ป.ป.ช.แจงคดี "7 ตุลา" ล่าช้า เหตุผู้เกี่ยวข้องเลื่อนให้ปากคำ- ไม่แน่ใจคดี "SMS นายกฯ" มีอำนาจหรือไม่

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม ถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีสลายการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่า ได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แล้ว และจะนำไปศึกษาประกอบกับเบาะแสอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อาจจะเชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาให้ข้อมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่นๆ คาดว่าจะเชิญมาชี้แจงได้ภายในต้นเดือนมกราคมนี้


"ป.ป.ช.ไม่มีอะไรหนักใจ เพราะเป็นการทำตามหน้าที่ แม้ ผบ.ตร.จะมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ แต่ยอมรับว่าคดีนี้มีความล่าช้า เพราะเมื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่ถูกขอเลื่อนมาตลอด ยืนยันว่าไม่เลือกปฏิบัติว่าเร่งทำคดีในส่วนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพียงแต่ที่ผ่านมามีพันธมิตรฯ มาร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหลายเรื่อง ซึ่งก็ทำไปตามขั้นตอน" นายวิชา กล่าว
 

นายวิชา ยังกล่าวถึงการตรวจสอบกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่งเอสเอ็มเอส ถึงประชาชน ว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า นายกรัฐมนตรีได้รับผลประโยชน์ใดที่จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 หรือ 103 หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เคยมีคดีนายกรัฐมนตรีรับผลประโยชน์มีเพียงเรื่องเดียว คือ ที่ดินรัชดาฯ แต่เอสเอ็มเอส เป็นคนละเรื่อง จะเหมารวมไม่ได้ ซึ่งการตรวจสอบจะต้องดูข้อกฎหมายว่าจะเข้าข่ายที่ ป.ป.ช. จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการได้จะตรวจสอบอย่างรวดเร็ว
 

นายวิชากล่าวว่า ส่วนการที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คิดว่ากรณีดังกล่าว ใครไม่ตอบรับก็แล้วไป เพราะส่วนใหญ่คนทั่วไปจะได้รับกันเป็นประจำ โดยเฉพาะการโฆษณาและส่งข้อความผ่านมือถือ อย่างตนได้รับบ่อยมาก ก็ลบทิ้งหมด ต้องเข้าใจว่าเป็นการติดต่อสมัยใหม่ ส่วนใครจะคิดว่าเป็นการละเมิดส่วนบุคคล ก็เป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่า แต่สามารถฟ้องร้องเป็นรายบุคคลได้
 

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมการบังคับใช้กฎหมายตลอดปี 2551 ที่ผ่านมา ว่า มีการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องทางการเมืองที่หมิ่นเหม่ และเกินกว่าขอบเขตที่เหมาะสม ขณะที่กติกาของระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ผลพวงจากการไม่เคารพกติกา ทำให้เกิดการปิดถนนเรียกร้องทางการเมืองเพิ่มขึ้นทุกวันจนเกิดปัญหา เพราะกระทำการเกินขอบเขตและละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งหากการกระทำนั้นเป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนเองจะยิ่งเป็นปัญหา ขณะเดียวกันการพูดเรื่องต่างๆ ก็ต้องมีขอบเขต ถ้าการใช้สิทธิใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาหรือละเมิดให้ร้ายผู้อื่น จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
 

นายปริญญา กล่าวอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้หมายความถึงการปราบปรามเสมอไป แต่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างยุติธรรมและเสมอภาค ที่สุดแล้วศาลและกระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นผู้ชี้ขาด ในระบอบประชาธิปไตยการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการในการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้มาตรการที่กระทบกับสิทธิของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ผลพวงจากการใช้สิทธิที่ไม่เคารพกติกา ในปีใหม่นี้ศาลจะทำงานมากขึ้น โดยจะมีคดีความที่เกี่ยวกับใช้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น สิ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของศาลได้คือ ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเสมอภาค ไม่คำนึงว่าฝ่ายใดเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลจะต้องไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือกระบวนการยุติธรรม ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไป ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้


"ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ พฤติกรรมทำตามกัน เพราะหากฝ่ายหนึ่งยึดสนามบินได้ คงมีคนถามว่าหากอีกฝ่ายจะทำบ้าง จะทำได้หรือไม่ เรื่องดังกล่าวจะฝ่ายใดก็ทำไม่ได้ เพราะระบอบประชาธิปไตย คือการยึดถือกติกาและไม่ใช้กำลัง ส่วนจะเป็นเรื่องถูกผิดต้องว่ากันภายหลัง ประชาธิปไตยต้องไม่ใช้กำลัง ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยจะกลายเป็นการฆ่ากัน ทั้งนี้ การชุมนุมเรียกร้องสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและเคารพกฎหมาย ถ้ายึดถือข้อนี้ได้ จะอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างทางการเมือง" นายปริญญากล่าว



 

………………………..
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท