Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม สัมภาษณ์


 


 


เริ่มจะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจชาติ รัฐบาล "พรรคประชาธิปัตย์" ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็คิดจะเบียดบังท้องถิ่นแล้ว


 


โดยการาดึงงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งกรุงเทมหานครและเมืองพัทยา ที่มีอยู่รวมกว่า 1 แสนล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีก็ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า ไม่ใช่เป็นการดึงงบประมาณเหล่านั้นเข้ามาที่ส่วนกลาง แต่เป็นการดูแลให้การเบิกจ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์กับประชาชนโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ


 


ซึ่งนั่นก็ต้องติดตามดูต่อไปว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลเรื่องปากท้องของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูจะใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าจะเป็นอย่างไร ในยุครัฐบาลไฮแจ็ค หรือมีไว้แค่ให้เบียดบังเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบัน สนามการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครมักผูกดองหนองยุ่งกับนักการเมืองระดับชาติอยู่แล้ว


 


อ่านบทสัมภาษณ์ "สานันท์ สุพรรณชนะบุรี" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พัทลุง ว่าที่นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยคนใหม่จากแดนใต้ ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์


 



สานันท์ สุพรรณชนะบุรี" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง


ว่าที่นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย


 


 


ได้รับตำแหน่งมาเมื่อไร


จากการประชุมนายก อบจ.ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี ที่ประชุมได้มีมติเลือกผมให้เป็นนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จะเริ่มทำงานจริงในเดือนมีนาคม ปี 2552


 


ก่อนหน้านั้นก็ได้รับเลือกจากนายก อบจ.ทั่วประเทศ ให้เป็นคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย หรือ กจ.กลาง งานหลักๆ ของ กจ.กลาง คืองานโครงสร้างงานบุคลากรของ อบจ.ทั่วประเทศ การก่อตั้งกอง การก่อตั้งบุคคล การเลื่อนตำแหน่ง อัตรากำลัง


 


จากนั้นได้รับเลือกจาก กจ. กลาง ให้ไปเป็นตัวแทนในกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารงบประมาณและจัดสรรงบประมาณและการถ่ายโอนภารกิจของท้องถิ่น ทำให้การทำงานในตำแหน่งนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยง่ายขึ้น เพราะดูแลทั้งงานบุคคลและการกระจายงบประมาณ


 


 


ที่ผ่านมาท้องถิ่นมีปัญหาอะไรบ้าง ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนงาน


ในระยะเวลา 4 ปีที่ได้รับตำแหน่งเป็นนายก อบจ.พัทลุง สิ่งหนึ่งที่ไม่คืบหน้า คือ การถ่ายโอนงานให้ท้องถิ่นในด้านการศึกษา สาเหตุมาจากความไม่มั่นใจของบุคลากรต่อความมั่นคงในวิชาชีพ เพราะว่าเมื่อถ่ายโอนมาแล้ว ไม่มั่นใจว่าสิทธิที่จะได้รับต่างๆ อย่างที่เคยได้รับ จะเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ เมื่อผมเข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว ก็จะวางการถ่ายโอนระเบียบต่างๆ คิดว่าต้องไม่เสียเปรียบและไม่น้อยกว่าเดิม


 


ปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาเรื่องค่าตอบแทนพิเศษ แต่ละท้องถิ่นมีการจ่ายโบนัสค่อนข้างสูง อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ ค่าสวัสดิการ ซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายสูงท้องถิ่นยังทำไม่ได้ต้องหาทางแก้ไข


 


สิ่งที่ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนาบุคคลากร เช่น การส่งเสริมให้เรียนสูงขึ้น การศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะได้นำความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสริมในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการพัฒนาคนที่จะต้องเข็มข้น เพราะบางคนก็ไม่ได้ทำอะไรเลยตลอดทั้งปี


 


ตรงนี้เป็นความตั้งใจที่อยากทำ เมื่อมาเป็นนายกสมาคม อบจ.ด้วย ก็ต้องทำเรื่องนี้ต่อ แต่งานหลักๆ คือ คงอยู่ที่เรื่องการกระจายอำนาจ คือในส่วนของการเป็นกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ กกถ.


