิบดี" เนื่องจากการกำหนดให้พรรคการเมืองเป็นคนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โดยที่นายกฯ มาจากระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ไม่ต่างจากระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แต่มีความชั่วร้ายมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้มีการละเมิดพระราชอำนาจตลอดเวลา [9]

 

ทั้ง นี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น คือ โครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างชนบทกับเมือง วัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึก และระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ เมื่อประกอบเข้ากับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่นำพาลัทธิบริโภคนิยมเข้ามาครอบงำ จิตสำนึกและวิญญาณของคนไทย รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของกลุ่มทุนในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

(1) "การเมืองเก่า"เป็น "การเมืองผูกขาดของเงินที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา"

 

(2) ผู้นำของรัฐบาลใหม่ ที่มาจากพันธมิตรของกลุ่มทุนใหม่ เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยอหังกามะมังการ เย่อหยิ่ง จองหอง และไม่สนใจขนบประเพณีใดๆ มีพฤติกรรมในลักษณะละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มากที่สุดเท่าที่เคย มีมา

 

(3) กลุ่มทุนผูกขาดที่เข้าครองอำนาจรัฐได้ใช้อำนาจปกป้องและขยายฐานทางธุรกิจของ ตนเองด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และบิดเบือนการใช้อำนาจในหลายรูปแบบ รวมทั้ง "ฉ้อฉล" นำทรัพย์สมบัติของแผ่นดินมาแบ่งปันกันในหมู่พวกพ้อง โดยอาศัยนวัตกรรมของลัทธิเสรีนิยมใหม่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่จะ เป็นวัฏจักรนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองให้กระชับแน่นขึ้น [10]

 

ที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้

 

 

[ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-วัฒนธรรมการเมืองไทย> ประชาชนที่เอาเงินฟาดหัวได้]

+

[นักการเมืองชั่ว "อัปรีย์"]

+

[ระบบการเลือกตั้ง- รัฐธรรมนูญ 2540 + วิกฤติเศรษฐกิจ > โครงสร้างโอกาสทางการเมืองสำหรับนักการเมืองชั่ว]

ß

["ระบอบทักษิณ" > สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการเมืองไทย]

 

 

 

ทั้งหมดนี้นำไปสู่สถานการณ์ของประเทศไทยที่ "ประจักษ์ชัด" ว่า เป็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งวิกฤตทางสังคม วิกฤตทางจริยธรรม วิกฤตทางเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง "เป็นวิกฤตที่ไม่อาจปัดเป่าได้ด้วยระบบการเมืองและคณะผู้นำทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน" ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง

 

ถวาย คืนพระราชอำนาจแด่ใต้ฝ่ายละอองธุลีพระบาทฯ ในการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อมุ่งจรรโลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์เป็น ประมุข ให้มีเสถียรภาพมั่นคง ก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อปวงประชากร และตัดช่องการแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งเพียงอย่างเดียว [11]

 

ทั้งนี้รากฐานทางอำนาจที่ประชาชนสามารถที่จะถวายคืนพระราชอำนาจได้นั้นถูกอธิบายในการชุมนุมใหญ่เพื่อ "กู้ชาติ" ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า

 

ประชาชนทั้งปวงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ได้รับพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีสิทธิสมบูรณ์ ในการเรียกร้องอำนาจนั้นคืนและถวายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน เมื่อรัฐบาลขาดความชอบธรรมและเกิดวิกฤตใหญ่หลวง [12]

 

2.1.2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย: ขบวนการ "มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ"

 

หลังจากการขายหุ้นมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาทในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ได้การจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งภายใต้การ "นำเดี่ยว" ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ภายใต้ภารกิจ "กู้ชาติ" ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน และทางด้านองค์กรเอ็นจีโอ/องค์กรพัฒนาเอกชนก็ได้จัดตั้ง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลลาออก เปิดทางให้มีการปฏิรูปการเมือง และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยมีการชุมนุมครั้งแรกในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" [13] [ร่วมกับเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร] ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549

 

การสนธิกำลังกันของขบวนการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ"ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับ "พันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตย" ภายใต้การนำของเอ็นจีโอ"ภาคประชาชน" หลายสิบองค์กร [ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นพันธมิตรฯ อย่างในปัจจุบันที่มีแกนนำ 5 คน] เกิดขึ้นหลังเกิดกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปและการเคลื่อนไหวไล่รัฐบาลเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ว่าก่อนหน้านั้น "ผู้นำองค์กรภาคประชาชน" อย่างนายพิภพ ธงไชย จะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว "ถวายคืนประราชอำนาจ" ดังที่เคยได้ให้สัมภาษณ์ว่า

 

[ถาม: การใช้วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจมาเป็นเครื่องมือในการจัดการศัตรูทางการเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใด ในระยะยาวมันจะส่งผลเสียกับสังคมอย่างไร]

 

ก็จะส่งผลเสียกับสังคมประชาธิปไตย เพราะการที่ไปใช้ "วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจ" มันเป็นการถอยหลัง แทนที่จะมาเล่นเรื่องอำนาจของภาคประชาชน แต่อำนาจประชาชนชนมันเพิ่งเติบโต มันจับต้องไม่ได้ มันเห็นไม่ชัด แต่พระราชอำนาจนี่สืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี การใช้ "วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจ" จะมีผลเสียกับการเติบโตในเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มันจะทำให้เรื่องพวกนี้ชะงักงัน ในความเห็นของผม เป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่ว่าพวกนี้ไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้นพวกนี้ [กลุ่มของสนธิ] ไม่ รู้จะจัดการกับทักษิณอย่างไร เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็พยายามจัดการทุกอย่าง เพราะเขาคิดว่าพระสยามเทวาธิราชคงช่วยไม่ได้ก็เลยต้องไปเพิ่งของจริง [14]

 

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ได้สรุปความเห็นของ "เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน" ในการเข้าร่วมกับ"ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ" ว่า

 

ตอนนี้องค์กรภาคประชาชนมีความเห็นร่วมๆ กันอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือเห็นว่า รัฐบาลทักษิณหมดความชอบธรรมแล้ว จึงอยากให้นายกฯ ทักษิณลาออก ประเด็นที่ 2 ก็คืออยากให้มีการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ 2 ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นที่ 3 สถานการณ์ การเมืองขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันในการทำให้การเมือง เดินหน้าไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ [15]

 

และระบุว่า ในการจัดการชุมนุมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 นั้นจะมีตัวแทนขององค์กรภาคประชาชนขึ้นเวทีปราศรัยประเด็นต่างๆ ที่ "เวทีวันที่ 4 ของคุณสนธิขาดไป" อย่างเช่นเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) การแปรรูปขายรัฐวิสาหกิจ การแก้ไขความยากจน รวมทั้งปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นและการแทรกแซงสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนหลายองค์กรมีความรู้ความเชี่ยวชาญ

 

สุริยะใส กตะศิลา ได้อธิบาย "ระบอบทักษิณ" อันเป็นปัญหาที่เขาเห็นว่า ใหญ่กว่าตัวคุณทักษิณว่า มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

 

ระบอบที่ผนวกเอาอำนาจทางการเมืองกับอำนาจทุนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเป็นระบอบที่สถาปนาอำนาจให้กับตระกูลและพวกพ้องตนเอง และเป็นระบอบที่เน้นการปกครองจากส่วนบนลงล่าง รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางควบคุมพลังอิสระ และจัดระเบียบสังคมครั้งใหญ่เพื่อให้ขึ้นตรงกับส่วนกลาง ทำให้การเมืองไทยแทนที่จะก้าวหน้าไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติ ที่ก้าวหน้ามากก็กลับไปติดอยู่กับที่หรือบางประเด็นก็ถอยหลังไปด้วย [16]

 

นอกจากนั้น ยังชี้ว่าทางแก้ปัญหาที่สำคัญคือ นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว "ต้องแก้สำนึกทางการเมืองของคน"

 

เราต้องฝ่าข้ามวัฒนธรรมการเมืองที่เอาเงินเป็นใหญ่ ที่ใครมีเงินก็ซื้อเสียง ก็สัมปทานการเลือกตั้งมาเป็นผู้นำรัฐบาล แล้วก็ถอนทุน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง มัน ต้องก้าวข้ามและต้องล้มวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ให้ได้ และต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นการเมืองทางตรงของชาวบ้านมากขึ้น [17]

 

ในที่สุดรัฐบาลทักษิณได้ประกาศ "ยุบสภา"ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พันธมิตรฯ กลับเห็นว่าเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็น "เครื่องมือซักฟอกตัวเอง" จึงคงยืนยันชุมนุมขับไล่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งอย่างไม่มีเงื่อนไข และ"ให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเมื่อตระหนักว่า การดำเนินการชุมนุมอย่างเดียวเท่าที่กระทำอยู่ ไม่ว่าจะมีคนเข้าร่วมมากขนาดไหน ไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องได้ พันธมิตรฯ จึงทำให้วิกฤตของตนเองกลายเป็นวิกฤตของสังคม โดยทำการวินิจฉัยว่า หากปล่อยให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไปจะทำให้เกิด "วิกฤตครั้งใหญ่" ที่มีระดับของความรุนแรงและความเสียหายไม่น้อยกว่าการสูญเสียชีวิตเลือด เนื้อของประชาชนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ดังนั้น จึงเหลือทางออกหรือประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบ ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ที่บัญญัติว่า "ใน เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข" พันธมิตรฯ จึงได้
 

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนรวมพลังร่วมแสดงตนขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยพลัน [18]

 

อย่างไรก็ตาม การขอ"พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 โดยพลัน" โดยอ้างมาตรา 7 นั้นไม่อาจเป็นจริงได้ เนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า "ข้าพเจ้า มีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญก็เป็นการอ้างที่ผิด" แต่หลังจากนั้นนายพิภพ ธงไชย แกนนำก็ยังคงยืนยันว่า "ถ้าเรายอมรับมาตรา 7 เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ และยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย ถ้าเดินตามมาตรา 7 จะบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยได้ยังไง" [19]

 

การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องต่อไป การปฏิเสธการเลือกตั้งจากพันธมิตรฯ และการบอยคอยการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น, ประสานกับ"ตุลาการภิวัฒน์" ที่ตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็น "โมฆะ", ฯลฯ และการสนธิกำลังของฝ่ายต่างๆ นำไปสู่ "กองทัพภิวัฒน์" ในที่สุด ในวันที่ 19 กันยายน 2549 [20]

           

2.1.3 กรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยโรค "ระบอบทักษิณ"

 

หากพิจารณาการวิเคราะห์หรือระบุปัญหา ขบวนการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" และขบวนการ "มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ" ในรอบแรกนั้น แม้ว่าพันธมิตรฯ จะพยายามนำประเด็นเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาเพิ่มในการปราศรัยบน เวทีหรือขยายขอบเขตประเด็นต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อดึงแนวร่วมที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรชาวบ้านที่มีการเคลื่อน ไหวมาก่อนหน้านี้ หรือเพียงเพื่อให้ความชอบธรรมกับการเข้าร่วมกับขบวนการที่พวกเขาเห็นว่า "ล้าหลัง" หรือลดความโดดเด่นของเรื่อง "พระราชอำนาจ" ลงมาบ้างในช่วงแรก [แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาเป็นประเด็นสำคัญเหมือนเดิม] แล้ว จะพบว่าเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่เหมือนกันแทบทุกประการ

 

หากจะทำการสรุปอย่างรวบรัด สาเหตุของโรค"ระบอบทักษิณ"นั้นอาจจะแยกออกเป็นชั้นๆ ได้ 3 ระดับ [21] แต่สัมพันธ์กันดังต่อไปนี้ ดังนี้

 

ระดับบุคคล

 

นักการเมืองเลว ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องผ่านการเลือกตั้ง

 

โดยเฉพาะ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ "เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยอหังกามะมังการ เย่อหยิ่ง จองหอง และไม่สนใจขนบประเพณีใดๆ" [ตามคำนิยามของสนธิ] ที่เข้ามาใช้โครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เปิด รวมตัวกับนักการเมือง "ชั่ว/อัปรีย์" ที่มีอยู่ก่อน ยึดกุมอำนาจรัฐ และพยายามสถาปนาระบอบทักษิณอันมีพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ เพื่อเข้ามาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข [22]

 

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่เห็นแก่เงิน (การซื้อขายเสียง) ผลประโยชน์เฉพาะหน้า (นโยบายประชานิยม) และขาดข้อมูลข่าวสาร (ไม่ฉลาด) ไม่มีสำนึกประชาธิปไตย โดยเฉพาะชาวชนบทที่ยากจน ที่ทำการเลือก "นักการเมืองชั่ว/อัปรีย์" เหล่านั้น

 

ระดับระบบ/โครงสร้าง

 

