Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางอากาศตอนเช้าที่หนาวเย็นบนยอดดอยที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,220 เมตร "เยาวชนกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง" จากหมู่บ้านต่างๆ ได้ฝ่าความหนาวทยอยกันมาร่วมกิจกรรม "โครงการค่ายเยาวชนเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม" เมื่อวันที่ 19-21 ธ.ค. 2551 ที่ผ่านมา ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านขุนแตะ ม. 5 ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


 


ทั้งนี้ก่อนที่จะมีกิจกรรมครั้งนี้เยาวชนในพื้นที่ได้มีการพยายามจัดอย่างต่อเนื่องทุกปีแม้จะมีปัญหาอุปสรรคในการจัดแต่ก็เป็นปัญหาที่ท้าทายทั้งผู้เข้าร่วมและผู้จัดก็ตามแต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้ด้วยดีทุกครั้งและวัตถุประสงค์หลักในการจัดครั้งนี้คือ เพื่อให้เยาวชนได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์สถานการณ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันในกลุ่มฯ ในระยะยาว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเป็นมาของกลุ่มอนุรักษ์ฯ และองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเยาวชนจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า


 



 



 



 


วิถีชีวิตของชาวจอมทองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ในวันแรกของการจัดกิจกรรมได้มีการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง ซึ่งวิทยากรคือ คุณพงษ์ชัย ชุลีกรเมตตา อดีตประธานกลุ่มฯ, คุณผจญ ชาญชาติชาย ประธานกลุ่มฯ คนปัจจุบัน, คุณสุนันท์ ตั้งใจเจริญกุล ผู้ประสานงานกลุ่มฯ ปัจจุบัน, คุณสุริยา ศรีประเสริฐ ผู้ประสานงาน เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และ พาตี่ปอบูยู คำเงินใจกล้า โดยการพูดคุยวิทยากรได้ย้อนกลับไปให้เห็นภาพในวิถีชีวิตของชาวจอมทองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันดังนี้


 


ยุคที่ 1 เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมาชุมชนบนพื้นที่สูง อ.จอมทอง มีทั้งเผ่าม้ง และปกาเกอะญอ ต่างก็ดำรงชีวิตตามประสานคนป่าคนเขา โดยเฉพาะชนเผ่า ปกาเกอะญอ เป็นชนเผ่ามีความเชื่อว่าธรรมชาติมีเจ้าของหากผู้ใดละเมิดหรือลบหลู่ ทำลายธรรมชาตินั้นจะลงโทษไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม คนเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องกิน ,ใช้,อนุรักษ์ฯ ชีวิตเดิม ๆ ของชุมชนบนพื้นที่สูง อ. จอมทอง ใช้ชีวิตตามความพอเพียรของทรัพยากร ส่วนใหญ่ปกาเกอะญอจะทำไร่หมุนเวียน มีเมล็ดพันธุ์ เป็นของตนเองหากเหลือใช้จะแบ่งกันใช้หากเหลือกินจะแบ่งกัน ชุมชนจะช่วยเหลือเกื้อกูกันไม่แบ่งชนชั้นวรรณะหากจะทำอะไรก็ช่วยกันจนกว่าจะแล้วเสร็จ นอกจากจะทำไร่หมุนเวียนแล้วส่วนหนึ่งก็ทำนาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้แรงงาน และมีการทำสวนปลูกพืชพันธุ์อาหารไว้กินเองเมื่อเจ็บป่วยก็หา สมุนไพรในป่ามารักษาชุมชนจะมีภูมิปัญญาความรู้ในการจัดสานไว้ใช้ ทอผ้าไว้นุ่น มีการตีมีด ตีขวานไว้ใช้ ทำปืนไว้ล่าสัตว์กินในชุมชน ชุมชนจะไม่พึ่งพาสิ่งของภายนอกจะไม่ใช้เงินนอกจากจะแบ่งกันเท่านั้น


 


ชุมชนจะมีความเชื่อเรื่องเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขาเคารพธรรมชาติ ถ้าหากจะทำอะไรก็แล้วแต่จะบอกกล่าวให้เจ้าที่ไว้ก่อนและจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ตามฤดูการผลิต หรือในชีวิตประจำวันของชุมชนคนในชุมชนจะให้เกียรติซึ่งกันและกันจะไม่มีการดูถูกดูหมิ่นเยียบหยามไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรีหรือผู้ใหญ่ ไม่มีโรงเรียน สอนกันด้วยคำสอน สุภาษิต นิทาน


 


ยุคที่ 2 เมื่อมีคนภายนอกเข้ามาในชุมชนก็เอาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาทำชุมชนเริ่มที่จะรับสิ่งต่างๆ ที่มาด้วยไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปลา อาหาร สิ่งของใช้ส่วนตัว มีเทคโนโลยีเข้ามาเริ่มรู้จักกับคนภายนอก ค้าขาย ซึ่งกันและกัน ชุมชนเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีเงินเข้ามา ชุมชนเริ่มใช้เงินเป็น และมาพร้อมกับสิ่งเสพติด (ฝิ่น) คนเริ่มเผาป่าทำไร่ฝิ่นได้ฝิ่นแล้ว สูบหรือขายหรือแลกเปลี่ยน ชุมชนเริ่มคิดเอาสิ่งใหม่ ๆ และเห็นแก่ตัวเองมากขึ้นปัญหาต่างๆ ก็ตามมา ส่วนรัฐบาลเข้ามาสำรวจข้อมูลต่างๆ ตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน ก่อสร้างโรงเรียน ก่อสร้างน้ำประปาและสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม สนับสนุนเมล็ดพันธ์ข้างนอกเช่น กะหล่ำปลี กาแฟ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาวมากมายพร้อมกับเอาสารเคมีและเครื่องมือการเกษตรต่างๆ เข้ามาด้วย "ว่านี่แหละการพัฒนา" เพื่อที่จะปราบปรามฝิ่นและกำจัดพื้นที่ทำกินอย่างไร่หมุนเวียนและลดการใช้พื้นที่ของชุมชนมาในรูปแบบของโครงการต่างๆ


 


แต่ท้ายสุดแล้ว ไม่ไปตามที่ฝันไว้เลยเพราะชุมชนมีเงินแล้วเป็นใหญ่ ดังนั้นชุมชนต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวเยอะๆ และแผ้วถางป่าให้กว้างๆ เพราะทำซ้ำที่เดิมดินไม่ดีจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี และจะต้องใส่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันจะต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชมากๆ และหลายๆ ยีห้อ ศัตรูพืชถึงจะตาย แต่สิ่งที่กระทำอยู่นั้นไม่เห็นผลกระทบหรอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปแล้วมหาศาล ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ เริ่มเสื่อมโทรม น้ำที่เคยไหลลงห้วยถูกใช้ในสวนโดยท่อน้ำและมีสปริงเกอร์ในช่วงหน้าแล้ง แต่ก็มีปัญหาตามมา เกิดความขัดแย้งกับคนในต้นน้ำและคนท้ายน้ำมีข้อกล่าวหาซึ่งกันและกันเช่น ชาวเขาทำลาย ใช้สารเคมีลงสู่แม่น้ำ ตราบจนถึงทุกวันนี้แต่ก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น "ใครคือต้นเหตุ"


 


ยุคที่ 3 ปี 2535 ถึงปัจจุบันมี กระแสนโยบายของรัฐบาลให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือเพิ่มพื้นที่ป่าโดยให้หน่วยงานราชการเป็นผู้กำกับดูแล มีชุมชนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มากทั้งชีวิต สิทธิ โดยเฉพาะคนที่ทำการเกษตรและคนที่อยู่ในเขตป่าต่าง ๆ จากกรณีหมู่บ้านห้วยปูลิง ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหา บุกรุกแผ้วถางป่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จำนวน 35 คน และก็ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่ คุกคามจับกุมชาวบ้านมาโดยตลอด ดังนั้นจึงมีคณะครูอาจารย์ที่เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี 2537 ร่วมเดินขบวนกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)โดยเริ่มจาก ที่มีคำขวัญว่า "เร่งออก พ..บ.ป่าชุมชน หยุดไล่คนออกจากป่า" เรื่อยมา จนถึงการเข้าร่วมชุมนุมใหญ่กับสมัชชาคนจน ตั้งแต่ปี 39 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน สาเหตุที่ต้องเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ เนื่องจากทุกกลุ่มที่เข้าร่วมด้วยกันต่างก็มีสาเหตุปัญหาเหมือนกันนั่นคือ "นโยบายรัฐ"


 


 


ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ในเรื่องขององค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน


ผ่านวันแรกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว ในวันที่สองนี้กลุ่มเยาวชนที่ต้องแบ่งกลุ่มย่อยและลงมือปฏิบัติเรียนรู้ในเรื่องขององค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนและชนเผ่าที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ โดยให้เยาวชนผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มย่อย 4 กลุ่มตามความสนใจของแต่ละคนส่วนผู้หญิงก็แยกเป็นอีกกลุ่มต่างหากเนื่องจากต้องไปเรียนกับวิทยากรที่อยู่ห่างออกไปหน่อยหนึ่ง โดยช่วงนี้ก็จะมีวิทยากรผู้รู้แต่ละกลุ่มจะคอยชี้แนะอยู่ตลอด การสานก็จะเริ่มตั้งแต่ ชอซึ (กุ่มใส่ไก่), ก๊ะระบ๊ะ (ใบวีข้าว), เส่อเกวาะ (ก๋วย) และหนี่แหมะ (ลายกระซิ่น) โดยช่วงนี้จะเป็นการปล่อยให้แต่ละคนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ให้เป็นการผ่อนคลายไปในตัวโดยแต่ละกลุ่มก็จะมีผู้รู้หรือวิทยากรดูแลอย่างใกล้ชิด


 


หลังจากผ่านการฝึกปฏิบัติจริงก็จะให้แต่ละคน ที่เป็นตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอผลงานของตัวเอง ตั้งแต่ลายสานความยากง่าย ของแต่ละลายโดยส่วนใหญ่แล้วในเรื่องของการสานความยากหรือง่ายจึงคลายกันทั้งสามเนื่องจากผู้รู้ได้เตรียมอุปกรณ์ไว้ครบหมดแล้ว แต่ที่ยากน่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิงเพราะต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างแม้จะมีการเตรียมไว้แล้วก็ตามแต่ต้องมีความละเอียดในการที่จะให้ลายกระโปรง (หนี่แหมะ) ต้องมีความประณีตตามแบบฝีมือของผู้หญิงแล้วต้องดูสวยงาม และแต่ละกลุ่มก็รายงานบอกชื่อ ครูผู้สอนคือใครและสุดท้ายสิ่งที่แต่ละคนได้มากที่สุดคือความภูมิใจของแต่ละคน


 


 


เยาวชนปกาเกอะญอรุ่นใหม่ ต้องกล้าที่จะเผชิญโลกภายนอกโดยไม่ลืมรากเหง้า


ในวันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรม จะเป็นการเรียนรู้ของเยาวชนในแต่ละด้านก็จะแบ่งกลุ่มกัน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะลงพื้นที่บวชป่าของชุมชนเพื่อการศึกษาความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า กลุ่มที่สองจะลงพื้นที่เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของชุมชนภายใต้การพัฒนาที่หลากหลายในชุมชนและกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการฯ (ฟาร์มตัวอย่าง)


 


โดยช่วงสรุปแต่ละกลุ่มก็จะมีจุดเด่นของการเก็บเกี่ยวจากการลงศึกษาแต่ละด้าน เช่นกลุ่มแรกที่นำเสนอก็จะเริ่มจากการวางผังชุมชนด้วยการจัดระเบียบชุมชนที่เป็นรูปแบบใหม่ที่มีซอยเข้าถึงบ้านได้อย่างสะดวก มีการนำอาหารจากป่ามาปลูกเป็นผักสานครัว ได้เห็นพื้นที่การจัดการส่วนตัว (พื้นที่คุ้มครอง) การสร้างบ้านที่เป็นบ้านกึ่งถาวรและถาวรมากขึ้นและในการจัดระเบียบชุมชน (โครงสร้างแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายปกครอง,วัฒนธรรม,การศึกษา,ป่าชุมชน, สตรี, เยาวชนเป็นต้นและสุดท้ายคือกฎระเบียบหมู่บ้านที่ครอบคลุมทุกด้านในการอยู่ร่วมกันในชุมชน กลุ่มถัดมาได้สรุปถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างเช่นการปลูกพืชที่หลากหลายในแปลง ในพื้นที่จำกัดที่มีทั้งบ่อปลา โรงอบชาหม่อน การปลูกพืชผักผัดปลอดสาร สานสมุนไพร โรงเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงในบ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างรายได้คนที่มาทำงาน


 


ส่วนกลุ่มสุดท้ายได้นำเสนอรูปแบบการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างน่าสนใจหลังจากลงพื้นที่บวชป่าได้นำเสนอและได้เปรียบเทียบภาพการจัดการและความหลากหลายในพื้นที่ว่าเป็นป่าผู้หญิงสาเหตุคือ ป่าดงดิบ "เก่อเนอหมื่อ.. เป็นภาษาปกาเกอะญอ..โดยมีการแปลที่ฟังดูมีเหตุมีผลในตัวของคำพูด คำว่า.. เก่อเนอ คือ ป่าดงดิบ.. ส่วนคำว่า.. หมื่อ คือผู้หญิง นั่นเอง"ยังมีรายละเอียดด้วยว่า ที่เป็นป่ผู้หญิงเพราะมีความหลากหลายทั้ง พันธุ์พืช เช่นสมุนไพร ต้นไม้หายากนานาชนิด ส่วนพันธุ์สัตว์แม้จะไม่เห็นกับตาแต่สามารถสังเกตจาก รอยเท้าสัตว์ป่าหายาก เสียงนก หนู ร้อง เห็นลำห้วยใสหลายลงสู่พื้นที่ทำกิน เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งหมด เหมือนกับผู้หญิงชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่มีความละเอียดอ่อนในฐานะเจ้าของบ้าน เป็นผู้ดูแลทุกอย่างในบ้าน เนื่องจากในบ้านผู้หญิงจะมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย ส่วนสาเหตุที่ต้องเปรียบป่าระหว่าผู้หญิงกับผู้ชายนั้น เยาวชนได้สรูปว่า ป่าเบญจพรรณและป่าแพะ เป็นป่าของผู้ชายเพราะความหลากหลายน้อยกว่าป่าดงดิบนั่นเอง


 


หลังจากการนำเสนอเสร็จก็จะเป็นการให้ความรู้ด้านวิชาการที่เหมือนเป็นการสรูปภาพรวามของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ โดยวิทยากรที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับเยาวชนคือ ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร อำนวยการภูมิภาค เครือข่ายภูมิปัญญาชน เผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูง โดยวิทยากรได้เริ่มจากเป็นการชี้ให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงความเป็นเยาวชนดังนี้


 


1.หลายสิบปีที่ผ่านมากลุ่มเยาวชนเป็นผู้มีความสามารถมีความรู้ความกล้าที่จะเผชิญกับโลกภายนอกทำให้มีทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น


 


2.ในขณะที่มีทางเลือกมากขึ้นนั้นเยาวชนเองต้องเป็นคนคนที่ดำเนินชีวิตทั้งสองวัฒนธรรมทั้งวัฒนธรรมเก่า/ใหม่ภายใต้วิวัฒนาการของโลกปัจจุบันโดยการประยุกต์องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่าในการแสวงหาทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบ


 


3.สาเหตุที่ต้องประยุกต์การศึกษาเนื่องจากการศึกที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกลายเป็นศูนย์รวมความรู้ของเด็กๆตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้การซึมซับองค์ความรู้ วิถีชีวิตจริง (โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน) ของตนจากความเป็นพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่น้อยกว่าในโรงเรียน


 


4.เมื่อการซึมซับน้อยลงแล้วจึงนำมาซึ่งเยาวชนปัจจุบันใช้บันทึกด้วยตัวหนังสือมากกว่าความจดจำเพราะผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อก่อนใช้ความจำในการดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ผ่านพิธีกรรมในการเชื่อมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือบางทีที่เราเรียกว่า เป็นขวัญของเราเป็นการปฏิบัติที่มาจากการซึมซับจากพ่อแม่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วความจำจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากปัจจุบันเป็นการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ความจำที่ซับจากผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อก่อนอธิบายออกมาเป็น "บททา" หรือสุภาษิตที่เป็นทั้งวิชาการและปรัชญาในตัว


 


สุดท้ายวิทยากรได้ฝากประเด็นเป็นบททาและสุภาษิตให้กับเยาวชน โดยมีเนื้อหาดังนี้ บททาหรือสุภาษิต ของปกาเกอะญอเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และวาทะกรรม ที่ถือปฏิบัติในชนเผ่ามานานสามารถนำมาใช้ได้ทุกสถานการณ์เป็นทั้งการกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิมในขณะเดียวกันยังเป็นการให้บันเทิงเพื่อผ่อนคลายในยามเศร้าโศก และในการดูแลรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เป็นต้น ดังนั้นผู้หญิงผู้ชายต้องซึมซับ ต้องเชื่อฟัง และใส่ใจกับรายละเอียดการดำเนินชีวิตที่มาจากแม่ ต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อในการทำงานอย่างละเอียดเช่นกัน (แม่ตายให้กรีดหู พ่อตายให้กรีดลิ้น)


 


ช่วงท้ายของการจัดค่ายครั้งนี้เป็นผูกขวัญให้กับทุกคนที่มาร่วมโดยผู้นำชุมชนและผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมงานร่วมเป็นวิทยากรมาผูกข้อมือให้สร้างความสัมพันธ์ให้กันและกัน ต่อด้วยการมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับเยาวชน และสุดท้ายเป็นการกล่าวพิธีปิดอย่างเป็นทางการจากผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านขุนแตะ และจบลงด้วยการถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net