 


 


แล้วในเรื่องงบประมาณ


วันนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลให้เงินเป็นก้อนใหญ่ แก่ อบจ. เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) รวมเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานครมาแบ่งกัน โดยเป็นงบประมาณที่ตั้งกันเอง ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ถ้าการกระจายงบประมาณเป็นแบบนี้ จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง อบจ.กับท้องถิ่นอื่นๆ หรือระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง


 


ถ้ารัฐบาลแยกมาเป็นเงินก้อนๆ ให้ อบจ.เท่านี้ ให้เทศบาลเท่านั้น ก็จะได้แบ่งกันเป็นสัดส่วนในการเอาไปดูแลพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ให้คลุมมา แล้วเรามาทะเลาะกันเอง งบประมาณที่ให้ท้องถิ่นมา 4หมื่นล้านบาท แล้วมาแบ่งกันเอง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องให้กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้รัฐ ต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บอกว่าต้องให้ 35 เปอร์เซ็นต์ภายในปีนั้นปีนี้ แต่มันก็ไม่ได้


 


การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นตอนนี้ ก็จะให้กันตามแนวทางที่ปฏิบัติกันมา อยากให้ดูในเรื่องภารกิจด้วย ถ้าภารกิจมามากก็ต้องเอาเงินตามมาให้มาก ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณที่ให้ท้องถิ่นยังเป็นในลักษณะเดิมที่ทางราชการเป็นคนให้ คือฝากตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ยังไม่ดีเท่าไร ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนเนื้อหาไว้ชัดเจนแล้ว ตั้งแต่มาตรา 281-290 ไว้ดีมาก


 


แต่ในส่วนการปฏิบัตินั่น เนื่องจากพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจปี 2542 ยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างชัดเจน การโอนภารกิจต่างๆให้ท้องถิ่นยังติดขัด ส่วนราชการไม่เต็มใจโอนหรือไม่อยากคายอำนาจให้ จนบางท้องถิ่นไม่มีงานทำ เช่น อบจ.นนทบุรี อย่างโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะถนนโดนล้อมด้วยกรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องไปดูแลด้านสังคม เพราะฉะนั้น เขาควรจะมีการดูแลเรื่องสังคม เรื่องการศึกษา ในลักษณะเชี่ยวชาญเฉพาะ


 


ทีนี้ อย่างอบจ.ภูมิภาค ก็ต้องดูทุกอย่าง จริงๆแล้วทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา เช่น อบจ.พัทลุง สร้างรถทันตกรรมเคลื่อนที่ คนอยากรับบริการแต่เราก็ติดขัดเรื่องอัตรากำลังคน ซึ่งเราก็ทำได้แค่ ทำข้อตกลงร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการให้บริการ ถ้าวันนี้ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ดี แต่ถ้าวันไหนที่ทางสาธารณสุขจังหวัดจะทำเองก็ไม่ต้องมาพึ่ง อบจ.ได้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีบุคลากรด้านนี้ แต่ถ้าจะทุ่มกำลังที่มีอยู่ทำให้เต็มที่ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ภารกิจด้านหลัก


 


 


การกระจายอำนาจที่ควรจะเป็นในมุมมองของท่านควรเป็นอย่างไร


วันนี้ต้องยอมรับแล้วว่า ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ค ประเทศเหล่านี้มีลักษณะการปกครอง 2 รูปแบบชัดเจน นั่นคือการปกครองท้องถิ่นระดับบน และระดับล่าง คือ ทุกที่จะมี อบจ. มีท้องถิ่นระดับล่าง คือ เทศบาล หรือ อบต. แล้วแต่จะเรียกกันอย่างไร


 