พฤติกรรมความชั่วร้ายรวมหมู่ของนักการเมืองและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ หรือในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นภายในระบบ "ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง" ที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองชั่วใช้อำนาจเงิน"ซื้อเสียง"จากผู้ลงคะแนนที่ยากจน เพื่อเป็นรัฐบาล มีอำนาจเหนือรัฐสภา ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เป็น "เผด็จการรัฐสภา" "ทรราชเสียงข้างมากในรัฐสภา" "ประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที" ฯลฯ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "ระบอบเลือกตั้งธิปไตย" [ไม่เท่ากับ/ตรงข้าม กับ ประชาธิปไตยที่แท้จริง]

 

ระดับวัฒนธรรม

 

"วัฒนธรรมการเมืองที่เอาเงินเป็นใหญ่" ซึ่งทุกคนล้วนเห็นแก่เงิน ที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำเพื่อเงิน ทำให้ปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจเลือกของผู้ลงคะแนน คือ "เงิน" ดังสำนวนที่ว่า "เงินไม่มากาไม่เป็น" หรือ "เงินซื้อได้ทุกอย่าง" ขณะที่นักการเมืองที่พยายามเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็มุ่งที่จะแสวงหา "เงิน" เท่านั้น, "วัฒนธรรมอุปถัมภ์" ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและผู้ลงคะแนนเสียง ที่ต้องตอบแทนเงินและการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยด้วยคะแนนเสียง โดยไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมจริยธรรม

 

ทั้งหมดนี้ ดำเนินไปภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า "ทุนนิยมสามานย์" ที่ใช้เงินเป็นใหญ่

 

2.1.4 กรอบโครงความคิดในการเยียวยารักษา

 

กล่าวได้ว่า ในการเคลื่อนไหวรอบแรก ยังไม่มีกรอบโครงการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิรูปการเมือง" ว่าเป็นอย่างไร [แม้จะมีการกล่าวถึงบ้างก็ตาม] แต่ก็ได้เสนอวิธีการ/ยุทธวิธีที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา คือ การเสนอให้มีการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ [ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง แต่ได้ "พระราชทาน" ให้กับประชาชน] ในการ "กำจัด" ระบอบทักษิณ" และสถาปนาระบบการเมืองใหม่ในนามของ "การปฏิรูปการเมือง" กล่าวคือ

 

การเคลื่อนไหวผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ "ถวายการคืนพระราชอำนาจ" เพื่อให้มี "การ พระราชทานผู้นำในการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อมุ่งจรรโลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์เป็น ประมุข" [23]

 

การเคลื่อนไหวในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หลังจากยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ที่เรียกร้องต้องการ "โค่นล้ม" ระบอบทักษิณต่อไป, "การปฏิรูปการเมือง" ก่อนการเลือกตั้งใหม่ ใช้วิธีการ "ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยพลัน" [24]

 

เมื่อแนวทางนี้ถูกปฏิเสธฯ พันธมิตรฯ จึงหวังพึ่ง "ตุลาการภิวัฒน์" [การสนับสนุนตุลาการในการจัดการกับระบอบทักษิณ], และ "กองทัพภิวัฒน์" ในการจัดการกับ "ตัวทักษิณ" [การเรียกร้องโดยตรงและโดยนัย และที่สำคัญ การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดข้ออ้างในการรัฐประหาร], และ "การปฏิรูปการเมือง" ภายใต้การนำของ "กองทัพภิวัฒน์" เพื่อกำจัด"รากเหง้า" หรือที่มาของ "ระบอบทักษิณ" [บทบาทของพวกเขาในการเสนอเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และต่อต้านฝ่ายต่อต้านในช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร] [25]

 

การกระทำทั้งหมดนี้เป็นการ "กู้ชาติ" ที่เกิด "วิกฤติที่สุดในโลก" เพื่อ "ในหลวง" ดังสโลแกนของพันธมิตรฯ ที่ว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง"

 

ติดตามอ่านตอนที่ 2

 

-----------------------------------------------------

 

หมายเหตุ บทความนี้เขียนเสร็จตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน จึงไม่ได้อ้างอิงข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง คือ การยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ในการวิเคราะห์

 

 

อ้างอิง:

 

[1] ดาวน์โหลดไฟล์เสียงได้ที่ URL mms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-5499.wma

 

[2] รายการนี้ออกอากาศต่อจากรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ซึ่งมีนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในวันนั้น นายคำนูณ ได้นำประเด็นนายโชติศักดิ อ่อนสูง มาวิจารณ์ และผู้ดำเนินรายทั้งสามคนได้นำประเด็นนี้มาสนทนาต่อในรายการ Metro life

 

ปกติรายการ metro life สามารถที่จะฟังย้อนหลังหรือดาวน์โหลดไฟล์เสียงได้ทางเวปไซต์ managerradio.com แต่หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก็ได้มีการเอาไฟล์เสียงในช่วงวันที่ 29, 30, เมษายน [และน่าจะ รวมถึงวันที่ 1 พฤษภาคม] 2551 ที่ได้มีการพูดในประเด็นนี้ในรายการออก ต่อมาได้ออกแถลงการณ์ "ขออภัยต่อกรณีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการจัดรายกา" และยุติการออกอากาศรายการตั้งวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 โดยอธิบายว่า เรื่องการปลุกระดมให้ทำร้ายนายโชติศักดิ์ "ไม่ได้เป็นนโยบายของทางสถานี" แต่ยืนยันว่า การกระทำที่จาบจ้วงและคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นเป็น "ขบวนการ" ต่างกรรมต่างวาระอย่างชัดเจน ดู "130 นักวิชาการ นักกิจกรรม ประณามสื่อเครือผู้จัดการ -วิทยุชุมชนเจ้าฟ้าออกแจงไม่ใช่นโยบาย" ประชาไท, 10 พฤษภาคม 2551

 

[3] ดูใน กองบรรณาธิการ, "พิภพ ธงไชย :ชายขอบความโกลาหล", แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 8 มิถุนายน 2551

 

แต่ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเฉพาะแถลงการณ์ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาข้อโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวรอบแรก คือกรณี แถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2549 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ในข้อ 3 ที่มีนัยของการเรียกร้องมาตรา 7 "นายกพระราชทาน" (ก่อนแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2549 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 ที่เรียกร้องมาตรา 7 อย่างตรงตัวนับเดือน) เมื่อถูกวิจารณ์ แกนนำพันธมิตรฯ จาก "ภาคประชาชน" คนเดียวกัน ก็ได้อธิบายอย่างน่าสนใจในเวทีการสัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 12 มีนาคม 2549 ว่า ข้อความดังกล่าว ถูกเขียน สอดไส้ โดยคนใกล้ชิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยที่พวกตนไม่ทราบมาก่อน รวมทั้งการพยายามที่จะปฏิเสธว่า การเคลื่อนไหวทางความคิดในเรื่องดังกล่าวผ่านสื่อในเครือผู้จัดการนั้นไม่มี ความเกี่ยวข้องกับใดๆ กับพันธมิตรฯ

 

[4] เรียบเรียงสรุปบางส่วนจาก David A. Snow, E. Burke Rochford, Jr., Steven K. Worden, Robert D. Benford , "Framing alignment processes, micromobilization, and movement participation",. American Sociological Review, Vol. 51, No. 4 (August, 1986), pp. 464-481

 

[5] มาจากข้อความภาษาอังกฤษว่า "schemata of interpretation" that enable individuals "to locate, perceive, identify, and label" occurrences within their life space and the world at large (p. 21)

 

[6] มาจากข้อความภาษาอังกฤษว่า "collective action frames are not merely aggregations of individual attitudes and perceptions but also the outcome of negotiating shared meaning"

[7] เนื่องจากผู้เขียนยังไม่สามารถหาคำแปล "Vocabularies" เป็นภาษาไทยที่ดีกว่านี้ จึงขอใช้คำ "กลุ่มคำศัพท์" ไปพลางก่อน ดังนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เมื่อใช้"กลุ่มคำศัพท์" จึงหมายถึง "Vocabularies" ในภาษาอังกฤษ

 

[8] เรียบเรียงสรุปเรื่อง "กรอบโครงความคิดหลัก" จาก Robert D. Benford and David A. Snow, "Framing Processes and Social Movements: An Overview and Assessment," Annual Review of Sociology, Vol. 26 (2000), pp. 611-639

 

[9] สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์, เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร: ถวายคืนพระราชอำนาจ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2549) หน้า 338

 

[10] เพิ่งอ้าง, หน้า 341

 

[11] "คำถวายสัตย์ปฏิญาณถวายคืนพระราชอำนาจแด่ในหลวง" ใน เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร: ถวายคืนพระราชอำนาจ, หน้า 341

 

[12] ข้อความบางส่วนจาก "ฎีกา 4 กุมภาพันธ์ 2549" ดูเนื้อหาคำฎีกาทั้งหมดได้ใน คำนูณ สิทธิสมาน, ปรากฏการณ์สนธิ: จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2549), หน้า 315-322 โดยในฎีกาดังกล่าวมีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับคำสัตย์ปฏิญาณ "ถวายคืนพระราชอำนาจแด่ในหลวง" ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2549

