Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม


ระยะ 1-2 เดือนมานี้ ข่าวคราวการทุจริตการก่อสร้างฝายแม้วในพื้นที่ภาคเหนือปรากฏออกสู่สาธารณะอยู่เป็นระยะ ประเด็นสำคัญในการทุจริตดังกล่าวเป็นผลมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีโครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำหรือฝายแม้วจำนวน 1.6 แสนแห่ง งบประมาณดำเนินการ 770 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริที่ให้ดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตโลกร้อน แต่ที่ผ่านมาถูกหลายภาคส่วนร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลของการจ้างดำเนินการทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์ การจ้างแรงงาน และการโอนงบประมาณก่อสร้างครึ่งหนึ่งคืนส่วนกลาง ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ต่อพวกนักการเมือง โดยล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังดำเนินการตรวจสอบในความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ไปแล้ว


สำหรับโครงการก่อสร้างฝายแม้วจำนวน 1.6 แสนแห่งดังกล่าว นอกจากประเด็นการทุจริตที่ฉาวโฉ่ไปทั้งเมืองแล้ว โจทย์สำคัญข้อหนึ่งที่ดูเหมือนว่าส่วนราชการที่รับผิดชอบไม่เคยตอบคำถามและไม่เคยนำมาพิจารณาคือระบบการจัดการน้ำโดยการสร้างฝายแม้วนั้น ที่ผ่านมาชุมชนท้องถิ่นเองก็มีศักยภาพในการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว อีกทั้งในกระบวนการดำเนินการก็ง่ายๆ แทบไม่ต้องใช้ต้นทุนที่เป็นตัวเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สามารถหาได้ในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งไม้ไผ่ หิน ทราย และที่สำคัญการจัดการโดยชุมชนยังสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ภูมิปัญญา โดยการนำกิ่งไม้ ไม้ไผ่มาปักกั้นลำน้ำ น้ำสามารถไหลซึมผ่านไปได้ อีกทั้งยังไม่เกิดตะกอนดินบริเวณหน้าฝายด้วย ซึ่งต่างจากของราชการที่เทคอนกรีตขวางกั้นลำน้ำ


นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่งในการดำเนินการโดยภาครัฐที่แต่ละโครงการที่ดำเนินไปนั้น สิ่งที่มักตามมาเสมอคือข่าวการทุจริต และการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลดำเนินการไปนั้นมักไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ควรจะเป็น


ล่าสุด อีกหนึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือที่สาธารณะชนต้องช่วยกันจับตาคือ "โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง จ.เชียงใหม่"


โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง จ.เชียงใหม่ ในที่นี้คือการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง ครบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ คือ อ.แม่แตง อ.เชียงดาว และ อ.เวียงแหง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 6 โครงการ คือ 1.อ่างเก็บน้ำบ้านบงใหม่ ต. เมืองนะ อ. เชียงดาว 2.อ่างเก็บน้ำห้วยเอิ่งจ๋ง ต. เปียงหลวง อ. เวียงแหง 3.อ่างเก็บน้ำดอยสามหมื่น ต. เมืองแหง อ. เวียงแหง 4.อ่างเก็บน้ำดอยสามหมื่นน้อย ต. เมืองแหง อ. เวียงแหง 5.อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ก๊ะ ต. แม่แตง อ. แม่แตง และ 6.อ่างเก็บน้ำแม่มาลัย ต. สันมหาพาน อ. แม่แตง ทั้ง 6 โครงการมีพื้นที่ชลประทานรวม 2,560 ไร่ รวมความจุน้ำ 1.34 ล้านลูกบาศก์เมตร


ที่สำคัญ แม้ 6 โครงการนี้จะแล้วเสร็จไปแล้ว ทว่ากรมชลประทานต้องการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่แตงต่อไปอีก โดยอ้างเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และแก้ปัญหาด้านอุทกภัย รวมทั้งต้องการลดปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำ ดังนั้นจึงเห็นควรสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 10 แห่ง ในพื้นที่ 3 อำเภอข้างต้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวคณะนักวิชาการจาก ม.เชียงใหม่ และ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำแม่แตง รายงานความก้าวหน้าฉบับที่1 แล้วเสร็จในเดือน ม.. 2551 ที่ผ่านมา


โครงการอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพพร้อมดำเนินการก่อสร้างจำนวน 10 แห่งดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย 1.เขื่อนแม่แตง ต.แสนไห อ.เวียงแหง 2.ห้วยทรายแดง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง 3.เขื่อนห้วยทราย ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง 4.เขื่อนห้วยห้องจุ๊ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง 5.เขื่อนห้วยหก ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง 6.กึ๊ด ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง 7.เขื่อนแม่หาด ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง 8.เขื่อนแม่แตะ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง 9.เขื่อนแม่คอง ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว และ 10.เขื่อนแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง


อย่างไรก็ตาม ภายหลังโครงการดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาว อ.เวียงแหง ที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 7 แห่ง ต่างวิตกในประเด็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำน้ำมาใช้ในกิจการเหมืองแร่ลิกไนต์ที่ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลักดันอย่างหนักซึ่งอาจมีปัญหาการปนเปื้อนตามมา


นายพรมมา ใหม่ดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง กล่าวว่า โครงการนี้หากมีการดำเนินการจริงตามแผนที่จะสร้างใน อ.เวียงแหง เพิ่มขึ้นมาอีก 7 แห่ง ย่อมมีผลกระทบต่อผืนป่า สิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ และนั่นก็จะส่งผลกระทบไปยังวิถีชีวิตชาวบ้าน การทำมาหากินต่างๆ ไปด้วย อีกทั้งที่ผ่านมานักวิชาการที่เข้ามาทำการศึกษาผลกระทบต่างๆ ก็พยายามหว่านล้อม พูดจาให้ชาวบ้านหลงเชื่อว่าหากมีอ่างเก็บน้ำแล้วชาวบ้านจะได้ผลประโยชน์อีกด้วย


"ที่ผ่านมานักวิชาการ ม.เชียงใหม่ จากคณะวิศวกรรมโทรศัพท์เข้ามาว่าจะขอประชุมกับชาวบ้านเรื่องสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาก็มาเองโดยไม่ได้บอกก็หลายครั้ง เข้ามาวัดระดับน้ำในห้วย ผมก็บอกไปว่ามานั้นมาได้ แต่ชาวบ้านจะคิดเห็นอย่างไรก็ให้ว่าไปตามนั้น แต่ต่อมาก็พบว่าเขาพยายามโน้มน้าวจิตใจชาวบ้าน หว่านล้อมให้ชาวบ้านเชื่อว่าอ่างเก็บน้ำมีประโยชน์ แต่ชาวบ้านที่นี่เขามีประสบการณ์เรื่องการต่อสู้เรื่องเหมืองลิกไนต์มาบ้างแล้ว ชาวบ้านวิตกโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จึงไม่หลงเชื่อ และที่สำคัญการจะสร้างอ่างหรือไม่นั้นต้องมีการทำประชาคมทั้งอำเภอด้วย" นายพรมมา กล่าว


ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านห้วยไคร้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการเปิดเหมืองลิกไนต์ที่ กฟผ.พยายามผลักดันอยู่แน่นอน เพราะที่ผ่านมาช่วงที่ยังไม่มีโครงการเปิดเหมืองลิกไนต์ไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานใดจะเข้ามาสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และที่สำคัญพื้นที่ อ.เวียงแหง ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำแม่แตงน้ำท่าก็ไม่ได้ขาดแคลน และมิได้แห้งแล้งจนเข้าขั้นวิกฤตที่จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านที่นี่มีระบบการจัดการน้ำด้วยเหมืองฝายมายาวนานโดยไม่จำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำแต่อย่างใด


นายณัฐณิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาว อ.เวียงแหง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเท่าที่ได้หารือกับชาวบ้านพบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หลายส่วนวิตกว่าอ่างเก็บน้ำเหล่านี้จะไปตอบสนองเหมืองลิกไนต์เท่านั้น ส่วนเหตุผลที่กรมชลประทานใช้ในการอ้างเพื่อสร้างนั้นตนเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาด้านอุทกภัย ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ต้นน้ำ แต่ต้องไปพิจารณาการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ทั้งการขุดลอก การแก้ปัญหาการบุกรุกริมฝั่งน้ำ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น


"หากมีการสร้างขึ้นมาจริงๆ ผืนป่าเวียงแหงกว่า 20,000 ไร่ต้องได้รับผลกระทบ ที่สำคัญคือพื้นที่เวียงแหงเป็นเขตต้นน้ำแม่แตง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาต้องมาสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตต้นน้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ทำมาตลอด โดยเฉพาะการทำฝายแม้ว" นายณัฐณิติ กล่าว


นายนิคม พุทธา โครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน กล่าวว่า การยกเหตุผลว่าเขื่อนคือเครื่องมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้นไม่ใช่คำตอบแท้จริงเสมอไป เพราะเขื่อนที่ดีต้องควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่ดีด้วยเช่นกัน หากน้ำมามากเขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำลงไปท่วมอยู่ดี เพราะเกินกำลังที่จะเก็บกักได้ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เขื่อนถูกปกปิดมาเสมอ คือปริมาณตะกอนที่สะสมภายในเขื่อน จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ยิ่งปัจจุบันมีการแปลงสภาพการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อมูลเรื่องการตกตะกอนของเขื่อน ณ วันที่ศึกษา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป


"ผมอยากเห็นการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วมเท่านั้น ต้องคำนึงถึงปัญหาน้ำแล้งด้วย เพราะเชียงใหม่กำลังขยายตัวไปการเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมืองอุตสาหกรรมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังทิศทางการจัดการน้ำ และการจัดสรรน้ำได้มุ่งตอบสนองการเติบโตทางภาคธุรกิจ จนละเลยภาคเกษตรและประชาชนผู้ใช้น้ำจำนวนมากไป" นายนิคม กล่าว


นายนิคม กล่าวเสริมว่า กรมชลประทานต้องกลับไปศึกษารายละเอียด และตรวจสอบว่าแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่วางไว้ ไปซ้ำซ้อนกับแผนของหน่วยงานอื่นหรือไม่ เพราะสถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่แตง อ.เวียงแหง นั้นเป็นพื้นที่เดียวกันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้เคยเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเพื่อรองรับการทำเหมืองลิกไนต์เวียงแหงในอนาคตไว้แล้ว หากจะสร้างเขื่อนขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องระบุให้ชัดว่าเป็นแหล่งน้ำที่มุ่งตอบสนองกิจกรรมอะไรกันแน่


กรณีที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าแนวคิดการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีฝายแม้ว รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมากดำเนินไปแบบสวนทางกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น และแม้ว่าข้ออ้างเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้วนั้น เพียงผิวเผินอาจฟังดูดีแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเหตุผลเหล่านั้นแท้จริงเป็นเช่นไรประชาชนไม่อาจทราบได้


ว่าไปแล้ว บทเรียนเช่นนี้เกิดขึ้นมานักต่อนัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหากว่าตราบใดที่แนวคิดการบริหารจัดการของรัฐยังคงดำเนินไปเช่นลักษณะนี้ การลุกฮือขึ้นเรียกร้องทวงถามสิทธิของชุมชนก็ยังคงจะดำเนินไปเรื่อยๆ เช่นกัน.



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net