ประเทศญี่ปุ่นที่เจริญได้ เพราะมีการบังคับให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากสงครามโลกครั้งที่2 ดังนั้นญี่ปุ่นจึงได้พัฒนาไปสู่ขั้น อบจ.หรือหลายอบจ. รวมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดมาจากท้องถิ่น ท้องถิ่นหลายท้องถิ่นหลายจังหวัดมารวมกัน แล้วทำโครงการใหญ่ๆ เช่นสนามบินนารีตะ ทำโดยหลาย อบจ. หลายเมือง ไม่ได้ทำโดยรัฐบาลกลาง นี่คือกรณีตัวอย่าง เงินเขามี


 


ของเราแค่ให้มาทำร่วมกันเทานั้น แต่ในประเทศไทยกฎหมายสหการ ยังไม่เป็นรูปร่าง กฎหมายสหการ คือความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทำเพื่อบริการประชาชน ยังไม่มี คล้ายสหกรณ์ เช่น ให้เทศบาลเมืองพัทลุงกับอบจ.ร่วมกันสร้างโรงแรม ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เราอยากทำร่วมกัน แต่เมื่อลงทุนไปก็ไม่มีกฎหมายรองรับ


 


 


แล้วมีการเสนอกฎหมายฉบับนี้แล้วหรือยัง


ตอนนี้มีความพยายามผลักดันกันอยู่ กฎหมายฉบับนี้จำเป็นมาก ก็อยากให้เกิดความร่วมมือกัน เช่น ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บางทีเราจะเห็นว่า เทศบาลหลายแห่ง เช่นเทศบาลเมืองคอหงส์ล้อมด้วยเทศบาลนครหาดใหญ่ ล้อมด้วยเทศบาลเมืองบ้านพรุ ที่จริงบางเรื่องเราน่าจะทำร่วมกันได้ ตอนนี้น้ำไม่ท่วมหาดใหญ่ แต่ไปท่วมคอหงส์ คอหงส์ก็เดือดร้อน เพราะถูกน้ำมาจากหาดใหญ่ ไม่ให้น้ำเข้าในเมือง เพราะฉะนั้นเป็นการแก้ปัญหาท้องถิ่นนี้ได้ แต่ไปสร้างปัญหาใหม่ให้ท้องถิ่นอื่น มันไม่ถูก นี่คือปัญหาของท้องถิ่นที่เป็นตัวอย่างชัด


 


เรื่องงบประมาณ  ถ้ารัฐบาลอยากให้อำนาจแค่ไหน ก็ควรให้งบประมาณให้พอเหมาะ ให้กำหนดให้ชัดเจนไปเลย ผมไม่สามารถบอกได้ว่าต้อง 35 เปอร์เซ็นต์ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงจะดีที่สุด มันอาจจะมากเกินไปก็ได้ เพราะในขณะที่ผมเป็นนาย อบจ.พัทลุง อบจ.มีงบประมาณ 300 กว่าล้านบาท ถือว่าได้ทำงานเยอะต่อปี มันพอ


 


แต่ถ้าให้ตั้งโรงเรียนอำเภอละโรง รวม 11 โรง เงินแค่นี้ไม่พอ อยากให้เราดูแลเรื่องการศึกษา เพื่อแบ่งเบา ให้ท้องถิ่นมีศักยภาพขึ้นมาหรือไม่ ให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ถ่ายโอนมาตามยถากรรม โอนมาเล็กๆ น้อยๆ มันทำแค่พอเป็นกระสาย ไม่ได้เดินไปข้างหน้าอย่างจริงจัง เช่น ให้ อบจ.รับโอนโรงเรียนมัธยมทั้งหมด ส่วนโรงเรียนประถมไปขึ้นกับ อบต. งบประมาณพอหรือไม่ที่จะดูแลโรงเรียนประถมให้มีศักยภาพ ดีกว่าเดิม เพราะโรงเรียนประถมปัจจุบัน ภารโรงก็ไม่มี เพราะเกษียณแล้วเดี๋ยวนี้ไม่มี ส่วนนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณและบุคคลากร ถ้าอยากให้ทำเรื่องการศึกษาชัดเจน อยากให้ท้องถิ่นดูแลก็ต้องให้งบประมาณเพิ่มด้วย


 


 


วันที่เลือกนายกสมาคมฯคนใหม่มีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ อะไรบ้าง


ที่ประชุมมีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับบุคลากร ซึ่งต่อไปบุคลากรควบรวมที่สามารถจะถ่ายโอนได้ทุกท้องถิ่นทุกระดับ หมายถึง อบจ.ไป เทศบาล ไป อบต. ไปกรุงเทพมหานครได้ ข้าราชการท้องถิ่นต้องไหลได้ ถ้าบุคคลากรในส่วนของราชการส่วนท้องถิ่นใดไม่พอ ก็สามารถโยกย้ายได้ ตอนนี้ร่างกฎหมายยังอยู่ในสภา ซึ่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้บริหารบุคคลเป็นมาตรฐานเดียวกัน


 


ฉบับต่อมาเป็นเรื่องพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2546 ที่สภารับหลักการแล้วในเรื่องการปลดล๊อควาระการดำรงตำแหน่ง คือ ปลดล็อกทั้ง อบจ. อบต.เทศบาล ปลดล็อค คือ ไม่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง


 


 


จากการติดตามมา ทราบว่าการล็อควาระไว้ เพื่อป้องกันไม้ให้มีการผูกขาดอำนาจ ที่จะทำให้เกิดการสร้างอิทธิพลขึ้นมา แต่เมื่อปลดล็อคอย่างนี้แล้วมันจะทำให้กลับไปสู่สภาพเดิมอีกหรือไม่


การปลดล๊อควาระนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจและการสร้างอิทธิพล เพราะนายก อบจ.ทั่วประเทศมี 75 คน ในการเลือกตั้งใหม่ครั้งล่าสุด เราก็เห็นแล้วว่า มีนายก อบจ.คนเดิม สอบตกไป 23 คน มันไม่ต้องไปล๊อค เพราะมันมีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เปลี่ยนอยู่แล้ว เพราะระบอบประชาธิปไตยมันมมาจากตัวแทนประชาชน


 


ซึ่งนั่นก็เป็นประเด็นหนึ่ง ต่างกับเมื่อก่อน สมัยแรกๆ ที่การเลือกตั้งจะมีการเลือกเฉพาะในคณะญาติ สมัยที่สอง ต้องมีญาติเยอะด้วยและต้องทำงานด้วย สมัยที่สาม จะเห็นเลยว่าใครทำงานดี ยึดประชาชน มีผลงาน จะได้รับเลือกตั้ง เราไปพูดเอาเองว่ามีการซื้อเสียง มันอาจจะมี แต่จริงๆ แล้วคือ การทำงานยังเป็นส่วนใหญ่อยู่ ทำงาน ปัจจุบันอยู่ที่ตัวงาน เพราะญาติก็พาไม่รอดแล้ว อีก 2 ฉบับ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเลือก สมาชิกสภา อบจ.


 


 


มีเรื่องอะไรอีกที่ต้องผลักดันต่อไป


หลังจากรับตำแหน่งนายกสมาคม อบจ. ซึ่งมีวาระ 2 ปีนั้น เรื่องแรกที่จะผลักดัน คือ หาที่ตั้งที่ทำการสมาคมฯ แห่งใหม่ เพราะตอนนี้ใช้สถานที่ของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ยังไม่ได้เล็งพื้นที่ว่าจะตั้งที่ไหน ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


 


เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่ผู้บริหาร อบจ.และผู้บริหารท้องถิ่น เพราะไม่ได้เขียนไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภาได้รับ ทั้งที่ผู้บริหารท้องถิ่นก็มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน


 


การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะมีความสำคัญเวลางานราชพิธีต่างๆ เพราะว่า นายก อบจ.เป็นผู้บังคับบัญชาของปลัดหรือข้าราชการ บางแห่งมีข้าราชการถึงระดับ 9 และ10 ทำให้ในงานราชพิธีพวกเราต้องอยู่ข้างหลัง ซึ่งผิดหลักของการบริหารจัดการ ที่สำคัญถ้าเทียบสัดส่วนแล้ว ที่มาของนายก อบจ.มาจากคนทั้งจังหวัดเลือกตั้งมา แต่ ส.ว.กับ ส.ส.มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง เราคนเดียวมีความสำคัญเท่ากับ ส.ว.และส.ส.ในระนาบเดียวกัน


 


เรื่องการกระจายงบประมาณที่เป็นธรรม เพราะงบประมาณที่ได้รับส่วนหนึ่งมาจากการวิ่งเต้นของบประมาณ นำเสนอโครงการ จึงอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณด้วยความเป็นธรรม ที่ผ่านมาบาง อบจ.ไม่เคยได้รับเงินอุดหนุน บาง อบจ.หรือบางท้องถิ่น วิ่งเต้นได้ก็วิ่งเอา อาศัยศักยภาพส่วนตัว ระบบอุปถัมภ์ ก็เลิกระบบอุปถัมภ์ในการจัดสรรงบประมาณเสีย


 


 


แล้วจะเสนอกลไกอะไรที่จะสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ


ต้องพึ่งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเขาต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณผ่านท้องถิ่นและการเบียดบังท้องถิ่นในส่วนนี้ด้วย เพราะบางคนแทนที่เอาเงินมาพัฒนาจังหวัด ก็ให้พรรคพวกที่ทำธุรกิจอยู่มาหาผลประโยชน์จากงบประมาณที่ได้รับผ่านโครงการต่างๆ ในจังหวัด


 


งบประมาณของ อบจ.ส่วนมากได้มาจากการจัดเก็บได้เอง และฝากจัดเก็บ มีภาษีบุหรี่ที่กรมสรรพสมิตเก็บให้ ซึ่ง อบจ.พัทลุงได้ปีหนึ่งๆ 10 กว่าล้านบาท ส่วนภาษีที่เราจัดเก็บได้เอง เช่นภาษีน้ำมันจากหัวจ่าย แต่การเก็บเช่นนี้จะยุ่งยาก อาจทะเลาะกับผู้ประกอบการได้ ดังนั้นจะผลักดันในเรื่องด้วย โดยเสนอให้เก็บจากคลังน้ำมันเลย คือตรวจสอบว่า จะมีการขนส่งน้ำมันมาที่พัทลุงกี่ลิตรก็เก็บตามจำนวนที่นั่นเลย วิธีการนี้จะง่ายกว่า มีลักษณะที่เหมือนกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม


 


ภาษีรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้เก็บให้ ซึ่งก็เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะรถเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นคนในท้องถิ่นถ้าใช้รถที่มีป้ายทะเบียนเป็นจังหวัดตัวเองก็จะเป็นผลประโยชน์กับจังหวัดนั้น อีกตัวคือ ภาษีผู้ข้าพักโรงแรมซึ่งเราเก็บได้ หลาย อบจ.มีการเก็บ แต่ อบจ.พัทลุงไม่ได้เก็บ เพราะโรงแรมเรามีไม่มาก เป็นต้น ส่วนตัวโรงแรมนั้น ก็จะเป็นภาษีโรงเรือน ซึ่งจ่ายให้เทศบาล


 


 


อยากให้รัฐบาลใหม่ทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้


ข้อเสนอต่างๆ ถ้าผลักดันไปแล้วรัฐบาลชุดใหม่ต้องตอบรับ เพราะไม่ใช่การผลักดันเพื่อคนใต้ หรือคนส่วนไหนของประเทศ แต่ผลักดันเพื่อท้องถิ่น ถ้ายอมรับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คนมีส่วนร่วมจากการปกครองระบบไหนมากที่สุด ก็ต้องระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด เพราะระดับชาติเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จ เขาก็ไปหาย แล้วกลับมาอีกที่ตอนเลือกตั้งใหม่ ไปแล้วเคยกลับมาถามชาวบ้านไหม ก็น้อยมาก


 


แต่ท้องถิ่นจะทำอะไรต้องผ่านประชาคม จะใช้งบประมาณอะไรก็ต้องมีแผนจากท้องถิ่นระดับล่าง จากระดับตำบล อำเภอ แล้วมาสู่จังหวัด จึงจะขับเคลื่อนงบประมาณไปได้ ถ้าโครงการไหนทำเพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ หมายถึงการวางรากฐานประชาธิปไตยไหม ถ้าเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตย คุณเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ช่วยวางรากฐานประชาธิปไตย คุณไม่สนับสนุนก็เป็นเรื่องของคุณ


 


 


ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองมีผลกระทบอย่างไรต่อท้องถิ่นและคิดว่ารัฐบาลจะทำให้ได้มากน้อยแค่ไหน


ผมคิดว่ารัฐบาลก็ไปได้ แต่ผลกระทบต่อท้องถิ่นต้องมีแน่นอน เพราะดูจากการจัดเก็บภาษีที่จะนำมาเป็นรายได้ของรัฐ ซึ่งรายได้ของรัฐบาลส่วนหนึ่งต้องเอามาให้ท้องถิ่น ถ้ารายได้ของรัฐบาลลดลงเงินที่จะมาอุดหนุนท้องถิ่นก็จะย่อมลดน้อยตามไปด้วย ก็จะมีผลกระทบต่อการบริหารงานท้องถิ่นแน่นอน ทางเราอยากให้รัฐบาลไม่เกิดปัญหา อยากให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นโดยเร็ว เพื่อที่จะช่วยให้เรามีรายได้เข้าประเทศได้มาก มีภาษีมาก และมีเงินอุดหนุนกลับมาสู่พี่น้องประชาชนมากขึ้น


 


โดยหลักๆ แล้วรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่นให้มาก รัฐบาลต้องเชื่อเลยว่า การปกครองท้องถิ่นคือการวางรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ถ้าละเลยท้องถิ่นกระบวนการประชาธิปไตยก็จะพัฒนาไปไม่ได้


 


 


มองเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร


ผมว่าตอนนี้ การเมืองมาจุดที่นักการเมืองแทบจะไม่มีเกียรติ ก็ต้องช่วยกันประคับประคอง เพราะดูว่าเป็นการทำลายกันจนเละหมด โดยที่ไม่รู้ว่า นั่นเป็นการทำลายตัวเองด้วย เพราะเราเองอยู่ในกระบวนการการเมืองด้วย แต่ก็เป็นสิ่งดีที่พี่น้องประชาชนจะได้รู้ว่านักการมืองอยู่กันอย่างนี้เอง ตอนนี้นักการเมืองก็ต้องช่วยกันยกระดับตัวเอง


 


 


แล้วการเมืองท้องถิ่นเป็นอย่างไร เพราะเท่าที่ติดตามมาบางแห่งก็มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน


มีบางท้องที่เท่านั้นเอง อบจ.พัทลุงเองก็แข่งกัน 2 ครั้ง มีความรุนแรงในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น แรงกันในเกมจบแล้วก็จบ ไม่มีอะไร อบต.บางพื้นที่ก็รุนแรง เพราะการแพ้ไม่เป็นก็มี แต่บางทีมีประเด็นอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่มักตัดสินกันด้วยการใช้กำลัง บางทีอาจมีเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องท้องถิ่น ก็เลยทำให้มองงว่า เป็นเรื่องของท้องถิ่นทั้งหมด


 


ผมคิดว่า ทุกวันนี้นักการเมืองก็มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยมาก ยอมรับความพ่ายแพ้ขอตัวเอง คนแพ้เขาก็ต้องอยู่ในแผ่นดินนี้ คนชนะก็ต้องอยู่ในแผ่นดินนี้ แพ้ชนะก็ต้องอยู่ร่วมกัน แล้วทำประโยชน์ให้จังหวัดร่วมกันได้ นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายที่สูงสุด


 


 


ตอนนี้มองท้องถิ่นไทยมีความเข็มแข็งมากน้อยแค่ไหน


เนื่องจากเราเคยชินกับระบบราชการ ระบบราชการก็มาจากที่มาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย เรานับถือนาย เราจะพยายามทำให้ท้องถิ่นเหมือนกับระบบเจ้าขุนมูลนายไม่ได้ หลายคนเมื่อเป็นผู้บริหารท้องถิ่นทำตัวเป็นนายประชาชน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในความรู้สึกผม ท้องถิ่นไม่ควรจะมีเครื่องแบบด้วยซ้ำ เพราะมันคือสามัญชนคนหนึ่งที่จะเข้าไปสู่ระบบ การทำเครื่องแบบที่คล้ายคลึงกับระบบราชการ ผมถือว่าบางทีมันดิสเครดิตตัวเอง แล้วก็มันเบ้อเร่อ แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร


 


ผมเป็นนายก อบจ. ถ้าเทียบกับราชการก็ระดับ 9 แต่ผมมาจากการเลือกตั้งของคนทั้งจังหวัด แต่บัตรประจำตัวนายก อบจ. ผู้ว่าราชราชการจังหวัดยังไม่เซ็นเลย แต่ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนเซ็น(ชูบัตรให้ดู) ชี้ให้เห็นว่า ส่วนราชการบางทีมันเป็นเรื่องเล็กๆน้อย แต่ด้วยศักดิ์ศรีนะ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดเลยเรื่องเลือกตั้งผุ้ว่าราชการจังหวัด


 


ดูอย่างนี้มันก็มีหลายเรื่องที่ต้องปรับแก้ เพราะว่ามหาดไทยเองก็ไม่อยากให้ท้องถิ่นโต ต้องพูดกันตรงไปตรงมา เพราะหมายถึงการสูญเสียอำนาจ เมื่อก่อนตอนผู้ว่าราชการเป็นนายก อบจ.ด้วยตามกฎหมายเก่า นายอำเภอก็เป็นส่วนอำเภอ มีช่าง มีอะไรอยู่ งบประมาณก็ผ่านกันไป แต่วันนี้มันมาอยู่ที่นี่ เป็นระบบอีกระบบหนึ่ง คือคนเสียอำนาจมันไม่มีความสุขหรอก แล้วพวกที่ได้อำนาจมาก็อย่าเพิ่งดีใจ มันต้องใช้อำนาจให้ดีที่สุด


 


ตอนนี้ท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ผมเคยเป็น ส.ส.เมื่อปี 2531 ช่วงนั้นชาวบ้านจะมุ่งไปที่ ส.ส. มีปัญหาก็ไปบ้าน ส.ส. เดี๋ยวนี้มีปัญหาถามว่าคนไปที่ไหน นอกจากหัวคะแนน แต่ชาวบ้านที่ไปด้วยความยากลำบาก เหมารถมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพื่อจะไปร้องเรียน ส.ส.ไม่มี น้อยมาก เพราะปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องถนน อะไรต่างๆ มันถูกแก้ไขด้วยท้องถิ่นหมดแล้ว ชาวบ้านก็เลยไปหานายก อบต. นายกเทศมนตรี หรือกว่าจะมาถึงนายก อบจ. ก็น้อยเหมือนกัน แสดงว่าชาวบ้านเข้าใกล้บริการของรัฐที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะสนองตอบเขาได้ให้มาก


 


ก็คือการกระจายอำนาจ การถ่านโอนงานมาก อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เทียบได้เลยว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่มี อบต. บางตำบลถนนยังไม่มี นอกจากนายอำเภอจะสนิทกับคนในตำบลนั้น เดี๋ยวนี้ถนนเพิ่มขึ้นทุกปี เรื่องเบี้ยยังชีพ การดำรงชีพได้รับการดูแลอย่างดี การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก คือทั้งแรกเกิดและที่กำลังจะตายก็ได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน


 


 


ส่วนที่มองว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องอิทธิพลและการแย่งชิงผลประโยชน์


มีส่วน อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ในเมื่อมีเม็ดเงินเข้ามา มันก็ต้องมีค่าตอบแทน มันก็มีส่วนต่างของการจัดซื้อจัดจ้าง แต่มันก็อยู่ที่การบริหารจัดการและความตั้งใจว่า จะเลือกประเด็นไหน


 


ที่ผ่านมามีนายก อบจ.หลายคนมาถามผมก่อนจะหมดสมัยว่า ตอนนี้เก็บเงินไว้เท่าไหร่ เพราะจะเลือกตั้งแล้ว ผมก็ไม่เก็บหรอบ เพราะไม่รู้ว่าจะเก็บกันยังไง แต่ผมอธิบายให้ฟังว่า เขารู้ว่าคุณเก็บเงิน ชาวบ้าน รู้ว่าคุณทำโครงการเก็บเงิน วันเลือกตั้งเขาจะไปขอคุณ เวลาคุณจะไปหาเสียง


 


แต่ผมนี่ ชาวบ้านรู้ว่าผมไม่หาเงิน ผมไม่เก็บเงิน เพราะฉะนั้นวันเลือกตั้งชาวบ้านก็ไม่ขอผม ผมก็เดินสบาย ถามว่าคุณเก็บได้เท่าไหร่ วันเลือกตั้งคุณก็จ่ายหมด เป็นวัฏจักร เป็นเวรเป็นกรรม คุณเก็บมา วันเลือกตั้งก็จ่าย เก็บมาก็จ่ายเลือกตั้ง คนที่หลุดมาจากการเมืองที่จะ...(หยุดพูด)....ไม่มี อันนี้มันพิสูจน์ได้


 


อย่างผมนี่ จะเห็นชัดเลยว่าผมสู้กับใคร สู้กับพรรค สู้กับนายทุน ผมคือใคร ผมคืออดีตนาย อบจ.ที่มีผลงานอย่างเดียว แต่ชาวบ้านก็ต้อนรับผม ให้คะแนนผม เพราะฉะนั้นมันก็พิสูจน์ได้ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ สิ่งที่อยากฝากคือ ผู้บริหารท้องถิ่นให้เกียรติประชาชน และให้เกียรติท้องถิ่นด้วยกันเอง


 


 


อนาคตทางการเมือง


ครั้งหน้าผมจะไม่ลงเลือกตั้ง อบจ.อีกแล้ว แม้จะกฎหมายจะปลดล็อกวาระการดำรงตำแหน่งก็ตาม เหตุผลคือเหนื่อย เพราะครั้งนี้ก็เป็นนายก อบจ.สมัยที่สองแล้ว ที่จริงก็ไม่อยากลงเท่าไหร่ เพราะเหนื่อย 4 ปีที่ทำงานมาในสมัยที่แล้ว ผมทุ่มเทกับงานอย่างมาก หลังจากนั้น ถ้าสุขภาพยังแข็งแรงสามารถทำงานได้ ตำแหน่งวุฒิสมาชิกก็น่าจะสนใจ


 


 


สภาพเศรษฐกิจของพัทลุง


ตอนนี้แย่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ 2 ตัวหลัก คือ ข้าวและยางพารา โดยภาพรวมแล้วก็ไม่ดี แต่เนื่องจากพัทลุงส่วนหนึ่งค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพพอไปได้ ค่าครองชีพต่ำ ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก นอกจากคนที่ไปสร้างหนี้หรือต้องไปผูกพันกับธนาคาร เช่น ผ่อนรถ ระบบเงินผ่อน หรือขยายกิจการของตัวเอง ภาระความเดือดร้อนก็จะมากขึ้น


 


 


ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มาเปิดในจังหวัดและมีการคัดค้านอยู่ได้ส่งผลอะไรบ้าง


มันก็มีผล พ่อค้าแม่ค้าก็บ่นกัน แต่ว่าวัฒนธรรมของร้านค้าโชห่วย มันก็เป็นวัฒนธรรมอีกอันหนึ่ง เพราะว่าคนที่เข้าไปได้ใกล้ชิดกับเจ้าของ ได้ต่อรองได้ แต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มันเป็นการหยิบๆๆๆ แล้วมาจ่ายเงิน มันไม่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ถามว่าคุณจะเครดิตได้ไหม มันก็ไม่ได้ มันก็มีลักษณะการค้าที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งก็อาจมีลูกค้าจรที่เข้าไป แต่ลูกค้าประจำ ถ้าราคาไม่ต่างกันมาก และไม่โหมลดกระหน่ำราคาแข่งกัน ผมว่าร้านโชว์ห่วยก็ยังอยู่ได้ อยู่ที่การบริการที่ประทับใจเขามายาวนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net