 

[13] กรรมการของพันธมิตรฯ ในการก่อตั้งครั้งแรก (อย่างเป็นทางการ) จำนวน 15 คนประกอบด้วย นายพิทยา ว่องกุล ประธาน ครป., นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป., นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (ก.ปพช.), น.ส. รสนา โตสิตระกูล เครือข่าย 30 องค์กรต้านคอร์รัปชั่น, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน, ตัวแทนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายปรีดา เตียสุวรรณ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อการปฏิรูปการเมือง, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการจากสถาบันราชภัฎนครราชสีมา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายศิริชัย ไม้งาม, นายเพียร ยงหนู จากองค์กรด้านแรงงาน, นายสุวิทย์ วัดหนู จากองค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย, น.ส. กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), นายวีรพล โสภา, นายอวยชัย วะทา

 

โดยมี นายระพี สาคริก, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ นายปราโมทย์ นาครทรรพ เป็นที่ปรึกษา

 

นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม "แนวร่วม" ที่ได้มีการประสานงานไว้อย่างเป็นทางการแล้ว 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่ม ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม มีนายสุเทพ อัตถากร เป็นแกนนำ (2) กลุ่มวุฒิสภาเพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งในขณะนั้นนั้นประกาศเข้าร่วมจำนวน 9 คน เช่น น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายการุณ ใสงาม และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (3) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการปฏิรูปการเมือง นำโดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (4) กลุ่มเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในต่างจังหวัดซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกในการ ประสานงาน

 

ดู "เปิดตัวแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ประชาไท, 10 กุมภาพันธ์ 2549

 

[14] อ้างจาก "พิภพ ธงไชย: "การใช้วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจเป็นการถอยหลังเข้าคลอง"," ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม, 2549), หน้า 6

 

[15] "สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ," ประชาไท, 7 กุมภาพันธ์ 2549

 

[16] "สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ," เพิ่งอ้าง

 

[17] เพิ่งอ้าง

 

[18] แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 6/2549 นัดหมายชุมนุมใหญ่แสดงตนขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ปลดชนวนวิกฤตของแผ่นดิน เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2, 23 มีนาคม 2549 เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กรุงเทพมหานคร ดูใน "แถลงการณ์ "พันธมิตรฯ" ฉบับ บันทึกไว้ในแผ่นดิน," ประชาไท, 23 มีนาคม 2549

 

[19] กองบรรณาธิการ "พิภพ ธงไชย: พันธมิตรหลัง'ม.7'," แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 30 เมษายน 2549

 

[20] ทั้งนี้ ข้อความที่สรุปรวบยอดอาการของโรค "ระบอบทักษิณ" ที่สั้นและกระชับ [แต่มีความรุนแรงทางด้านภาษาน้อยกว่าคำปราศรัยบนเวที] และครอบคลุมใจความที่สุด คือ แถลงการณ์คณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 1

 

[21] ความคิดเรื่องชั้นของโรค "ระบอบทักษิณ" นี้ผู้เขียนหยิบยืมมาจากวิธีการทำความเข้าใจ "ความรุนแรง" ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดูตัวอย่างการใช้ชั้นความรุนแรงในการวินิจฉัยความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ได้ใน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.), รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ: เอาชนะความรุนแรงด้วยความสมานฉันท์ (กรุงเทพฯ: กอส, 2549)

 

[22] แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 10/2549 "สามัคคีประชาชน ต่อต้านรัฐบาลเถื่อน" 19 กรกฎาคม 2549

 

[23] "คำถวายสัตย์ปฏิญาณถวายคืนพระรายอำนาจแด่ในหลวง" ใน เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร: ถวายคืนพระราชอำนาจ, หน้า 341

 

[24] แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 6/2549 นัดหมายชุมนุมใหญ่แสดงตนขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ปลดชนวนวิกฤตของแผ่นดิน เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2, 23 มีนาคม 2549 เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

 

[25] กล่าว ได้ว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2550 สะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมของกรอบโครงความคิดวิเคราะห์/วินิจฉัยของพันธมิตรฯ และมาตรการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญนั้น แสดงออกซึ่งรูปธรรมของแนวทางการเยียวยารักษาซึ่งมาจากการกรอบวิเคราะห์นั้น แม้จะไม่เต็มรูปแบบก็ตามเนื่องจากมีพลังอื่นๆ เข้ามาคัดค้านต่อต้าน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท